-->

ผู้เขียน หัวข้อ: ครูบาอิน อินโท วัดฟ้าหลั่ง เชียงใหม่.  (อ่าน 2174 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

3p

  • บุคคลทั่วไป

๏ อัตโนประวัติ

“พระครูวรวุฒิคุณ” หรือ “หลวงปู่ครูบาอิน อินโท” หรือ “ครูบาฟ้าหลั่ง-ฟ้าลั่น” อมตะมหาเถราจารย์แห่งนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ผู้สูงยิ่งด้วยศีล จริยาวัตร และพุทธาคม เชี่ยวชาญสรรพวิชาตามตำราโบราณล้านนา จนเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป ดังคำกล่าวของบรรดาพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่ว่า


หลวงปู่ครูบาอิน อินโท ถือเป็นพระเถระสำคัญผู้เจริญด้วยพรรษาสูงแห่งเชียงใหม่ อีกทั้งยังเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและเมตตาธรรม ที่มีให้แก่ผู้เคารพนับถือตราบวาระสุดท้ายของชีวิต อันเป็นเหตุให้สมควรนำเถรประวัติและคำสอนของท่าน มาเผยแพร่เป็นสังฆบูชาสืบต่อไป

พระครูวรวุฒิคุณ มีนามเดิมว่า อิน วุฒิเจริญ เป็นบุตรของนายหนุ่ม-นางคำป้อ เขียวคำสุข ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๖ (ตรงกับวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๓ เหนือ ปีเถาะ) ณ บ้านทุ่งปุย ตำบลยางคราม กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (ปีที่ครองราชย์ พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓) โดยเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้นคือ เจ้าอินทรวโรรสสุริยวงษ์ (ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๕๒) ท่านได้เล่าชีวประวัติว่า ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คนด้วยกัน คือ

๑. นายแก้ว เขียวคำสุข (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒. พระครูวรวุฒิคุณ (มรณภาพแล้ว)
๓. นางกาบ ใจสิทธิ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๔. พ่อหนานตัน เขียวคำสุข (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๕. นางหนิ้ว ธัญญาชัย (ถึงแก่กรรมแล้ว)

พระครูวรวุฒิคุณ อธิบายถึงเรื่องที่ท่านใช้นามสกุลต่างไปจากบิดามารดาและพี่น้องว่า เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีการใช้นามสกุล เมื่อมาเริ่มใช้ในสมัยหลัง (รัชกาลที่ ๖) ต่างคนต่างก็ตั้งนามสกุลกันเอง ตัวท่านบวชอยู่ ท่านก็แต่งนามสกุลเองว่า “วุฒิเจริญ” เพื่อให้เป็นความหมายมงคลในความเจริญในพระพุทธศาสนา

ท่านเล่าว่า ท่านเติบโตมาในครอบครัวชาวนา ชีวิตในวัยเด็กก็เรียบง่ายไม่ต่างไปจากเด็กสมัยนั้นโดยทั่วไป คือช่วยเหลือครอบครัวทำงาน พออายุได้ ๑๑-๑๒ ปี ก็ไปอยู่วัดเพื่อเรียนหนังสือ ท่านว่าสมัยก่อนเด็กอายุเท่านี้ก็ยังดูเป็นเด็กอยู่ ตัวไม่ใหญ่โต เนื่องจากสมัยก่อนเด็กกินนมแม่ ไม่ได้บำรุงด้วยนมวัวเช่นในปัจจุบัน เมื่อมีลูกศิษย์ถามถึงอุปนิสัยในวัยเด็กของท่านว่ามีแววอย่างไรบ้าง ถึงทำให้ท่านบวชอยู่ในพระพุทธศาสนานานจนถึงทุกวันนี้ ท่านตอบแต่เพียงว่าท่านก็มีความเมตตาเอ็นดูสัตว์ ไม่เคยทรมานสัตว์

 การเรียนสมถกรรมฐาน

การเรียนสมถกรรมฐานมีอยู่ทั่วไปทุกวัดในสมัยนั้น เมื่อท่านเป็นเณรอายุได้ ๑๕ ปี ท่านก็เริ่มปฏิบัติสมถกรรมฐาน แบบอานาปานสติใช้คำภาวนาว่า “พุทโธ” โดยมีท่านครูบามหายศ พระอุปัชฌาย์ของท่านเป็นผู้สอน หลังจากท่านปฏิบัติกรรมฐานแล้วก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง หลังจากดูหนังสือแล้วท่านก็ลุกมาอาบน้ำล้างหน้า และเอาข้าวมาถวายพระพุทธเจ้า กล่าวคำถวายว่า จะถวายชีวิตเป็นทาน วันนั้นไม่ฉันข้าวฉันแต่น้ำ และปฏิบัติตลอดหนึ่งวันกับหนึ่งคืน จนได้ความปิติเป็นพิเศษเกิดขึ้น

ตามธรรมเนียมเมื่อเณรเรียนจบแล้ว ก็จะมีการปรึกษาหารือกันระหว่างเณรกับครูบาอาจารย์เจ้าอาวาสว่า เห็นสมควรจะอุปสมบทเป็นพระต่อหรือไม่ ถ้าอุปสมบทพ่อแม่ก็จะดีใจ ถ้าไม่อุปสมบท ก็จะลาสิกขาออกไปใช้ชีวิตฆราวาส ผู้ที่ลาสิกขาจากการเป็นเณรไปเป็นฆราวาสจะมีคำเรียกนำหน้าชื่อว่า “น้อย” ต่างกับผู้ที่ลาสิกขาหลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว จะเรียกว่า “หนาน” หรือคำว่าทิดในภาษากลาง

ครูบาอินท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดทุ่งปุย โดยอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดป่าลาน ตำบลยางคราม กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๖ เวลา ๑๐.๐๐ น. อายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ฉายาในตอนนั้นคือ พระอิน อินโท โดยมีเจ้าอธิการยศ (ครูบามหายศ อินทปัญโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการกว้าง วัดสองแคว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการอ้าย วัดทุ่งปุย เป็นพระอนุสาวนาจารย์

 ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ

หลวงปู่ครูบาอิน อินโท เมื่อครั้งอายุได้ ๕๑ ปี ได้เดินทางไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งท่านได้เล่าถึงความแตกต่างระหว่างสมถกรรมฐานกับวิปัสสนาว่า สมถกรรมฐานคือการทำใจให้สงบ เป็นเรื่องของสมาธิ ส่วนวิปัสสนากรรมฐานเป็นเรื่องการฝึกสติ การฝึกตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ท่านได้ฝึกกับพระเทพสิทธิมุณี โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถระ) ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรม เป็นประธาน ครูบาอาจารย์จากทางเหนือที่ไปปฏิบัติวิปัสสนาในครั้งนั้นก็มี ครูบาพรหมา พรหมจักโก วัดพระพุทธบาทตากผ้า, ครูบาอินทจักร วัดน้ำบ่อหลวง, พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล วัดร่ำเปิง (ปัจจุบันเป็นพระเทพสิทธาจารย์ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร)

เมื่อศึกษาสำเร็จกลับมาแล้วก็มาฝึกอบรมสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร คณะศรัทธาญาติโยม ตามวิธีนี้ท่านว่าลูกศิษย์ของท่านปฏิบัติกันได้ผล บางองค์ได้ผลดีมาก แต่น่าเสียดายที่ลาสิกขากันไปหมด ปัจจุบันท่านไม่ได้สอนในลักษณะเป็น “สำนัก” แต่ถ้าใครไปถามธรรมะหรือเรื่องการปฏิบัติจากท่าน ท่านก็มักจะเมตตาให้ความกระจ่างอยู่เสมอ อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

๏ รับนิมนต์สู่วัดฟ้าหลั่ง

ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ จำนวนราษฎรในหมู่บ้านสันหินเพิ่มมากขึ้น จึงต้องการโรงเรียนสำหรับบุตรหลาน จึงได้ร่วมกันเข้าชื่อขออนุญาตใช้ที่ดินของกรมทางหลวงที่สงวนไว้มาสร้างโรงเรียน ซึ่งกรมทางหลวงก็ได้อนุญาต เมื่อเตรียมที่ทางแล้ว ชาวบ้านสันหิน (ฟ้าหลั่ง) โดยการนำของนายปั๋น เผือกผ่อง, นายจันทร์ ปัญญาไว, นายวัง โพธาติ๊บ และนายจันทร์ทิพย์ เรือนรักเรา (จันทร์ติ๊บจ้างซอ) ได้ร่วมกันไปอาราธนานิมนต์หลวงปู่ครูบาอิน อินโท (สมณศักดิ์ขณะนั้นเป็นพระครูอิน) มานั่งหนักเป็นประธานงานก่อสร้างโรงเรียน ซึ่งท่านก็ได้รับนิมนต์ และพอดีจะถึงฤดูเข้าพรรษา ทางคณะศรัทธาจึงช่วยกันแผ้วถางที่วัดร้างฟ้าหลั่ง สร้างเป็นอาราม และอาราธนาให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั้นเลย และขณะเดียวกันก็เตรียมการสร้างโรงเรียนต่อไป

โรงเรียนวัดฟ้าหลั่งได้วางศิลาฤกษ์สร้างอาคารเรียน เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๕ ช่วงที่ออกพรรษาแล้ว อาคารเรียนที่ก่อสร้างนั้น เป็นอาคารเรียนตามแบบ ป ๑ ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นแบบตึกชั้นเดียว ๓ ห้องเรียน (เพิ่งรื้อไปเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ นี้เอง เครื่องไม้ที่ประกอบอาคารเรียนหลังนั้น ยังได้นำบางส่วนมาใช้สร้างศาลาการเปรียญหลังปัจจุบันนี้ด้วย) การสร้างโรงเรียนในครั้งนี้ ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการเลย เกิดจากพลังศรัทธาของสาธุชนที่มีต่อองค์หลวงปู่ครูบาอินแทบทั้งสิ้น ท่านได้ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๑ ปี ๖ เดือน จึงแล้วเสร็จ ได้ทำพิธีเปิดป้ายอาคารเรียนเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๗ ตั้งชื่อว่า “โรงเรียนวัดฟ้าหลั่ง”

ส่วนทางวัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) ซึ่งเป็นวัดเดิมของท่าน ท่านก็ได้มอบให้พระบุญปั๋น ปัญโญ ผู้มีศักดิ์เป็นญาติผู้พี่ผู้น้อง และได้บวชหลังท่าน ๑ พรรษา รักษาการแทน ต่อมาท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ เรียกขานกันว่า ครูบาบุญปั๋น ปัญโญ และเพิ่งถึงแก่มรณภาพไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ นี้

๏ วัดร้างฟ้าหลั่ง

วัดฟ้าหลั่งก่อนที่พระครูวรวุฒิคุณ (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท) จะมาอยู่นั้นเป็นวัดร้าง ยังมีโบราณวัตถุ โบราณสถานเหลืออยู่ ที่ชื่อว่าวัดฟ้าหลั่งนั้น ตามคำบอกเล่าของคนโบราณที่สืบทอดกันมา ก็คือ “เป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์มาก” กล่าวคือ หากปีใดฟ้าฝนแห้งแล้ง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล พวกชาวบ้านจะพากันเอาข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน และนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีบวงสรวงเทวดาเพื่อขอฝน เมื่อทำพิธีถูกต้องจะปรากฏว่าบนท้องฟ้าจะมืดครึ้ม เต็มไปด้วยก้อนเมฆ แล้วฝนก็จะหลั่งลงมาจากฟ้าไม่ขาดสาย ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “วัดร้างฟ้าหลั่ง” เนื้อที่ของวัดตามแนวรากฐานกำแพง มีเนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ และมีที่ดินนอกแนวกำแพงวัดอีกมาก ประมาณกว่า ๒๐๐ ไร่ เป็นป่าไม้ประเภทต่างๆ เช่น ไม้เหียง ไม้ตึง ไม้แงะ และไม้เปา

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๐ กรมทางหลวงแผ่นดิน ได้สร้างถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ผ่านที่ดินของวัด จึงทำให้ที่ดินของวัดฟ้าหลั่งแยกออกเป็นสองแปลง ส่วนที่เป็นโบสถ์ วิหารเก่า อยู่ตรงข้ามกับบริเวณวัดปัจจุบัน นอกจากนั้น กรมทางหลวงยังได้ปักหลักเอาที่ดินของวัดและป่าข้างๆออกไปอีกประมาณ ๒๐ ไร่ ประกาศเป็นที่ดินกองทางสงวน พอกรมทางหลวงสร้างถนนเสร็จ ราษฎรบ้านใกล้เรือนเคียงก็พากันมาจับจองแผ้วถางที่ดินสองฟากถนน เป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ประมาณ ๖๐ ครอบครัว

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ โรงเรียนบ้านสามหลังเก่าถูกพายุพัดล้มทั้งหลัง นายทิพย์ มณีผ่อง ครูใหญ่ นำชาวบ้านไปขออาราธนาเอาท่านครูบาขาวปี มานั่งหนัก (เป็นประธาน) สร้างโรงเรียนสามหลังขึ้นมาใหม่ พอครูบาขาวปีสร้างโรงเรียนเสร็จแล้ว คณะกรรมการสร้างโรงเรียนโดยนายสมบูรณ์ ไชยผดุง (เจ้าน้อยสมบูรณ์) ได้อาราธนาให้ท่านอยู่นั่งหนัก (เป็นประธาน) สร้างวัดฟ้าหลั่งต่อ ท่านบอกว่าท่านไม่ใช่เจ้าของที่จะสร้าง ตัวเจ้าของมีแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏเพราะยังไม่ถึงเวลา หากถึงเวลาเมื่อใดเขาจะมาสร้างเอง ขอให้เหล่าญาติโยมจงรอไปก่อน


๏ บูรณะวัดร้างฟ้าหลั่ง

หลวงปู่ครูบาอินเล่าว่า ท่านมาอยู่วัดฟ้าหลั่งเมื่ออายุได้ ๕๗ ปี วัดฟ้าหลั่งยังเป็นป่าอยู่ ชาวบ้านเชื่อกันว่าที่นี้แรง บริเวณกำแพงวัดปัจจุบัน เป็นที่ที่ชาวบ้านมาเลี้ยงผีกัน เข้าใจว่าเป็นพวกผีตายโหง เมื่อท่านมาอยู่ชาวบ้านก็ได้สร้างกุฏิเป็นกระท่อมเล็กๆ ให้ท่านอยู่ ท่านก็ได้สอนให้ชาวบ้านแผ่เมตตาให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นได้รับส่วนกุศล ท่านก็อยู่มาได้โดยไม่มีอะไรมารบกวน สภาพของวัดที่เห็นในปัจจุบัน ท่านค่อยๆ สร้างขึ้นทั้งสิ้น คติการสร้างของครูบาอินก็คือค่อยทำไป ท่านไม่บอกบุญให้ชาวบ้านต้องเป็นทุกข์ เดือดร้อน ท่านมักจะสั่งสอนลูกศิษย์เสมอว่า อย่าทำบุญให้ตนเองเดือดร้อน ให้ทำตามกำลัง

เรื่องที่ครูบาขาวปีกล่าวถึงเจ้าของที่จะมาสร้างนั้น ครูบาอินท่านก็ได้ยินที่ครูบาขาวปีว่า “เจ้าเปิ้นมี เจ้าตึงมาสร้าง” เมื่อมีผู้เรียนถามท่านว่า ท่านใช่เจ้าของตามที่ครูบาขาวปีท่านกล่าวถึงหรือไม่ ท่านตอบแบหัวเราะๆ ว่า “ถ้าจะแม่แต้เน่อ หลวงปู่มาอยู่นี่นะ ทีแรกมาอยู่มีบ้านสักสิบสักซาว มุงคามุงต๋อง (ตองตึง) กะต๊อบหลวงปู่ ได้ซื้อข้าวสารมานึ่ง บอกเขาว่าสตางค์มีก่อซื้อข้าวสารมาไว้ เขาก่อซื้อมาหื้อหลายเตื้อ เอามาเตื้อถังๆ โอถ้าเป็นพระเณรสมัยนี้ มันก่อไปแล้วแล้วเน้อ บ่ออยู่ละ อยู่มาก็ดีขึ้นๆ บ้านก็หลายหลังขึ้น ก็เจริญขึ้น”

๏ กลับวัดทุ่งปุย

ภายหลังจากที่หลวงปู่ครูบาอินได้ไปสร้างความเจริญ ที่วัดฟ้าหลัง ร่วม ๓๐ ปี จนวัดฟ้าหลั่งมีความสวยงามและรุ่งเรืองยิ่งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนแล้ว เมื่อกาลล่วงมาถึงปี พ.ศ.๒๕๔๓ วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๓ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ หลวงปู่ครูบาอิน อินโท ก็ได้หวนกลับมาสู่ “บ้านเกิด” ที่วัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของหลวงปู่ที่เคยเป็นเด็กวัด และได้บรรพชาเป็นสามเณร อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเคยเป็นเจ้าอาวาสที่นี่มาก่อน และได้เป็นเจ้าคณะตำบลยางคาม มาตามลำดับ

มูลเหตุสำคัญ เนื่องจากวัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) กำลังพัฒนาเสนาสนะสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ทรุดโทรมไปตามกาลสมัย อย่างเช่น กุฏิ ศาลา กำแพง เป็นต้น อีกทั้งการกลับมาของท่านด้วยอายุที่สูงถึง ๙๘ ปี ด้วย “วุฒิ” อัน “เจริญ” จนถึงขั้นสูงสุด หาใดเปรียบมิได้อย่างเต็มภูมิ เป็นการกลับมาของท่านในวัยชรามากแล้ว ได้กลับมาอยู่ใกล้ลูกหลาน ลูกศิษย์ลูกหาของท่าน

นับว่าหลวงปู่ครูบาอิน เป็นปูชนียบุคคลที่ควรเคารพบูชาอย่างยิ่ง ถึงแม้นจะไปอยู่ที่อื่น ไปสร้างที่อื่นให้เจริญรุ่งเรืองแล้ว แต่ท่านก็ยังไม่ลืมบ้านเดิมถิ่นฐานบ้านเกิดของท่าน คงเป็นเพราะบุญกุศลที่ศรัทธาญาติโยมได้มาร่วมกันทำกับหลวงปู่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างศาลาการเปรียญ ๑๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ การสร้างกำแพง ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ และการสร้างกุฏิวรวุฒิคุณ เพื่อเป็นที่พำนักของหลวงปู่ ในปีเดียวกัน ในแต่ละวันจึงมีผู้คนมากราบนมัสการเยี่ยมเยียนหลวงปู่ไม่ขาดสาย ถึงแม้นว่าท่านจะอาพาธ นอนพักรักษาตัวอยู่ที่วัดหรือที่โรงพยาบาล ท่านก็ยังเมตตาให้ศรัทธาญาติโยมที่มานั้นได้เข้าไปกราบไหว้จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

๏ ปัจฉิมวัยและการมรณภาพ

หลวงปู่ครูบาอิน อินโท ได้เพียรอุทิศตนไว้ในบวรพระพุทธศาสนา บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้แก่ศาสนจักร คือ การสร้างถาวรวัตถุ สร้างวัดวาอาราม ให้ความช่วยเหลือไว้หลายวัด ฝ่ายอาณาจักรท่านก็ได้สร้างอาคารสถานที่ และสาธารณประโยชน์แก่ทางราชการบ้านเมืองอย่างมากมายมาโดยตลอด ใครมาขอให้ท่านช่วยสร้างอะไร ท่านก็เมตตาให้ ท่านทำแบบเงียบๆ ใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย ไม่ค่อยจะพูดจามากนัก หลวงปู่ท่านมีข้อวัตรปฏิบัติที่เสมอต้นเสมอปลาย ทำให้ผู้ที่ได้มาพบเห็นกราบไหว้ เห็นปฏิปทาการปฏิบัติของท่านแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่

ช่วงสุดท้ายของชีวิต ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ สังขารร่างกายของท่านไม่แข็งแรงซึ่งเป็นไปตามอายุขัย อาพาธบ่อย หลวงปู่ท่านมีความอดทนสูงมาก มีสติและสมาธิความจำที่ดีเลิศอยู่เสมอ ยามเจ็บไข้เกิดทุกขเวทนาท่านจะไม่ยอมบอกใครง่ายๆ ท่านเกรงใจ ไม่อยากให้เป็นภาระแก่ลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ และญาติโยม

ยามเมื่อท่านไม่สบายพักรักษาตัวอยู่ที่วัด ต้องให้ออกซิเจนอยู่เป็นระยะ เมื่อมีญาติโยมมากราบนมัสการท่าน ท่านก็ให้เข้าพบ พร้อมกับให้พรอันยาวนานตามปกติของท่าน จนญาติโยมที่มากราบไหว้รับพรจากท่านนั้นเหนื่อยแทน ขอร้องท่านให้พรสั้นๆ เพราะกลัวท่านเหนื่อย ท่านก็ไม่ยอม ลุกขึ้น ไม่นอนให้ศีลให้พรแก่ญาติโยม ไหว้พระสวดมนต์อยู่ตลอด ท่านบอกว่าไม่เหนื่อย

หลวงปู่เข้าโรงพยาบาลครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๕ หมอวินิจฉัยว่าท่านติดเชื้อในปอด และน้ำท่วมหัวใจ พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๘ เมษายน ก็กลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่วัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) อาการดีขึ้น

วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๕ นิมนต์หลวงปู่ขึ้นอยู่บนกุฏิหลังใหม่ (กุฏิวรวุฒิคุณ) ที่คณะศรัทธาญาติโยม ลูกศิษย์ลูกหา สร้างถวาย

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ คณะศรัทธาศิษยานุศิษย์ ทำบุญฉลองอายุ ๑๐๑ ปี ถวาย

หลวงปู่เข้าโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๖ เวลา ๑๓.๑๕ น. อาการเริ่มทรุดลงเรื่อยๆ จนถึงเวลา ๑๙.๔๐ น. ท่านก็จากไปอย่างสงบ ปัจจุบันนี้ได้ตั้งสรีระของท่านไว้บำเพ็ญกุศล ณ วัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) จังหวัดเชียงใหม่

คณะศรัทธาศิษยานุศิษย์ขอขอบคุณและอนุโมทนา ผู้บริหาร นายแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ทุกๆ ท่าน ที่ให้การรักษาดูแลหลวงปู่มาด้วยดีโดยตลอด ตั้งแต่ต้นจวบจนถึงวาระสุดท้ายในชีวิตของหลวงปู่ โดยเฝ้าดูแลอุปัฏฐากแวะเวียนเยี่ยมดูอาการ ให้กำลังใจหลวงปู่อยู่มิได้ขาด

ขอให้ท่านทั้งหลายจงได้รับพรของหลวงปู่ที่เคยให้เราและท่านไว้ว่า “ตั้งแต่นี้ไปปายหน้า ขอให้ทุกคนจงอยู่ดีมีสุข มีอายุมั่นยืนยาว ขอหื้อพ้นเสียยังโรค ภัย ไข้ เจ็บ เป็นต้นว่าเคราะห์ปายหลังอย่าได้มาท่า เคราะห์ปายหน้าอย่าได้มาจน เคราะห์ปายบนอย่าได้มาใกล้ เคราะห์ขี้ไร้อย่าได้มาปานถูกต้อง ฝูงปาปะเคราะห์พร่ำพร้อมคือว่าเคราะห์ปี เคราะห์เดือน เคราะห์วัน เคราะห์ยาม เคราะห์เมื่อหลับเมื่อตื่น เคราะห์เมื่อยืมเมื่อเตียว เคราะห์เมื่อเหลียวเมื่อผ่อ เคราะห์เมื่อคืนบ่อหัน เคราะห์เมื่อวันบ่อฮู้ เคราะห์เมื่ออู้เมื่อจ๋า เคราะห์นานาต่างต่าง จุ่งกลับกลายเป็นเป็นโสมะ ตัวใดเป๋นโสมะแล้ว จุ่งนำมายังลาภะสะก๋าร คือ โจคลาภ ขอหื้อทุกคนมีอายุปี๋ อายุเดือน อายุวัน อายุยาม โจคปี๋ โจคเดือน โจคยาม อยู่ก็ขอหื้อมีจัย ไปก็ขอหื้อมีโจคมีลาภ ฮิมาก๊าขึ้นเหมือนกั๋นทุกผู้ทุกคน นั้นจุ่งจักมี วิรุฬหา พุทธศาสเน อะโรคาสุขิตา โหนตุ อายุ วัณโณ สุขัง พะลังฯ สาธุ สาธุ สาธุ”


“ขอเธอจงไปกราบครูบาอินที่เชียงใหม่และขอศึกษาวิชาจากท่านให้ดีๆ เถิด ท่านเป็นพระผู้เก่งกล้าสามารถมากจริงๆ” เป็นคำกล่าวของหลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร วัดโฆสิตาราม บ้านบ้านเเค ตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท

“ดีอยู่แล้ว ดีอยู่แล้ว พระของครูบาอิน ไม่ต้องเสกอะไรอีกแล้ว” เป็นคำกล่าวของหลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

“จิตของครูบาอิน ประภัสสรยิ่งแล้ว” เป็นคำกล่าวของหลวงพ่อชม วัดโป่ง จังหวัดชลบุรี

“ครูบาอิน ท่านมีจิตมีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งเลยทีเดียว” เป็นคำกล่าวของครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

“หลวงปู่ครูบาอิน วัดฟ้าหลั่งนั้น ดีที่หนึ่งเลย” เป็นคำกล่าวของหลวงปู่สิม พุทธาจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

“ครูบาอินท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบนะ” เป็นคำกล่าวของหลวงพ่อดาบส สุมโน อาศรมไผ่มรกต บ้านลูกกลอน ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ฯลฯ



เครดิต คุณสาวิกาน้อย ลานธรรมจักร

p_nuin

  • บุคคลทั่วไป
Re: ครูบาอิน อินโท วัดฟ้าหลั่ง เชียงใหม่.
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 08 มิถุนายน 2010, 16:46:41 »

ไม่ทราบท่านสร้างวัตถุมงคลไว้หรือเปล่าครับผมไม่ค่อยถนัดพระสายเหนือ ;khhg

cm1956

  • บุคคลทั่วไป
Re: ครูบาอิน อินโท วัดฟ้าหลั่ง เชียงใหม่.
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 11 มิถุนายน 2010, 19:59:58 »

ขอบคุณมากครับ
บทความดีๆ

george69

  • บุคคลทั่วไป
Re: ครูบาอิน อินโท วัดฟ้าหลั่ง เชียงใหม่.
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 24 มิถุนายน 2010, 13:30:55 »

มีพระรุ่นดีๆไหมครับ

schlemmz

  • บุคคลทั่วไป
Re: ครูบาอิน อินโท วัดฟ้าหลั่ง เชียงใหม่.
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 25 มิถุนายน 2010, 01:16:11 »

ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูล
ว่าแต่ ร้านอยู่ที่ไหนอ่ะครบั