-->

ผู้เขียน หัวข้อ: เที่ยว เมืองวิเศษชัยชาญ อีกถิ่น อู่ข้าว-อู่น้ำ ของไทย อ่างทอง มนต์เสน่ห์วิถี  (อ่าน 924 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

wandee25

  • ว๊องแมน
  • *
  • กระทู้: 2
  • คะแนนจิตพิสัย +0/-0
    • ดูรายละเอียด


















เที่ยว เมืองวิเศษชัยชาญ อีกถิ่น อู่ข้าว-อู่น้ำ ของไทย
       “มนต์เสน่ห์วิถีไทย  4 วัด 1 ศาลเจ้า 2 ชุมชน”
อ่างทอง” เดิมมีชื่อว่า “เมืองวิเศษชัยชาญ”  เมืองที่เป็นทั้งสนามรบทางเดินทัพ แหล่งเสบียง ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่าน ที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรพบุรุษ นายดอก นายทองแก้ว วีรชนคนกล้าในศึกบางระจัน เคยต่อสู้พลีชีพบนพื้นแผ่นดินแห่งนี้.... เมืองแห่งนี้พัฒนาสู่เมือง อู่ข้าว-อู่น้ำ อันเปรียบเสมือน ขุมทรัพย์ที่มีค่าของไทย และนับเป็นจังหวัดที่มีสถานที่ เรื่องราว น่าสนใจไม่น้อย….
 เปิดทริปเมืองเก่าวิเศษชัยชาญ ร่วมกับ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอ่างทอง กับโครงการ “มนต์เสน่ห์วิถีไทย  4 วัด 1 ศาลเจ้า 2 ชุมชน” กันที่ วัดถนน ที่สร้างราว  พ.ศ. 2323 ในสมัยกรุงธนบุรี ภายในวัดมีพระยืนประดิษฐาน ในวิหาร นามว่า “หลวงพ่อพระพุทธรำพึง” หรือ “พระพุทธรำพึง” เป็นพระพุทธรูปปางรำพึงแกะสลักด้วยไม้ สูง 2 เมตรกว่า โดยพระพุทธรูปปางรำพึง คือพระพุทธรูป ในอิริยาบถประทับยืน ถ้าทั้งสองประสานยกขึ้นประดับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
ตามประวัติเล่าขานสืบต่อกันมา....เคยมีแพลอยน้ำมาที่หน้าวัดและไม่ยอมลอยต่อไป พระทองอยู่ เจ้าอาวาสในสมัยนั้นลงไปดู พบว่าในแพมีพระไม้แกะสลักจึงทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญขึ้นมา ซึ่งก็คือ       หลวงพ่อพระพุทธรำพึง คนที่ไปกราบไหว้บูชา หากต้องการเสี่ยงโชคขอพรจะต้องตั้งไข่ไก่ดิบที่หน้าหลวงพ่อโดยจะมีไข่ไก่ดิบวางไว้ให้ ถ้าใครตั้งไข่ได้แสดงว่ามีโชค มีลาภ ดวงดี  ได้สมปรารถนา เมื่อรู้ผลแล้วก็นำไข่ไปเก็บที่เดิมเมื่อบนแล้วได้ตามหวังก็มาแก้บนด้วย ไข่ต้ม ละคร และ พวงมาลัย
เรานั่งคิดอยู่นานว่าจะลองเสี่ยงโชคดีไหม???.... แต่กลัวตั้งไข่ไม่ได้จึงตัดสินใจไม่เสี่ยงดีกว่า เพื่อความสบายใจ
สิ่งที่สร้างความประหลาดใจ หนึ่งเดียวในประเทศไทย!! หากใครไม่แหงนมองก็จะไม่เห็น          รอยพระพุทธบาทลอยฟ้า ซึ่งแกะสลักด้วยไม้ติดอยู่บนเพดานศาลาการเปรียญ ขนาดกว้าง 30 นิ้ว ยาว 7 นิ้ว อายุกว่า 280 ปี โดยชาวบ้านเชื่อว่า หากขอพรสิ่งใดก็มักได้ในสิ่งที่ต้องการ เราไม่รอช้า รีบพนมมือขึ้น หลับตากล่าวขอพรด้วยความตั้งใจ
เดินชมบริเวณวัด ทำให้เห็นว่าวัดแห่งนี้มีแผนผังที่เป็นระบบระเบียบ เรียบร้อยเหลือเกิน ดูแล้วสบายตา มีหมู่พระเจดีย์รายล้อมอยู่รอบพระอุโบสถหลังเก่า แถมแวดล้อมด้วยพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงามหลากหลายพันธุ์ ยิ่งช่วยเพิ่มสีสันความสดชื่นให้กับวัด

มาถึงอ่างทองต้องมาชม “ตุ๊กตาชาววัง” ที่ ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ บ้านเรือนไทยทรงสูง     2 ชั้น ชื่อว่า “คุ้มสุวรรณภูมิ” อยู่บริเวณ วัดท่าสุทธาวาส ซึ่งเป็นโครงการที่ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519 เพื่อสร้างอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎรภายในหมู่บ้านบางเสด็จแห่งนี้ได้อย่างยั่งยืน
ชมทัศนียภาพอันร่มรื่นและสวยงามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วยังได้ชมการปั้นและผลงานตุ๊กตาชาววังจากฝีมือชาวบ้านในละแวกนั้นอย่างเป็นกันเอง โดยเป็นการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ มีศูนย์กลางอยู่ที่ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ซึ่งจะจัดให้สมาชิกมาสาธิตการปั้นตุ๊กตาชาววังพร้อมกับจัดจำหน่ายในราคาย่อมเยา ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ของผู้มาเยือน
เมื่อเขามาแล้ว สามารถชมการสาธิตปั้นตุ๊กตาชาววัง เรียนรู้การปั้นตุ๊กตาด้วยดินเหนียว ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนและวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ เช่น การละเล่นของเด็กไทย วงมโหรีปี่พาทย์ สุภาษิตคำพังเพยไทย หรือรูปผลไม้ไทยหลากหลายชนิด ซึ่งล้วนมีความสวยงาม น่ารัก หลังจากเดินชมผลิตภัณฑ์และดูการสาธิตแล้วต้องบอกว่า ไม่ง่ายเลย คุณป้าชวนให้ทำด้วยกัน เราจึงรีบส่ายหน้าอย่างสุภาพ แล้วบอกว่า ดูอย่างเดียวดีกว่า ของจะได้ไม่เสียแน่ๆ
จากนั้น ชมงานหัตถกรรมต่อที่ บ้านบางเจ้าฉ่า ตั้งอยู่ในเขต อำเภอโพธิ์ทอง ซึ่งเป็นแหล่งผลิต “หัตถกรรมจักสานไม้ไผ่และหวาย” ที่เลื่องชื่อแห่งหนึ่งของภาคกลางเลยก็ว่าได้ โดยสมาชิกในชุมชนนอกจากจะทำนา ทำสวนผลไม้แล้ว ยังมีฝีไม้ลายมือในการทำเครื่องจักสานอีกด้วย มีรางวัลการันตีจากหน่วยงานต่างๆถึงความประณีต จึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้ใครมาอ่างทองต้องแวะมาที่หมู่บ้านบางเจ้าฉ่าแห่งนี้ เพื่อชมวิธีการทำ และอดไม่ได้ที่จะซื้อติดไม้ติดมือกลับไป
ต่อเนื่องกันไปที่ วัดขุนอินทประมูล  ที่นี่ก็เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ หรือที่เรียกกันว่าพระนอน ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย มีความยาว 50 เมตร รองจากพระนอนที่วัดบางพลีใหญ่กลาง จังหวัดสมุทรปราการ โดยองค์พระนอนที่นี่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งไม่มีวิหารเหมือนพระนอนองค์อื่นเนื่องจากวิหารเดิมเคยถูกไฟไหม้ทำให้วิหารทั้งหมดพังทลาย เหลือแต่องค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้งหลังการไฟไหม้คราวนั้นมาหลาย 100 ปีซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละมัย สงบเยือกเย็น น่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก เป็นอีกวัดที่ต้องไม่พลาดในการมาสักการบูชา
ด้านข้างของพระศรีเมืองทอง จะพบซากโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาวตั้งอยู่บริเวณเนินเซฟตี้ ซึ่งวิหารเหลือเพียงฐาน พระนางบางส่วนและองค์พระพุทธรูปจากที่เห็นเริ่มมีรากของต้นโพธิ์ขึ้นปกคลุมบางส่วนแล้ว เดินมาด้านหลังของพระศรีเมืองทองจะเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ 100 เดินมาด้านหลังของพระศรีเมืองทองจะเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถร้อยล้าน ซึ่งมี 2 ชั้นด้วยกัน ที่ดูทันสมัยมากเพราะมีทั้งลิฟต์และบันไดเลื่อน ทั้งห้องติดแอร์อีกด้วย เข้ามาด้านในมองไปรับรอบก็สวยงาม จิตรกรรมฝาผนังที่เป็นรูปเหล่าเทวดาและนางฟ้าดูแปลกตา ทำให้ต้องเข้าไปดูใกล้ๆ พิจารณาอย่างละเอียดว่า จริงหรือนี่ เพราะนอกจากจะสวมเสื้อผ้าที่ดูสมัยใหม่แล้ว ในมือยังถือสมาร์ทโฟนด้วย ต้องบอกว่า....อเมซิ่งมากๆ
ขึ้นชั้น 2 ก็ตื่นตาอีกเช่นกัน ญาติโยมบนฝาผนัง ดูเหมือนจริงคล้ายภาพถ่าย เมื่อถามแล้วได้ความว่า เมื่อครั้งสร้างอุโบสถได้ให้ศิลปินวาดภาพเหมือนของผู้บริจาคเงินลงบนผนังอุโบสถ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในการสร้าง รวมทั้งเพื่อให้ผู้บริจาคมีภาพวาดตัวเอง เพื่อวันข้างหน้าลูกหลานจะเห็นจะได้รู้ว่าญาติของเราก็มีส่วนร่วมในการสร้างโบสถ์แห่งนี้ และอีกหนึ่งจุดสำคัญในวัดนี้เห็นจะเป็นรูปหล่อขนาดใหญ่ของ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)”  ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ
ขยับขับเคลื่อนกันมาที่ วัดป่าโมกวรวิหาร เพื่อชม พระพุทธไสยาสน์ ที่งดงามอีกองค์หนึ่ง องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาว 22.5 8 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาน่าอัศจรรย์ เล่าขานกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัดประชาชนบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ นอกจากนี้ยังมีการเล่าขานเกี่ยวกับองค์พระพุทธไสยาสน์ว่าเป็น “พระพุทธรูปพูดได้” ซึ่งมีการจารึกโดย ผู้บันทึกคือ พระครูปาโมกข์มุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมก เรื่องนี้จึง....เป็นปาฏิหาริย์ที่ถูกบันทึกไว้อย่างน่าทึ่ง!!
จากนั้นเปลี่ยนมาเที่ยวชม ศาลเจ้าอ่างทอง (เจ้าพ่อกวนอู) ที่ตั้งอยู่ ตำบลย่านซื่อ ซึ่งอยู่ในตัวอำเภอเมืองอ่างทอง กันต่อ ก่อสร้างขึ้นเนื่องจากศาลเจ้า กวนอูหลังเดิมมีสภาพทรุดโทรมและคับแคบ โดยเฉพาะบริเวณคุ้งน้ำ ถูกน้ำกัดเซาะด้านหน้าศาลจนเกิดความเสียหาย จึงมาสร้างที่ใหม่ ณ บริเวณนี้ เพื่อประดิษฐานเหล่าเทพเจ้าที่ประชาชนเคารพภายในมีองค์เทพเจ้ากวนอูเป็นองค์ประธาน และยังได้ อัญเชิญ องค์ปึงเถ่ากง-ปึงเถ่าม่า มาประดิษฐานร่วมกัน
ภายนอกมีหลังคาประดับด้วยปูนปั้นลวดลายหงส์ มังกร ตามคติความเชื่อของชาวจีน นับเป็นศาลเจ้าที่มีความสงบ น่าเลื่อมใส ถึงได้นำมาซึ่งความสามัคคี ร่วมมือ ร่วมใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชน
ปิดทริป ไหว้ “หลวงพ่อใหญ่” ณ วัดม่วง ที่ ตำบลหัวสะพาน อำเภอวิเศษชัยชาญ โดยจะเห็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่อยู่กลางทุ่งกว้าง ซึ่งก็คือหลวงพ่อใหญ่ หรือ “พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 63 เมตร สูง 95 เมตร หรือเท่ากับตึก 32 ชั้น ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 16 ปี
การไหว้อธิษฐานจิตขอพรนั้นให้ใช้มือสัมผัสที่ปลายนิ้วองค์หลวงพ่อ แล้วต้องใจขอในสิ่งที่ดี ทำความดีตามที่ตั้งใจไว้ แล้วจะได้รับผลสำเร็จสมตามใจปรารถนา และในวัดยังมี สวนนรก-สวรรค์ แบบจำลองตัวละครวรรณคดีไทย หลายเรื่อง จัดแสดงไว้ในสวนอันร่มรื่น โดยมีป้ายคำสอนต่างๆที่เหมาะอย่างยิ่งที่จะพาบุตรหลานมาเที่ยวชม ปลูกฝังให้รู้จักการทำแต่ความดี
.... “เมืองวิเศษชัยชาญ”   ใช่จะเด่นอยู่แค่ประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่หากสามารถมาสัมผัสความเดือนต่างๆ ที่มีมากมายได้ที่จังหวัด “อ่างทอง” แห่งนี้.  “มนต์เสน่ห์วิถีไทย  4 วัด 1 ศาลเจ้า 2 ชุมชน”