-->

ผู้เขียน หัวข้อ: การจัดทำบรรจุภัณฑ์ 1  (อ่าน 2243 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

don

  • บุคคลทั่วไป
การจัดทำบรรจุภัณฑ์ 1
« เมื่อ: 09 มกราคม 2008, 23:16:24 »

การจัดทำบรรจุภัณฑ์  1

ดร. จิรพรรณ  เลี่ยงโรคาพาธ

ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เมื่อจะนำเข้าสู่ตลาดเพื่อวางจำหน่าย จำเป็นต้องมีการบรรจุหีบห่อ และการติดฉลาก  การบรรจุหีบห่อหรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์อาจจะมีบทบาทเพียงเล็กน้อยต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค หรืออาจจะมีบทบาทอย่างมากก็ได้ ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า เช่นในสินค้าประเภทฮาร์ตแวร์ที่ไม่แพงนัก เช่น ค้อน คีม สว่าน ไขควง สีทาบ้าน กรรไกรตัดหญ้า อุปกรณ์ทำสวน เป็นต้น บรรจุภัณฑ์อาจมีบทบาทเพียงเล็กน้อย แต่สำหรับสินค้าประเภทเครื่องสำอาง เครื่องแต่งตัว เครื่องประดับ ของสวย ๆ งามๆ ของอุปโภคบริโภค บรรจุภัณฑ์จะมีบทบาทอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อ บรรจุภัณฑ์บางอย่างเป็นสิ่งที่ผู้คนรู้จักกันดี เห็นที่ไหนก็จำได้โดยไม่ต้องมีฉลากแสดงว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ของอะไร ตัวอย่างเช่น ขวดโค้ก ที่เป็นขวดรูปทรงเฉพาะ เป็นต้น

การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ อาจมีต้นทุนสูงถึงหลายหมื่นหลายแสนบาท และใช้เวลาตั้งแต่ 2-3 เดือนจนถึงเป็นปี  เพื่อทำให้บรรจุภัณฑ์มีความสำคัญในการสร้างความน่าสนใจ และทำให้ผู้บริโภคพอใจ 

การบรรจุหีบห่อ ส่วนผสมทางการตลาดตัวที่ 5

มีนักการตลาดบางท่านได้รวมเอาการบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนที่ 5 ของส่วนประสมการตลาด (5P) คือ นอกจากนักการตลาดจะต้องวางแผนผลิตภัณฑ์ (Product) การตั้งราคา (Price) การวางแผนสถานที่สำหรับจัดจำหน่าย (Place) และการส่งเสริมการขาย (Promotion) แล้ว P ตัวที่ 5 คือ การบรรจุหีบห่อ (Packaging) โดยนักการตลาดบางท่านจะถือเอาการบรรจุหีบห่อหรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของการวางกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ และเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ ประสบความสำเร็จ

การบรรจุหีบห่อในที่นี้ รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการผลิตบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อสำหรับผลิตภัณฑ์  การออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าหนึ่ง ๆ อาจจะมีการใช้วัสดุมากถึง 3 ชั้น เช่น โลชั่นบำรุงผิวจะบรรจุอยู่ในขวดพลาสติกสีขุ่น (บรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 1) แล้วนำมาใส่ในกล่องลูกฟูกที่ถูกออกแบบไว้อย่างสวยงาม (บรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 2) สุดท้ายนำมาบรรจุหีบห่อเพื่อการขายและการขนส่ง โดยบรรจุ 6 ขวดต่อหนึ่งกล่อง (บรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 3) เป็นต้น หรือบางสินค้าอาจจะมีเพียงชั้นเดียวก็ได้ เช่น ขนมเค้ก เตารีด โทรศัพท์ เป็นต้น


ปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือการตลาด

ในปัจจุบัน การบรรจุหีบห่อหรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญ  บรรจุภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาดีทำให้ง่ายต่อการใช้งานของผู้บริโภค และช่วยในการส่งเสริมการขายของผู้ผลิตได้  ปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือการตลาดมีดังต่อไปนี้

?   การให้บริการตนเอง (Self-service)ของผู้บริโภค ปัจจุบันมีสถานที่จำหน่ายสินค้าจำนวนมากขึ้นที่ให้บริการในลักษณะของการให้บริการตนเอง เช่น ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ด ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายส่ง  โดยปรกติแล้วซุปเปอร์มาร์เก็ตมีรายการสินค้าที่จำหน่ายอยู่จำนวนหมื่น ๆ รายการ ลูกค้าจะต้องเดินผ่านสินค้าถึง 300 รายการต่อนาที ทำให้บรรจุภัณฑ์มีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อการซื้อสินค้า และจะต้องทำหน้าที่ส่วนหนึ่งในการโฆษณาตนเอง และดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค โดยจะต้องบ่งบอกถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ และประทับใจในที่สุด ดังจะเห็นได้จากตามชั้นวางสินค้าปัจจุบัน หลายบริษัทพยายามเพิ่มการดึงดูดความสนใจจากลูกค้าที่เดินผ่าน ด้วยการติดทีวีจอแบนขนาดจิ๋วไว้ที่ชั้นวางสินค้าของตน และส่งเสียงโฆษณาข้อดีของสินค้าอยู่ตลอดเวลา หรือบางครั้งก็ทำป้ายโฆษณาสีสรรสวยงามติดไว้ที่ชั้นวางสินค้า เพื่อเพิ่มความสนใจ แต่ในกรณีที่ไม่มีการโฆษณาเพิ่มเติมบนชั้นวางของ บรรจุภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์สวยงามกว่า สีสันสะดุดตากว่า หรือมีความแปลกกว่า ก็จะได้เปรียบ และเป็นที่มองเห็นได้ง่ายขึ้น
?   ฐานะการเงินของผู้บริโภค การที่ผู้บริโภคมีฐานะทางการเงินดีขึ้น ทำให้มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อความสะดวก ดูดี ไว้ใจได้ และรู้สึกภูมิใจในการที่จะเป็นเจ้าของมากขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากภาพลักษณ์ที่ดีจากบรรจุภัณฑ์ เช่น เครื่องสำอางยี่ห้อแพง ๆ จากต่างประเทศ เน้นการทำบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม หรูหรา ทำให้ผู้บริโภคมีความภูมิใจที่จะใช้ และกล้านำออกมาใช้ในหมู่เพื่อนฝูง ไม่เหมือนเครื่องสำอางผลิตในประเทศ เวลาจะใช้ต้องแอบใช้ที่บ้าน หรือหลบหยิบออกมาใช้ตอนที่ไม่มีใครเห็น
?   ภาพลักษณ์ของบริษัทและตราสินค้า ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันของหลายบริษัทว่า บรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบอย่างดี มีส่วนทำให้ลูกค้าจดจำสินค้าได้ทันที เช่น ผลิตภัณฑ์ยาคูลท์ เห็นที่ไหนเมื่อไร ผู้บริโภคก็จะจดจำได้ทันที แต่ปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์หลายอย่างพยายามลอกเลียนแบบ แต่ทำขนาดให้มีความแตกต่างกับยาคูลท์เล็กน้อยเป็นต้น หรือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล โดยปรกติแล้วใช้ถุงสีแดง และมีโลโก้ของเซ็นทรัล เมื่อลูกค้าถือถุงเดินไปไหนมาไหน คนอื่นก็จะทราบว่าซื้อสินค้ามาจากห้างเซ็นทรัล และเป็นการช่วยโฆษณาห้าง ไปในตัว
?   โอกาสในการแสดงถึงนวัตกรรม  บรรจุภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมช่วยให้ลูกค้าได้รับผลประโยชน์มากขึ้น และบริษัทสามารถทำกำไรได้มากขึ้น เช่น ยาสีฟันแบบฃนิดขวดปั๊ม ช่วยให้ผู้บริโภคมีความสะดวกสบายมากขึ้น และลดความเลอะเทอะ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็ก และต้องการให้เด็กช่วยเหลือตนเอง น้ำอัดลมบรรจุกระป๋อง ช่วยให้ผู้บริโภคสะดวกกว่าน้ำอัดลมบรรจุขวดมาก ไม่ต้องคืนขวด และสะดวกในการพกพา ไม่ต้องพึ่งที่เปิดกระป๋องเหมือนเมื่อก่อน  ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องทำที่เปิดฝาได้สะดวกโดยไม่ต้องใช้ที่เปิดขวดก็แสดงถึงโอกาสทางนวัตกรรม  อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ การนำเอาขวดพลาสติกใส (ขวด PET) มาใช้ในการบรรจุน้ำปลา ซึ่งแต่เดิมเป็นขวดแก้ว ช่วยให้น้ำหนักเบาขึ้น ผู้ผลิตสะดวกในการขนส่ง ผู้บริโภคก็สะดวกในการหยิบใช้ และไม่มีปัญหาตกแตกทำให้ส่งกลิ่นไปทั่ว หรือบรรจุภัณฑ์ของน้ำดื่มบรรจุขวด ที่ใช้ขวดพลาสติกใส (ขวด PET) แทน ขวด PE เดิม ซึ่งเป็นพลาสติกขุ่น ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และลดปัญหาจากกลิ่นพลาสติกเมื่อเก็บขวดน้ำไว้ในที่ร้อนนาน ๆ เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าบรรจุภัณฑ์เป็นตัวช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้น

ขั้นตอนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์

1. การสร้างแนวความคิดของบรรจุภัณฑ์ 
การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องการการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วน โดยงานที่ต้องทำเป็นงานแรก ก็คือการสร้างแนวความคิดของบรรจุภัณฑ์  โดยแนวความคิดของบรรจุภัณฑ์จะเป็นตัวบ่งบอกว่าบรรจุภัณฑ์ควรเป็นอย่างไรและมีส่วนเกี่ยวข้องอะไรบ้างกับผลิตภัณฑ์ 

2. การตัดสินใจในเรื่องบรรจุภัณฑ์
การที่จะตัดสินใจเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ใด ต้องพิจารณาขนาด รูปร่าง วัสดุที่ใช้ สี ข้อความ และสัญลักษณ์ตราสินค้า  โดยควรจะมีตัวอักษรให้น้อย ๆ หรือมาก ๆ ควรใช้เซลโลโฟนหรือฟิล์มใสอื่น ๆ ควรใช้พลาสติกหรือถาดที่เคลือบไว้แล้ว ควรใช้สีโทนธรรมชาติ หรือสีสรรสวยงาม และอื่น ๆ  นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสินค้าที่บรรจุอยู่ ควรใช้วัสดุกันกระแทกที่เหมาะสม เพื่อป้องกันอันตรายจากการขนส่ง โดยการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ กัน นอกจากจะขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับราคา การโฆษณา หรือองค์ประกอบการตลาดอื่น ๆ ด้วย 

ตัวอย่างการตัดสินใจเรื่องบรรจุภัณฑ์โดยพิจารณาจากขนาดบรรจุภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาสระผม ยี่ห้อ Panteen Pro-V ที่เพิ่มสายการผลิต โดยทำผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กลง เพื่อให้ผู้บริโภคไปทดลองใช้ แทนที่จะแจกตัวอย่างไปให้ทดลองใช้ฟรี ก็ใช้การทำบรรจุภัณฑ์ให้เล็กลง ให้ผู้บริโภคตัดสินใจง่ายขึ้นในการซื้อสินค้าไปทดลองใช้ เป็นต้น

3. การทดสอบบรรจุภัณฑ์
หลังจากที่ออกแบบบรรจุภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องทำการทดสอบ 4 ประเภท คือ การทดสอบทางวิศวกรรม การทดสอบลักษณะที่มองเห็น การทดสอบตัวแทนจำหน่าย และการทดสอบผู้บริโภค โดยการทดสอบทางวิศวกรรมจะช่วยให้ทราบว่าบรรจุภัณฑ์นี้สามารถคงอยู่ในสภาพปรกติได้ การทดสอบลักษณะที่มองเห็น เพื่อทำให้มั่นใจว่าตัวอักษรสามารถอ่านได้ และสีกลมกลืนกัน การทดสอบตัวแทนจำหน่าย ว่ารู้สึกอย่างไรกับบรรจุภัณฑ์ น่าสนใจไหม ง่ายกับการจัดการไหม และการทดสอบผู้บริโภคเพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคชอบบรรจุภัณฑ์นี้ 

การทดสอบบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถใช้งานได้จริง และเหมาะสม ตัวแทนจำหน่ายและผู้บริโภคให้การยอมรับ ซึ่งการทำการทดสอบบรรจุภัณฑ์จะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในกรณีที่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น โดยแทนที่บริษัทจะสั่งทำบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ และนำออกจำหน่ายทั่วประเทศเลย ก็ควรทำการผลิตบรรจุภัณฑ์ในจำนวนน้อย และทำการทดสอบเฉพาะบางเขตในกรุงเทพมหานครก่อน เมื่อพบความผิดพลาด ก็ทำการแก้ไข ก่อนที่จะทำการผลิตจำนวนมาก ๆ  เพราะเมื่อเกิดความผิดพลาด ก็จะได้รับผลกระทบไม่มาก



กรณีศึกษา 1

ขนมบ้านอัยการ

ความเป็นมา
ขนมบ้านอัยการ เริ่มต้นจากแนวคิดของสมาชิกในครอบครัวสวัสดิ์พูน ซึ่งมีอาชีพประจำเป็นข้าราชการอัยการ ต้องการที่จะหารายได้เสริมนอกเหนือจากงานประจำที่ทำอยู่แล้ว จึงคิดที่จะทำขนมขึ้นมาขาย โดยเน้นการพัฒนาตัวเองให้เกิดความแตกต่างและสร้างจุดขาย รวมถึงต้องศึกษาคู่แข่งขันเพื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้วนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และปรับปรุงธุรกิจ ทำให้รสชาติของขนมที่ผลิตขึ้นเป็นที่ถูกปากของลูกค้า และได้รับการบอกต่อ จนกระทั่ง ขนมของร้านมีชื่อเสียง กิจการสามารถขยายสาขาและออกผลิตภัณฑ์ต่างๆให้ลูกค้าได้เลือกซื้อเลือกหามากมายหลายชนิด จนกระทั่งมีสาขามากกว่า 10 แห่งทั่วประเทศ และมีขนมมากกว่า 200 ชนิดให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ

การปฏิบัติที่ดี

การที่ขนมบ้านอัยการมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากการที่มีการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้มีความสดความอร่อยอยู่ตลอดเวลา และมีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการที่บริษัททำการศึกษาตลาด ความต้องการของลูกค้า และสำรวจติดตามพฤติกรรมและกลยุทธ์ของคู่แข่งอยู่เสมอ แล้วนำจุดดีจุดแข็งของคู่แข่งมาประยุกต์ใช้กับกิจการของบริษัทฯ และสร้างผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างจากคู่แข่ง
ปัจจัยความสำเร็จ

การดำเนินธุรกิจเบเกอรี่ สิ่งที่สำคัญอย่างมากที่สุด ก็คือ ผู้ประกอบการต้องทำขนมเป็น และเป็นสิ่งที่ตนเองถนัด เนื่องจากลักษณะของธุรกิจที่มีการหมุนเวียนของบุคลากรหรือคนงานทำขนมที่สูงมาก ผู้ประกอบการจึงต้องเป็นทั้งผู้ที่ฝึกสอน และเป็นผู้ปฏิบัติในยามจำเป็น เพื่อให้ขนมที่ผลิตออกมามีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งในด้านรสชาติและคุณภาพ นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ความเข้าใจในระบบบัญชีและการเงิน เพื่อให้สามารถนำมาวิเคราะห์ และนำมาช่วยในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ การนำวิธีการทางการตลาดมาประยุกต์ใช้ให้เกิดความเหมาะสมก็เป็นปัจจัยช่วยให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม น่าดึงดูด โดยมีตัวอย่างธุรกิจเบเกอรี่ในประเทศญี่ปุ่นหลายธุรกิจ ยึดหลักว่า "แม้รสชาติจะไม่ใช่จุดเด่นของขนมแต่ละชนิด แต่สิ่งที่สามารถดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจซื้อหา ก็คือ หีบห่อที่สวยงาม ดึงดูดใจ" ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ สนใจเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นอย่างมาก นอกจากคุณภาพสินค้าได้มาตรฐานแล้ว สินค้าของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ออกแบบผลิตภัณฑ์มาอย่างสวยงาม ทันสมัย ดูน่าใช้ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอุปโภค บริโภค ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญ นับประสาอะไรกับขนมที่มีจุดเด่นอยู่ที่ความอร่อยอยู่แล้ว เมื่อเสริมด้วยบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามด้วยนั้น จึงนับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อย่างดียิ่ง ซึ่งบ้านขนมอัยการ ก็ได้นำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้

ข้อสรุปทางวิชาการ

ธุรกิจเบเกอรี่ เป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่มีผู้ผลิตเป็นจำนวนมาก และมีการแข่งขันกันสูง ในสภาวะเช่นนี้ มักก่อให้เกิดการแข่งขันในเชิงการตลาด เช่น การแข่งขันด้านราคา เป็นต้น ผู้ผลิตนอกจากต้องพยายามคงหลักการปฏิบัติที่ดีของตนเองแล้ว ยังต้องตระหนักถึง การดำเนินกิจกรรมทางการตลาดว่า วิถีทางใด ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของกิจการ เช่น ในภาวการณ์ที่กำลังการซื้อของผู้บริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้นไม่มากนัก การขึ้นราคาสินค้า อาจส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปหาผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งแทน หรือ คู่แข่งพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มส่วนครองตลาด แต่ถ้าบริษัทกลับมุ่งเน้นอยู่เพียงผลิตภัณฑ์เดิมๆ ก็อาจส่งผลให้ธุรกิจไม่สามารถแข่งขันได้ ในที่สุดย่อมกระทบต่อฐานะของกิจการและความอยู่รอดท่ามกลางกระแสแห่งการแข่งขันที่รุนแรง






กรณีศึกษา 2

โฮม เฟรช มาร์ท ซุปเปอร์มาร์เก็ต

โฮม เฟรช มาร์ท ซุปเปอร์มาร์เก็ต มีการบริหารภายใต้คอนเซ็ปต์ของการสร้างความแตกต่างของสินค้า  โดยวางตำแหน่งของบริษัทเป็นผู้ให้บริการตลาดสดคุณภาพของประเทศไทย โดยควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนก่อนที่นำสินค้ามาถึงมือผู้บริโภค เริ่มจาก ระบบการจัดซื้อ การจัดสรร การจัดการ การตรวจสอบคุณภาพ การเก็บรักษา และการจัดจำหน่าย โดยปรัชญาการบริหารคือ ความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค

การจัดซื้อจัดหาสินค้าประเภทอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผักสด ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง และอื่น ๆ บริษัทฯจะเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่ได้รับการตรวจสอบจากองค์กรตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าของราชการ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข และเมื่อสินค้าถูกส่งมาถึงบริษัท ฝ่ายควบคุมคุณภาพภายในของ โฮม เฟรช มาร์ท เอง จะทำการตรวจสอบคุณภาพอีกครั้งอย่างถี่ถ้วน เพื่อสร้างความมั่นใจในตัวสินค้า ว่าปราศจากสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ หรือสารเคมีตกค้าง ซึ่งอาจทำอันตรายต่อผู้บริโภค 

ขั้นตอนต่อไปของการควบคุมคุณภาพก็คือ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ ที่เล็งเห็นประโยชน์ของการใช้งาน และการรักษาสินค้าให้คงสภาพสดและใหม่ โดยมีการนำเอาพลาสติกมาขึ้นเป็นรูปภาชนะพร้อมปิดฝามิดชิดมาใช้แทนถุงพลาสติกและยางรัด หรือเทปกาวแบบเดิม ๆ ระบบการบรรจุภัณฑ์ ถูกนำเข้ามาเสริม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งประโยชน์ใช้สอยลูกค้าสามารถนำไปใช้ต่อได้ เป็นการช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นที่มาของขยะสะสม อีกทั้งช่วยรักษาคุณภาพของสินค้า ป้องกันการบอบช้ำจากการขนส่ง และป้องกันการกระแทกได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการยกระดับ โฮม เฟรส มาร์ท ให้เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต ระดับสากลอีกด้วย หลังจากสินค้าได้ถูกนำมาทำการบรรจุภัณฑ์ใหม่แล้ว ก็จะต้องทำการปิดฉลากซึ่งบ่งบอกแหล่งผลิต ชื่อสามัญของสินค้า ประโยชน์ของสินค้า และวันหมดอายุ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง นอกจากนี้ การลงทุนด้านบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย และการดูแลเรื่องความสะอาด เป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าเข้ามาจับจ่ายใช้สอยอีกด้วย

packaging13

  • ว๊องแมน
  • *
  • กระทู้: 1
  • Country: th
  • คะแนนจิตพิสัย +0/-0
    • ดูรายละเอียด
    • ถุงแก้ว
Re: การจัดทำบรรจุภัณฑ์ 1
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 19 พฤษภาคม 2011, 11:48:21 »

ได้ความรู้มากมายครับ hssd