-->

ผู้เขียน หัวข้อ: การจัดทำโครงการเพื่อขอเงินกู้สำหรับธุรกิจ SMEs  (อ่าน 5708 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

don

  • บุคคลทั่วไป

การจัดทำโครงการเพื่อขอเงินกู้สำหรับธุรกิจ SMEs

เรียบเรียงโดย ผศ.กิตติภูมิ  มีประดิษฐ์

ในการลงทุนของผู้ประกอบการในโครงการใดโครงการหนึ่งนั้น ผู้ประกอบการที่จะเตรียมการให้รอบคอบละเอียดถี่ถ้วนเพื่อป้องกันอุปสรรคอันอาจเกิดขึ้น และดำเนินงานตามโครงการได้อย่างราบรื่นตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ความรอบคอบดังกล่าวนี้จะต้องมาจากประสบการณ์  และอีกประการหนึ่งจะมาจากสัญชาติญาณในการแก้ไขปัญหาระหว่างที่ดำเนินโครงการ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าจะมีความรู้ในสิ่งที่จะกระทำตลอดจนมีการมองการณ์ไกลเพียงใด
   โครงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโดยทั่วไปจะขอใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อลงทุนร่วมกับเงินทุนส่วนของผู้ประกอบการเอง  ดังนั้นสถาบันการเงินจึงมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการลงทุน  เพื่อเป็นแนวทางการพิจารณาปล่อยสินเชื่อซึ่งอาจแบ่งเป็น  2 แนวทาง คือ
   แนวทางแรก   การวิเคราะห์จะเน้นหนักในด้านฐานะทางเครดิตของผู้ขอสินเชื่อและหลักทรัพย์ที่ให้แก่สถาบันการเงิน  เพื่อเป็นหลักประกันสินเชื่อ เช่นที่ดิน  โรงงาน  และสินทรัพย์ถาวรอื่น ๆ  การตัดสินใจปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินขึ้นอยู่กับมูลค่าของหลักทรัพย์ว่าจะเพียงพอกับจำนวนสินเชื่อหรือไม่
   แนวทางที่สอง  การวิเคราะห์จะเน้นหนักในด้านความเป็นไปได้ของโครงการสำคัญ  หรือกล่าวได้ว่าเป็นการให้เงินกู้ตามโครงการนั่นเอง

   การพิจารณาให้เงินกู้ตามโครงการ (Project  financing)   เป็นแนวทางที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่เริ่มให้ความสนใจ   และทำการพิจารณาจากการยื่นเสนอโครงการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรรมมากขึ้น   ปัญหาที่ตามมาคือการขาดความเข้าใจของผู้ประกอบการในการจัดวางรูปโครงการลงทุน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางในส่วนภูมิภาค  เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจในหลักเกณฑ์เบื้องต้นถึงการเตรียมโครงการที่ดีและการวิเคราะห์โครงการอย่างละเอียดรอบคอบ  ย่อมเป็นหลักประกันว่า ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มีการพิจารณาหาลู่ทางป้องกันแก้ไขไว้แล้ว  และย่อมเป็นเครื่องมือที่จะช่วยตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ  แรงงาน  หรือการใช้พลังงานให้คุ้มค่า  มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อการลงทุนสูงสุด
   ขั้นตอนการดำเนินการ  แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ  การจัดเตรียมโครงการและการวิเคราะห์โครงการ  โดยมีรายละเอียดดังนี้
   1.   การจัดเตรียมโครงการ  โครงการ(Project)  คือ  การกำหนดลำดับขั้นของการดำเนินงานนับแต่เริ่มต้นจนบรรลุผลในแต่ละช่วง   เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการบริหารงานเพื่อให้มีการใช้วัตถุดิบ   เครื่องจักร  เงินทุนและแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยกำหนดวัตถุประสงค์  งบประมาณ  แหล่งที่ตั้งโครงการ  การลงทุน  ผลตอบแทน  ระยะเวลาของโครงการ  วิธีการดำเนินการ  และผู้รับผิดชอบการดำเนินการต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน  และที่จะละเลยมิได้  คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
   กระบวนการวางแผนโครงการ  แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนที่สำคัญคือ
   ขั้นตอนที่ 1   ขั้นกำหนดโครงการ   ได้แก่  การเริ่มต้นว่าจะลงมือทำอะไร  ทำอย่างไร  ทำเมื่อไร  ที่ไหน  มีขอบเขตการดำเนินงานอย่างไร  แหล่งเงินทุนจะได้มาจากไหน  และการดำเนินงานต่างๆ ของโครงการเป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่
   ขั้นตอนที่ 2   ขั้นการวิเคราะห์และประเมินโครงการ ได้แก่ การพิจารณาโครงการที่กำหนดขึ้นอย่างละเอียดว่าเป็นโครงการที่สมควรทำการลงทุนหรือไม่ กล่าวคือ ถ้าเป็นโครงการที่มีกำไรคุ้มค่าต่อการลงทุนโครงการนั้นก็จะได้รับการประเมินว่าเป็นโครงการที่ดี สมควรที่จะมีการจัดสรรเงินทุนหรือแสวงหาเงินกู้เพื่อดำเนินการลงทุนต่อไป
   ขั้นตอนที่ 3   การดำเนินงานตามโครงการ  ได้แก่  การนำโครงการที่ผ่านความเห็นชอบแล้วดีไปดำเนินการตามแผนที่วางไว้  เช่น  การจัดหาแหล่งเงินกู้  การก่อสร้างโรงงาน อาคาร  การจัดซื้อวัสดุ  อุปกรณ์และเครื่องจักรการดำเนินการผลิต  การติดตามและประเมินผลโครงการเมื่อโครงการได้ดำเนินไปแล้ว เป็นต้น
   แนวทางการเขียนโครงการ   การลงทุนโครงการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการใหญ่ ๆ ต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมาก  ซึ่งอาจเป็นส่วนของผู้ประกอบการเอง หรือเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน  การจัดเตรียมโครงการจึงต้องมีการดำเนินงานอย่างรอบคอบ  ใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพที่ตั้งไว้ศึกษาวิเคราะห์ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง   เชื่อมั่นได้  เพื่อที่จะทำให้โครงการลงทุนนั้น ๆ ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์
   2.  การวิเคราะห์โครงการ   โดยทั่วไปแล้วเมื่อจะมีการลงทุนในโครงการมักจะมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้เบื้องต้นของโครงการ  โดยอาศัยข้อมูลจากข้อเท็จจริง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลประเภททุติยภูมิ (Secondary data)  และข้อมูลปฐมภูมิที่สามารถหาได้  เพื่อช่วยในการตัดสินใจเบื้องต้นว่า  โครงการลงทุนนั้น ๆ มีลู่ทางพอที่จะดำเนินการได้หรือไม่  การศึกษาการลงทุนนี้ก็คือ  การวิเคราะห์โครงการด้านต่าง ๆ นั่นเอง  ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์ใน 3 ด้านคือ  ด้านการตลาด  ด้านเทคนิค และด้านการเงิน   โดยมีรายละเอียดดังนี้

การวิเคราะห์โครงการด้านการตลาด
   โดยทั่วไปแล้วมักจะเข้าใจว่า   การตลาด  หมายถึง  กิจกรรมต่างๆ ในอันที่จะนำผลิตภัณฑ์หรือบริการจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคจากความหายนี้ทำให้เข้าใจว่าการตลาดนั้นเริ่มขึ้นภายหลังจากที่ได้มีการผลิตสินค้าเรียบร้อยแล้วจึงมีผู้ทำหน้าที่ทางด้านการตลาดต่อไป
   แต่ในความหมายของการตลาดสมัยใหม่นั้น  การตลาด   หมายถึง การนำสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคอุปโภคโดยคำนึงถึงความต้องการของบุคคลเหล่านั้น  และยังรวมถึงการหาข่าวสารเพื่อป้อนให้ฝ่ายผลิต  ซึ่งจะเห็นได้ว่าการตลาดนั้นมาก่อนการผลิต
   การวิเคราะห์ด้านการตลาดจัดเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิเคราะห์ลู่ทางความเป็นไปได้ของโครงการ  โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ
   1. ตัวสินค้า (Product)  จะต้องพิจารณาว่าโครงการลงทุนจะผลิตสินค้าอะไร  กลุ่มเป้าหมายคือใคร   คุณภาพสินค้าอยู่ในระดับไหน
   2. วิเคราะห์ความต้องการต่อสินค้าหรือบริการนั้น ๆ จะต้องวิเคราะห์ทั้งในอดีต  ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต  เพื่อพิจารณาว่าความต้องการสินค้าดังกล่าวจะมีมากน้อยเพียงใด  และเพียงพอกับปริมาณการผลิตของโครงการหรือไม่
   3. การวิเคราะห์ถึงปริมาณของสินค้าหรือบริการในการตลาด จะต้องวิเคราะห์ทั้งในอดีต  ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต  โดยพิจารณาถึงแหล่งที่มาว่ามาจากการผลิตภายในประเทศ หรือจากการสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ  การรวบรวมข้อมูลข่าวสารในส่วนที่จะทำให้เข้าใจสถานภาพทางการแข่งขันของผลิตภัณฑ์  เช่น  ข่าวสารเรื่องราคาขาย  คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และกลยุทธ์ทางการตลาดของคู่แข่งขัน  เป็นต้น
   4.  การวิเคราะห์ราคาตลาดของผลิตภัณฑ์ จะวิเคราะห์เพื่อพิจารณาถึงความเป็นมาและการเคลื่อนไหวของราคาตลาดของผลิตภัณฑ์ทั้งในอดีตและปัจจุบันตลอดจนปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในแต่ละช่วงเวลาซึ่งจะทำให้สามารถพยากรณ์แนวโน้มของราคาในอนาคต เพื่อนำมากำหนดราคาผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่จะเข้าสู่ตลาด
   5. การจัดจำหน่าย   ช่อทางและแผนการจัดจำหน่ายของบริษัทจะแสดงถึงความเป็นไปได้ทางด้านการตลาดของโครงการ   โครงการจะมีความเป็นไปได้ทางด้านการตลาดสูงถ้ามีช่องทางการจัดจำหน่ายที่แน่นอน 
   6. วัตถุดิบ   จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ตัดสินความเป็นไปได้ของโครงการ  สำหรับโครงการที่วัตถุดิบมีอยู่ทั่วไปในราคาปกติ วัตถุดิบอาจไม่ใช่ปัญหาสำคัญ  แต่ในบางกรณีที่วัตถุดิบมีจำกัด  การวิเคราะห์โครงการด้านการตลาดจะต้องเน้นหักถึงความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบ  ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อที่สำคัญคือ  ความเพียงพอของวัตถุดิบ  หมายถึง ความสามารถในการหาแหล่งวัตถุดิบที่แน่นอนและเพียงพอ  เพื่อใช้งานได้ในระยะยาว  มีคุณภาพที่เหมาะสมในการใช้งาน  และที่สำคัญอีกประการคือ  ราคาของวัตถุดิบในการวิเคราะห์  จะต้องพิจารณาราคาวัตถุดิบทั้งในอดีต  ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต   ตลอดจนต้องคำถึงถึงโครงสร้างราคาค่าขนส่ง และภาษีต่าง ๆ เพื่อนำมาคำนวณต้นทุนในโครงการด้วย

การวิเคราะห์โครงการด้านเทคนิค
      การวิเคราะห์โครงการด้านเทคนิค  คือการ พิจารณาวิเคราะห์องค์ประกอบในด้านเครื่องจักร  วัตถุดิบ  และบุคคล  องค์ประกอบดังกล่าวนี้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันโดยก่อให้เกิดแกนกลางรวมซึ่งเรียกว่า  การจัดการ (Management)  นอกจากนี้ยังรวมถึงการพิจารณาวิเคราะห์ในด้านอื่น ๆ เช่น การควบคุมในด้านปริมาณ คุณภาพ และกระบวนการผลิตตลอดจนการวางแผนในการใช้เงินทุน  วัตถุดิบ เป็นต้น
   โดยทั่วไปแล้วการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคจะพิจารณาในเรื่องดังต่อไปนี้
   1. การพิจารณาเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของโครงการ สินทรัพย์ถาวรของธุรกิจอุตสาหกรรมแต่ละประเภทอาจประกอบด้วยสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน  เช่น โครงการดำเนินการขนส่งทางทะเล  สินทรัพย์ถาวรจะหมายถึง ตัวเรือธุรกิจโรงแรม  สินทรัพย์ถาวรจะหมายถึง อาคารโรงแรม เป็นต้น  หากจะพิจารณาเงินลงทุนทางด้านเทคนิคในสินทรัพย์ถาวรของโครงการธุรกิจอุตสาหกรรมโดยทั่วไปแล้ว ประกอบด้วยรายการต่างๆ ดังนี้คือ
   ที่ดินและการปรับปรุงที่ดิน  ควรพิจารณาเกี่ยวกับขนาดของพื้นที่และจำนวนพื้นที่ที่ต้องปรับปรุงความเหมาะสมของทำเลที่ตั้งเส้นทางซึ่งจะสัมพันธ์กับสาธารณูปโภค  ตลาดของสินค้าสำเร็จรูป  แหล่งที่มาของวัตถุดิบตลอดจนเส้นทางการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป  นอกจากนี้จะต้องเลือกวิธีการปรับปรุงที่ดิน  เช่น  โดยการถมดิน  ถมทราย
   สิ่งปลูกสร้าง  งบประมาณการลงทุนมาจากการคาดคะเนแบบแปลนซึ่งสถาปนิกและวิศวกรเป็นผู้กำหนด  สิ่งที่ควรพิจารณาในการตั้งงบประมาณ  คือ ข้อมูลทางด้านเทคนิคจากผู้ขายเครื่องจักร  กระบวนการผลิตสินค้า  กำลังคน  จำนวนสินค้าคงเหลือของวัตถุดิบและสินค้าคงเหลือและสินค้าสำเร็จรูป  กำลังการผลิตของโรงงาน  พระราชบัญญัติของการก่อสร้าง
   เครื่องจักรอุปกรณ์   ในการพิจารณาเลือกซื้อเครื่องจักร  นอกจากพิจารณาในด้านราคาแล้วยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของขนาดกำลังการผลิต   ความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงาน   อายุการใช้งาน  ความสามารถในการซ่อมแซม  จัดหาอะไหล่   และบำรุงรักษา  สาระสำคัญของสัญญาซื้อขาย  เงื่อนไขการชำระเงิน   การติดตั้ง  เครื่องจักร ฯลฯ
   ยานพาหนะ  จะต้องพิจารณาความเหมาะสมด้านต่างๆ เช่น ประเภทการขนส่งสินค้าต่อชนิดผลิตภัณฑ์   ขนาดของยานพาหนะในการจนส่งแต่ละประเภท  และจำนวนของยานพาหนะให้เพียงพอต่อการบริการ
   เครื่องใช้สำนักงาน   พิจารณาตั้งงบประมาณให้เหมาะสมกับกำลังคนและความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน
   2.   การพิจารณาและวิเคราะห์การควบคุมการผลิต   การควบคุมการผลิตในเรื่องของปริมาณและคุณภาพของผลิตภัณฑ์นั้นมีความสำคัญทางเทคนิคมาก  การควบคุมนี้จะมีผลต่อเนื่องมาจากการเลือกซื้อเครื่องจักร  อุปกรณ์และการเลือกกระบวนการผลิต
   การเลือกกระบวนการผลิตจะต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญ คือ   ชนิดของวัตถุดิบที่มีอยู่ในปัจจุบัน   ต้นทุนการผลิต  และการเงินในบางกรณีหรือบางประเภทของอุตสาหกรรมได้มีผู้ดำเนินการขอสงวนการใช้  ดังนั้นการเลือกกระบวนการผลิต จึงจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขอใช้ลิขสิทธิ์
   ส่วนการควบคุมปริมาณและคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเลือกกระบวนการผลิตการซื้อเครื่องจักร  การซื้อลิขสิทธิ์ ฯลฯ  จากผลสืบเนื่องดังกล่าวเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการจะดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย  ควรที่จะมีผู้รับเอาประกันความสำเร็จของโครงการกบ่าวคือ  ผู้ขายเครื่องจักรควรจะรับประกันคุณภาพของเครื่องจักรและการผลิตอุปกรณ์  ผู้ขายลิขสิทธิ์ควรรับประกันในด้านการให้ความช่วยเหลือทางด้านการค้นคว้าและวิจัยเทคนิคใหม่ ๆ ใน การผลิตผลิตภัณฑ์
   3.   การพิจารณาและการวิเคราะห์การวางแผน  การวางแผนงานของโครงงานแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ  การวางแผนในการดำเนินการลงทุน  และการวางแผนในการผลิต
   การวางแผนในการดำเนินการลงทุนคือ  การกำหนดแผนงานตามระยะเวลาที่เหมาะสม  เพื่อคาดคะเนการใช้เงินลงทุน และค่าใช้จ่ายของโครงการในระยะเริ่มต้นก่อนเปิดดำเนินการ  แบ่งเป็น 3 ระยะคือ
   ระยะที่ 1 คือ ระยะเวลามรการดำเนินการด้านธุรการ  เช่น การจัดตั้งบริษัท  การขอรับการส่งเสริมจาก BOI  การหาแหล่งเงินทุน ฯลฯ
   ระยะที่ 2 คือ ระยะเวลาของการก่อสร้าง
   ระยะที่ 3 คือ ระยะในการดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องจักรและอุปกรณ์
   การวางแผนในการผลิต แผนงานในขั้นนี้ได้แก่  การกำหนดปริมาณการผลิตที่เหมาะสมของโครงการอาจจะเริ่มจากน้อยไปหามาก  โดยพิจารณาจากความต้องการและการตอบสนองของผลิตภัณฑ์  วัตถุดิบ  และปริมาณการผลิตที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด  การขนส่ง  ราคา ฯลฯ   นอกจากนี้ในด้านของกำลังคนควรพิจารณาถึงประเภทของแรงงานที่ใช้  เช่น ช่างฝีมือแรงงาน   กึ่งช่างฝีมือ  และแรงงานที่ไม่ใช่ช่างฝีมือ  และควรคำนึงถึงจำนวนแรงงานที่ต้องการเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิต  ระยะเวลาการทำงานแต่ละวัน  แต่ละปี  รวมทั้งการจัดองค์การ
   4.    ต้นทุนการผลิตเบื้องต้น   การคิดคำนวณค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิต  เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการวิเคราะห์โครงการทางเทคนิค  ค่าใช้จ่ายในการผลิตสามารถแบ่งเป็นค่าเสื่อมราคา  วัตถุดิบ   แรงงาน   และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในโรงงาน
   ค่าเสื่อมราคา  โยทั่วไปจะคิดอัตราค่าเสื่อมราคาดังนี้  อัตราค่าเสื่อมราคาของสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 5 ของมูลค่าต่อปี  ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรและอุปกรณ์ร้อยละ 10 ของมูลค่ารวมต่อปี  และค่าเสื่อมราคาของยานพาหนะร้อยละ 2 ของมูลค่ารวมต่อปี
   วัตถุดิบ   การคำนวณหามูลค่าของวัตถุดิบที่ใช้ในแต่ละปี  จะต้องนำข้อมูลการวางแผนในเรื่องวัตถุดิบและปริมาณการผลิตมาเป็นเกณฑ์  ในการคำนวณมูลค่าวัตถุดิบนั้นมีข้อควรระวัง  คือจะต้องคำนึงถึงปริมาณวัตถุดิบที่แท้จริง  ทั้งนี้ไม่ควรลืมว่าปริมาณของวัตถุดิบอาจจะเกิดการสูญเสียขึ้นได้ในระหว่าง  การขนส่ง และระหว่างผ่านกระบวนการผลิต ฯลฯ
   แรงงาน  ในขั้นนี้เป็นการประมาณค่าใช้จ่าย    อัตราเงินเดือนหรืออัตราแรงงานขั้นต่ำรายวันกับกำลังคนที่ใช้
   ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ  ในโรงงาน   โดยทั่วไปแล้วจะประกอบด้วยค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค  เช่นค่าไฟฟ้า  ค่าจ้ำ  ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ   ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมสินทรัพย์ถาวร  ค่าใช้จ่ายสวัสดิการต่าง ๆค่าวัสดุสิ้นเปลือง  ค่าบรรจุหีบห่อ  ค่าชำรุดเสียหาย ฯลฯ
   หลักประกันค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิต  โดยทั่วไปจะประมาณในระยะปีต่อปี  โดยให้สอดคล้องกับการวางแผนงานควบคุมการผลิตและการผลิต
การวิเคราะห์โครงการด้านการเงิน
   การวิเคราะห์ด้านการเงินเพื่อพิจารณาลู่ทางความเป็นไปได้ของโครงการ  ประเด็นสำคัญ  ได้แก่   การจัดเตรียมงบประมาณทางด้านการเงิน   เพื่อประโยชน์ทางด้านการประเมินลู่ทางความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ของโครงการ  และประมาณการความต้องการทางการเงินของโครงการ  การจัดทำงบประมาณกาความต้องการทางการเงินของโครงการ  การจัดทำประมารการทางการเงินจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้มีการประมาณการทางด้านเทคนิค  และภาวะการตลาดของโครงการเรียบร้อยแล้ว  โดยทั่วไปการวิเคราะห์ทางการเงินควรวิเคราะห์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
   1. ประมาณการและจัดสรรแหล่งที่มาของเงินทุน   การประมาณการเงินลงทุนในโครงการ  และจัดสรรแหล่งที่มาของเงินทุนจะประกอบด้วย  ค่าที่ดินและค่าปรับปรุงที่ดิน  ค่าก่อสร้าง  ค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ยานพาหนะ  เครื่องใช้สำนักงานและเครื่องตกแต่ง  ค่าใช้จ่ายก่อนการดำเนินงาน  เงินทุนหมุนเวียน 
   การจัดสรรแหล่งที่มาของเงินทุนจะได้มาจากแหล่งที่มาจากแหล่งต่อไปนี้  คือ เงินทุนจดทะเบียน  แหล่งเงินกู้ระยะยาว  ซึ่งจะต้องนำไปใช้สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร  โดยคำนึงถึงสัดส่วนระหว่างเงินทุนจดทะเบียนกับแหล่งเงินกู้ระยะยาว ตามปกติไม่เกิน 1:1.5 และแหล่งเงินกู้ระยะสั้น  ซึ่งจะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
2. การประเมินคุณค่าโครงการ  การประเมินคุณค่าโครงการจะพิจารณาด้านต่าง ๆ ดังนี้
ผลตอบแทนทางการเงิน  โดยพิจารณาจากงบกำไรขาดทุนเพื่อทราบถึงผลกำไรขาดทุนของกิจการ  และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
การพิจารณาจุดคุ้มทุน  เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ราคาต่อต้นทุน  ปริมาณการขายและกำไร  จุดคุ้มทุนคือ จุดที่กิจการดำเนินการผลิตมาจนมีรายได้เท่ากับรายจ่ายพอดี  ไม่มีกำไรและขาดทุน  แต่ถ้ายอดขายส่วนมากอยู่ใกล้กับจุดคุ้มทุน  แสดงว่ากิจการนั้นมีการเสี่ยงในการลงทุนมาก
ต้นทุนสินค้าต่อหน่วย   การหาต้นทุนสินค้าต่อหน่วยของสินค้าที่ขาย  เพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาขายต่อหน่วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการตั้งราคาขายสินค้าได้เหมาะสม  เพราะสามารถทราบการเปลี่ยนแปลงต้นทุนที่มีต่อปริมาณการผลิต  ราคาวัตถุดิบ  ราคาขาย ฯลฯ  ได้อย่างชัดเจน


สรุปประเด็น
การวิเคราะห์ด้านการเงินเพื่อพิจารณาลู่ทางความเป็นไปได้ของโครงการ  ประเด็นสำคัญ  ได้แก่   การจัดเตรียมงบประมาณทางด้านการเงิน   เพื่อประโยชน์ทางด้านการประเมินลู่ทางความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ของโครงการ  และประมาณการความต้องการทางการเงินของโครงการ  การจัดทำงบประมาณกาความต้องการทางการเงินของโครงการ  การจัดทำประมารการทางการเงินจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้มีการประมาณการทางด้านเทคนิค  และภาวะการตลาดของโครงการเรียบร้อยแล้ว 

กรณีศึกษา

ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาสมุนไพร ร้าน ?ใบเตย?
แฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวไทย ไอเดียเพื่อสุขภาพ

ความเป็นมา
++ร้าน ?ก๋วยเตี๋ยว? ทำไมต้อง ?ลูกชิ้นปลาสมุนไพร? และ ทำไมต้อง ?ใบเตย?!?
   ++เรื่องนี้คงต้องถาม คุณ ปฐมพงษ์ อรรคศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิล์ค ไทม์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาสมุนไพร ?ใบเตย?
   ++คุณปฐมพงษ์เล่าว่า ก่อนที่จะเบี่ยงเบนอาชีพแบบสุดขั้วมาทำแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวนั้น เดิมเคยเปิดบริษัทซื้อขายเวลาทางสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แต่ก็ไปไม่รอด หลังเจอเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ โดนลูกค้าเบี้ยวเงินจนสถานการณ์บริษัทย่ำแย่
   ++แต่ด้วยความเป็นคนสนใจในธุรกิจแฟรนไชส์เป็นทุนเดิม  และหมั่นศึกษาหาข้อมูลมาโดยตลอด จึงพลิกตัวได้อย่างรวดเร็ว
++แนวคิดของคุณปฐมพงษ์นั้นค่อนข้างน่าสนใจ และมีเสน่ห์อยู่หลายจุดทีเดียว
++อันดับแรก ทำไมต้องเป็น ?ร้านก๋วยเตี๋ยว? เพราะหากจะนั่งนับดูแฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเวลานี้ หรือร้านก๋วยเตี๋ยวที่เปิดเอง ต้องบอกว่าสมรภูมินี้หินเอาการและเต็มไปด้วยการแข่งขันที่รุนแรง
++คำตอบของคุณปฐมพงษ์มีอยู่ข้อเดียว และเป็นข้อเดียวที่ยากจะปฏิเสธ ?ธุรกิจอาหารเป็นตลาดที่ใหญ่ และมหาศาล ยังไงก็ขายได้? 
++เพียงแต่คุณต้องหาจุดเด่นที่แตกต่างให้กับธุรกิจอาหารของคุณ ให้เจอเท่านั้น!?
++คุณปฐมพงษ์เลือกที่จะสร้างจุดเด่นด้วยคอนเซ็ปต์ ?เพื่อสุขภาพ? โดยใช้ ?เนื้อปลา? ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีไขมันต่ำ และมีสาร DHA กับ ?สมุนไพรไทย? เข้ามาเป็นจุดขาย เรียกว่าอิงเข้ากับกระแสนิยมและความตื่นตัวของคนในช่วงเวลานี้ได้อย่างพอดิบพอดี
++มนุษย์ทุกวันนี้ นอกจากเสพอาหารก็ยังเสพข่าวสาร ซึ่ง โฆษณาและประชาสัมพันธ์ ที่โหมยิงออกมาจากสินค้ายี่ห้อดัง ๆ เวลานี้ล้วนแต่กระตุ้นให้คนไทยตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องการบริโภค?เนื้อปลา? และ ประโยชน์นานัปการของ ?สมุนไพรไทย? ซึ่งคุณปฐมพงษ์ก็รู้จักที่จะหยิบยืมผลพลอยได้นี้มาใช้
++?ลูกชิ้นปลาของผมจะประกอบไปด้วยสมุนไพรกว่า 10 ชนิด ทั้ง ตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า ผักชี ต้นหอม เยอะมาก ในน้ำซุปก็เหมือนกันจะมีส่วนผสมของสมุนไพรด้วย ก็ต้องลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง กว่าจะลงตัว ช่วงแรกผมใส่สมุนไพรลงไปเป็นชิ้นๆ ลูกค้าบางคนชอบ บางคนไม่ชอบ ต้องปรับปรุงตลอดเวลา? คุณปฐมพงษ์พูดถึงการการนำสมุนไพร และเนื้อปลา เข้ามาเป็นจุดขายของร้าน
++ส่วนชื่อร้านนั้นคุณปฐมพงษ์ก็เลือกใช้ชื่อที่เก๋ไก๋ จำง่าย และดูเป็นไทยๆ เป็นสมุนไพรไปด้วยในตัว ว่า ?ใบเตย? ที่สำคัญคอนเซ็ปต์ของร้าน ก็จะมีน้ำใบเตยไว้คอยบริการลูกค้าด้วย เพื่อสร้างความประทับใจ

จากร้านต้นแบบสู่ธุรกิจแฟรนไชส์
++สาขาแรกของร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาสมุนไพร ?ใบเตย? หรือร้านต้นแบบเกิดขึ้นที่ย่านถนนเพชรเกษม ภายใต้สโลแกน ?ร้านก๋วยเตี๋ยวชามด่วน ของคนรักสุขภาพ อร่อย สะอาด ราคาถูก? ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
++?เปิดไปได้ 6 เดือน ก็มีลูกค้าประจำ เขาบอกว่ากำลังจะลาออกจากงาน มาถามผมว่าจะมารับลูกชิ้นไปขายได้มั้ย จะเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวอย่างเราได้มั้ย ทำให้ผมเริ่มมั่นใจที่จะเปิดร้านใบเตยเป็นแฟรนไชส์? คุณปฐมพงษ์เล่า
++เมื่อตั้งใจเปิดเป็นแฟรนไชส์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด หรือสร้าง Brand Royalty ความที่เคยผ่านงานสื่อ และคลุกคลีอยู่ในวงการมานาน ทำให้คุณปฐมพงษ์มองหาช่องทางประชาสัมพันธ์โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้งการเดินไปตามค่ายเพลง ซึ่งไม่ว่าจะไปจัดคอนเสิร์ตที่ไหน คุณปฐมพงษ์ก็จะขอตามไปออกบูธเพื่อให้ผู้ไปชมคอนเสิร์ตได้ทดลองชิม เพราะกลุ่มเป้าหมายของร้านใบเตยนั้น คุณปฐมพงษ์มองไว้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพ่อบ้าน แม่บ้าน รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน

จัดทำโปรเจคเพื่อขอกู้
จังหวะก้าวแห่งการเติบโต
++เพียง 1 ปีเศษ คุณปฐมพงษ์ก็ขยายสาขาแฟรนไชส์ออกไปได้ถึง 44 สาขา เรียกว่าค่อนข้างเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งคุณปฐมพงษ์บอกว่าต้องขอบคุณ SMEs BANK หรือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจและยอมปล่อยกู้ให้กับบริษัท ซึ่งเม็ดเงินกู้ที่ได้จาก SMEs BANK คุณปฐมพงษ์นำไปใช้ในการขยายกิจการ และ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งสินค้าให้กับร้านแฟรนไชส์ ซึ่งทำให้ เวิร์ค ไทม์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ พร้อมมากขึ้นในการทำธุรกิจแฟรนไชส์
++สำหรับค่าแฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาสมุนไพร ?ใบเตย? นั้น เริ่มต้นที่ 70,000-150,000 บาท
++70,000 บาท ก็จะได้เป็นคีออสหรือรถเข็น แต่ถ้าเป็นร้านอาคารพาณิชย์ 1 คูหา ก็ 100,000 บาท ถ้า 2 คูหา ก็ 150,000 บาท ส่วนสิ่งที่จะได้รับเรียกว่าอุปกรณ์ครบครันพร้อมขาย เพียงแต่คุณหาทำเลให้ได้เท่านั้นเอง
++คุณปฐมพงษ์บอกว่า ที่ลืมไม่ได้คือคุณต้องมีเงินทุนหมุนเวียนติดมือเอาไว้อย่างน้อย 30,000 บาท ระยะเวลาคุ้มทุนนั้นขึ้นอยู่กับทำเล หากขายดี 1-2 เดือนก็คืนทุนแล้ว  ใครสนใจแฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวปลาสมุนไพรใบเตย ก็ลองติดต่อคุณปฐมพงษ์ได้ที่เบอร์โทร.02-377-9582 , 02-377-9735 หรือ 01-620-5752

ข้อสรุปทางวิชาการ
?   ก่อนดำเนินการขอกู้ คุณปฐมพงษ์ได้มีการจัดทำการวิเคราะห์ด้านการเงินเพื่อพิจารณาลู่ทางความเป็นไปได้ของโครงการ โดยอาศัยร้านต้นแบบ และ การที่มีคนติดต่อเข้ามาเพื่อสมัครแฟรนไชส์ถึง 44 ราย ซึ่งเป็นการการันตีให้กับสถาบันการเงินถึงความสามารถในการคืนเงิน
?   คุณปฐมพงษ์ ได้มีการจัดทำแผนธุรกิจแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งมีการวิเคราะห์ หาข้อมูล ภาวะตลาด ความเป็นไปได้ของธุรกิจ และ โอกาสในการสร้างรายได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการจัดทำโครงการเพื่อขอเงินกู้สำหรับธุรกิจ
?   การสร้างสินค้าแม้จะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว แต่สามารถสร้างเอกลักษณ์ และ มีจุดขายที่โดดเด่น แตกต่างจากร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วไป เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ และ การขอเงินกู้จากสถาบันการเงิน