-->

ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วยตนเอง ตอนที่2 : ค้นหาหุ้นดี ต้องรู้วิธีวิเคราะห์  (อ่าน 1243 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Hymn1919

  • บุคคลทั่วไป

การคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนเป้าหมายอยู่ภายใต้หลักการที่ว่า จะสนใจบริษัทเป้าหมายที่เข้มแข็งที่สุด เพื่อค้นหาบริษัทเหล่านี้จึงต้องทราบกระบวนการในการวิเคราะห์ ซึ่งในที่นี้จะสรุปไว้ 11 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 วิเคราะห์จากรายงานของนักวิเคราะห์

โดยปกตินักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ จะทยอยออกบทวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียนเพื่อเสนอต่อลูกค้าและสาธารณชนเป็นระยะๆ ซึ่งมักเป็นรายงานการวิเคราะห์แบบไม่ยาวนัก อธิบายเกี่ยวกับกิจการ แนวโน้มของธุรกิจ ข้อมูลทางการเงินมูลค่าที่เหมาะสม และคำแนะนำให้ซื้อหรือขาย ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการค้นหาข้อมูลในเชิงลึกไปได้มาก เราอาจนำบทวิเคราะห์เหล่านี้มาดูว่าบริษัทใดที่นักวิเคราะห์ (ส่วนใหญ่จากหลายๆ บริษัทหลักทรัพย์) ให้คำแนะนำที่ดี เพื่อกรองให้ได้จำนวนหลักทรัพย์เป้าหมายมาไว้ในขั้นต้น

ขั้นตอนที่ 2 การประเมินมูลค่า

หลักทรัพย์ที่เราคัดเลือกมาควรถูกนำมาพิจารณาว่า ราคาตลาดปัจจุบัน (Current Stock Price) เป็นเท่าใด กำไรในอนาคต จะเติบโตอย่างไร การเติบโตของกำไรในอนาคตเป็นส่วนสำคัญที่จะนำมาประเมินมูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ของกิจการ เพื่อเปรียบเทียบกับราคาตลาดปัจจุบัน ถ้ามูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาตลาดปัจจุบัน ก็ควรลงทุนซื้อ เพราะราคาตลาดในปัจจุบันจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต เพื่อวิ่งเข้าหามูลค่าที่แท้จริง ในขั้นตอนนี้ นักลงทุนจะต้องเรียนรู้แบบจำลองและวิธีการต่างๆ ในการคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของหลักทรัพย์

ขั้นตอนที่ 3 การประมาณราคาเป้าหมาย

ในขั้นตอนที่ 2 เป็นการพยายามค้นหาหลักทรัพย์ที่มีราคาตลาดที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ซึ่งเราเรียกว่า Underpriced Stock หลักทรัพย์เหล่านี้ถูกคาดว่าราคาตลาดจะสูงขึ้นในอนาคต ถ้าเราซื้อไว้ในวันนี้ ก็มีโอกาสที่จะได้กำไรส่วนเกิน (Capital Gain) ในบางครั้งราคาตลาดในปัจจุบันมีราคาสูงเกินไป แต่เราค่อนข้างมั่นใจว่าบริษัทนั้นดีมาก เราอาจต้องคอยจนกว่าราคาตลาดตกลงมา จนต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ เราจึงจะเข้าไปซื้อ ที่ราคาตลาดที่เราตั้งใจจะเข้าไปซื้อ ถูกเรียกว่า “ราคาเป้าหมาย (Target Price)” ในขั้นตอนที่ 3 จึงเป็นขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อหาข้อสรุปว่าราคาที่จะเข้าไปซื้อเหมาะสม หรือไม่

ขั้นตอนที่ 4 การวิเคราะห์อุตสาหกรรม

ความสำเร็จของบริษัทเป้าหมายสัมพันธ์อย่างมากกับการใช้กลยุทธ์การตลาดให้ถูกกับกลุ่มเป้าหมายในส่วนแบ่งการตลาด ของตน และยิ่งถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตมาก (Fast-Growing Industry) การเติบโตของยอดขายและกำไรก็ยิ่งมีโอกาสเพิ่มมากกว่าในอุตสาหกรรมที่เติบโตช้า (Slow Growth or Stagnant Industry) การนำเกณฑ์เหล่านี้มาวิคราะห์ จะทำให้มั่นใจเพิ่มขึ้นว่าเลือกหุ้นไม่ผิดตัวจริงๆ

ขั้นตอนที่ 5 การวิเคราะห์แผนธุรกิจของกิจการ

แม้หลักทรัพย์เป้าหมายจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตดี แต่ถ้ามีแผนกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานที่ไม่ดี ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จได้ นักลงทุนควรสละเวลาทำความเข้าใจว่าบริษัทมีผลิตภัณฑ์อะไร กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือใคร บริษัท ใช้กลยุทธ์การตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ ต่อสู้ในเชิงธุรกิจกับคู่แข่งอย่างไร กระบวนการการผลิต การควบคุมต้นทุน การจัดโครงสร้างองค์กร ความสามารถของผู้บริหารเป็นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งสามารถหาได้จากแผนธุรกิจของบริษัทที่นำเสนอในรายงานประจำปี หรือแหล่งข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินถึงโอกาสความสำเร็จในการดำเนินกิจการของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นหลักทรัพย์เป้าหมาย

ขั้นตอนที่ 6 การประเมินความสามารถของผู้บริหาร

ผู้บริหารเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำพาบริษัทให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะ ผู้บริหารระดับสูง ลองแบ่งเวลามานั่งดูประวัติและผลงาน รวมทั้งชื่อเสียงของ ผู้บริหาร โดยเฉพาะคนที่เป็นเบอร์ 1 ขององค์กร ว่ามีความโดดเด่นเพียงใด รวมทั้ง ดูทีมงาน การจัดวางคนในตำแหน่งต่างๆ ที่มีความสำคัญ เพื่อให้เรามีความมั่นใจในการเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้น

ขั้นตอนที่ 7 การวิเคราะห์จุดแข็งทางการเงิน

ตรวจสอบฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน เพื่อค้นหาหลักทรัพย์ของบริษัท ที่มีโอกาสล้มละลายน้อยที่สุด นักลงทุนจึงต้องเรียนรู้เทคนิคในการวิเคราะห์งบการเงินจากขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด เข้าใจทั้งในด้านการวิเคราะห์แบบภาพรวม และการเข้าใจถึงรายการทางบัญชีบางประการที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง จะมีผลกระทบต่อความเข้มแข็งทางการเงินของบริษัท

ขั้นตอนที่ 8 การวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรและการเติบโตของกิจการ

กิจการที่จะเป็นหลักทรัพย์เป้าหมายของนักลงทุน ควรเป็นกิจการที่มีกำไร ขายของได้มียอดขายเพิ่มขึ้น ควบคุมต้นทุนได้ดี และมีกำไรโดยตลอด กิจการแบบนี้มีโอกาสสูงที่จะจ่ายเงินปันผลดี และราคาหุ้นในอนาคตจะสูงขึ้น

ขั้นตอนที่ 9 การสำรวจสัญญาณเตือนภัย

เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จะทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เช่น ยอดขายลดลงอย่างมาก หรือฝ่ายการจัดการลดการลงทุนในสินทรัพย์อย่างมาก เหตุการณ์อย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนภัย บอกก่อน ลองพิจารณาดูว่า ถ้าใช้เครื่องมือหรือเทคนิคต่างๆ ในการวิเคราะห์ ควรทำให้เราได้เห็นโอกาสว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดได้หรือไม่ ซึ่งทำให้นักลงทุนเตรียมตัวได้ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย

ขั้นตอนที่ 10 การวิเคราะห์เจ้าของกิจการที่ถือหุ้นข้างมาก

การเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เช่น เจ้าของกิจการ หรือนักลงทุนสถาบัน อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการดำเนินงานของกิจการได้ ซึ่งอาจมีทั้งด้านบวกหรือลบ นักลงทุนจึงต้องคอยติดตามข่าวสารในเรื่องนี้ด้วย

ขั้นตอนที่ 11 การวิเคราะห์รูปแบบของการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์

การวิเคราะห์รูปแบบการเคลื่อนไหว ของราคาหลักทรัพย์ โดยดูแนวโน้มจากในอดีตถึงปัจจุบัน จะช่วยให้เข้าใจว่าผู้ซื้อขาย ซึ่งเป็นอุปสงค์และอุปทานของหลักทรัพย์เหล่านี้คิดอย่างไร เทคนิคในการดูรูปแบบของราคาหลักทรัพย์มีมากมาย นักลงทุน จึงควรเข้าทำการศึกษา การวิเคราะห์หลัก ทรัพย์ที่เรียกว่า “การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) ด้วย เพื่อหาว่าราคาหลักทรัพย์จะไปต่ออย่างไร

CREDIT by กฤษฏา เสกตระกูล ณ. POSTTODAY