-->

ผู้เขียน หัวข้อ: ความเป็นกลาง  (อ่าน 732 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

HOST

  • บุคคลทั่วไป
ความเป็นกลาง
« เมื่อ: 09 กรกฎาคม 2007, 07:57:30 »

"...ความเป็นกลางที่แท้จริง ต้องดูอย่างตุลาการ ที่ต้องฟังหลักฐานจากทุกฝ่ายแล้วตัดสินอย่างเป็นกลาง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ระหว่างโจทก์และจำเลย หลายคนบอกว่าความเป็นกลางมาจากมัชชิมาปฏิปัฐทา..แต่ไม่ใช่ความเป็นกลางที่จะมาใช้ในทางการเมือง อย่าเอาไปใช้ทุกเรื่อง"

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พระมหาวุฒิชัย หรือในนามปาก"ว.วชิรเมธี"กล่าวระหว่างเสวนาหัวข้อ "สร้างบ้านแปงเมือง...ศาสนาและจริยธรรม"จัดโดยเครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม นำประชาธิปไตย ร่วมกับสถาบันสหสวรรษ

กล่าวอภิปรายในเวทีเสวนาว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เหตุที่ร่วมเวทีนี้ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือเห็นด้วยกับการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ แต่พูดในฐานะกัลยาณมิตร คือการสร้างจิตสำนึกฝ่ายสูงเพื่อเตือนสติสังคม อาตมาไม่เคยเป็นกลางและไม่ยอมเป็นกลาง

ไม่ได้เป็นฝ่ายพันธมิตรฯ ไม่เป็นฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นฝ่ายธรรมะ พระทุกรูปก็เช่นเดียวกันต้องเลือกข้างระหว่างดีกับชั่ว ไม่มีพระรูปไหนที่จะแทงกั๊ก อยู่ระหว่างความดีกับความชั่ว นอกจากไม่ยืนอยู่ตรงกลางแล้วยังต้องชี้ให้ชัดว่าธรรมะอยู่ฝ่ายไหน

พระมหาวุฒิชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้บ้านเมืองเกิด 3 วิกฤติ คือ วิกฤติการเมือง วิกฤติจริยธรรม และวิกฤติปัญญา เวลานี้ครอบงำสังคมไทย คนในบ้านเมืองไม่มีจริยธรรม พระไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธความรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้สั่งสอนจริยธรรมให้กับคน ดังนั้น พระต้องกลับมาทบทวนสอนจริยธรรมไม่มีศักยภาพหรือไม่ พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้พระอยู่เฉยๆ เมื่อเกิดวิกฤติในบ้านเมืองต้องออกมาให้แสงสว่างกับประชาชน

แต่ที่ผ่านมา มีวาทกรรมที่บอกว่า พระไม่ควรยุ่งกับการเมือง เป็นคาถาสะกดให้พระละทิ้งปัญหาบ้านเมือง แต่ต้องเข้าใจว่า พระมีความสำคัญกับการเมือง เนื่องจากเป้าหมายของศาสนาและการเมืองอยู่ที่ประโยชน์สุขของมหาชนเช่นเดียวกัน

พระจึงต้องสร้างธรรมะให้เป็นหลักกับสังคม ถ้าเศรษฐกิจไม่มีธรรมะก็เป็นเศรษฐีโกง ถ้านักการเมืองไม่มีโพธิสัตว์ ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์

"การเมืองในระบบประชาธิปไตย ถ้าจะให้ดีต้องมีประชาธิปไตยที่เป็นระบบที่ใช้หลักธรรมะเป็นหลักสูงสุดในการตัดสินใจ ไม่ใช่ปล่อยให้เสียงข้างมาก ที่ไม่มีคุณภาพกำหนดทิศทางทั้งหมด เพราะอาจไม่ถูกต้องก็ได้ เช่นคนไม่ดี 500 คนยกมือโหวตว่า การฆ่าสัตว์เป็นเรื่องถูกต้อง มันต้องเป็นอย่างนั้นหรือ แสดงว่าเสียงส่วนใหญ่ก็ไม่จำเป็นจะถูกต้องเสมอไป เพราะอาจจเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในหมู่โจรได้ ถ้าเสียงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในหมู่โจรเรียกว่าอวิชชาธิปไตย"

พระมหาวุฒิชัย กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้เราใช้ความเป็นกลางที่มีความหมายคือ การอยู่เฉยๆ ปล่อยให้คนที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่ดีไม่งาม ยิ่งทำความเลวได้สะดวกขึ้น เพราะอีกกลุ่มหนึ่งวางตัวเป็นกลาง เท่ากับอยู่เฉยๆ

อาตมาภาพ ขอยกตัวอย่างเช่น มีวัดๆ หนึ่ง มีโจรบุกมาขโมยพระประธานไป แล้วเณรน้อยลุกขึ้นมาเห็นกำลังจะร้องบอกหลวงพ่อ แต่ปรากฏว่า หลวงพี่ผ่านมาเห็นเข้า บอกว่าถ้ารักตัวกลัวตายอย่าร้องให้อยู่เฉยๆ นี่คือความเป็นกลางของคนไทย ไม่ใช่เป็นกลางทางปัญญา แต่เป็นกลาง เพราะรักตัวกลัวตาย อันที่จริง เป็นคนแทงกั๊ก

ทั้งนี้ ความเป็นกลางที่แท้จริงต้องดูอย่างตุลาการ ที่ต้องฟังหลักฐานจากทุกฝ่ายแล้วตัดสินอย่างเป็นกลาง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งก็มีหลายคนบอกว่าความเป็นกลางมาจากมัชชิมาปฏิปัฐทา ที่เรียกว่าทางสายกลางนำไปสู่ความดับทุกข์

แต่ไม่ใช่ความเป็นกลางที่จะมาใช้ในทางการเมือง อย่าเอาไปใช้ทุกเรื่อง ความเป็นกลางทางการเมืองต้องใช้ธรรมะอีกชุดหนึ่ง คือ อุเบกขา ที่เป็นหนึ่งในหลักพรหมวิหาร 4 ที่เป็นหลักธรรมที่ทำให้คนมีวุฒิภาวะอย่างแท้จริง คนที่จะมาบริหารบ้านเมืองได้ต้องมีธรรมะข้อนี้

"จริยธรรมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ หากนักการเมืองพูดว่า เรื่องจริยธรรมอย่าไปสนใจ แสดงว่าเขากำลังปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของตัวเอง และจริยธรรมเป็นเรื่องสามารถถ่ายทอดกันได้ ไม่ว่าชาติใด พูดภาษาใดต้องมีจริยธรรม พระพุทธเจ้าเคยสอนไว้ว่า หากมนุษย์ไม่มีวุฒิปัญญา และไม่มีการศึกษาระเบียบวินัย มนุษย์ทั้งหลายก็จะไม่ต่างอะไรกับกระบือบอดกลางป่า มนุษย์ต้องมีจริยธรรมเพื่อใช้ความรู้และใช้ความเชี่ยวชาญของตัวเอง" พระมหาวุฒิชัย กล่าว

พระรูปนี้ยังกล่าวอีกว่า การจะสร้างบ้านแปงเมืองต้องเริ่มจากการสร้างกระบวนทัศน์ให้ถูกต้อง หากกระบวนทัศน์ไม่ถูกต้อง แม้จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนรัฐสภาใหม่ก็ไม่มีทางสำเร็จ ต้องสถาปนากระบวนทัศน์ที่ถูกต้องก่อน เอาให้ชัด ๆ ว่าจะพัฒนาบ้านเมืองไปอย่างไร

"ทุกวันนี้เราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า ยังดีไม่พอ เพราะประชาธิปไตยมีโอกาสเป็นประชาธิปไตยในหมู่โจรได้ หรือถูกตีความเป็นประชานิยม ท่านจึงบอกว่าต้องไปเป็นประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นแกนกลาง ขอเรียกว่าธัมมิกประชาธิปไตย(Thammicdemocrezy) ในอดีตท่านพุทธทาสเคยเสนอธัมมิกสังคมนิยมมาถึงยุคนี้อาตมาเห็นว่าน่าจะล้าสมัย เพราะเราเปลี่ยนการปกครองแล้ว วันนี้การปกครองต้องเป็นระบบประชาธิปไตยที่มีระบบการตัดสินใจโดยธรรมเป็นแกนกลางในการบริหารราชการแผ่นดินทุกขั้นตอน ถ้าไม่ทำอย่างนี้เราจะมีประชาธิปไตยแต่ภายนอก หรือพูดง่ายๆ ว่าข้างนอกสวมสูท แต่ข้างในเราเป็นไพร่ จะอยู่กันได้อย่างไร เพราะไม่มีธรรมะ?

พระมหาวุฒิชัย กล่าวอีกว่า ตัวอย่างหนึ่งของธัมมิกประชาธิปไตย คือ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

หมายความว่าการนำธรรมะเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของคนสยามทั้งประเทศ หากสังเกตจะพบว่าคำว่าประโยชน์สุขกับคำว่าผลประโยชน์ สองคำนี้มีความหมายต่างกันราวฟ้ากับเหว

ดังนั้น เป้าหมายของธัมมิกประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ประโยชน์สุขไม่ใช่ผลประโยชน์