-->

ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ ๗ - สัจจะเกี่ยวกับความตาย(1)  (อ่าน 1036 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

chon

  • บุคคลทั่วไป
บทที่ ๗ - สัจจะเกี่ยวกับความตาย(1)
« เมื่อ: 25 กันยายน 2008, 14:39:11 »

บทที่ ๗ - สัจจะเกี่ยวกับความตาย

กล่าวกันเสมอว่าทุกคนต้องตาย แต่มีข้อสังเกตที่น่าคิดอยู่หลายประการ เช่นรู้หรือไม่ว่าเราเริ่มกลัวตายเป็นครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่? เราเคยรู้สึกจริงๆหรือไม่ว่าตัวเองนี้จะต้องตาย? เราตระหนักแค่ไหนว่าชีวิตไม่เที่ยง จะตายวินาทีใดไม่อาจรู้ ไม่อาจพยากรณ์ล่วงหน้า?

ความจริงก็คือเกือบทุกคนใช้ชีวิตประหนึ่งความตายไม่มีวันมาถึงตัว จึงไม่มีความจำเป็นต้องเตรียมต้อนรับ และเนื่องจากไม่ทราบ ไม่แน่ใจ หรือปักใจไม่เชื่อว่าชีวิตหลังความตายมี จึงไม่มีความจำเป็นต้องตระเตรียมเสบียงใดๆไว้สำหรับการเดินทางต่อ แต่ละคนใช้ชีวิตเพียงเพื่อเอาตัวรอดไปวันๆ หรือสนองความอยากกันเป็นขณะๆเท่านั้น

และอีกความจริงหนึ่งก็คือระหว่างมีชีวิตอยู่ เราทุกคนเคยรู้สึกอ้างว้างกันมาหลายครั้ง แต่จะมีครั้งเดียวในชีวิตที่เราจะรู้สึกอ้างว้างและว้าเหว่ที่สุด นั่นคือขณะแห่งการตายอย่างไม่รู้ที่ไป เพราะระหว่างมีชีวิตแม้จะคิดมาก ลำบากในการหาเพื่อนแท้ผู้ทำให้เราอุ่นใจแค่ไหน อย่างไรคนเราก็มีหนทางแก้เหงาวันยังค่ำ โดยเฉพาะสมัยนี้มีอินเตอร์เน็ตให้เล่น แต่หลังจากสิ้นชีวิตแล้ว ใครเล่าจะรับประกันว่าจะมีอะไรสนุกครื้นเครงให้เล่นอย่างเช่นอินเตอร์เน็ตอีกหรือเปล่า?

ไม่ว่าจะเชื่อเรื่องหลังความตายอย่างไร ความจริงต้องมีอยู่อย่างนั้นเสมอไป ไม่ขึ้นกับความเชื่อ เหมือนเช่นที่เราเห็นว่าความตายมีแน่ๆ และต้องเกิดขึ้นกับทุกคน แม้ทุกเช้าจะบอกกับเงาตัวเองว่าความตายไม่มี ความตายจะไม่มาถึงเรา อย่างไรก็คงไม่เปลี่ยนความจริงในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้าได้เป็นแน่แท้

และกะแค่ความตายที่ทุกคนจำใจต้องยอมรับว่าวันหนึ่งจะมาเยือน ก็น้อยคนนักที่จะอยากเข้าไปศึกษาไว้ล่วงหน้าว่าความตายคืออะไร และน้อยยิ่งกว่านั้นคือเอาตัวเข้าไปสังเกตให้ละเอียดเกี่ยวความตายชนิดต่างๆ เพื่อเตรียมทำใจไว้ว่าเราก็อาจต้องตายในลักษณะนั้น หรืออาจต้องตายในลักษณะโน้น ส่วนใหญ่เข้าใจว่าตนจะนอนตายตาหลับกับเตียงในห้องของโรงพยาบาลด้วยกันทั้งสิ้น

บทนี้บทเดียวคงไม่อาจลงลึกได้ครอบคลุมความจริงเกี่ยวกับมรณกรรมได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยคงพอแสดงให้เห็นว่าพวกเราช่างไม่เคยเฉลียวใจเอาเสียเลยว่าจุดจบของตนเองมีความเป็นไปได้เพียงใดบ้าง และบทนี้ต้องการส่งสัญญาณเตือนว่าแค่รู้สึกจะต้องตายในวันหนึ่งข้างหน้ายังไม่พอ ควรจะต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมเสบียงเผื่อขาดเผื่อเหลือไว้ ประมาณว่าถ้าต้องออกเดินทางไกลไปที่อื่นต่อวันนี้เลยจะได้หยิบฉวยสิ่งจำเป็นได้ทัน!


ความตายคืออะไร?
และคำถามอันเป็นที่สุดของความน่าฉงนคงจะได้แก่ ความตายคืออะไร?

สำหรับคนทั่วไป ถ้าเชื่อเสียอย่างเดียวว่าสมองคือเครื่องผลิตความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณ ก็ไม่ต้องพูดต่อความยาวสาวความยืดให้มากไปกว่านั้น ความตายคือการยุติการทำงานของร่างกาย และจิตใจ ประสบการณ์และการกระทำทั้งมวลล้วนสาบสูญลง ณ จุดเวลาแห่งมรณกรรมนั้นเอง

แต่สำหรับพุทธศาสนิกชน หรือจำเพาะลงไปกว่านั้นคือพุทธศาสนิกชนผู้มีสมาธิจิตผ่องแผ้ว มีศักยภาพในการน้อมจิตไปรู้เห็นขณะจุติและอุบัติของวิญญาณหลังกายหมดสภาพ ก็ย่อมเห็นเป็นอีกอย่างว่า ความตายของคนเราคือการรวบรวมกรรมทั้งหมดในชีวิตมาชั่งน้ำหนัก แล้วตัดสินว่าเอียงไปข้างใดระหว่างสูงขึ้นหรือต่ำลงกว่าความเป็นมนุษย์

เมื่อคิดอย่างคนไม่แน่ใจ คิดอย่างคนไม่เคยมีประสบการณ์ล้มหายตายจาก รวมทั้งรู้สึกว่าจะไม่มีทางได้รู้ล่วงหน้า ก็อาจยิ้มๆปลอบกันว่าความตายจะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด วันนี้ยังมีชีวิตก็พอ หรือไม่ก็อาจสรุปรวบรัดว่าทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วพรุ่งนี้ถ้าต้องตายก็ให้มันเป็นไปตามที่มันจะเป็น

นั่นคือคำสุดท้ายสำหรับคนทั่วไปจริงๆ ?ทำดีที่สุด!?

ผู้มีความรู้เห็นกรรมวิบากและภพภูมิดุจตาเห็นรูป ย่อมทราบว่าจะทำได้ดีที่สุดนั้น ไม่อาจใช้สามัญสำนึกหรือความรู้สึกแบบคนธรรมดาเป็นไม้บรรทัดวัด แต่ต้องอาศัย ?ความรู้? ที่ได้จากความเห็นแจ้งประจักษ์อันเป็นสิ่งเหนือโลก และในบรรดาญาณของผู้หยั่งรู้ด้วยกันทั้งหมด พระพุทธเจ้ารู้ดีกว่าใคร ไม่มีใครรู้ได้เสมอพระองค์ เนื่องจากพระองค์บรรลุถึงซึ่งธรรมชาติบางประการที่เรียกกันว่า ?พระสัพพัญญุตญาณ? อันหมายถึงปรีชาญาณหยั่งรู้สรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเล็กเท่าอะตอมหรือใหญ่ขนาดเอกภพ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ใกล้หรือไกล ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของหยาบหรือของประณีต และไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นภพภูมิที่เกิดแต่กรรมแบบไหน ผู้สำเร็จถึงซึ่งพระสัพพัญญุตญาณย่อมรู้แจ้งทั่วตลอดไม่มีผิดพลาดเลย

พระพุทธเจ้าตรัสจำแนกเกี่ยวกับภพภูมิ รวมทั้งความคาบเกี่ยวในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างเปลี่ยนภพภูมิไว้มาก โดยสรุปรวบยอดที่พระองค์ท่านตรัสเกี่ยวกับภาวะความตายได้แก่นิยามแห่งมรณะ


ก็มรณะเป็นไฉน? มรณะคือความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งรูปนาม ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตจากหมู่สัตว์หนึ่งๆ


สรุปคือตามความรู้แจ้งเห็นจริงของผู้มีญาณหยั่งรู้ตลอดสาย ความตายไม่ใช่การยุติ ทว่าเป็นการเคลื่อนจากความเป็นอย่างหนึ่งไปสู่ความเป็นอีกอย่างหนึ่ง เมื่อถึงจุดแห่งความสิ้นสภาพการเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งๆ โดยทอดทิ้งซากเดิมไว้ในโลกนี้

ทิ้งซากศพไว้ แล้วผละไปเป็นสัตว์ในภพภูมิอื่นตามกรรมแห่งตน?

คำว่า ?สัตว์? ในความหมายเชิงพุทธมิได้หมายถึงหมู หมา กา ไก่ แต่ได้เหมารวมเอาสิ่งมีชีวิตทุกภพทุกภูมิทั้งหมดไว้ว่าเป็น ?สังสารสัตว์? คือสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่นี้ จะเป็นอินทร์ พรหม ยม ยักษ์ มนุษย์ หรือเปรตต่างๆก็ล้วนเป็นสังสารสัตว์ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น สำหรับหมู หมา กา ไก่ จะถือเป็นเหล่าสัตว์ในอบายภูมิ เรียกโดยเฉพาะว่าเป็น ?เดรัจฉาน?

รูปแบบของความเป็นสัตว์ในภพภูมิหนึ่งจะสิ้นสุดลงด้วยความตาย แล้วย้ายไปสู่ความเป็นสัตว์อีกภพภูมิหนึ่ง พิจารณาจากความจริงข้อนี้ แปลว่าระหว่างมีชีวิตเรามีเวลาประมาณหนึ่งเป็นโอกาสให้ ?สร้างภาพใหม่? ก่อนจะเกิดการ ?ล้างภาพเดิม? ร่างกายของทุกคนคือนาฬิกาชีวิตที่ส่งสัญญาณบอกเป็นระยะๆว่ามาถึงไหนแล้ว

ในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาวนาฬิกาจะบอกว่าเป็นช่วงต้น เสมือนทุกคนครอบครองและใช้สอยร่างนี้ได้โดยปราศจากขีดจำกัด ทุกอย่างมีแต่เจริญขึ้น และอุดมสมบูรณ์แข็งแรง พรักพร้อมต่อภาระหน้าที่การงานยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ความสนุกทางเพศจะทำให้เรารู้สึกว่าการมีชีวิตมนุษย์เป็นของดี น่ามีน่าเป็นไปจนชั่วนิจนิรันดร์

ต่อเมื่อเข้าช่วงกลาง ๓๐ จะเกิดสัญญาณเตือนแผ่วๆ โดยมาในรูปของความอ่อนแรงลง ผมเผ้าเริ่มบาง ผิวพรรณเริ่มปรากฏร่องรอยเล็กๆน้อยๆ แม้จะไม่ถึงกับเหี่ยวย่น ก็ทำให้หลายต่อหลายคนรู้สึกตกใจได้ เห็นความไม่เที่ยงของสังขารได้บ้างแล้ว

พอ ๔๐ ต้นๆ สัญญาณนาฬิกาจะค่อยๆส่งเสียงดังฟังชัดขึ้น โดยมาในรูปของอวัยวะที่เริ่มชำรุดทีละชิ้นสองชิ้น ผมร่วงบ้าง ฟันแท้เสื่อมบ้าง เกิดจุดด่างดำบนใบหน้าบ้าง

พอกลาง ๕๐ ขึ้นไป สัญญาณนาฬิกาจะทั้งดังและทั้งถี่ขึ้นเรื่อยๆ ต่างคนต่างจะเห็นความเสื่อมแห่งกายตามฐานาฐานะ ยิ่งสมัยนี้คำว่า ?ตายก่อนวัยอันควร? หรือ ?ยังไม่น่าจะถึงเวลาหมดอายุของอวัยวะ? นั้น เริ่มเชยเสียแล้ว เพราะคนหัวใจวายตายก่อน ๕๐ ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป โดยเฉพาะสำหรับคนที่ยังเผลอนึกว่านาฬิกาชีวิตของตัวเองเพิ่งเริ่มเดินไม่นาน ยังไม่ต้องบำรุงให้มาก

ความตายคือจังหวะที่นาฬิกาชีวิตเดินไปจนสุดลาน แต่ละคนถูกไขลานไว้ต่างกันโดยกรรม กล่าวคือบางรายต่อให้บำรุงดีขนาดไหน ใช้การแพทย์เข้าช่วยเพียงใด อย่างไรก็ต้องไปในวัยเยาว์ ส่วนบางคนไม่ค่อยระวังเนื้อระวังตัว มัวเมากับสิ่งเสพย์ติดค่อนข้างมากด้วยซ้ำ กลับอยู่ได้ถึง ๘๐ ก็มาก

การส่งเสียงเตือนในช่วงเวลาสุดท้ายของนาฬิกาชีวิตก็ไม่เหมือนกัน บางคนถูกเตือนอย่างหนักหน่วง รุนแรง และถี่บ่อย กระทั่งเจ้าตัวรู้สึกออกมาจากข้างในได้ว่าไม่น่าจะเกินเมื่อนั่นเมื่อนี่ แต่บางคนก็ไม่มีเค้าไม่มีเงา ไม่มีการเตือนแรงๆแต่อย่างใด จู่ๆปุบปับก็ส่งเสียงกริ๊งสุดท้ายขึ้นมาเฉยๆโดยไม่ทันสั่งเสียกับครอบครัว อันนี้ก็สุดแท้แต่กรรมเก่ากรรมใหม่มาบวกกันแล้วต้องมีอันเป็นไปตามนั้น


เราควรมีอายุได้เท่าไหร่?
เมื่อทุกคนเริ่มย่างเข้า ๔๐ จะเริ่มสนใจเรื่องชะลอความแก่ โดยเฉพาะถ้ายังรู้สึกดีๆกับชีวิต มีมุมมองดีๆกับชีวิต รวมทั้งอยากใช้ชีวิตทำอะไรดีๆเพิ่ม หลายคนเริ่มถามหาเทคนิควิธีหรือหยูกยาบำรุงร่างกาย และสนใจการมีอายุยืนแบบแข็งแรง ไม่ใช่สักแต่ยืดอายุเพื่ออมโรคไปเรื่อยๆราวกับคนคุกที่ถูกทรมานอย่างไร้กำหนดพ้นโทษ

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีวิบากจ้องเล่นงานโดยเฉพาะ นาฬิกาชีวิตอาจยืดหดได้นิดหน่อยหรือมากหน่อย นักวิทยาศาสตร์ยุคเราศึกษาและค้นคว้าพบว่าโดยธรรมชาติของร่างกายคนเราสามารถมีอายุยืนยาวได้ประมาณ ๑๒๐ ปี แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีการดูแลร่างกายให้ถูกต้อง หรือโดนสภาพแวดล้อมพ่นพิษใส่มากๆเข้า ก็อาจเน่าเปื่อยลงเมื่อประมาณ ๗๐ ดังที่ทราบๆกันว่าเป็นอายุขัยเฉลี่ยของปัจจุบัน

แต่ความจริงมีมาแล้ว คือนายลีชุนยุง ชาวจีนผู้เกิดในปี ค.ศ. ๑๖๗๗ และตายในปี ๑๙๓๓ สิริรวมอายุได้ ๒๕๖ ปี! เขาเป็นผู้ลบล้างความเชื่อหลายต่อหลายประการ นับแต่ความเชื่อว่าคนเราควรมีอายุได้สูงสุดไม่เกิน ๑๒๐ ตลอดไปจนกระทั่งความเชื่อว่าคนแก่ต้องหลังโก่ง ผิวหนังเหี่ยวย่นเสมอ เพราะจนตายนายลีก็ยังสุขภาพแข็งแรง หลังตรง หนังตึง สายตาไม่ฝ้าฟาง เส้นผมกับฟันยังเป็นของแท้ตามธรรมชาติ ไม่มีใครเห็นเขามีสภาพเกินชายวัย ๕๐ เลยด้วยซ้ำ!

รัฐบาลจีนรับรู้ว่าลีชุงยุนมีตัวตนตอนเขาอายุ ๑๕๐ คือมีคนของทางการพบเห็นและให้คำรับรองได้ว่าเป็นผู้สูงอายุแล้ว แต่เขายังคงอยู่ต่อมาได้อีกกว่าศตวรรษ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดเขาจะต้องมีอายุเกินธรรมดาไปมากๆ เมื่อประกอบกับหลักฐานแสดงความมีตัวตนในช่วงศตวรรษที่ ๑๗ ก็พอทำให้เชื่อมั่นว่ากรณีของนายลีไม่ใช่การปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมาแน่ๆ

นายลีเน้นการประพฤติปฏิบัติตนไว้หลายอย่าง นับแต่การรู้จักมีอิริยาบถที่ถนอมสภาพความเยาว์วัยไว้นานๆ เช่นกล่าวเชิงอุปมาอุปไมยให้นั่งนิ่งเหมือนเต่าหมอบ เดินเหินปราดเปรียวกระฉับกระเฉงเหมือนนกพิราบ นอนหลับสนิทเหมือนสุนัข แล้วก็มีหัวใจที่สงบเงียบในการดำรงชีวิต

นอกจากนั้นนายลียังเป็นมังสวิรัติ แล้วก็เป็นคนรอบรู้ในเรื่องการใช้สมุนไพรอย่างหาตัวจับได้ยาก คือเชี่ยวชาญเกี่ยวกับยาอายุวัฒนะ ประเภทที่ทำให้ธาตุไฟภายในยังทำงานเผาผลาญ ช่วยกระตุ้นให้ระบบประสาทตื่นตัวได้ตลอด เขากินอาหารสมุนไพรทุกวันจนตาย นักวิทยาศาสตร์เอามาวิเคราะห์ดูก็พบว่าเป็นอาหารจำพวกกรดอะมิโนในธรรมชาติซึ่งร่างกายผลิตได้เองอยู่แล้ว แถมยังเจอดาษดื่นในอาหารที่เราๆกินกันนี่แหละ ความแตกต่างคือสารช่วยยืดอายุเหล่านั้นถูกทำลายไปในขณะปรุงอาหารเสียหมด คนทั่วไปเลยชะลอนาฬิกาชีวิตไม่ค่อยอยู่

ทั้งวิธีการดำรงชีวิตและการใช้ยาอายุวัฒนะ รวมกันทำให้ลีชุงยุนไม่รู้จักแก่ และเป็นการเลือกมีอายุยืนด้วยความจงใจ มิใช่ความบังเอิญ

การมีตัวตนอยู่จริงของลีชุนยุงบอกเราว่าถ้าอยากอยู่นานจริงๆ อีกทั้งแข็งแรงปราศจากความร่วงโรยของสังขาร ก็ต้องมีวิธีดำรงชีวิตด้วยความแตกต่างจากการปล่อยปละเลยตามเลย ไม่ว่าจะเรื่องของการเดินเหิน ไม่ว่าจะเรื่องของหยูกยาอาหาร ล้วนแล้วแต่ประคองให้ร่างนี้อยู่ได้เกินสองร้อยปี หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ต่ำกว่า ๑๒๐ ปี ไม่ใช่แค่ ๔๐ ก็เตรียมจอดเหมือนอย่างหนุ่มสาวหลายต่อหลายคนในยุคปัจจุบัน

ลองจินตนาการดู หากเราเป็นคนใกล้ชิดของนายลีในช่วงที่เขาอายุสักร้อยเศษ เกิดมาก็เห็นนายลีมีอายุมากแล้ว แต่พอเราอายุมากขึ้นจนเกือบ ๖๐ รอมร่อ นายลีก็ไม่ตายสักที แถมดูดีกว่า แข็งแรงกว่า ทำอะไรได้มากกว่าเราเสียอีก เราคงไม่คิดอย่างไรอื่นนอกจากเห็นเขาเป็นมนุษย์อมตะ และเมื่อเราถึงเวลาปิดฉากชีวิตขณะอายุสัก ๗๐ ก็คงตายไปพร้อมกับความเชื่อว่าชีวิตอมตะมีจริง มนุษย์ที่ไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักตายมีจริง แถมแข็งแรงและธาตุยังดีขนาดมีเมียได้เรื่อยๆถึง ๒๔ คน!

ทว่าเราอยู่ในยุคที่ลีชุนยุงล่วงลับไปแล้ว ก็ต้องมาถึงจุดสรุป ถึงจุดที่เห็นตามจริงว่า ชีวิตนั้น ต่อให้ชะลอยืดยาวออกไปเพียงใด ในที่สุดก็ต้องพบกับสัจจธรรมเหมือนกันหมด คือต้องมอดม้วยมรณังกันถ้วนหน้า มนุษย์อายุยืนที่สุดในโลกเช่นนายลีชุนยุงเหมือนเกิดมาเพื่อยืนยันแทนธรรมชาติ ว่าสัจจะสูงสุดข้อแรกของการเป็นมนุษย์คือ ?อย่างไรก็ต้องตายแน่ๆ?

อายุขัยที่แตกต่างทำให้แต่ละคนมีเวลาสั่งสมกรรมผิดแผกจากกัน นอกจากนั้นยังมีโอกาสสั้นยาวไม่เท่ากันในอันที่จะเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับชีวิต สุดแต่ใครจะคิดว่าความจริงสูงสุดอยู่ที่ไหน ควรใช้เวลาในชีวิตเพียงใดเพื่อเข้าให้ถึงความจริงนั้น


โอกาสตายในช่วงชีวิตต่างๆ
ปัจจุบันดาวเคราะห์ที่เราอาศัยช่างเต็มไปด้วยภยันตราย เกิดสงครามและอาชญากรรมปะทุขึ้นที่นั่นที่นี่ หากติดตามข่าวรอบโลกก็จะเห็นเหมือนทั่วทุกหย่อมหญ้าเต็มไปด้วยคาวเลือดและการล้างผลาญชีวิต ทั้งมหันตภัยจากธรรมชาติและมหาภัยจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง

ข่าวอุบัติเหตุบางชิ้นเช่นเครื่องบินตก หรือการตายหมู่จากตึกถล่มนับร้อยนับพันนั้น มักเผยแพร่ออกไปในระดับโลก เพราะเป็นภาพการตายพร้อมกันที่น่าสะเทือนขวัญ แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าประชากรโลกตายกันอยู่แล้ววันละแสนห้า!

ไม่มีใครทำรายงานเช่น ?ข่าวด่วน! มีคนตายในวันเดียวถึงเกือบสองแสนคน? นั่นเพราะพวกเรากระจายกันตายแบบห่างๆ เราอาจต้องรู้จักชาวบ้านร่วมครึ่งตำบลจึงจะได้ยินข่าวการตายของใครสักคนหนึ่ง แต่เราต้องรู้จักคน ๖ พันล้านจึงจะทราบว่ามีการตายวันละเกือบสองแสน

แต่อย่างไรความจริงก็คือความจริง วันหนึ่งเกือบสองแสน ซึ่งเกือบเท่าจำนวนคนตายที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิรวมกันเมื่อครั้งตกอยู่ในสภาพหนูทดลองระเบิดนิวเคลียร์ ๒ ลูกแรก ทุกคนสามารถจดจำการตายหมู่อันเป็นประวัติศาสตร์ทมิฬของญี่ปุ่นได้ แต่วันนี้ไม่มีใครปั่นข่าวให้ทราบเลยว่าความตายระดับใกล้เคียงกันก็เกิดขึ้น และวันพรุ่งนี้จะมีคนตายเพิ่มอีกหนึ่งแสนห้าหมื่นคน!


ยังมีความเชื่อตามสามัญสำนึกอยู่อีกประการหนึ่ง คือคนเราควรจะตายตอนแก่ อาจเพราะพวกเรารู้จักคนกันไม่มากพอ จึงมักเห็นคนอยู่ได้จนแก่กัน หากขอให้คนรุ่น ๔๐ แจ้งรายชื่อเพื่อนร่วมรุ่นซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็อาจแจ้งได้เป็นจำนวนเลขหลักหน่วย คือไม่ถึงสิบด้วยซ้ำ ต้องขอให้คนรุ่น ๕๐ ขึ้นไปนั่นแหละ จึงจะเริ่มเห็นน้ำเห็นเนื้อขึ้นมาหน่อย นี่จึงทำให้เรารู้สึกว่าช่วงเวลาในชีวิตส่วนใหญ่อยู่ห่างไกลจากความตายไปมาก แม้หนังสือพิมพ์จะลงข่าวเด็กและวัยรุ่นเสียชีวิตกันโครมครามทุกวันก็ตาม

ในหัวข้อนี้ขอแสดงให้เห็นเพียงสถิติที่น่าสนใจ เพื่อให้เห็นว่าความจริงก็คือคนเรามีโอกาสตายได้ทุกช่วงวัย ผ่านความน่าจะเป็นของโรคภัยต่างๆดังนี้


๑) ช่วง ๑ ขวบ มีโอกาสตายเพราะโรคเกี่ยวกับการย่อยอาหารจำพวกไขมัน โปรตีน แป้ง คือกินไม่ได้เพราะร่างกายไม่สามารถสลายได้หมด และเด็กบางคนก็อาจเป็นเบาหวานได้ตั้งแต่เกิดเพราะตับอ่อนเสีย ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้

๒) ช่วง ๑๐ ขวบ มีโอกาสตายเพราะโรคมะเร็งที่สมองและไต

๓) ช่วง ๒๐ ปี มีโอกาสตายจากอุบัติเหตุได้มากที่สุด และอาจมีโรคจำพวกปลายประสาทสมองเสื่อมผิดปกติ คล้ายอัลไซเมอร์

๔) ช่วง ๓๐ ปี มีโอกาสตายเพราะโรคติ่งเนื้อในลำไส้ ซึ่งมีอยู่แล้วตั้งแต่เกิด แต่เริ่มเจอเอาช่วงนี้เอง บางคนมีโอกาสรู้ตัวได้เพราะมีประวัติในพ่อแม่ (ซึ่งถ้าเป็นกรรมพันธุ์จริงก็อาจเจอติ่งเนื้อแล้วตัดไส้ส่วนนั้นทัน) วัยนี้บางทีก็มีเรื่องเบาหวานและตับอ่อนเสื่อมให้เห็นเสมอๆ

๕) ช่วง ๔๐ ปี มีโอกาสตายเพราะโรคมะเร็งกันสูง เพราะสภาพร่างกายเริ่มเสื่อม ไม่ยากที่จะเกิดการสร้างเซลล์ใหม่อย่างผิดปกติ หรือไม่ยิ่งอยู่นานก็เท่ากับยิ่งรับสารเคมีจากสภาพแวดล้อมอันเป็นพิษเข้าไปสะสมมากขึ้นๆ แล้วทำให้เซลล์แบ่งตัวผิด พอเป็นมะเร็งแล้วก็จะต่างจากเนื้องอกตรงที่กระจายได้ ลุกลามได้ พอเป็นขึ้นมาถ้าไม่ตรวจพบและรักษาแต่เนิ่นๆจึงมักไปกันไว


พ้นจากช่วงนี้สามารถตายได้ทุกเมื่อด้วยความน่าจะเป็นของทุกโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคสมัยที่ต้องเร่งรีบ หรือต้องแบกภาระการงานอันหนักอึ้งเพื่อผ่อนจ่ายทรัพย์สมบัติต่างๆ จนเริ่มมีข่าวคนนอนฟุบหลับเพื่อพักงีบบนโต๊ะทำงานแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลยประปราย ที่โน่นที่นี่ และต่อไปก็มีแนวโน้มว่าอาจได้ยินกันบ่อยขึ้น นี่ยังไม่รวมความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนนที่แต่ละปีคร่าชีวิตหญิงชายไปมากมายเกินจะนับอีกต่างหาก

ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับความรู้ตัวว่าติดกลุ่มเสี่ยงต่อมรณภัยรูปแบบไหน แต่ทุกคนสามารถเลิกประมาทได้เท่าเทียมกัน หันมาตระหนักว่าเราตายได้ทุกเมื่อ และการเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมอยู่เสมอเป็นนโยบายที่ฉลาดของคนไม่ประมาทกับชีวิต

ความตายที่แตกต่าง
นอกจากสัจจะข้อแรกคือ ?ทุกคนต้องตาย? แล้ว ยังมีสัจจะอีกข้อหนึ่งที่ตามหลังมาคือ ?แต่ละคนตายไม่เหมือนกัน? ทั้งอาการทางกายและอาการทางจิต หมายความว่าทางกายนั้น แก่ชราตายกับถูกฆ่าให้ตายจะเป็นคนละเรื่อง และแม้แก่ตายเหมือนๆกัน หรือถูกฆ่าตายเหมือนๆกัน ก็ไม่ใช่ว่าอาการทางจิตจะเหมือนกันไปด้วย เช่นบางคนแก่ตายด้วยความสงบ บางคนแก่ตายด้วยความทุรนทุราย หรืออย่างเช่นคนขณะถูกฆ่าส่วนใหญ่จะมีความกลัว แต่บางคนขณะถูกฆ่ายังอุตส่าห์ตั้งสติแผ่เมตตาให้กับฆาตกรได้ จึงไม่มีความกลัว ไม่มีความอาฆาตใดๆ เป็นต้น

ไม่ว่าจะประสบเหตุร้ายหรือดีท่าไหน การตายทางกายจะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือยุติกระบวนการชีวเคมีอันแสนสลับซับซ้อนพิสดารพันลึกทั้งปวง นับตั้งแต่ลมหายใจขาดห้วง หัวใจหยุดเต้น อุณหภูมิในร่างค่อยๆลดลง และหลังจากนั้นสักพักร่างกายจะแข็งทื่อ เพื่อเริ่มกระบวนการเน่าเปื่อยต่อไป

เบื้องต้นนี้จะขอแสดงสภาพความตายหลักๆพอให้ ?รู้สึก? ถึงความแตกต่างหลายหลาก รวมทั้งจะได้เตรียมใจว่าเราเองก็ไม่แคล้วจะต้องตายในแบบใดแบบหนึ่งเช่นกัน และจากการที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากพูดถึงความตาย เห็นความตายเป็นเรื่องสยองขวัญสั่นประสาท ก็ลำดับความน่ากลัวของความตายตั้งแต่มากสุดไปจนถึงน้อยสุด คือตายด้วยอาการทุกข์ทรมานสุดขีดไปจนกระทั่งยอดสุดแห่งบรมสุข


๑) โทษประหารด้วยการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า น่าสังเกตว่าทำไมการลงโทษประหารจึงไม่ค่อยจะเหมือนกันนัก บางทีมีการแกล้งฆ่าให้ตายทรมาน ดูๆแล้วเป็นพฤติกรรมผิดมนุษย์มนา ราวกับผู้ฆ่าเชื่อเรื่องการมีอยู่ของนรก และรู้ว่าถ้าตายทรมานแล้ว โอกาสจะลงไปแด่วดิ้นด้วยความเจ็บปวดสาหัสต่อในนรกก็มีอยู่สูง

สมัยที่ผู้คนยังป่าเถื่อนและเห็นการตายทรมานของเหล่าอาชญากรเป็นเรื่องสนุก หรือเป็นเรื่องน่าสะใจที่เห็นโทษทัณฑ์สาสมกับความสามานย์ของทรชนโฉด มีวิธีทารุณต่างๆนานาเช่นย่างไฟสดๆ แล่เนื้อเอาเกลือทา จับแช่น้ำเดือด ฯลฯ สารพัดจะคิดกันขึ้นมาราวกับจะเลียนแบบทัณฑกรรมในอเวจี

ตัดมาถึงยุคที่บางประเทศอยากให้ผู้กลัวการลงโทษของกฎหมาย ก็ทำการแขวนคอนักโทษประหารในที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ใครจะมามุงดูอย่างไรก็ไม่ว่า พอเห็นนักโทษแด่วดิ้นตาถลน ทรมานนานก่อนขาดใจตาย ก็จะได้เกิดความกลัวลาน ไม่กล้าละเมิดกฎหมายอาญากัน

โธมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ผู้มีชื่อเสียงก้องโลก กับผู้ช่วยของเขาชื่อแฮโรลด์ บราวน์ ช่วยกันคิดค้นเก้าอี้ไฟฟ้าขึ้นมาเพื่อใช้แทนการแขวนคอนักโทษประหาร ด้วยแนวคิดว่าเป็นการทำให้ทรมานน้อยลง สองนักประดิษฐ์สาธิตการฆ่าสัตว์หลายตัวด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อทำให้เชื่อว่าวิธีนี้เหมาะกับการประหารชีวิตนักโทษที่สุด

คนตายไม่อาจกลับมาเล่าได้ แต่ว่ากันว่าพยานที่เห็นเหตุการณ์ต่างพูดตรงกันว่าไม่น่าจะมีวิธีประหารใดหฤโหดน่าขนลุกขนพองไปกว่าเก้าอี้ไฟฟ้าอีกแล้ว ลองฟังประสบการณ์จากพยานหลายๆคนดู (คัดข้อมูลจาก http://members.aol.com/karlkeys/chair.htm )

สภาพการตายของคนที่ดิ้นบนเก้าอี้ไฟฟ้านั้นทุเรศทุรังเหลือประมาณ เคยมีเกียรติยศหรือมีความสง่างามมาปานใด ก็เป็นอันสิ้นสุดลงบนเก้าอี้ไฟฟ้านั่นเอง เพราะความเจ็บปวดถึงขีดสุดย่อมไม่ทำให้ใครรักษาบุคลิกน่าดูชมไว้ได้ ผู้เป็นพยานนาทีประหารเล่าให้ฟังตรงกันว่านักโทษจะกระตุก หดตัวทะลึ่งโดดเพื่อต่อสู้กับเครื่องร้อยรัดด้วยพลังมหาศาลอย่างเหลือเชื่อในเฮือกสุดท้ายของชีวิต มือของนักโทษจะแดงสลับขาว ลำคอจะโก่งยืดออกมาราวกระดูกทำด้วยเหล็กสปริง แขนขาและนิ้วมือนิ้วเท้ากับใบหน้าหงิกงอบิดเบี้ยวอย่างรุนแรงจนแทบไม่เหลือสภาพเดิมให้จดจำกันได้

อำนาจขับดันของไฟฟ้านั้นทรงพลังสูงได้ขนาดทำให้ลูกนัยน์ตานักโทษถลนจากเบ้าออกมากองบนแก้ม โดยมากนักโทษมักขับถ่ายของเสียอย่างอุจจาระปัสสาวะออกมาเรี่ยราด และปากอาจพ่นเลือดกับน้ำลายออกมาทะลักหลั่งพรั่งพรู ยิ่งถ้าไฟฟ้าทำความร้อนสูงขึ้นเท่าไหร่ ร่างก็จะยิ่งแดงก่ำมากขึ้นเท่านั้น

เนื้อหนังของนักโทษจะบวมเป่งออกและขยายจนกระทั่งฉีกขาด ผู้ใกล้ชิดเหตุการณ์สามารถได้ยินเสียงปะทุแบบเดียวกับที่เราได้ยินเสียงเปรียะๆของเนื้อทอดบนกระทะ ว่ากันว่าก้อนสมองจะมีความร้อนสูงได้เท่าน้ำเดือดทีเดียว แม้เวลาผ่านไปหลังจากตัดกระแสไฟฟ้าแล้ว ตับก็จะสุกขนาดแตะต้องด้วยมือเปล่าไม่ได้

เมื่อต้องตายทรมานขนาดนี้ และสภาพหลังการตายสุดอุจาดเห็นปานนี้ เหตุใดบ้านเมืองจึงกระทำเสมือนไร้มนุษยธรรมนักเล่า? เขาอ้างกันว่าวิธีนี้ทำให้ ?ตายทันทีโดยปราศจากความเจ็บปวด? และที่อ้างได้อยู่นานก็เพราะไม่มีการเผยแพร่นาทีประหารออกสู่สายตาประชาชน หากทุกคนเห็นแล้วก็คงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกวิธีประหารแบบนี้สถานเดียว

ถ้ามองออกมาจากมุมของกรรมวิบาก วิธีตายที่เหี้ยมเกรียมเห็นปานนี้ ทำความบาดเจ็บไปถึงวิญญาณได้ถึงเพียงนี้ ค่อนข้างแน่นอนที่วิญญาณจะเคลื่อนไปสู่ภพที่ตกต่ำลำบากเช่นนี้ ก็ไม่มีอะไรเป็นคำตอบสุดท้ายได้มากไปกว่ากรรมดำที่เคยทำไว้กับคนอื่นประมาณเดียวกัน อกุศลวิบากตัดสินว่าเขาควรได้รับความทรมานขณะตายอย่างแสนสาหัสให้สาสมกับที่เคยก่อกรรมทารุณผู้อื่นนั่นเอง


๒) การเป็นโรคเอดส์ คิดแล้วร่างกายคนเราเป็นได้หลายอย่าง ตั้งแต่เครื่องมือก่อกรรม สถานีรับวิบากกรรม อุปกรณ์เสพกาม ไปจนกระทั่งเป็นเครื่องแปรสภาพศพสัตว์ให้เป็นอึ!

นอกจากนั้นร่างกายยังเป็นโกดังเก็บโรคสารพัดชนิด สุดแท้แต่วิบากกรรมเขาจะเบิกออกมาใช้ บางโรคเช่นมะเร็งนั้น แม้เป็นแล้วต้องตายก็ไม่อับอายขายหน้า แต่สำหรับบางโรคเช่นเอดส์นี่ ถึงยังไม่ตายก็ยากจะทำใจให้รู้สึกเฉยๆกับมัน เนื่องจากทั้งสังคม ทั้งสัญชาตญาณของคนเราบอกตัวเองว่าต้องตายเพราะโรคสำส่อน นับเป็นเรื่องเสียศักดิ์ศรี เสียเกียรติภูมิอย่างมาก แม้ว่าคนๆนั้นอาจติดเอดส์มาจากคู่ของตนโดยที่ตัวเองไม่เคยสำส่อนเลยก็ตาม

และยิ่งไปกว่าความรู้สึกละอายใจหรือความรู้สึกอัปยศอดสู ยังมีความทรมานทางกายทวีตัวขึ้นเป็นช่วงๆ แม้ผู้ป่วยที่มีสุขภาพจิตดี ได้รับกำลังใจอันอบอุ่นจากญาติพี่น้องที่เปี่ยมด้วยมนุษยธรรม ก็ไม่อาจเอาชนะความทุกข์ทางกายที่รุมเร้าซึ่งเป็นศัตรูจากภายในได้เลย เพราะผู้ป่วยจะอ่อนแอและเป็นโรคแทรกซ้อนได้สารพัด เนื่องจากไวรัสเอดส์ทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกายเสียหมด

เอดส์เริ่มทำหน้าที่ของมันไม่นานหลังจากเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ภายในหนึ่งเดือนหรือน้อยกว่านั้น ไวรัสจะถอดแบบตัวเองแพร่พันธุ์ออกไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเทียนต่อเทียน จนมีความเข้มข้นของเอดส์ในเลือดสูงมาก โดยยังไม่กระโตกกระตากเป็นอาการให้เจ้าตัวรู้สึก กระทั่งอีกเดือนหนึ่งผ่านไป ระบบการให้ผลจึงเริ่มเข้าที่เข้าทางพรักพร้อม

เงาแห่งความตายจากโรคเอดส์จะแสดงตัวขั้นต้นเป็นไข้ต่ำๆชนิดเรื้อรัง หาต้นสายปลายเหตุไม่เจอ บ้างก็เป็นๆหายๆ บ้างก็เป็นตลอดเวลา มีเหงื่อออกมาตอนกลางคืน น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีฝ้าขาวที่ลิ้นและช่องปากเป็นเวลานานเกิน ๒ สัปดาห์ มีแผลเริมที่ริมฝีปากหรืออวัยวะเพศ มักเป็นชนิดลุกลามยืดเยื้อยาวนาน ต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้เป็นก้อนขนาดใหญ่หลายตำแหน่ง เช่น บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ

การเล่นงานชนิดไม่ให้พักหายใจหายคอก็จะมาในรูปของการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกทุกครั้งที่หายใจยาวๆ เวลากล้ำกลืนอะไรแม้แต่น้ำลายก็เจ็บคอ หรือกลืนติด กลืนลำบาก มีอาการอุจจาระร่วงเรื้อรัง ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือถ่ายเป็นมูกเลือด หมดสติและชักกระตุกได้ เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด และอาจถึงขั้นตาบอดเพราะจอตาอักเสบ

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ผู้ป่วยจะกำลังใจดีเพียงใด น้อยรายที่ระบบประสาทรอดจากการคุกคาม ผู้ป่วยแม้ระยะเริ่มต้นอาจแสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็น เช่น ความจำเสื่อม อารมณ์แปรปรวนเปลี่ยนแปลงง่าย และอาจมีอาการทางสมอง เช่น แขนขาชา อัมพาตครึ่งซีก ชักกระตุก

แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่านี่คือสภาพเลวร้ายที่สุดแล้ว เพราะที่กล่าวมาเป็นเพียงอาการที่มัจจุราชเริ่มยื่นมือมาลูบคลำวิญญาณผู้ป่วยเท่านั้น ยังไม่ถึงระยะของการกระชากตัวไปแต่อย่างใด เช่นไข้หวัดใหญ่อาจเกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิต้านทานเป็นครั้งแรก เพื่อส่งสัญญาณแบบโหวกเหวกโวยวายว่าบัดนี้อนุภาคไวรัสใหม่ๆจำนวนมหึมาได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นแล้วในกายนคร

ช่วงท้ายๆอาการทางจิตของผู้ป่วยจะรุนแรงจนยากจะหน่วงนึกสิ่งที่เป็นกุศลไว้นานๆ อย่างเช่นที่พบคือภาวะสมองเสื่อมแบบซับซ้อน ทั้งความรู้สึกนึกคิด การเคลื่อนไหว และพฤติกรรมต่างๆอาจแปรเหตุการณ์ปกติให้กลายเป็นโศกนาฏกรรมได้ทุกเมื่อ ต่อให้เคยสติปัญญาดีเลิศมาก่อนเพียงใด ก็จะได้เห็นความตกต่ำเสื่อมทรามลงถึงขีดสุดก็ในระยะสุดท้ายนี่เอง แม้แต่แขนขาก็ขยับตอบโต้กับสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยได้ด้วยซ้ำ

ความสำนึกผิดต่างๆในชีวิตจะมาช้าหรือเร็ว สายไปหรือทันการณ์ก็ตาม ผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้ายมักปรากฏตัวในบั้นปลายชีวิตด้วยรูปลักษณ์ของผีตายซากที่มีใบหน้าซูบตอบ ตาลึก ปราศจากแววแห่งการมีชีวิต ผิวหนังเหี่ยวย่นแม้ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว

วิธีสังหารเหยื่อของเอดส์ไม่มีกติกามารยาท ไม่จำกัดรูปแบบใดๆทั้งสิ้น นับแต่ระบบการหายใจล้มเหลว อวัยวะต่างๆล้มเหลว เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย เลือดเป็นพิษ เลือดออกในสมอง เลือดออกในปอด เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เลือดออกในเนื้อเยื่อต่างๆ ทุกกระเบียดนิ้วอาจติดเชื้อได้หมด ฯลฯ ฉะนั้นไม่ว่าจะคิดสร้างสรรค์วิธีแก้ไขอย่างไร ในที่สุดก็ไม่อาจรบกับข้าศึกที่มาแบบกองทัพนินจาจากทุกทิศทุกทางได้ไหว


๓) การบาดเจ็บฉับพลัน ชีวิตเราเกิดเรื่องที่ไม่อยากให้เกิดมากมาย และในบรรดาเรื่องที่ไม่อยากให้เกิดทั้งปวงก็ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงที่อาจเกิดบาดแผลร้ายแรงถึงชีวิตได้

แต่บางทีในคนๆเดียวก็คิดต่างกันได้เป็นตรงข้าม ปีก่อนอาจหวงชีวิตจะแย่ ปีนี้อาจอยากให้ชีวิตจบๆไปเดี๋ยวนี้ และนับวันก็มีคนด่วนคิดสั้นทำลายชีวิตของตัวเองทิ้งแบบปุบปับฉับพลันมากขึ้นเรื่อยๆเสียด้วย หากไม่วางแผนล่วงหน้าก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำร้ายร่างกายให้เกิดบาดแผลฉกรรจ์กะทันหัน

บาดแผลจากอุบัติเหตุกับบาดแผลจากการฆ่าตัวตายนั้นเหมือนกันอยู่อย่าง คือปลิดชีวิตคนๆหนึ่งลงได้ แต่เบื้องหลังที่ไม่เหมือนกันระหว่างบาดแผลทั้งสองชนิดก็คือเจตนาและความรู้ตัว ทุกอุบัติเหตุไม่มีเจตนาซุกซ่อนอยู่ในนั้น ส่วนการฆ่าตัวตายต้องอาศัยเจตนาอันเหี้ยมเกรียมกับตนเองเป็นอย่างยิ่ง และหลายครั้งความเหี้ยมเกรียมก็เกิดขึ้นจากความทุกข์ ความเครียด ความบีบคั้นเกินขีดที่จะทน ผู้ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะอมทุกข์จนซมซานมานานระยะหนึ่ง ก่อนถึงวูบมรณะที่เกิดแรงบันดาลให้กระทำอัตวินิบาตกรรมกะทันหัน น้อยรายที่ตระเตรียมแผนการไว้อย่างดีทั้งเวลา สถานที่ และวิธีตาย

ทั้งอุบัติเหตุและการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ยิ่งไปกว่านั้นรูปแบบการตายยังอาจเป็นได้ทั้งเฉียบพลันและสิ้นลมหายใจในเวลาต่อมา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผลและความแข็งแรงของร่างกาย

บาดแผลที่ทำให้เสียชีวิตโดยเฉียบพลันนั้นมักเกิดขึ้นกับสมอง ไขสันหลัง หัวใจ หรือหลอดเลือดสำคัญๆ หากพื้นที่สมองถูกทำลายไปมาก หรือเกิดการหลั่งเลือดมากเกินขีดที่เจ้าของบาดแผลจะทน เมื่อนั้นก็แปลว่ามฤตยูได้ไล่ตามเขาทันแล้ว

ส่วนบาดแผลที่ไม่ทำให้เสียชีวิตฉับพลันทันทีนั้น แบ่งเป็นการขาดใจในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับการขาดใจในระยะสั้นเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหวจะหมายถึงการตายในช่วงเวลาสองชั่วโมงแรกจากการได้รับบาดแผลและมีเลือดคั่ง เช่นที่ศีรษะ ปอด หรืออวัยวะภายในช่องท้อง แต่ถ้ายังไม่ถึงฆาต เป็นผู้เคยทำกรรมในทางเกื้อกูลผู้อื่นไว้ก่อน ก็จะได้พบกับบุคคลหรือทีมงานรักษาที่ฝึกฝนมาอย่างดี และ/หรือ ได้ห้องฉุกเฉินที่มีอุปกรณ์เพียงพอกับกรณีกู้ชีพหนึ่งๆ

ส่วนการขาดใจในระยะยาวหมายถึงผู้สามารถทนการบาดเจ็บได้หลายวันหรือหลายสัปดาห์ ที่ตายก็มักจะเพราะเกิดผลแทรกซ้อนเช่นการติดเชื้อและการล้มเหลวของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ ปอด ไต และตับ เหตุที่อวัยวะทำงานล้มเหลวก็เนื่องจากลำไส้ทะลุ ม้ามแตก ตับแตก หรือปอดบอบช้ำจนทำงานไม่ได้ตามปกติ หากปราศจากการผ่าตัดห้ามเลือดหรือซ่อมแซมอวัยวะที่เสียหาย ทูตแห่งความตายก็จะปรากฏในรูปของการเป็นไข้ ปริมาณเลือดในระบบไหลเวียนลดลงเพราะไปกระจุกรวมอยู่ในที่ไม่เหมาะ ติดเชื้อในวงกว้าง (เลือดเป็นพิษ) ซึ่งยิ่งนานเท่าไหร่ก็จะยิ่งดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆ

หากผู้ป่วยต้องจบชีวิตลงด้วยภาวะช็อกจากการติดเชื้อ ก็แปลว่าวาระสุดท้ายของเขาคืออาจต้องตายทรมาน แรกสุดจะมีไข้ ชีพจรเต้นเร็วและหายใจลำบาก หากไม่ได้รับยากล่อมประสาท ระดับความรู้สึกตัวจะเริ่มแปรปรวน หากทีมแพทย์ไม่สามารถหาต้นเหตุของการติดเชื้อได้ทัน หรือมีเครื่องไม้เครื่องมือกู้ชีพไม่ดีพอ เมื่อยื้อกันไม่ไหวก็เป็นอันสรุปว่าต้องคืนร่างให้กับธรรมชาติไป

(ข้อมูลการแพทย์จากหนังสือ How We Die ของนายแพทย์เชอร์วิน บี นูแลนด์ หนังสือแปลเป็นไทยชื่อ ?เราตายอย่างไร? โดยวเนช สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)



๔) การจากไปด้วยโรคชรา เราได้ยินกันเสมอว่าคนนั้นคนนี้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคชราที่ห้องไอซียู ความจริงก็คือมีเพียงคนตายเท่านั้นที่ทราบว่าขณะ ?ตายอย่างสงบด้วยโรคชรา? นั้นเป็นอย่างไร

การแก่ชรามักมากับความเสื่อมสภาพที่เห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า นอกจากนั้นกลไกภายในอันไม่ปรากฏต่อสายตาใครนั้น ก็ค่อยๆถึงซึ่งความเหือดแห้งลงทีละน้อย อย่างเช่นปริมาณเลือดที่ลดลง ไม่ว่าจะในเส้นเลือดแดงบางเส้นที่เข้าไปเลี้ยงสมอง หรือที่เข้าไปเลี้ยงหัวใจ เมื่อสมองและหัวใจต้องการปริมาณเลือดระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้เลือดเพียงพอต่อความต้องการ ก็เกิดผลบางอย่าง เช่นโรคลมปัจจุบัน (stroke) และโรคหัวใจ

คนชราที่มีความดันโลหิตสูงมานานๆนั้น จะมีผนังหลอดเลือดอ่อนแอ กระทั่งแตกหักและมีเลือดออกไปกดทับเนื้อสมอง นี่ก็เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่าเช่นกัน บางคนหลับแล้วไม่ได้ตื่นอีกเลย หรือที่เรียกว่าเป็นการจากไปอย่างสงบก็ด้วยเหตุนี้

ผู้ที่รู้ตัวว่ากำลังจะต้องจากไปบางคนรู้สึกเหมือนถูกความตายกัดกินทีละน้อย อาจเริ่มจากอาการทั่วไปเช่นมึนงง เป็นลม หรือเกิดความสับสนกระวนกระวาย นั่นเป็นเครื่องหมายว่าชีวิตถูกแทะไปอีกหนึ่งชิ้น กระทั่งส่วนที่เหลือของชีวิตคงอยู่น้อยลงเรื่อยๆ ร่างกายก็จะอ่อนเปลี้ย เดินช้าลง หลงลืมมากขึ้น ควบคุมอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะมือได้ยากขึ้น

มัจจุราชดูดพลังชีวิตและความกระตือรือร้นของเราก่อนจะเอาเราไปจริงๆเสมอ โดยเฉพาะคนชราที่ยอมเชื่อว่าเขาจะไม่เหลือพลังกายพลังใจอีกเลยในเร็ววัน ก็เหมือนจะหมดพลังทั้งปวงไปจริงๆ แต่อาจต้องนอนรอความตายอย่างไร้กำลังวังชานานพอๆกับช่วงเวลาที่เริ่มออกจากท้องแม่จนกระทั่งโตขึ้นเป็นวัยรุ่นหรือวัยทำงานได้เลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็แปลว่าการเสียชีวิตด้วยโรคชราของบางคนนั้น ไม่ใช่มีแค่ภาพตายอย่างสงบในห้องไอซียูให้ดู แต่ยังมีประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ตกเป็นเหยื่อของโรคชราเองด้วย คือต้องทนถูกกัดกร่อนวันละน้อยด้วยอาการทางจิตที่หดหู่สิ้นหวัง

เมื่อยอมเป็นคนชรา เราจะเริ่มคิดถึงแต่อดีตและเลิกมองไปในอนาคต อาจจะเลิกมองแม้กระทั่งนาทีนี้อันเป็นปัจจุบัน แต่ถ้าไม่ยอมเป็นคนชรา เราจะยังคงเป็นผู้รับข่าวสารของโลกวันนี้ได้ตลอดเวลา รวมทั้งทำกิจกรรมที่น่าสนุกหลายๆอย่างได้เสมอ

การมุ่งสู่หลักประหารบนเส้นทางแห่งโรคชราจึงมีความเป็นไปได้ทางประสบการณ์หลากหลาย ขึ้นอยู่กับพื้นหลังของแต่ละคน วินาทีแห่งการจบชีวิตอาจไม่สำคัญเท่ากับวันเดือนปีแห่งการเดินทางเข้าใกล้หลักกิโลสุดท้าย ถ้าปล่อยให้คิดถึงแต่อดีต ก็จะพบกับการตายที่หดหู่ยืดเยื้อ แต่ถ้าอยู่กับปัจจุบัน ก็จะเป็นผู้พบกับการตายที่สั้นแสนสั้นโดยไม่จำเป็นต้องรู้ตัวด้วยซ้ำว่าวันนั้นมาถึงแล้ว


๕) การดับขันธปรินิพพาน ดังที่กล่าวแต่ต้นบทแล้วว่านิยามของมรณะคือ ?ความเคลื่อนจากภาวะสัตว์อย่างหนึ่งไปสู่ภาวะสัตว์อีกอย่างหนึ่ง?

ที่ตรงนี้จะแสดงให้เห็นว่ายังมีสภาพที่ดูเผินๆเหมือนความตายทั่วไป แต่ที่แท้แล้วเป็นการ ?ยุติความเคลื่อน? ไม่มีการสร้างภพใหม่สืบต่อจากภพเดิมอีก ภาวะดังกล่าวเรียกว่า ?การดับขันธ์? ของผู้บริสุทธิ์จากกิเลสในพุทธศาสนา

สำหรับคำว่า ?ขันธ์? นั้นขอให้คิดง่ายๆว่ากายใจนี่แหละ แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่เรียกกายใจอย่างคนทั่วไป ทั้งนี้ก็เพราะท่านเห็นความจริงที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น ความจริงคือ ?ตัวเรา? ไม่มี มีแต่การประชุมกันขององค์ประกอบฝ่ายรูปและฝ่ายนาม ทั้งรูปและนามเป็นต่างหากจากกัน คือสรุปง่ายๆว่าสมองไม่ใช่แหล่งกำเนิดความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ ขณะเดียวกันจิตเราไม่อาจขาดสมองเป็นเครื่องมือในการนึกคิดและจดจำ

แท้จริงกายใจเป็นธรรมชาติที่เกิดดับอย่างมีเหตุมีผล เหตุคือใช้กายใจในปัจจุบันก่อกรรมดีร้ายเอาไว้ ผลคือจะมีกายใจในอนาคตที่หยาบหรือประณีตปรากฏขึ้นอย่างเหมาะสมกับกรรมเก่า ฉะนั้นทุกอย่างจึงเป็นของชั่วคราว กายไม่เที่ยง เปลี่ยนจากเด็กเป็นแก่ในชั่วเวลาไม่กี่สิบปี จิตก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่ดวงอมตะที่ล่องลอยไปเรื่อย เปลี่ยนสภาพจากกุศลเป็นอกุศลบ้าง เปลี่ยนสภาพจากรู้สิ่งหนึ่งไปรู้อีกสิ่งหนึ่งบ้างตลอดวันตลอดคืน

พูดอีกแบบหนึ่ง คือความจริงแล้วมีการดับของขันธ์อยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องไปทำให้มันดับมันก็ดับไปเรื่อยๆโดยไม่มีวันหยุดราชการ แต่การ ?ดับขันธปรินิพพาน? นั้นหมายความว่าเมื่อดับครั้งสุดท้ายแล้วไม่มีการเคลื่อน ไม่มีการสืบต่อภพ ไม่มีการสืบต่อกรรมวิบากใดๆอีก พูดโดยย่นย่อคือไม่ต้องเสวยทุกข์ด้วยอาการใดๆอีกเลยชั่วนิรันดร์ เพราะดับสนิทแล้ว ปราศจากภัยแล้ว ถึงนิพพานอันเป็นฝั่งแห่งการหยุดสนิทถาวรแล้ว

สรุปว่าถ้า ?ตายธรรมดา? ก็คือต้องไปเกิดใหม่เพื่ออยู่ในวังวนกิเลส เวียนว่ายอยู่ในมหาสมุทรกรรมวิบาก สุ่มดีสุ่มร้ายไม่แน่ไม่นอนต่อไปเรื่อยๆไร้ที่สิ้นสุด แต่ถ้า ?ดับขันธปรินิพพาน? ล่ะก็ไม่ต้องเกิดใหม่อีกแล้ว ลมหายใจดับ ไออุ่นดับ จิตดับไม่เหลือร่องรอยเหมือนเปลวไฟที่ดับแล้วไม่เหลือเชื้อให้ต่อเปลวใหม่ในที่ไหนๆอีก

ผู้ที่จะตายแบบดับขันธปรินิพพานได้ต้องบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเสียก่อน เพราะเงื่อนของการเกิดใหม่ก็คือกิเลสนั่นเอง รื้อถอนกิเลสเสียได้ ลอยบุญลอยบาปเสียได้ ก็บริสุทธิ์ปราศจากการข้องแวะกับภพชาติดีร้ายทั้งปวง

เมื่อบุคคลสามารถบริสุทธิ์จากกิเลส แม้ล่วงเข้าวัยชราที่กายเริ่มช้าลงเหมือนไม้ใกล้ฝั่งก็ตาม เขาย่อมมีความสุขทางใจอย่างถาวร แม้เกิดความทุกข์เพราะสังขารเปลี้ยเพลียเพียงใด ใจก็จะไม่เป็นทุกข์เพราะการกำเริบของกิเลสใดๆเลย

พุทธลีลาในการดับขันธปรินิพพานนั้นงดงามยิ่ง ในสายตาชาวโลกคือการเสด็จบรรทมหลับเป็นครั้งสุดท้ายของพระศาสดา แต่ในสายตาของผู้มีทิพยจักขุย่อมทราบชัดว่าไม่ใช่เช่นนั้นเลย ดังที่ภิกษุนาม ?อนุรุทธะ? เป็นผู้เห็นและระบุขณะแห่งจิตต่างๆของพระพุทธองค์เมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานได้อย่างละเอียด

ขอเล่าวาระแห่งการ ?ตายครั้งสุดท้าย? ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคโดยสังเขป พระพุทธองค์ท่านดำรงสติมั่นอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากการที่ทรงตรัสสั่งเสียไว้มากมาย เอาเพียงพระวจนะสุดท้ายก็ทรงความหมายที่สะท้อนถึงสติสัมปชัญญะอันบริบูรณ์แห่งพระบรมครูได้ชัดเจนยิ่งแล้ว


ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด


ในจังหวะที่จะละโลกนี้ไป พระองค์ยังถือเป็นโอกาสประทานพระปัจฉิมโอวาทเพื่อสะกิดใจผู้อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์สำคัญได้บังเกิดความสลดสังเวชในความมีความเป็น และเร่งเร้าให้พระผู้ยังมีกิจที่ต้องทำให้รีบทำจนกว่ากิจจะจบ

ถัดจากวจนะสุดท้ายแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงเข้าฌานชนิดต่างๆ ซึ่งมีปีติสุขชั้นสูงบ้าง มีสติอย่างใหญ่ทรงความเป็นอุเบกขาบ้าง มีความกำหนดหมายในอากาศว่างเป็นอนันต์เท่าจักรวาลบ้าง ตลอดไปจนกระทั่งเข้าถึงจิตอันสงบระงับจากการปรุงแต่งอย่างราบคาบบ้าง

ในการเข้าฌานลึกๆนั้น ลมหายใจจะขาดห้วงไปชั่วคราว ถ้าคนที่ปราศจากความชำนาญในทิพยจักขุเห็นเข้าก็ต้องนึกว่าท่านละขันธ์ไปแล้ว ดังเช่นที่พระภิกษุนาม ?อานนท์? ถามพระอนุรุทธะในขณะหนึ่งว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้วหรือ? ท่านพระอนุรุทธะได้ตอบว่ายัง แต่พระองค์ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่

เมื่อพระพุทธองค์ออกจากฌานขั้นสูงสุด ก็ได้ทรงถอยกลับมาสู่ฌานขั้นต่ำลงเรื่อยๆตามลำดับ จากนั้นไล่ลำดับฌานขึ้นไปอีกครั้ง แต่ไม่ถึงขั้นสูงสุด พอถึงฌานขั้นที่ทรงสติอย่างใหญ่เป็นมหาอุเบกขา แล้วถอนออกจากฌานนั้นก็ไม่เข้าฌานใดๆต่อ แต่ได้เสด็จปรินิพพานในบัดนั้นเอง

กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อให้เห็นว่ายังมีการตายอีกแบบหนึ่งที่สูงส่งยิ่ง และมีข้อสังเกตบางประการให้พิจารณาดังนี้


๑) ผู้บริสุทธิ์จากกิเลสย่อมมีสติบริบูรณ์แม้ในขณะแห่งความตาย

๒) ผู้บริสุทธิ์จากกิเลสย่อมสามารถรู้เวลาตายของพวกท่าน

๓) หากท่านเป็นผู้เจริญสมาธิได้ถึงฌานขั้นสูงสุด ก็ย่อมยังประโยชน์กับโลกเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการดับขันธปรินิพพานด้วยลีลาอันเป็นมหามงคล เป็นที่บอกเล่ากันในภายหลังได้ว่าพระผู้บริสุทธิ์จากกิเลสย่อมตายในอาการเสวยวิมุตติสุข ไม่มีความทุกข์ใดๆปรากฏให้เห็นเลย


ความจริงการเข้าฌานแล้วถอนออกมาดับขันธปรินิพพานนั้น จะมีการคายพลังอันเป็นอัครมหากุศลออกมาท่วมโลก ตามกฎการแปรรูปจากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่งเสมอ ไม่มีสิ่งใดดับสูญโดยปราศจากผลลัพธ์ตกค้าง และผลลัพธ์ในกรณีนี้ก็จะปรากฏแก่ใจผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระผู้มีพระภาคอย่างล้นพ้น กล่าวคือถ้าผู้ใดหมั่นระลึกถึงบุญคุณของพระพุทธองค์เสมอๆ แม้เพียงด้วยการสวดมนต์กราบไหว้พระปฏิมาอันเป็นรูปแทนพระองค์ ชีวิตของผู้นั้นจะสว่างไสว อยู่เป็นสุขกับสัมผัสใน ?พลังพุทธคุณ? อันบริสุทธิ์ยิ่งใหญ่เกินเปรียบประมาณ

ว่ากันว่าหลังจากมีการประกาศการดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ยังความขนพองสยองเกล้าให้เกิดขึ้น และแม้กาลเวลาผ่านล่วงไปแล้วเกือบสามพันปี ผู้สดับตรับฟังถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ยังขนลุกกันอยู่มิรู้หาย แต่การเสด็จจากไปของพระผู้มีพระภาคก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้พวกเราเห็นว่าผลงานอาจยืดอายุมนุษย์สักคนให้ยืนยาวเป็นที่รู้จักได้หลายพันปี ดังเช่นชาวพุทธเรายังระลึกกันเสมอ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ธรรมที่เราแสดงและวินัยที่เราบัญญัติไว้แล้ว จักเป็นศาสดาของพวกเธอต่อไป ตราบใดที่ยังมีการเรียนรู้ จดจำ และเผยแผ่พระสัทธรรม กับทั้งมีภิกษุช่วยกันรักษาวินัยของพระพุทธองค์ ตราบนั้นก็เสมือนหนึ่งว่าพระศาสดายังไม่ล่วงลับดับขันธ์ไปแต่อย่างใด เพียงพระองค์อยู่ไกลเกินกว่าที่เราจะเข้าเฝ้าด้วยกายเนื้อนี้เท่านั้น


cmman573

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๗ - สัจจะเกี่ยวกับความตาย(1)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 25 กันยายน 2008, 14:44:48 »

ความตาย เป็นสิ่งที่เรากลัว จาดีชั่วล้วนอยู่ที่ตัวเรา สาธุ

shinpe uhah

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๗ - สัจจะเกี่ยวกับความตาย(1)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 21 เมษายน 2009, 19:07:04 »

การกระทำทุกอย่างของมนุษย์ย่อมมีผลทั้งดีและร้ายครับ ถ้าสร้างกรรมดีไว้เยอะก็จะตายแบบไม่ทุรนทุรายแต่ถ้าทำกรรมชั่วเยอะอย่างฆ่าคนตายก็ต้องโดนไล่ฆ่าเหมือนกันมันเป็นกฎแห่งกรรมจริงๆแหละครับ ขอบคุณครับ