-->

ผู้เขียน หัวข้อ: มาตรฐานและระบบคุณภาพสำหรับธุรกิจ SMEs  (อ่าน 4287 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

don

  • บุคคลทั่วไป

มาตรฐานและระบบคุณภาพสำหรับธุรกิจ SMEs

ดร.ธราธร  กูลภัทรนิรันดร์

เมื่อกล่าวถึงคุณภาพ คำที่มักจะได้ยินควบคู่กันเสมอคือคำว่า มาตรฐาน เพราะโดยปกติแล้วเมื่อผลิตภัณฑ์ใดมีคุณลักษณะสอดคล้องหรือผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ เราจะถือว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณภาพ สำหรับมาตรฐานเองนั้นก็สามารถแบ่งออกได้มีหลายระดับตั้งแต่มาตรฐานของโรงงานเอง มาตรฐานระดับประเทศ และมาตรฐานระดับสากล เป็นต้น อย่างไรก็ตามการคงไว้ซึ่งมาตรฐานต่างๆ นั้น จำเป็นที่องค์กรจะต้องมีระบบในการควบคุมซึ่งได้แก่ระบบคุณภาพ ในบทนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับมาตรฐาน และระบบคุณภาพ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรธุรกิจได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรต่อไป

1. ความหมายของมาตรฐาน
   ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ได้กำหนดคำว่า มาตรฐาน" ไว้ว่า มาตรฐาน คือ ข้อกำหนดรายการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างเกี่ยวกับ
1.   จำพวก แบบ รูปร่าง มิติ การทำ เครื่องประกอบ คุณภาพ ชั้น ส่วนประกอบ ความสามารถ ความทนทานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
2.   วิธีทำ วิธีออกแบบ วิธีเขียนรูป วิธีใช้ วัตถุที่จะนำมาทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และความปลอดภัยอันเกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
3.   จำพวก แบบ รูปร่าง มิติของหีบห่อ หรือสิ่งบรรจุชนิดอื่นรวมตลอดถึงการทำหีบห่อหรือสิ่งบรรจุชนิดอื่น วิธีการบรรจุ หุ้มห่อหรือผูกมัดและวัตถุที่ใช้ในการนั้นด้วย
4.   วิธีทดลอง วิธีวิเคราะห์ วิธีเปรียบเทียบ วิธีตรวจ วิธีทดสอบและวิธีชั่ง ตวง วัด อันเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
5.   คำเฉพาะ คำย่อ สัญลักษณ์ เครื่องหมาย สี เลขหมาย และหน่วยที่ใช้ในทางวิชาการอันเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
6.   ข้อกำหนดรายการอย่างอื่นอันเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตามที่รัฐมนตรีประกาศหรือตามพระราชกฤษฎีกา
จากความหมายตามพระราชบัญญัติฯ จะเห็นได้ว่าคำว่ามาตรฐานมีความหมายครอบคลุมในหลายๆ เรื่อง ซึ่งอาจสรุปได้ว่า หมายถึง ข้อกำหนด กฎระเบียบ หรือแนวทางปฏิบัติหรือลักษณะ
เฉพาะของกิจกรรม หรือผลอันจะเกิดขึ้นเนื่องจากกิจกรรมนั้น ๆ ที่ได้ตกลงร่วมกัน  และได้รับการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยได้รับความเห็นชอบจากองค์กรที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เพื่อใช้เป็นแนวทางหรือหลักเกณฑ์ ในการดำเนินการเพื่อบรรลุตามข้อกำหนดที่วางไว้
2. ระดับของมาตรฐาน
   ระดับของมาตรฐานแบ่งได้เป็นหลายระดับ สามารถสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้
2.1   มาตรฐานระดับบุคคลหรือหน่วยงาน เป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นโดยแต่ละบุคคล หรือหน่วยงาน รวมไปถึงระดับบริษัท หรือองค์กร (ซึ่งอาจมีความแตกต่าง หรือไม่ได้รับการยอมรับจากบุคคลหรือองค์กรอื่น) เช่น ข้อกำหนดในการวางแผนผังการทำงาน การออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
2.2   มาตรฐานระดับกลุ่มสมาพันธ์ เป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นโดยความร่วมมือของกลุ่มองค์กรที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน เช่น กลุ่มผู้ผลิตอาหารกระป๋อง กลุ่มผู้แปรรูปยางพารา กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น
2.3   มาตรฐานระดับประเทศ เป็นมาตรฐานที่ได้จากการประชุมหารือเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายในชาติ โดยมีหน่วยงานมาตรฐานของชาตินั้น ๆ เป็นศูนย์กลาง
2.4   มาตรฐานระดับภูมิภาค เป็นมาตรฐานที่เกิดขึ้นจากการประชุมปรึกษาหารือกันระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกัน แล้วกำหนดข้อตกลงร่วมกัน ส่วนมากจะเป็นการปรับมาตรฐานระดับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ให้มีสาระสำคัญสอดคล้องกัน
2.5   มาตรฐานระดับนานาชาติ เป็นมาตรฐานที่ได้จากข้อตกลงร่วมกันของประเทศสมาชิกต่าง ๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น มาตรฐานระหว่างประเทศขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการ
มาตรฐาน (International Organization for Standardization - ISO)

3. มาตรฐานที่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ควรทราบ
3.1   มาตรฐานชุมชน
   มาตรฐานชุมชนกำหนดขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น และยกระดับการผลิตให้มีคุณภาพ ตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้การรับรองและแสดงเครื่องหมายรับรองคุณภาพ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภคและเพื่อให้สามารถขยายตลาดได้มากขึ้น
3.2   มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
   มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หมายถึงข้อกำหนดทางวิชาการที่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางแก่ผู้ผลิตในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพในระดับที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุดโดยจัดทำออกมาเป็นเอกสารและจัดพิมพ์เป็นเล่ม ภายในมอก.แต่ละเล่มประกอบด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น เกณฑ์ทางเทคนิค คุณสมบัติที่สำคัญ ประสิทธิภาพของการนำไปใช้งาน คุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาผลิตและวิธีการทดสอบเป็นต้น


4.   เครื่องหมายมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ (มอก.)
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยการอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายกับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานประเภทต่างๆ รวม 5 เครื่องหมาย (โปรดดูตารางที่ 1) กล่าวคือ
ตารางที่ 1 เครื่องหมายมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ (ที่มา: สมอ.)
4.1 เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป   
เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป
มาตรฐานทั่วไป เป็นมาตรฐานที่กำหนดเพื่อให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์โดยทั่วไป โดยผู้ประกอบการที่ทำผลิตภัณฑ์ สามารถยื่นขอใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานได้ด้วยความสมัครใจ เมื่อสำนักงานฯ ได้ตรวจสอบโรงงาน  กรรมวิธีการผลิต   และทดสอบผลิตภัณฑ์และเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว  สำนักงาน ฯ ก็จะ
อนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานที่ผลิตภัณฑ์นั้นได้    
4.2 เครื่องหมายมาตรฐานบังคับ   


 

เครื่องหมายมาตรฐานบังคับ
มาตรฐานบังคับ
เป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความปลอดภัย   และเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชน หรือกิจการอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจของประเทศ  โดยการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน หรือที่เรียกว่า มาตรฐานบังคับ  ซึ่งผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้นำเข้าจะต้องผลิต จำหน่ายและนำเข้าแต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ตามที่สำนักงาน ฯ  ประกาศกำหนดเท่านั้น หากไม่กระทำตามจะมีความผิดตามกฎหมาย    
4.3 เครื่องหมายมาตรฐานเฉพาะด้านความปลอดภัย   
เครื่องหมายมาตรฐาน
เฉพาะด้านความปลอดภัย
มาตรฐานเฉพาะด้านความปลอดภัย
เป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์บางชนิด   ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานเป็นสำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า เพื่อให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน โดยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว  จะแสดงเครื่องหมายมาตรฐานเฉพาะด้านความปลอดภัย มีลักษณะเป็นรูปตัวเอส มีคำว่า "ปลอดภัย" อยู่ตรงกลาง    

4.4 เครื่องหมายมาตรฐานเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม   




 

เครื่องหมายมาตรฐาน
เฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
มาตรฐานเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาสำคัญของทุกคน   สมอ.  ได้ประกาศกำหนดมาตรฐานเฉพาะด้านสิ่งสิ่งแวดล้อมขึ้นมา เพื่อให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการรักษาสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานเฉพาะ
ด้านสิ่งแวดล้อมที่ สมอ. กำหนดขึ้น เครื่องหมายมาตรฐานนี้เป็นทั้งมาตรฐานบังคับและมาตรฐานทั่วไป กรณีที่เป็นมาตรฐานบังคับ กฎหมายบังคับให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย  จะต้องผลิต  นำเข้า  และจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานเท่านั้น โดยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วสามารถนำเครื่องหมายเฉพาะ ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีลักษณะเป็นรูปตัวเอส มีคำว่า "สิ่งแวดล้อม" อยู่ตรงกลาง    
4.5 เครื่องหมายมาตรฐานเฉพาะด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า   
เครื่องหมายมาตรฐานเฉพาะ
ด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า
มาตรฐานเฉพาะด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า
กล่าวได้ว่า ปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยีทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ สมอ. ได้ประกาศ กำหนดมาตรฐานความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้น เพื่อให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติ ของความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ สมอ. กำหนดขึ้น เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องหมายมาตรฐานนี้เป็นทั้งมาตรฐานบังคับและมาตรฐานทั่วไป กรณีที่เป็นมาตรฐานบังคับ กฎหมายบังคับให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย  จะต้องผลิต  นำเข้า  และจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว สามารถนำเครื่องหมายมาตรฐาน เฉพาะด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปตัวเอส มีคำว่า "EMC" อยู่ตรงกลาง    


5. ระบบคุณภาพที่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ควรทราบ
การที่จะสามารถดำรงมาตรฐาน หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไว้ได้สำเร็จ รวมถึงการที่จะสามารถพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูงมากขึ้นกว่าเดิม สิ่งสำคัญที่องค์กรต้องใส่ใจคือ ระบบคุณภาพ ซึ่งระบบคุณภาพ จะหมายถึง ข้อกำหนด หรือขั้นตอนในการบริหารกระบวนการทำงานต่างๆ ขององค์กร เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ ระบบคุณภาพที่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ควรทราบคือ ระบบการบริหารงานคุณภาพขั้นพื้นฐานสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และระบบการบริหารงานคุณภาพ ISO9000 ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
5.1   ระบบการบริหารงานคุณภาพขั้นพื้นฐานสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Requirements: Basic Quality Management System for Small and Medium Enterprises ; QSME)
ข้อกำหนด QSME นี้ได้ถูกออกแบบพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  โดยใช้ข้อกำหนดในมาตรฐานระบบการบริหารงานคุณภาพ  ISO 9000 เป็นต้นแบบ การประยุกต์ใช้ในแต่ละข้อกำหนดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความจำเป็นของลักษณะอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ข้อกำหนด QSME นี้เหมาะสมกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะจัดทำระบบการบริหารงานคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9000 ได้ในขณะนี้ แต่มีความประสงค์ในการจัดทำระบบการบริหารงานคุณภาพขั้นพื้นฐานในเบื้องต้นก่อน เพื่อเป็นการปูพื้นฐาน และเมื่อองค์กรมีความพร้อมในการดำเนินงานก็สามารถพัฒนาต่อไปเข้าสู่มาตรฐานระบบการบริหารงานคุณภาพ ISO 9000 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในอนาคตต่อไป
5.2   ระบบการบริหารงานคุณภาพ ISO9000
ระบบการบริหารงานคุณภาพ ISO9000 เป็นมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพระดับสากลที่องค์กรต่างๆ ทั่วโลกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ข้อดีของระบบนี้คือ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นองค์กรผลิตหรือบริการ และสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกขนาดขององค์กรอีกด้วย วัตถุประสงค์ของการนำระบบบริหารงานคุณภาพ ISO9000 มาใช้ก็เพื่อให้เกิดการบริหารกระบวนการอย่างครบถ้วน เพื่อป้องกันความผิดพลาด และเพื่อผลิตสินค้าหรือให้บริการที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า โครงสร้างข้อกำหนดของ ISO9000 จะมีอยู่ 8 ข้อกำหนดใหญ่ 25 ข้อย่อย ดังตารางที่ 2

6. ประโยชน์ของการได้รับการรับรองระบบคุณภาพ
   ประโยชน์ของการได้รับการรับรองระบบคุณภาพ มีอยู่หลายๆ ประการ ทั้งต่อองค์กรผู้ได้รับการรับรองเอง และผู้บริโภค ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญได้ดังต่อไปนี้
1.   การดำเนินงานต่างๆ ขององค์กรมีขั้นตอนชัดเจน
2.   มีการจัดระบบการบริหาร ในการผลิต หรือบริการอย่างเป็นระบบ   และมี
ประสิทธิภาพ 
3.   ผลิตภัณฑ์ เป็นที่เชื่อถือและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
4.   ของเสียลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น
ตารางที่ 2 โครงสร้างข้อกำหนด ISO9000
1.      ขอบข่าย
1.1.   บททั่วไป
1.2.   การประยุกต์ใช้
2.      การอ้างอิง
3.      คำศัพท์และนิยาม
4.      ระบบการบริหารคุณภาพ
4.1.   ข้อกำหนดทั่วไป
4.2.   ข้อกำหนดระบบเอกสาร
5.      ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร
5.1.   ความมุ่งมั่นของฝ่ายบริหาร
5.2.   การเน้นเรื่องลูกค้า
5.3.   นโยบายคุณภาพ
5.4.   การวางแผน
5.5.   ความรับผิดชอบ อำนาจหน้าที่ และการ สื่อสาร
5.6.   การทบทวนโดยฝ่ายบริหาร
6.      การบริหารทรัพยากร   
6.1.   การจัดสรรทรัพยากร   6.2.  ทรัพยากรมนุษย์
6.3.   โครงสร้างพื้นฐาน
6.4.   สภาพแวดล้อมของการปฏิบัติงาน
7.      การผลิต/การให้บริการ
7.1.  การวางแผน
7.2.   กระบวนการที่เกี่ยวกับลูกค้า
7.3.   การออกแบบและพัฒนา
7.4.  การจัดซื้อ
7.5.  การจัดดำเนินการผลิตและการให้บริการ
7.6.  การควบคุมเครื่องมือติดตามตรวจสอบและเครื่องวัด
8.      การวัด การวิเคราะห์ และการปรับปรุง
8.1.   บททั่วไป
8.2.   การติดตามตรวจสอบและการวัด
8.3.   การควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีสภาพผิดเงื่อนไข
8.4.   การวิเคราะห์ข้อมูล
8.5.   การปรับปรุง

5.   คุณภาพของสินค้า หรือบริการ สม่ำเสมอ และถูกพัฒนาให้มีคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
6.   ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ได้จาก
องค์กร
7.   เป็นการปลูกจิตสำนึกในด้านคุณภาพ ให้กับบุคลากร

ในการผลิตสินค้า หรือบริการให้ได้คุณภาพนั้น นอกจากเรื่องของการ ตรวจสอบ และกำหนดมาตรฐานแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงอีกประการคือ การนำระบบบริหารคุณภาพมาปฏิบัติ ซึ่งในการเลือกว่าจะใช้ระบบบริหารคุณภาพใดนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมและวัตถุประสงค์ขององค์กรเป็นสำคัญ สำหรับธุรกิจ SMEs นั้น บางครั้งอาจจะยังไม่พร้อมถึงขั้นที่จะนำระบบบริหารคุณภาพระดับสากลมาใช้ ก็สามารถเตรียมความพร้อมโดยการทดลองปฏิบัติตามข้อกำหนด QSME ซึ่งจะเป็นการปูพื้นฐานไปสู่ระบบบริหารคุณภาพระดับสากลในอนาคตได้เป็นอย่างดี



7. เอกสารอ้างอิง
7.1   เอกสารมาตรฐาน : ข้อมูลทั่วไป กองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
7.2   ธราธร กูลภัทรนิรันดร์ เอกสารประกอบการสอน วิชาการจัดการการประกันคุณภาพสินค้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

กรณีศึกษา

บริษัท ชวกน จำกัด

   (ต่อจากเนื้อหาในบทที่แล้ว) ผู้บริหารของ บริษัท ชวกน จำกัด มีวิสัยทัศน์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบบริหารงานคุณภาพ แม้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทในขณะนั้นยังไม่ได้มีการจำหน่ายออกต่างประเทศก็ตาม แต่การมีระบบบริหารงานคุณภาพจะช่วยให้การบริหารจัดการด้านคุณภาพของบริษัทมีความสะดวก ชัดเจน และเป็นมาตรฐานมากขึ้น
   ผู้บริหารของบริษัทได้ตกลงใจเลือกดำเนินการตามมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO9000 เพราะระบบมาตรฐานนี้เป็นระบบมาตรฐานระดับนานาชาติเป็นที่เชื่อถืออย่างกว้างขวาง ผลของการดำเนินการตามระบบบริหารงานคุณภาพ ISO9000 ทางบริษัท ได้รับประโยชน์ ในหลายๆ ด้าน เช่น เมื่อมีปัญหา ณ จุดใด สามารถทวนสอบกลับไปหาถึงสาเหตุได้อย่างรวดเร็วขึ้น การทำงานของทุกหน่วยงานเป็นระบบระเบียบมากขึ้น คุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่กวัดแกว่งและมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ลูกค้ายังเชื่อถือ และมีความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์มากขึ้น ในปัจจุบันบริษัท ได้รับการับรองระบบบริหารงานคุณภาพ ISO9001เรียบร้อยแล้ว และทางบริษัทยังคงมีการพัฒนาระบบบริหารงานด้านอื่นๆ ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง