-->

ผู้เขียน หัวข้อ: งบการเงินและงบดุล  (อ่าน 1205 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

don

  • บุคคลทั่วไป
งบการเงินและงบดุล
« เมื่อ: 09 มกราคม 2008, 23:09:01 »

งบการเงินและงบดุล

   เรียบเรียงโดย ผศ.กิตติภูมิ  มีประดิษฐ์

งบการเงินเป็นหัวใจของธุรกิจที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสินค้า นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการหาเงินมาลงทุนและใช้จ่ายหมุนเวียนในการดำเนินกิจการแล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อถือในองค์กรให้กับบุคคลภายนอกด้วย ธุรกิจจึงต้องเอาใจใส่จัดทำงบการเงินให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติ จึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อลงทุน หรือค้าขายกับธุรกิจ

คุณภาพของงบการเงิน
คุณภาพของงบการเงิน หมายถึงความถูกต้องและครบถ้วนของตัวเลขรายการและข้อมูลที่เปิดเผยไว้ในงบการเงิน ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ การขาย การผลิต การรับเงิน หรือการจ่ายเงิน เป็นต้น
ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องจัดให้มีระบบบริหารที่ดี มีประสิทธิภาพ จึงจะช่วยให้การไหลเวียนของข้อมูลที่เกิดจากการบริหารจัดการไปบันทึกบัญชีตามรูปแบบและประเภทของกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วน
ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีระบบบัญชีที่ทันสมัยและได้มาตรฐานรองรับ จึงจะช่วยให้การบันทึกบัญชีเป็นไปตามกฎหมายบัญชีและกติกาที่เรียกว่า มาตรฐานการบัญชีหรือหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป  และสามารถประมวลข้อมูลทางบัญชีเหล่านี้ไปจัดทำงบการเงินที่มีคุณภาพได้ในที่สุด

มาตรฐานการบัญชี
กุญแจสำคัญที่ทำให้งบการเงินได้รับความเชื่อถือ นอกจากจะต้องมีคุณภาพแล้ว จะต้องจัดทำตามมาตรฐานการบัญชี ซึ่งเป็นกติกาหรือกฎเกณฑ์หลักของการจัดทำงบการเงิน นอกจากนั้นในกรณีที่มาตรฐานการบัญชีมีวิธีการให้เลือกปฏิบัติมากกว่าหนึ่งวิธี การเลือกใช้วิธีการบัญชีจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับธุรกิจ SMEs ที่ประกอบการด้วย ทั้งนี้ อาจอ้างอิงวิธีการที่ธุรกิจประเภทเดียวกันใช้อยู่เป็นแนวทางในการพิจารณาก็ได้ เพื่อให้งบการเงินแสดงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดตามมาตรฐานการบัญชีที่ดีและเหมาะสมที่สุด

ความโปร่งใสในการจัดทำงบการเงิน
งบการเงินที่ดีจะต้องเปิดเผยรายการและข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน และเพียงพอ เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย ไม่เกิดความหลงผิด ในเรื่องนี้จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอยู่ที่ความโปร่งใสของผู้บริหารในการจัดทำงบการเงิน หากธุรกิจมีระบบการกำกับดูแลที่ดีมีประสิทธิภาพ ความโปร่งใสในการจัดทำงบการเงินก็จะมีมาก ผู้ใช้งบการเงินก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่และสบายใจ
งบการเงินที่ดีนั้น ผู้จัดทำต้องมีความเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดที่ปรากฏในงบการเงินจะต้องเป็นไปตามเนื้อผ้า ไม่ปรุงแต่งเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีส่วนได้เสียในธุรกิจ ทุกฝ่ายที่ได้รับงบการเงิน จะต้องมีความสะดวกในการใช้ประโยชน์เท่าเทียมกัน 
งบการเงินจึงต้องเป็นกระจกเงาบานใหญ่ที่ใสสะอาด สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของธุรกิจและความสามารถของผู้บริหารในการบริหารจัดการ หัวใจสำคัญของงบการเงินอยู่ที่การจัดทำให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ที่สำคัญจะต้องจัดทำด้วยความโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ผู้ใช้งบการเงินจึงจะสามารถใช้ข้อมูลในงบการเงินวิเคราะห์ถึงสภาพคล่อง ฐานะการเงินของธุรกิจ ตลอดจนความสามารถในการหารายได้และทำกำไร ทำให้ตัดสินใจดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ กับธุรกิจได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การค้า หรือการให้กู้ยืมก็ตาม

องค์ประกอบที่สำคัญของงบการเงิน
ผู้ประกอบการ SMEs ต้องรับผิดชอบกับสารพันปัญหามากมาย เพื่อให้กิจการดำเนินไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม ข้อมูลทางบัญชีหรืองบการเงินเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยผู้บริหารทราบถึงสถานะของกิจการ อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการคิดกลยุทธ์บริหารธุรกิจต่อไป
งบการเงิน จัดทำขึ้นโดยกิจการหรือองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งตามมาตรฐานการบัญชีประกอบด้วยงบดุล งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้นงบกระแสเงินสด และหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยทั่วไปกิจการจะต้องมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน จึงจะมียอดคงเหลือ แต่เมื่อใดก็ตามที่ยอดหนี้สินสูงกว่าสินทรัพย์ก็แสดงว่าติดลบ หรือมีหนี้สินล้นพ้นตัวนั่นเอง
สำหรับด้านผลการดำเนินงาน ผู้ใช้งบการเงินจะทราบจากงบการเงินว่ารายได้ในรอบบัญชีมีเท่าใด และมีต้นทุน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมากน้อยเพียงใด และเมื่อนำมาหักออกจากรายได้แล้ว จะเป็นกำไรหรือขาดทุนเท่าใดในรอบบัญชีนั้น แน่นอนที่สุดถ้ารายได้สูงกว่าต้นทุน และค่าใช้จ่ายก็แสดงว่ามีกำไร แต่ถ้าเป็นในทางตรงกันข้าม กิจการก็จะมีผลขาดทุน
หมายเหตุประกอบงบการเงินจะให้รายละเอียดประกอบรายการบัญชีต่าง ๆ ในงบการเงิน เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงองค์ประกอบในส่วนลึกมากขึ้น เช่น สิ้นค้าคงเหลือ ประกอบด้วยวัตถุดิบ สินค้าระหว่างผลิต และสินค้าสำเร็จรูปมากน้อยเท่าใด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังบอกให้ทราบถึงหลักการบัญชีที่ใช้ ภาระผูกพันที่กิจการมีอยู่ หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า และรายการกับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน รวมถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้งบการเงินอื่น ๆ ด้วย
   ข้อมูลที่เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินนี้จะช่วยในการประเมินฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานของกิจการได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนค้าขาย หรือดำเนินกิจกรรมกับกิจการนี้ได้อย่างเหมาะสม
งบการเงินที่จะใช้ประโยชน์ได้ด้วยความมั่นใจในระดับหนึ่ง ควรมีผู้สอบบัญชีตรวจสอบและเสนอรายงานแนบประกอบไว้ด้วย เพื่อสร้างความเชื่อถือในงบการเงิน   เนื่องจาก เป็นผลงานของผู้สอบบัญชีอิสระที่ตรวจสอบ และแสดงความเห็นต่องบการเงิน ผู้ใช้งบการเงินจะทราบจากความเห็นของผู้สอบบัญชีว่างบการเงินแสดงฐานะการเงิน  ผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดโดยถูกต้องตามที่ควรตามมาตรฐานการบัญชีหรือไม่เพียงใด  ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีให้ความเห็นอย่างมีเงื่อนไข หรือไม่แสดงความเห็น หรือแสดงความเห็นว่าไม่ถูกต้อง ผู้ใช้งบการเงินก็จะต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบเป็นพิเศษในการใช้ประโยชน์จากงบการเงินนั้น ถือได้ว่าผู้สอบบัญชีช่วยทำหน้าที่กลั่นกรองงบการเงินของกิจการไปชั้นหนึ่ง

งบดุล
ในอดีตจะแสดงสินทรัพย์แยกออกเป็นสามประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ สินทรัพย์หมุนเวียน ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และสินทรัพย์อื่นๆ ในขณะเดียวกันก็จะแสดงหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นแยกออกเป็น หนี้สินหมุนเวียน หนี้สินระยะยาว และส่วนของผู้ถือหุ้น
ในงบดุลสินทรัพย์และหนี้สินจะแสดงแยกออกเป็นอย่างละสองประเภทเท่า ๆ กันคือ สินทรัพย์หมุนเวียนกับสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนในด้านสินทรัพย์ และหนี้สินหมุนเวียนกับหนี้สินไม่หมุนเวียนในด้านหนี้สิน
ความหมายของคำว่า ?หมุนเวียน? หรือ ?ไม่หมุนเวียน? ก็อยู่ที่ว่าสินทรัพย์นั้นสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ภายในหนึ่งปี หรือหนี้สินนั้นจะต้องชำระภายในหนึ่งปีหรือไม่เท่านั้น หากใช่ สินทรัพย์หรือหนี้สินดังกล่าวก็เป็นสินทรัพย์หมุนเวียนหรือหนี้สินหมุนเวียนนั่นเอง
ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และสินทรัพย์อื่น ต่างก็เป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนด้วยกัน เพียงแต่ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ส่วนสินทรัพย์อื่นเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ ดังนั้น ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และสินทรัพย์อื่นจึงแสดงรวมไว้ด้วยกันภายใต้สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
ส่วนหนี้สินระยะยาว ก็ชัดเจนในตัวว่ามีกำหนดชำระนานกว่าหนึ่งปีและแสดงไว้เป็นหนี้สินไม่หมุนเวียน
ปัจจุบันค่าของสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่น ค่าความนิยม ค่าสัมปทาน หรือค่าสิทธิต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงและแพงมากทั้งสิ้น ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ในหลายกรณีมีมูลค่าที่สูงกว่ามาก รวมทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจมหาศาล และยาวนานกว่าด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะค่าสิทธิต่าง ๆ ทางเทคโนโลยีและสินทรัพย์ทางปัญญา ความสำคัญของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ หรือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ จึงไม่แตกต่างกัน

ความน่าเชื่อถือของงบการเงิน
มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อยยังประหวั่นพรั่นพรึงถึงความน่าเชื่อถือของงบการเงินที่ชวนให้สงสัยหลังจากอ่านงบการเงินแล้วหาคำตอบไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะการเปิดเผยข้อมูลไม่ชัดเจน หรือไม่ครบถ้วน หรือมีตัวเลขในงบการเงินที่แตกต่างจากที่คาดหมายไว้ หรือมีลักษณะผิดปกติ หรือไม่อาจเปรียบเทียบได้กับปีก่อน ทำให้เกิดเป็นปัญหาคาใจที่สร้างความรู้สึกไม่ดีในความโปร่งในของธุรกิจและผู้บริหารที่จัดทำงบการเงินนั้น
ผู้จัดทำงบการเงินต้องเอาใจใส่ในความรู้สึกของผู้ใช้งบการเงิน โดยการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินให้ชัดเจน เข้าใจง่ายและครบถ้วนเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีให้มากที่สุด รายการใดที่แตกต่างจากความคาดหมายหรือผิดปกติ หรือเปรียบเทียบไม่ได้กับปีก่อน ก็ควรให้ข้อมูลเพิ่มเพิ่มในหมายเหตุประกอบงบการเงิน หรือชี้แจงให้เข้าใจโดยกระจ่างเมื่อได้รับการสอบถาม ก็จะช่วยลดความกังขาของผู้ใช้งบการเงินในความโปร่งใสจริงใจของธุรกิจและผู้บริหารลงได้
ความน่าเชื่อถือของงบการเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อน  ขึ้นอยู่ที่งบการเงินนั้นให้ข้อมูลชัดเจนและครบถ้วน และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีเพียงใด ผู้ใช้งบการเงินสามารถทราบจากงบการเงินถึงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดที่เป็นจริงได้แค่ไหน รวมทั้งงบการเงินสามารถสะท้อนปัญหาหรือข้อผิดพลาดในการดำเนินกิจการให้เห็นอย่างถูกต้องหรือไม่
เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งบการเงิน ยังมีการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตอีกด้วย โดยผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นต่องบการเงินนั้นประกอบ การมีผู้สอบบัญชีตรวจสอบงบการเงินก่อนนำเสนอให้ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการอนุมัตินี้เอง จึงเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้งบการเงินได้ในอีกระดับหนึ่ง
   ปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการสร้างความน่าเชื่อถือให้งบการเงินได้มากที่สุดก็คือผู้บริหารที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการจัดทำงบการเงิน ถ้าบุคคลเหล่านี้แสดงออกถึงการมีคุณธรรม มีความสุจริต มีความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบ ด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นไปตามข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือน ซ่อนเร้น หรือหลีกเลี่ยง และจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชี ทำให้ผู้ใช้งบการเงินได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจนและครบถ้วนย่อมสร้างความมั่นใจในความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้มากที่สุด
เหนือสิ่งอื่นใดนักบัญชีที่อยู่ในธุรกิจซึ่งเป็นผู้จัดทำงบการเงินในนามของผู้บริหารก็มีส่วนสำคัญยิ่งต่อความเชื่อถือได้ของงบการเงิน นักบัญชีเหล่านี้จะต้องมีความรู้ความสามารถ และมีความเป็นธรรมด้วย จะต้องมิใช่เพียงแค่สนองความต้องการของผู้บริหาร หรือถูกครอบงำจนเสียความเป็นมืออาชีพไป นักบัญชีจะต้องยึดมั่นกับหลักการที่ใช้ในการจัดทำบัญชีและงบการเงินอย่างเคร่งครัด สามารถชักจูงและโน้มน้าวให้ผู้บริหารปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี งบการเงินจึงจะมีคุณภาพและเชื่อถือได้  ความน่าเชื่อถือของงบการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากงบการเงินมีคุณสมบัติที่เชื่อถือได้ รายการผิดปกติ หรือรายการที่ชวนสงสัยในงบการเงินก็จะไม่มี ผู้เกี่ยวข้องกับงบการเงินก็จะนำงบการเงินนั้นไปใช้ด้วยความสบายใจ


สรุปประเด็น
?   ความหมายของงบการเงิน 
?   งบกำไรขาดทุนซึ่งเป็นงบการเงินที่แสดงถึงกำไรหรือขาดทุนจากการดำเนินการของกิจการ
?   รายได้จากการขาย
?   ต้นทุนการขาย
?   ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
?   งบดุล


กรณีศึกษา

เดอะ คอฟฟี่ เมกเกอร์

ความเป็นมา
?เราอยากให้คนมาดื่มกาแฟได้ทุกวัน ไม่ใช่ดื่มเป็นแฟชั่นอาทิตย์ละวัน หรือ เดือนละวัน?
   ประโยคข้างต้นเป็นคำพูดของคุณ ดวงกมล รัตนอุบล เจ้าของแฟรนไชส์กาแฟ เดอะ คอฟฟี่เมกเกอร์  ซึ่งเธอตั้งราคากาแฟ เดอะ คอฟฟี่ เมกเกอร์ ของเธอไว้ระดับกลาง ในขณะที่คุณภาพกาแฟ การบริการ พนักงานบุคลากร การตกแต่งร้าน และความสะอาด ไม่ได้เป็นรองแฟรนไชส์กาแฟข้ามชาติ
   ?ราคากาแฟเราจะตั้งไว้ระดับกลาง ถ้าเทียบกับเชนต่างประเทศ ในโปรดักส์เดียวกัน เราจะถูกกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะเราอยากให้คนไทยมาดื่มกาแฟได้ทุกวัน ไม่ใช่ดื่มเป็นแฟชั่นอาทิตย์ละวัน หรือเดือนละวัน? คุณดวงกมลกล่าวถึงเป้าหมายที่เธออยากเห็น
   หากจัดอันดับธุรกิจที่คนไทยต้องการลงทุนมากที่สุดเวลานี้ คงต้องนับ ?ธุรกิจกาแฟ? อยู่ในอันดับต้นๆ เพราะเสน่ห์ของการมีร้านกาแฟเป็นของตนเองนั้น เป็นอารมณ์โรแมนติกของคนไทยยุคนี้ทีเดียว
 แต่ 100 ร้านที่เปิด 100 แฟรนไชส์ที่เข้ามาโลดแล่นในยุทธจักรที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง คงไม่ได้หมายความว่าทุกแบรนด์จะประสบความสำเร็จ คงมีเพียงบางแบรนด์เท่านั้นที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เดอะ คอฟฟี่ เมกเกอร์
หัวใจความสำเร็จของ เดอะคอฟฟี่ เมกเกอร์ ก็คือ ?ต้องรู้จริงเรื่องกาแฟ?
คุณดวงกมลเล่าว่าก่อนที่เธอจะหันมาเอาดีด้านการเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้านกาแฟ เธอเคยผ่านงานอย่างเคี่ยวกรำในบริษัทที่ทำกาแฟของญี่ปุ่น ทำให้เธอรู้จริง และ รู้ลึกเรื่องกาแฟ แบบครบวงจร
?จบใหม่ๆ ก็ได้ไปทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นที่ทำกาแฟมานานกว่า 50-60 ปี ตอนนั้นเขาต้องการมาเป็นเชนในเมืองไทย ถือเป็นโชคดีของเราที่ได้มีโอกาสเข้าไปศึกษางานตรงนั้น เรียกว่าเทรนตั้งแต่เรื่องการคั่วกาแฟ การบริหารงานร้าน ประกอบกับเราจบมาทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร เราก็เลยได้ความรู้มาครบวงจร ตั้งแต่คั่วกาแฟ เอากาแฟมาทำโปรเซสยังไง จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค โอเปอเรทร้าน ครบวงจร เราทำอยู่ 15 ปีตรงนั้น รู้สึกเอาเงินให้ต่างชาติไปเยอะแล้ว ก็เลยอยากสร้างให้เป็นแบรนด์ไทยขึ้นมา? คุณดวงกมลเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเดอะคอฟฟี่เมกเกอร์
คุณภาพ รสชาติ และความหอม ของ กาแฟของเดอะคอฟฟี่เมกเกอร์นั้น คอกาแฟพันธุ์แท้อย่างคุณดวงกมลการันตีว่าไม่แพ้กาแฟต่างชาติ เพราะเธอคัดสรรตั้งแต่เมล็ดกาแฟ คั่วเอง คิดสูตรเอง จนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
?เพราะเรามีประสบการณ์ด้านกาแฟมาเกือบ 20 ปี เป็นจุดแข็งของเรา กาแฟที่ออกมาจึงมีคุณภาพ เรามีโรงงานกาแฟของเราเอง เราสามารถคอนโทรลคุณภาพ ตั้งแต่วัตถุดิบที่เข้ามา เอามาคัดแยก คั่วเอง เรามีเครื่องคั่วแบบ 30 กิโลกรัม อยู่ตัวหนึ่ง คั่วจนกระทั่งเป็นสูตรต่าง ๆ ออกมา เพราะฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่า กาแฟของเรามีคุณภาพเท่าเทียมกันหมด ที่สำคัญเราใช้กาแฟอาราบิก้าของไทยเอง ไม่ได้ใช้กาแฟนอกเลย เพราะกาแฟอาราบิก้าของไทยมีคุณภาพไม่แพ้ของนอก? คุณดวงกมลพูดถึงสูตรกาแฟเดอะคอฟฟี่เมกเกอร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เข้าคอร์สอบรม กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เพียงรู้จริงเรื่องกาแฟ คงไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
คุณดวงกมลจัดเป็นคนที่แสวงหาความรู้อย่างไม่หยุดนิ่งคนหนึ่ง เธอไม่รีรอที่จะเข้ารับการอบรม และขอรับการส่งเสริมจากภาครัฐ เช่นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งให้การสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ในเวลานั้น
?การที่เราเข้าไปอบรมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทำให้เรากล้าลงทุน กล้าที่จะทำ เรามองเห็นความสำเร็จอยู่ข้างหน้า เมื่อ SME BANK เห็นเราผ่านตรงนั้นมาก็กล้าที่จะปล่อยกู้ให้กับเรา เชื่อมั่นเรา ตอนนี้เรากำลังพัฒนา ด้วยการเข้าคอร์สแอดวานซ์โปรแกรม เพื่อที่จะโกอินเตอร์ แฟรนไชส์เดอะคอฟฟี่เมกเกอร์ของเราจะต้องโกอินเตอร์? คุณดวงกมลพูดถึงเป้าหมายที่เธอจะเดินต่อไปในอนาคต
จุดเด่นนอกจากเรื่องรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เดอะคอฟฟี่เมกเกอร์ ยังออกแบบร้านได้อย่างลงตัว พร้อมด้วยทีมพนักงานที่ได้รับการอบรมมาอย่างดี สะอาดสะอ้าน เน้นการบริการเพื่อมัดใจลูกค้า 
?จริงๆ รูปแบบแฟรนไชส์เราจะมี 3 รูปแบบ คือแบบเล็กสุดเป็นรถเข็น โตขึ้นมาหน่อยก็เป็นคอนเนอร์เล็กๆ และเป็นร้านขนาดใหญ่เป็นคอฟฟี่ช็อป ซึ่งก็จะมีทั้งแบบอินดอร์ เอ๊าท์ดอร์ คืออยู่ในอาคารสำนักงาน และ ตั้งเป็นร้านติดแอร์เดี่ยวๆ คนที่สนใจแฟรนไชส์เรา คุณเตรียมตัวมาเป็นเจ้าของร้านอย่างเดียว เราทำให้ทั้งหมด เราจะฝึกให้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ฝึกตั้งแต่เมล็ดกาแฟดิบ จนกลายมาเป็นกาแฟพร้อมดื่มสำหรับผู้บริโภค หรือใครยังไม่มีทำเล เราก็พร้อมจะหาทำเลให้ด้วย? คุณดวงกมลอธิบาย
?จากยอดขาย ถ้าหักต้นทุนขาย เช่นวัตถุดิบ กาแฟ อาหาร จะอยู่ที่ 20% ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่า ค่าพนักงาน จะอยู่ที่ 20% เพราะฉะนั้นเราจะได้กำไร 40-50%? คุณดวงกมลให้ข้อมูล
นอกจากกาแฟ เดอะคอฟฟี่เมกเกอร์ ยังพัฒนาสินค้าอื่นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเข้ามาใส่ในร้านเพิ่มมาก ขึ้นไม่ว่าจะเป็นนมเย็น ชาเขียว สูตรเฉพาะตัว ไม่พอยังมีเครื่องดื่มโซดาสีสดใสที่กำลังเป็นที่โปรดปรานของเด็กวัยรุ่นขณะนี้ ส่วนขนมขบเคี้ยวก็มีมีวัฟเฟิล  เค๊ก แซนด์วิช สลัด สูตรเฉพาะที่เธอคิดขึ้นด้วย เรียกว่าใครไม่ดื่มกาแฟก็เข้ามานั่งในเดอะคอฟฟี่เมกเกอร์ได้
   มุมกาแฟมุมนี้จึงเปิดกว้างสำหรับทุกคน จะใช้เป็นที่นั่งพักผ่อน นั่งพูดคุย  จะมาเดี่ยว มาเป็นคู่ หรือมาเป็นครอบครัว เดอะคอฟฟี่เมกเกอร์ก็พร้อมต้อนรับเสมอ

งบการเงินและงบดุล
ความจำเป็นเมื่อต้องการขยายธุรกิจ

    การขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน นอกจากหลักทรัพย์ที่นำไปค้ำ สิ่งจำเป็นที่ทางสถาบันการเงินต้องขอดูจากบริษัท ก็คืองบการเงิน
   ไม่ว่าจะเป็นงบดุล และ งบกำไรขาดทุน ตลอดจนงบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้น งบกระแสเงินสด และ หมายเหตุประกอบงบการเงินอย่างละเอียด
   เพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทางคอฟฟี่เมคเกอร์จึงต้องอาศัยการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งก็ต้องมีการจัดทำงบกานเงินและงบดุล ให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี หรือหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป โปร่งใสตรวจสอบได้
   ทั้งนี้งบการเงินจะเป็นกระจกเงาบานใหญ่ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของธุรกิจ ความสามารถของผู้บริหารในการบริหารจัดการ
    ความสำเร็จของคอฟฟี่เมคเกอร์ จึงแสดงออกมาในงบการเงิน และ งบดุลนั้น ซึ่งทาง SME BANK อนุมัติที่จะให้กู้
   
เดอะคอฟฟี่เมคเกอร์
ติดต่อ คุณดวงกมล รัตนอุบล
โทร.   0-1846-5080
   0-2559-3611-4