-->

ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ ๗ - สัจจะเกี่ยวกับความตาย(2)  (อ่าน 859 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

chon

  • บุคคลทั่วไป
บทที่ ๗ - สัจจะเกี่ยวกับความตาย(2)
« เมื่อ: 25 กันยายน 2008, 14:40:01 »

ประสบการณ์เฉียดตาย
ในหัวข้อก่อนเป็นการกล่าวถึงความตายจากมุมมองภายนอก เราเห็นคนตายด้วยวิธีต่างๆ รับรู้ว่ามีการตายดี มีการตายร้าย มีการตายอย่างสงบ มีการตายอย่างทรมาน รวมทั้งอาจทราบแน่นอนด้วยวิธีทางการแพทย์ว่าเขาตายอย่างไร สาเหตุจากอวัยวะส่วนใดหยุดทำงาน ซึ่งก็คงเป็นทำนองเดียวกับการเห็นคนอื่นนั่งรับประทานอาหารสูตรใหม่ที่ไม่เคยมีใครลิ้มลองมาก่อน หากเราเห็นเขาเคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย สายตาจับจ้องอาหารในจานอย่างพึงใจ ไม่เล็งแลไปทางอื่น ก็คงพอประมาณได้ว่ารสชาติน่าจะเปรี้ยวหวานมันเค็มดุเด็ดเผ็ดมันสักปานใด

แต่หัวข้อนี้จะพูดถึงประสบการณ์อันเป็นภายใน เป็นมุมมองของบุรุษที่หนึ่ง เป็นการสัมผัสความตายด้วยตนเองโดยไม่ต้องฟังคนอื่นพูดว่าดีหรือไม่ดีแค่ไหน อึดอัดหรือปลอดโปร่งปานใด เปรียบกับการได้ลงนั่งรับประทานอาหารสูตรใหม่ สัมผัสอาหารด้วยลิ้นของตนเอง เพื่อรับทราบว่ารสอร่อยหรือไม่อร่อยนั้นเป็นอย่างไร เปรี้ยวหวานมันเค็ม เย็นร้อนอ่อนแข็งแบบไหน


ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการ ?ตายจริง? กับ ?ตายตามการวินิจฉัยของแพทย์? (Clinical Death) นั้นอาจแตกต่างกันได้ กล่าวคือตายตามการวินิจฉัยของแพทย์หมายถึงภาวะที่บุคคลไม่อาจฟื้นคืนกลับมามีชีวิตอีกด้วยวิธีทางการแพทย์ใดๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือการยุติการทำงานอย่างถาวรโดยไม่อาจหวนกลับมาทำงานใหม่ได้อีกเลย

การแพทย์ไม่พูดเรื่องปาฏิหาริย์ เพราะฉะนั้นถ้าแค่คลื่นสมองเรียบสนิทก็ถือว่าเป็นการตายตามการวินิจฉัยของแพทย์ได้แล้ว แพทย์จะไม่มีความผิดใดๆหากลงความเห็นว่าตาย แต่ศพกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่

ความจริงก็คือมีผู้กลับมาจากความตายตามการวินิจฉัยของแพทย์มากราย และนั่นเองเป็นที่มาของเรื่องราวประสบการณ์หลังความตาย แท้จริงแล้วถ้าดูตามนิยามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เกี่ยวกับมรณะ คนเหล่านั้นก็ยังมิได้ตายจริง เพราะยังไม่ขาดสมาชิกภาพในหมู่สัตว์เดิมไปเป็นสมาชิกใหม่ในหมู่สัตว์อื่นอย่างถาวร

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เฉียดตายนั้น อาจได้รับประสบการณ์ขณะใกล้ตายจริงๆ ขาดไปเพียงการเคลื่อนเข้าสู่ความเป็นสัตว์อื่นอย่างถาวรเท่านั้น

ประสบการณ์ใกล้ตายไม่ถึงขนาดเป็นเรื่องลี้ลับ และคนมีประสบการณ์ ?ผ่านความตายวูบเดียว? ในโลกนี้ก็ไม่ได้หายากอย่างที่คิด โดยเฉพาะในห้องผ่าตัดฉุกเฉิน เหล่ามนุษย์จำนวนหนึ่งพบกับสิ่งที่ไม่เคยพบมาก่อนตลอดทั้งชีวิต และมีผลสะเทือนให้เกิดมุมมองและพฤติกรรมที่แตกต่างอย่างใหญ่หลวง คือโดยมากจะหันมาศรัทธาคำสอนเกี่ยวกับเรื่องชาติหน้าในศาสนาของตน และยึดหลักปฏิบัติตนเพื่อสร้างทางสู่สรวงสวรรค์ตามอุดมคติที่ตนเลื่อมใส

ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า ?ตายจริง? ทางการแพทย์และกลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งหนึ่ง มักกลับมาเล่าว่าเกิดประสบการณ์คล้ายคลึงกัน พอสรุปได้เป็นข้อๆคือ

๑) ความทุกข์และความอึดอัดกระสับกระส่ายแปรเป็นความรู้สึกสงบและดื่มด่ำเป็นล้นพ้น

๒) เมื่อขาดจากความรู้สึกหยาบๆ เหมือนมีอีกร่างที่โปร่งบางหลุดลอยออกจากกายเนื้อ โดยมีสายใยสีเงินโยงเชื่อมอยู่ระหว่างนั้น

๓) เข้าไปสู่อุโมงค์มืดแห่งหนึ่งซึ่งมีแสงสว่างอยู่ที่ปลายทาง

๔) แล่นเข้าหาแสงสว่าง โดยมีความรู้สึกประดุจแสงสว่างเป็นแม่เหล็กดึงดูดตนเข้าไป

๕) พบผู้ที่อยู่ในแสงสว่าง โดยมากจะเป็นญาติมิตรที่ตายไปแล้ว หรือบุคคลที่ตนเคารพเป็นพิเศษเมื่อครั้งมีชีวิตปกติ

๖) พบสถานที่ที่แตกต่างจากโลกใบเดิม อาจจะสวยงามขึ้นหรือน่าเกลียดน่ากลัวกว่าทุกแห่งที่เคยเห็นมาก่อน

๗) พบกับสิ่งกีดขวาง บางทีเป็นการห้ามเข้า บางทีเป็นการบอกว่ายังไม่ถึงเวลา บางทีบอกว่าให้เลือกระหว่างเข้าสู่โลกใหม่กับกลับไปสู่โลกเก่า

๘) การกลับสู่ร่างเดิม โดยมากเหมือนถูกอุโมงค์ที่มีพลังดึงดูดด้วยความเร็วสูงกลับมาเข้ากายเนื้อ

๙) ปาฏิหาริย์หลังกลับเข้าร่าง ไม่ว่าจะเคยเชื่อแนวศาสนาไหนมาก่อน ประสบการณ์ทดลองตายจะก่อให้เกิดศรัทธาอย่างใหญ่หลวง หลายคนกลายเป็นผู้มีความสามารถทางจิต หรือกระทั่งอ้างว่าติดต่อกับเทพได้


อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เฉียดปากประตูมรณาไม่ได้มีประสบการณ์ตรงกัน แม้แต่ผู้ป่วยในห้องผ่าตัดใหญ่ซึ่งดมยาสลบเหมือนๆกันก็ไม่ได้รู้สึกว่าจิตลอยจากร่างด้วยกันทุกคน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่ยากจะตัดสินว่าใครประสาทหลอน หรือว่าใครไปรู้เห็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆในมิติอื่นมา และความแตกต่างนี่เองที่ทำให้ผู้มีแนวโน้มไม่เชื่อเรื่องโลกหน้า ได้กล้ายืนยันหนักแน่นขึ้นว่าทั้งหลายทั้งปวงที่ประสบพบเห็นกันล้วนเป็นเรื่องเหลวไหล เป็นเรื่องอาการทางจิตของคนไม่อยู่ในภาวะปกติ อย่างเช่นที่มีนักวิทยาศาสตร์หลายรายเสนอว่าประสบการณ์พิสดารพันลึกขณะเฉียดตายเป็นเพียงการทำงานของสมองส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้เท่านั้น

เคยมีผู้หญิงคนหนึ่งได้รับเสียงเตือนจากประสบการณ์เฉียดตายว่าโลกใหม่ที่เธอกำลังรับรู้เป็นเพียงนิมิตลวงใจ นั่นยิ่งเป็นข้อสนับสนุนแก่นักวิทยาศาสตร์ที่มีแนวโน้มจะเชื่อเช่นนั้นอยู่ก่อนหน้า

ยิ่งไปกว่านั้น การพบกับแสงสว่างที่สดใสและนุ่มนวลแปลกประหลาดไปกว่าแสงทั้งหมดที่เคยเห็นมา สำหรับนักวิทยาศาสตร์บางคนที่มีความรู้เกี่ยวกับสมองมากๆก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะเป็นที่ทราบกันว่าหากกระตุ้นบริเวณ Hippocampus, Amygdala และ Inferior Temporal Lobe ก็สามารถทำให้เกิดการเห็นแสงสว่างเช่นนี้เช่นกัน

สรุปคือไม่ใช่ตายแล้วกลับมาเล่าอะไรเลิศลอยจะกลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับนักวิทยาศาสตร์เสมอไป เกือบทุกข้อถูกปัดตกด้วยคำอธิบายเกี่ยวกับความรู้ทางสมองได้อย่างมีหลักเกณฑ์ไปเสียทั้งนั้น

แต่เหตุผลที่ผู้ผ่านประสบการณ์เฉียดตายส่วนใหญ่จะไม่เชื่อว่าเป็นเพียงความฝัน ก็เพราะโลกในอีกมิติหนึ่งที่ปราศจากร่างกายห่อหุ้มนั้น ชัดยิ่งกว่าชัด จริงยิ่งกว่าจริงยามรู้สึกลืมตาตื่นอยู่ในโลกมนุษย์มากนัก ความทรงจำทั้งหมดเหมือนปรากฏให้เลือกระลึกอย่างปราศจากขีดจำกัด อยากนึกถึงเรื่องไหนก็นึกออกตลอดสาย

อีกประการหนึ่งที่เป็นเสมือนหลักฐานอันแน่นหนา คือถ้าสมองเป็นทั้งหมดของประสบการณ์ เหตุใดผู้ป่วยหนักในห้องไอซียูที่ดมยาสลบเพื่อผ่าตัดบางรายจึงเกิดอาการประสาทหลอนได้แจ่มชัดนัก แถมยังจดจำเรื่องราวในนิมิตต่างๆได้อย่างแม่นยำตลอดสายอีกต่างหาก

สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการข้อมูลสรุปเกี่ยวกับภาวะเฉียดตาย มักอาศัยประสบการณ์ของผู้ป่วยที่ถูกวางยาสลบนี่เอง แผนการทดลองโดยมากจะเป็นการสืบหารายที่อ้างว่าวิญญาณลอยจากร่างขึ้นสูงและเห็นความเป็นไปในห้องผ่าตัด ได้ยินเสียงคนคุยเรื่องใดกันบ้าง หากกลุ่มตัวอย่างสามารถบอกรายละเอียดภายในห้องผ่าตัดได้ถูก ก็จำเป็นต้องยอมรับว่ามีอะไรอย่างหนึ่ง ?ลอยออกไปจากร่าง? จริงๆ


ความต่างระหว่างบังเอิญกับจงใจเฉียดตาย
คนส่วนใหญ่มีมุมมองว่าภาวะเฉียดตายหมายถึงการที่จิตวิญญาณเป็นอิสระจากกายเนื้อ เพราะถ้าวิญญาณออกจากร่างได้ก็จะเกิดประสบการณ์ เกิดมุมมองที่แตกต่างไปจากเคยแทบสิ้นเชิง เช่นบางรายมีความสามารถรู้เห็นรอบด้านในคราวเดียวซึ่งเป็นไปไม่ได้ด้วยประสาทตาของมนุษย์ บางรายได้ยินเสียงในอีกแบบหนึ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนด้วยประสาทหูของมนุษย์ พูดง่ายๆคือเรามองว่าการแยกจิตไปรับรู้อีกภาวะมิติหนึ่งเป็นการอยู่ในโลกหน้า


ถึงปัจจุบันการ ?บังเอิญเฉียดตาย? ยังมิใช่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แจ่มชัดพอ แม้จะมีสถาบันซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อค้นคว้าและวิจัยประสบการณ์เฉียดตายระดับนานาชาติจำนวนมาก รูปแบบการพิสูจน์ก็ยังไม่ชัดเจนนัก ราวกับว่าถ้าอยากเปิดเผยเรื่องโลกหลังความตายกันจริงๆ ก็ต้องเหนื่อยยากงัดข้อกับธรรมชาติมากหน่อย เพราะดั้งเดิมเหมือนธรรมชาติไม่เต็มใจให้เรารับรู้เรื่องนอกเหนือจากชาติปัจจุบันเท่าใดนัก หากรู้และตระหนักกันมากๆก็อาจจะตระหนก แล้วหันมาทำแต่ความดีกัน ดินแดนสวรรค์ก็จะผุดขึ้นเกินพื้นที่ในนรก ผิดหลัก ?ของดีมีน้อย? ไป

นักวิทยาศาสตร์ที่มีความโน้มเอียงจะเชื่อเรื่องโลกหน้า จะเน้นการนำเสนอข้อมูลวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าจิตกับกายแยกกันได้จริง สมองไม่ใช่แหล่งผลิตความรู้สึกนึกคิดทั้งหมด นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่ามีหลักฐานชี้ขาดเพียงเท่านี้ก็พอแล้วสำหรับการยืนยันความเชื่อของตน

แต่นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความโน้มเอียงจะปฏิเสธเรื่องโลกหน้า จะเน้นการนำเสนอแบบหักล้างทุกประเด็นที่ชี้ว่าจิตกับกายสามารถแยกจากกัน มีรายละเอียดเชิงเทคนิคที่เหมือนอธิบายได้หมด กล่าวโดยสรุปคือนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่าการรู้เห็นอีกมิติหนึ่งเป็นการทำงานอันผิดปกติของสมองล้วนๆ

ดังนั้นแทนที่จะไปรอผลวิจัยจากการบังเอิญเฉียดตาย จึงมีการระดมความคิดจากนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่ง ว่าทำอย่างไรจะ ?จงใจเฉียดตาย? ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

เคยมีทฤษฎีแปลกๆที่ยังเป็นไปไม่ได้ในความจริง แต่นำเสนอในรูปของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด คือสร้างปัจจัยของความตายขึ้น โดยใช้ทั้งยา ทั้งการลดอุณหภูมิในร่าง และทั้งการช็อกด้วยไฟฟ้า เพื่อทำให้หัวใจหยุดเต้นและคลื่นสมองเรียบลง ซึ่งทางแพทย์ถือว่าตายสนิท ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นถือว่าเป็นการสัมผัสโลกหลังความตายอันเชื่อถือได้ จากนั้นจึงใช้เทคนิคกู้ชีพตามปกติหลังจากเวลาผ่านไปสักสองสามนาที ซึ่งเป็นระยะที่สมองยังไม่ขาดออกซิเย่นจนเกิดความเสียหาย

แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันทำได้จริงคือกระตุ้นอย่างแรงที่บริเวณ Temporal Lobe  ของสมองด้วยไฟฟ้า จะทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีร่างอีกส่วนหนึ่งแยกออกไปจากร่างเดิม ล่องลอยอยู่ข้างบนระดับเพดาน และมองจ้องดูเหตุการณ์ข้างล่างอยู่ แต่ประสบการณ์ชนิดนี้ก็ไม่ทำให้ได้ข้อสรุปว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เนื่องจากการที่จิตลอยขึ้นไปดูเหตุการณ์ชั่วคราวก็ยังรู้เห็นแคบจำกัดอยู่ในมิติเดิมๆ และอีกอย่างหนึ่ง Temporal Lobe ก็เป็นส่วนของสมองที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างภาพในฝันเสียด้วย

การเอาสมองมาเป็นตัวตั้ง หรือเป็นตัวตัดสินเรื่องประสบการณ์ข้ามมิติจึงไม่ทำให้เกิดข้อสรุป แต่จะก่อให้เกิดข้อกังขาวนเวียนอยู่ในขอบเขตของสมอง เป็นประเด็นถกเถียงที่ไม่รู้จบสำหรับมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อและไม่เชื่อ

แต่หากเป็นพุทธศาสนิกชนที่โน้มเอียงไปทางจิตนิยม มีความรู้ มีความสามารถปฏิบัติธรรมจนเกิดสมาธิถึงระดับฌาน ก็จะยืนยันตามที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับเรื่องของการถอดจิตไว้แล้วคือ


เปรียบเสมือนบุรุษจะพึงชักดาบออกจากฝัก เขาเพียงคิดว่าดาบก็ส่วนหนึ่ง ฝักก็อีกส่วนหนึ่ง จึงสามารถชักดาบออกจากฝักได้ ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากกิเลสจร อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวแล้ว เธอย่อมสามารถโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง


หากเป็นผู้สามารถถอดจิตได้จริง ถอดได้หลายๆครั้ง ความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องแยกกายแยกจิตจะหายไปอย่างเด็ดขาด และประสบการณ์ขณะถอดจิตได้ย่อมบอกเราเองว่า ?มิติอื่น? มีหรือไม่ ถ้ามีมีอย่างไร เหมือนหรือต่างจากโลกเดิมแค่ไหน

ความต่างระหว่างผู้สามารถถอดจิตได้มีอยู่มาก ส่วนใหญ่เมื่อถอดออกสำเร็จเป็นครั้งแรกๆจะวนเวียนรู้เห็นอยู่ในโลกวัตถุเดิมๆนี่เอง พิสูจน์ได้ชัดจากการเข้าไปรู้เห็นสิ่งที่พวกเขารับรู้ว่ามีอยู่จริงอยู่แล้ว รวมทั้งรู้เห็นสิ่งที่เขายังไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ตื่นขึ้นไปดูสถานที่จริงก็พบว่ามิใช่ของหลอก สำคัญกว่านั้นคือความรับรู้ขณะถอดจิตจะชัดกว่าเมื่อครั้งลืมตาตื่นด้วยกายเนื้อ กับทั้งสามารถเห็นสิ่งต่างๆที่ตาเนื้อไม่สามารถเห็นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นรัศมีจากจิตวิญญาณของผู้คน ตลอดไปจนกระทั่งจิตวิญญาณในภพภูมิอื่นที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ผู้ถอดจิตได้เป็นปกติย่อมมีความรู้เหนือมนุษย์ เช่นทราบชัดว่าการถอดจิตมิใช่ประสบการณ์เฉียดตาย แต่เห็นเป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นขณะถอดจิตคือการมีสติรู้ว่า ?รูปอันเกิดแต่ใจ? นั้นถูกนิรมิตขึ้น และย่างก้าวเข้าไปสู่มิติที่ละเอียดกว่าโลกหยาบ โดยขณะนั้นหัวใจมิได้หยุดเต้น และคลื่นสมองก็มิได้เป็นเส้นเรียบแต่อย่างใด สิ่งที่อาจแตกต่างไปบ้างก็เช่นลมหายใจสงบลงชั่วคราว โดยร่างกายทำตัวเป็นแท่งดูดพลังปราณจากรอบด้านเข้ามาหล่อเลี้ยงชีวิตไว้

เมื่อมีมุมมองที่ชัดเจนว่าประสบการณ์วิญญาณหลุดจากร่างไม่จำเป็นต้องหมายถึงประสบการณ์เฉียดตาย ขั้นต่อไปคงหายสับสนเมื่อกล่าวถึงประสบการณ์เมื่อจะต้องตายจริงๆ


ประสบการณ์ตายจริง
ในเมื่อคนเราตายจริงได้ครั้งเดียว นอกนั้นเป็นข้อกังขาเกี่ยวกับสมอง หรือไม่ก็เป็นเพียงการถอดจิตด้วยพลังฌาน อย่างนี้มิแปลว่าคนเราไม่มีสิทธิ์ล่วงรู้ความจริงเกี่ยวกับประสบการณ์ขณะตายจริงบ้างเลยหรือ? คำตอบคือมี! คือต้องเป็นผู้ที่ฝึกวิชา ?รู้ตามจริง? แบบพุทธศาสนามาอย่างโชกโชน คือเห็นกายเห็นจิตที่แสดงการเกิดดับอยู่ตลอดเวลานี้ให้ชัด กระทั่งมีความเป็นกลาง มีสมาธิตั้งมั่นผ่องแผ้วปราศจากอคติ และเป็นอิสระจากการปรุงแต่งทางสมองใดๆ

จากนั้นย่อมสามารถโน้มน้อมไปกำหนดรู้ภาวะทางจิตของผู้อื่น เปรียบเทียบเห็นได้ชัดว่าแท้จริงก็เหมือนของตน คือมีสภาวจิตใดๆเกิดขึ้นด้วยเหตุ สภาวจิตนั้นๆย่อมต้องดับลงเป็นธรรมดาเมื่อกำลังส่งของเหตุสิ้นสุด

ผู้ฝึกวิชา ?รู้ตามจริง? ในพุทธศาสนาย่อมเห็นว่าทั้งตนเองและใครๆวนเวียนอยู่ในการเกิดสภาพจิตเพียงไม่กี่ชนิด เช่นจิตมีราคะแล้วแปรเป็นจิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะแล้วแปรเป็นจิตไม่มีโทสะ จิตมีความหลงแล้วแปรเป็นจิตไม่มีความหลง จิตหดหู่แล้วแปรเป็นจิตตื่นเต็มสดใส จิตฟุ้งซ่านแล้วแปรเป็นจิตสงบ

ที่เกิดสภาพจิตหนึ่งๆก็เพราะมีเหตุ เช่นจิตมีราคะก็เพราะโดนรูปหรือเสียงกระทบก่อน มีความตรึกนึกถึงรูปหรือเสียงในทางที่น่ายินดี แต่พอรูปหรือเสียงหายไป หมดอาการตรึกนึกถึงรูปหรือเสียงในทางน่ายินดี เช่นเพียงมีสติรู้ว่าราคะเกิดขึ้นในจิตและไม่ยินดีตรึกนึกในทางกามต่อ ราคะก็จะหายไปเองเพราะหมดแรงส่งจากเหตุเก่า

นอกจากนั้นแล้ว ผู้ฝึกวิชา ?รู้ตามจริง? ในพุทธศาสนายังสามารถเห็นแจ้งว่าทั้งตนและทั้งใครต่อใคร ต่างก็มีสภาพของจิตอยู่หลักๆคือ ?รู้อะไรอย่างหนึ่ง? กับพักอยู่ในอาการ ?ไม่รู้อะไรเลย? และในอาการไม่รู้อะไรเลยนั้นก็ใช่ว่าจิตจะดับไปแต่อย่างใด ทว่าอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมจะยกขึ้นสู่การรับรู้ใหม่เมื่อมีอะไรมากระตุ้น

ขอจำแนกความรู้ประการหลังนี้ให้ชัดเจน คือ

๑) ภาวะรับรู้ผัสสะกระทบได้ คือสภาพที่ปรากฏเมื่อตาประจวบรูป หูประจวบเสียง จมูกประจวบกลิ่น ลิ้นประจวบรส กายประจวบสัมผัส และใจประจวบความนึกคิด แล้วเกิดสภาพรู้ชัดเข้าไปในสิ่งกระทบนั้นๆ เช่นอยู่ๆเรานึกได้ขึ้นมาว่าวันนี้ต้องไปหาหมอตามนัด ตรงนั้นคือมีความจำเข้ามากระทบจิตเราแล้ว เป็นผัสสะภายในชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว

๒) ภาวะที่จิตไม่รับรู้ผัสสะใดๆ คือสภาพที่ปรากฏหมดการรับรู้จากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความนึกคิดใดๆ เรียกเป็นศัพท์เฉพาะว่า ?ภวังคจิต? ยกตัวอย่างง่ายที่สุดคือคนสลบเหมือดจากการโดนของแข็งกระทบศีรษะ หรือขณะที่เรากำลังอยู่ในภาวะหดหู่มึนซึมจนไม่รู้สึกตัวแม้อยู่ที่ไหนและกำลังทำอะไร แต่แม้จะไม่รับรู้ผัสสะกระทบใดๆ ภวังคจิตก็ยังทำงานตามธรรมชาติของมันอยู่ตลอดเวลา


ภาวะในแบบข้อ ๒ นี่แหละที่น่าสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายโดยตรง

เมื่อผู้ฝึกวิชา ?รู้ตามจริง? ในพุทธศาสนาน้อมระลึกชาติอันเป็นอดีตของตน ซึ่งมีการเกิดตายมานับครั้งไม่ถ้วน ประกอบกับการอาศัยทิพยจักขุส่องดูสัตว์โลกที่กำลังเกิดตายกันอย่างครึกโครมอยู่ทุกวินาที (ปัจจุบันคือเกิดวินาทีละ ๔ และตายวินาทีละ ๒) ก็ย่อมทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประสบการณ์ใกล้ตายได้อย่างกว้างขวางพิสดาร คือเห็นว่าจะกี่คนๆ ก็ตายและเกิดด้วยสภาพของภวังคจิตด้วยกันทั้งสิ้น

พระพุทธเจ้าบัญญัติเรียกจิตขณะแรกสุดของการเกิดว่า ?ปฐมวิญญาณ? แต่สาวกในชั้นหลังเรียกว่า ?ปฏิสนธิจิต? ส่วนจิตขณะท้ายที่สุดของชีวิตเรียกว่า ?จุติจิต?

ดังที่กล่าวแล้วว่าภวังคจิตนั้น แม้ไม่รับรู้ ก็ยังมีการทำงาน ฉะนั้นถึงเราจะไม่คิดอ่านกระทำการใดๆ ไม่ปรารถนาจะให้สิ่งใดเกิดขึ้นในขณะแห่งปฏิสนธิจิตและจุติจิต ก็จะต้องมีบางสิ่งดำเนินไปอยู่ตลอดเวลาตามกลไกธรรมชาติวันยังค่ำ จะมาบอกว่าฉันไม่เชื่อเรื่องการเกิดใหม่ จึงไม่ต้องไปเกิดใหม่ อย่างนี้จุติจิตเขาไม่รับรู้ ไม่ยกประโยชน์ให้ตามความเชื่อนั้นๆเลย

ถามว่าจุติจิตทำงานตามการกระตุ้นของอะไร? ต้องตอบว่าก่อนหน้านั้นจะเกิดนิมิตหมายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ได้แก่

๑) การทบทวนกรรม คือการที่จิตหวนระลึกได้ว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง โดยเฉพาะที่หมั่นทำเป็นประจำจนเคยชิน ทำให้จิตเกิดความเศร้าโศกกับบาปกรรม หรือทำให้จิตเกิดโสมนัสกับบุญกุศล ภาวะการทบทวนกรรมนั้นเกิดขึ้นทางใจอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เห็นด้วยตา ไม่ได้ยินด้วยหู และไม่สัมผัสด้วยประสาทหยาบอื่นๆ

มักมีข้อกังขาว่าคนตายบางคนทำไมยังวนเวียนอยู่กับที่เดิม หรือมาหาญาติที่บ้าน หรือสิงสถิตอยู่ตามที่ที่เคยคุ้นสมัยยังเป็นคน ความจริงวิญญาณเหล่านี้ก็อยู่ในภพๆหนึ่ง แต่ก่อนตายนั้นจิตหน่วงเอาความกังวล หน่วงเอาความผูกพันกับบุคคลไว้เป็นเรือนตาย เข้าข่ายนิมิตหมายการทบทวนกรรมนี่เอง พอจุติจิตปรากฏ เขาจะรู้สึกเหมือนทุกอย่างวูบหายไปชั่วขณะ แล้วเกิดจิตในภพใหม่ที่ยึดสภาพของความเป็นคนเดิมไว้ คือมีความทรงจำ มีความผูกพัน มีความปรารถนาจะทำอะไรแบบเดิมๆอยู่อีก


๒) กรรมนิมิต ได้แก่เครื่องหมายหรืออุปกรณ์ในการกระทำกรรม เช่นถ้าเคยฆ่าสัตว์มามากๆก็อาจเห็นสัตว์กรูมาทวงชีวิต หรืออาจเห็นปืนผาหน้าไม้ที่เคยใช้สังหารสัตว์ก็ได้ กรรมนิมิตนี้อาจมาให้เห็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจก็ได้ โดยมากจะเกิดทางตา ทางหู และทางใจ ส่วนน้อยจะเกิดขึ้นที่อื่น เช่นบางคนเคยยัดเยียดอาหารขมๆให้พ่อแม่ในช่วงที่พ่อแม่ช่วยตัวเองไม่ได้ ทั้งที่สามารถหาอาหารได้ดีกว่านั้น แต่มีเจตนาประหยัด หรือให้อย่างเสียไม่ได้ ให้อย่างคิดว่าเมื่อไหร่จะตายพ้นๆไปเสียที อย่างนี้อาจมีรสขมจัดที่สุดแสนจะกล้ำกลืนเกิดขึ้นที่ลิ้นได้เหมือนกัน (แต่ถ้ายากจนจริงๆซื้ออาหารไม่ค่อยดี ก็ถือว่าทำดีที่สุดแล้วตามฐานะ อย่างนี้ไม่เป็นบาป แต่เป็นบุญ)


๓) คตินิมิต ได้แก่เครื่องหมายหรือสภาพแวดล้อมของคติหรือภพที่จะไปเกิด ถ้าเป็นคตินิมิตที่จะนำไปสู่สุคติ ก็จะปรากฏเป็นปราสาทราชวัง วิมานสถาน หรือความสว่างแห่งท้องฟ้าที่นุ่มนวลลออตา มีแต่ความเย็นรื่นน่าพิศวงอย่างประหลาดล้ำ สำหรับคตินิมิตนี้เกิดขึ้นได้ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หมายความว่าทั้งลืมตาอยู่ก็อาจเห็นยมทูตมายืนอยู่ข้างๆญาติ อันนี้ไม่ได้เป็นการตาฝาด แต่เป็นการปรุงแต่งของจิตใกล้วาระสุดท้ายที่ทำให้เห็นไปตามอำนาจกรรมบันดาล

สำหรับพวกใกล้ตายที่เห็นคตินิมิตนั้น ตัวของนิมิตจะปรากฏเสมือนแม่เหล็กที่มีพลังดึงดูด และจิตจะหนีแรงดึงดูดนั้นไปไหนไม่ได้ เช่นถ้าตาเห็นไก่ หูได้ยินเสียงไก่ขัน หรือเกิดนิมิตรูปไก่ขึ้นทางใจ ก็จะต้องไปเกิดเป็นไก่ตามนั้น พูดง่ายๆว่าเห็นอะไรก็เคลื่อนเข้าไปสู่ความเป็นเช่นนั้นโดยไม่มีสิ่งใดมาคั่นขวางได้


ความจริงประการหนึ่งของคนที่ชีวิตใกล้ดับคือจะมีการทบทวนอดีตที่ผ่านมาเป็นฉากๆอย่างรวดเร็วน่าอัศจรรย์ ขอให้ทราบว่าในขั้นของการทบทวนนั้นมิใช่นิมิตหมายอันจะเป็นที่ไป นิมิตหมายอันจะเป็นที่ไปนั้นเกิดขึ้นเพียงหนึ่งเดียว เป็นแรงดึงดูดจิตให้มุ่งไปตามทิศนั้นๆ

อาจมีข้อสงสัยว่าอะไรเป็นตัวสร้างนิมิตหมายขึ้นมา พระสาวกผู้ปฏิบัติชอบก็ตอบว่า ?กรรม? นั่นแหละเป็นผู้ตัดสินว่าเราจะได้เจอกับนิมิตหมายแบบไหน เรียงตามลำดับความหนักเบาดังนี้


๑) ครุกรรม

ครุแปลว่าหนัก ฉะนั้นครุกรรมจึงหมายถึงกรรมหนัก ชนิดทำครั้งเดียวก็ให้ผลแน่นอนเป็นสุคติหรือทุคติ ต่อให้ทำกรรมในขั้วตรงข้ามอื่นมากมายสักเพียงใดก็ไม่อาจยับยั้งการให้ผลที่แน่นอนของกรรมซึ่งทำเพียงครั้งเดียวนั้นได้

สำหรับกรรมฝ่ายจะส่งไปสู่ทุคติแน่นอนนั้น คือทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเรียกว่าเป็น ?อนันตริยกรรม? ได้แก่ ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น และยังสงฆ์ให้แตกจากกัน

ส่วนกรรมฝ่ายที่จะส่งไปสู่สุคติแน่นอนนั้น คือทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเรียกว่าเป็น ?กรรมไม่ดำไม่ขาว? จนกระทั่งสำเร็จมรรคผล เป็นพระโสดาบันบุคคลขึ้นไป หากทำกรรมนี้สำเร็จเพียงครั้งเดียวเป็นอันว่ามีสุคติเป็นที่ไปอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ หากทำกรรมที่เป็นมหัคคตกุศล คือบำเพ็ญเพียรภาวนาจนได้ฌาน และฌานนั้นยังไม่เสื่อม สามารถเข้าออกได้เป็นปกติ ก่อนตายมีกำลังใจหนักแน่นพอจะเข้าถึงฌานขั้นใดขั้นหนึ่ง ก็จะเป็นผู้แน่นอนในการไปสู่สุคติก่อนเช่นกัน แม้ว่าอดีตจะเคยก่อบาปก่อกรรมไว้มากมายเพียงใด เมื่อใกล้ตายจะเห็นนิมิตหมายในทางดีปรากฏอย่างแน่นอน

สำหรับผู้ทำอนันตริยกรรมเอาไว้ จะไม่มีทางบรรลุมรรคผล และไม่มีทางทำสมาธิได้ถึงฌานเลยจนตาย เนื่องจากอนันตริยกรรมมีความหนักหน่วงมาก ถ่วงจิตไว้ไม่ให้รอดจากวิถีนรกได้ด้วยหนทางใดๆ เมื่อใกล้ตายจะเห็นนิมิตหมายในทางร้ายปรากฏอย่างแน่นอน


๒) อาสันนกรรม

คือกรรมที่ทำเมื่อเวลาใกล้ตาย โดยมากจะหมายถึงกรรมทางความคิด ทำให้จิตเกิดพะวง หรือยังให้จิตบังเกิดปีติ

บางคนทำความดีมาจนชั่วชีวิต แต่ก่อนตายไม่นานเกิดความวิตกกังวลถึงกรรมชั่วบางอย่างที่เคยทำไว้แค่หนสองหน จิตจึงเกิดความระส่ำระสาย หาความสุขสงบไม่ได้ หรือบางคนมีปกติไม่เบียดเบียนใคร แต่เกิดเคราะห์หามยามร้ายต้องไปต่อสู้กับโจร แทงโจรตาย ทว่าก็โดนโจรแทงตายด้วย อย่างนี้จิตจะยึดเหนี่ยวกรรมอื่นยาก มีแต่พุ่งไปจับกรรมที่เพิ่งทำสดๆร้อนๆท่าเดียว เมื่อใกล้ตายจึงเห็นนิมิตหมายในทางร้ายปรากฏก่อน

ส่วนบางคนทำชั่วมาตลอดชีวิต หรือไม่ก็ทำบุญไว้น้อยกว่าทำบาป ทว่าก่อนตายไม่นานมีคนอ่านหนังสือธรรมะให้ฟัง จิตเกิดความเลื่อมใส ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งได้ทัน หรือกำลังตั้งใจเดินเอาของไปถวายพระภิกษุสงฆ์แล้วเป็นลมตาย อย่างนี้จิตก็เหนี่ยวเอากรรมดีที่ทำล่าสุดไว้เป็นเรือน เมื่อใกล้ตายจึงเห็นนิมิตหมายในทางดีปรากฏก่อน


๓) อาจิณณกรรม

คือกรรมที่ทำเป็นประจำในระหว่างมีชีวิต อาจมีคำถามว่าแต่ละคนมีกรรมที่ทำเป็นประจำอยู่เยอะแยะ แล้วจะทราบได้อย่างไรว่ากรรมประจำอันใดจะให้ผลในขั้นสุดท้าย? ต้องตอบว่าถ้าอาจิณณกรรมฝ่ายกุศลมีน้ำหนักมากกว่าอาจิณณกรรมฝ่ายอกุศล เมื่อใกล้ตายจะเห็นนิมิตหมายในทางดีปรากฏก่อน

และในบรรดาอาจิณณกรรมฝ่ายกุศลด้วยกัน กุศลกรรมที่ทำไว้บ่อยที่สุด หรือมีตัวแปรให้สุกสว่างสูงสุด จะเป็นผู้บันดาลนิมิตหมายเมื่อใกล้ตายก่อน

เรื่องน้ำหนักกรรมนี้อย่าไปคิดให้เสียเวลา คนธรรมดาไม่มีทางรู้ได้ ต่อเมื่อเป็นผู้ฝึกวิชา ?รู้ตามจริง? ของพระพุทธเจ้าจนกระทั่งเกิดสมาธิผ่องแผ้ว ย่อมน้อมไปรู้ได้เอง เหมือนคนตาดีสามารถเห็นได้ว่าแสงจากกระบอกไฟฉายใดส่องสว่างนำทางได้ชัดกว่ากัน

อาจิณณกรรมน่าสนใจกว่าครุกรรมและอาสันนกรรม เพราะมีโอกาสให้ผลมากที่สุด เป็นแรงบันดาลให้เกิดนิมิตหมายสุดท้ายได้มากที่สุด ทุกคนต้องมีอาจิณณกรรมหลายๆอย่างแน่นอน ในขณะที่คนทั่วไปไม่ค่อยทำครุกรรมกัน และไม่ค่อยมีอาสันนกรรมที่กำลังแรงพอจะให้ผลขณะถูกเด็ดชีพ

ยกตัวอย่างเช่นคนที่ทำกรรมดีมาทั้งชีวิต แต่กรรมเก่าบางอย่างมาตัดรอนชีวิตให้สั้นลงด้วยอุบัติเหตุอันสุดวิสัยที่จะป้องกัน แบบที่เรียกกันว่า ?ตายโหง? กะทันหันนั้น ดูสภาพศพเผินๆแล้วน่าสยดสยอง ตามสามัญสำนึกของคนทั่วไปย่อมรู้สึกว่าถ้าตายร้ายย่อมไปร้าย แต่ความจริงก็คือวิบากกรรมไม่ได้ดูวิธีตายของเราเหมือนตามนุษย์ แต่ดูแบบชั่งน้ำหนักว่าที่ทำๆมาทั้งชีวิตนั้นน้ำหนักเทไปทางใด หากเทไปทางดีแล้วล่ะก็ จะมีการประชุมกันก่อนิมิตหมายอันเป็นมงคลอย่างแน่นอน สภาพหลังทิ้งซากไปแล้วอาจขัดแย้งกับตัวซากศพแบบพลิกหลังมือเป็นหน้ามือกะทันหันเลยทีเดียว!


๔) กตัตตากรรม

คือกรรมที่ทำโดยไม่ได้เจตนาให้เป็นไปอย่างนั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่เต็มใจจะทำ ลักษณะของจิตจะไม่เป็นกุศลหรืออกุศลชัดเจน อย่างเช่นลูกถูกพ่อบังคับไปใส่บาตรพระ โดยที่ลูกไม่ได้มีความเลื่อมใสอยู่ด้วยตนเอง และถ้าพ่อไม่ใช้ก็จะไม่ทำเลย เป็นต้น อย่างนี้แม้จัดเป็นกรรมก็มีน้ำหนักน้อยแทบจะเท่าน้ำมันฉาบกระทะที่ใช้ปรุงอาหารไม่ได้ เนื่องจากกรรมทุกชนิดมีเจตนาเป็นประธาน หากเจตนาของเด็กเป็นไปเพื่อสักแต่ทำตามพ่อสั่ง ใจแทบไม่ยินดียินร้ายเอาเลย ก็คล้ายให้พ่อยืมแขนขาตนมาใส่บาตร โดยที่ใจตัวเองไปอยู่เสียที่อื่น กรรมที่ใส่บาตรจะให้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ในทางตรงข้าม ถึงโดนใช้ให้ใส่บาตร แต่มีความเลื่อมใสในบุญ มีกำลังใจยิ่งกว่าคนสั่ง ผลก็หนักแน่นยิ่งกว่าคนสั่งได้ ขอให้ทราบว่ากตัตตากรรมอยู่ที่น้ำหนักเจตนาที่อ่อน มิใช่กรรมประเภททำเพราะคนอื่นสั่ง)
เป็นไปได้น้อยกว่าหนึ่งในพันหนึ่งในหมื่นราย ที่กตัตตากรรมจะมาชิงให้ผลก่อนอาสันนกรรมและอาจิณณกรรม (ถ้ามีครุกรรมก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะจะไม่มีกรรมใดตัดหน้าไปได้อยู่แล้ว) ส่วนใหญ่ถ้าทำแค่ครั้งสองครั้งจะไม่มีทางมาเข้ารอบชิงชัยได้เลย กตัตตากรรมจะมาเป็นตัวก่อนิมิตหมายเมื่อใกล้ตายได้ก็เพราะเราทำกตัตตากรรมนั้นบ่อยๆ หรือไม่ก็เพราะบุคคลซึ่งถูกกระทำเป็นผู้ทรงคุณใหญ่ จนกลายเป็นกรรมที่มีกำลังมากกว่ากรรมปกติ

ยกตัวอย่างเดิม สมมุติว่าเด็กที่มาใส่บาตรเป็นลูกบ้านป่า ทั้งชีวิตวนเวียนอยู่กับการเลี้ยงสัตว์ ผ่าฟืน หุงข้าว ใจไม่ค่อยคิดอะไรมากไปกว่าเลี้ยงตัวเอาให้รอดวันต่อวัน แต่เผอิญมีพระธุดงค์บิณฑบาตผ่านบ้านเป็นระยะ แล้วก็ถูกพ่อแม่สั่งให้ใส่บาตรหลายหน หากพระธุดงค์นั้นเป็นผู้ทรงคุณ ก็แปลว่าเด็กสั่งสมบุญใหญ่ไว้โดยไม่รู้ตัว ทำนองเดียวกับคนตาบอดไม่รู้ตัวว่าหยิบเหรียญทองใส่กระเป๋า นึกว่าเป็นเหรียญบาทธรรมดา พอถึงเวลาต้องควักออกมา ถ้าโชคดีเจอคนมีใจเป็นธรรม (ซึ่งหาได้ยาก) บอกตามจริงว่านั่นไม่ใช่เหรียญบาท แต่เป็นเหรียญทอง คนตาบอดก็อาจร่ำรวยทันทีแบบไม่ต้องลงทุน


เมื่อนิมิตหมายปรากฏแล้ว มีวาระสุดท้ายอันเป็นภวังคจิตเคลื่อนจากภพเดิมแล้ว มีวาระแรกสุดอันเป็นภวังคจิตอุบัติในภพใหม่แล้ว จะไม่มีใคร ?กลับเข้าร่างเดิม? ได้อีกเลย หากใครบอกว่าตายแล้วแต่ยังหวนกลับมาพูดจาและเดินเหินได้ใหม่ ก็แปลว่าเขายังไม่ไปเกิดใหม่จริง แม้ร่างกายจะยุติการทำงานและถูกวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าตายแล้วก็ตาม เขายังไม่ถึงซึ่งภาวะแห่งมรณะตามนิยามของพระพุทธองค์เต็มร้อยเลย

ประสบการณ์เฉียดตายของหลายต่อหลายคนจึงเป็นเพียงนิมิตหมายอย่างหนึ่ง ไม่เชิงว่าเป็นของเก๊ล้วนๆ เพียงแต่เอามายึดมั่นถือมั่นเป็นคำบอกเล่าของ ?ผู้ผ่านความตายมาแล้ว? ไม่ได้ อาทิเช่นผู้ที่กล่าวถึงภาวะการตายแต่ในแง่ดี เพียงเพราะไปสัมผัสมิติสุขสงบดื่มด่ำล้ำลึกมานั้น ถือว่าเป็นการแจ้งข่าวที่ผิดพลาดกับชาวโลก และอาจทำให้บางคนหลงคิดไปว่าตายแล้ววิญญาณจะอยู่ในเขตสันติสุขถ่ายเดียว เลยพานเกิดความคิดฆ่าตัวตายหนีโลกไปเสียก่อนวัยอันควร


การดับขันธ์ของพระอรหันต์
บุคคลผู้หมดกิเลสหรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกกันว่า ?พระอรหันต์? นั้น หมดจากความหลงสำคัญผิด เช่นเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน จึงสิ้นความทะยานอยากเข้าไปยึด ทะยานเข้าไปติดใจในภพน้อยภพใหญ่ทั้งปวง

เมื่อหมดความทะยานเข้าไปยึด หมดความหลงเห็นว่าภาวะอย่างนั้นดี ภาวะอย่างนี้น่าอภิรมย์ จิตก็สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากการก่อร่างสร้างภพ ปลอดโปร่งออกมาจากแก่นกลางภายในอย่างแท้จริง สมดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าถ้าภิกษุสำเร็จวิชา ?รู้ตามจริง? ขั้นสูงสุดแล้ว พระพุทธองค์ตรัสเปรียบไว้เหมือนตาลยอดด้วนที่ไม่อาจงอกเงยได้อีก คือทำลายกิเลสทั้งปวงอันเป็นเหตุให้เกิดภพใหม่ หรืออีกนัยหนึ่งคือทำลายเครื่องเศร้าหมองอันเป็นเหตุนำไปสู่ทุกข์ทั้งปวงลงสิ้นเชิงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ขณะสุดท้ายของชีวิตของผู้บริสุทธิ์จากกิเลสนั้น จะไม่มีนิมิตหมายใดๆปรากฏขึ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเข้าฌานหรือไม่เข้าฌานก็ตามที และเมื่อเกิดจุติจิต ก็จะไม่เหลือร่องรอยการสืบต่อองค์แห่งความทุกข์ใดๆอีก คือจะไม่มีการอุบัติ ไม่มีการไปปฏิสนธิในภพใดๆ ไม่เข้าเป็นพวกของหมู่สัตว์ใดๆตลอดทั่วทั้งไตรภูมิ


บทสำรวจตนเอง
๑) เราเคยคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับความตายบ่อยเพียงใด วันละครั้ง เดือนละครั้ง ปีละครั้ง หรือไม่เคยคิดนานจนเกินจะนับว่าเป็นระยะเวลาประมาณใด?

๒) เราเคย ?เชื่อ? หรืออย่างน้อย ?รู้สึกจริงๆ? ว่าจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องตายไปจากความเป็นเช่นนี้หรือไม่?

๓) เราเคยเตรียมวางแผนหาทางหนีทีไล่แบบเผื่อขาดเผื่อเหลือ หรือถามไถ่ผู้รู้บ้างหรือไม่ว่าควรตระเตรียมเพื่อวาระสุดท้ายอันเป็นจุดสำคัญสูงสุดของชีวิตอย่างไร ชนิดที่ถ้าต้องออกเดินทางไกลต่อแบบปุบปับกะทันหันก็พร้อมเลยทันที?


สรุป
ความตายสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องน่าพิสมัย เพราะกำลังพอใจอยากเป็นเช่นนี้ไปนานๆ แต่ความตายสำหรับคนอีกส่วนหนึ่งก็เป็นที่น่าปรารถนา เพราะกำลังขัดเคืองไม่อยากเป็นเช่นนี้อีกแล้วแม้แต่นาทีเดียว

จะเห็นความตายเป็นเรื่องน่ารักหรือน่าชังก็ตาม คนเกือบทั้งหมดแทบไม่มีโอกาสรู้ล่วงหน้าเลยว่าตนเองจะตายเมื่อไหร่ และที่สำคัญคือไม่รู้ว่าจะตายในอาการใด เกิดประสบการณ์ภายในแบบไหน ขณะแห่งความตายมักอยู่ในสายตาของแพทย์และพยาบาล ขณะแห่งความเป็นศพหลังความตายมักอยู่ในสายตาของสัปเหร่อและผู้ช่วย แต่ขณะแห่งความเป็น ?ผู้ตาย? หลังมรณกาลผ่านไปนั้น จะอยู่ในสายตาของผู้ฝึกวิชา ?รู้ตามจริง? ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

คนเราจะกลัวตายในขณะกำลังลืมตาตื่นอยู่ในการมีชีวิตปกติเท่านั้น แต่ขณะแห่งการตายจริงจะไม่หลงเหลือความกลัวตายอยู่เลย เพราะความรู้สึกนึกคิดจะไม่ใช่อย่างนี้แล้ว จิตจะหมดความสำคัญมั่นหมายว่าเคยเป็นใคร ยิ่งใหญ่หรือต่ำต้อยแค่ไหน แต่หันไปให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นแทน นั่นคือชีวิตที่ผ่านมาได้ทำอะไรเด่นๆไว้เป็นประจำบ้าง

การรับทราบว่าประสบการณ์ใกล้ตายเป็นอย่างไรอาจช่วยให้เตรียมตัวเตรียมใจได้ดีขึ้น ข้อแรกคือระลึกเสียแต่เนิ่นๆว่าความตายไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หากปล่อยจิตปล่อยใจมั่วซั่วไปเรื่อยก็อาจได้ตายแบบมั่วซั่วไม่รู้เหนือรู้ใต้ได้เช่นกัน ข้อสองคือรู้ตามจริงว่าวาระใกล้ตายนั้นเราช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ขณะมีชีวิตสามารถตระเตรียมเสบียงไว้ล่วงหน้า เพื่อความอุ่นใจและพร้อมเผชิญจุดวิกฤตสูงสุดในชาตินี้โดยไม่ต้องพะวงหลงกลัวอะไรอีกเมื่อวินาทีนั้นมาถึงเข้าจริงๆ

cmman573

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๗ - สัจจะเกี่ยวกับความตาย(2)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 25 กันยายน 2008, 14:45:44 »

ฉะนั้นเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้หรือวันข้างหน้าเราจาเป็นอาไร ด้วยเหตุนี้ใครอยากทำอาไรก้อรีบๆทำซะนะครับ

shinpe uhah

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๗ - สัจจะเกี่ยวกับความตาย(2)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 21 เมษายน 2009, 19:07:57 »

ขอบคุณครับสำหรับสาระดีๆ