-->

ผู้เขียน หัวข้อ: ความจริง ของ วิทยาศาสตร์ กับ สัจจะ ของ ศาสนาพุทธ  (อ่าน 2932 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

chon

  • บุคคลทั่วไป

ความจริง ของ วิทยาศาสตร์ กับ สัจจะ ของ ศาสนาพุทธ

บทนำ

       ในปัจจุบันนี้ จะเห็นว่ามีหนังสือที่พยามยามโยงหลักธรรมของศาสนาพุทธให้เข้ากับวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิสิกส์ใหม่ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน โดยจะอ้างว่า ?สิ่ง? ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบกับ ?สิ่ง? ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน โดยชื่อหนังสือมักจะออกในแนวที่ว่า

       ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ

       ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น

       รวมทั้งหนังสืออีกหลายเล่ม ที่ชื่อไม่ได้ออกมาในแนวนี้อย่างชัดเจน แต่เนื้อหาในหนังสือก็ออกไปในทำนองที่ว่านี้

       หนังสือทำนองนี้ มักจะกล่าวว่า ความจริงของวิทยาศาสตร์กับความจริงของศาสนาพุทธเป็นสิ่งเดียวกัน แต่เมื่อเข้าไปอ่านหนังสือดังกล่าวอย่างจริงจังแล้ว เนื้อในของหนังสือมักจะอธิบายวกวนสับสนไปมา โดยเฉพาะหนังสือทั้ง 2 เล่มที่ผมเอ่ยชื่อไปข้างต้นนั้น ผู้เขียนทั้ง 2 คนดังกล่าว มีความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์และศาสนาพุทธผิดพลาดคลาดเคลื่อนจนเชื่อถือเอาไม่ได้เลยทีเดียว

       มีอาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองไทย พยายามออกมาบอกว่า ความจริงทางวิทยาศาสตร์กับสัจจะของศาสนาพุทธมันเป็นคนละเรื่องกัน ไม่ควรนำมาโยงหรือผูกเข้าด้วยกันว่าเป็นสิ่งเดียวกัน

       ในประเด็นนี้ ผมเองเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ผมเห็นว่า ความจริงของวิทยาศาสตร์ก็อย่างหนึ่ง สัจจะของศาสนาพุทธเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ได้มีสิ่งที่เหมือนกันเลย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการศึกษา เนื้อหาที่ค้นพบ ฯลฯ ถึงแม้พระพุทธเจ้าต้องการค้นพบความจริงทางธรรมชาติเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ แต่ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น ไม่ได้เป็นความจริงทางธรรมชาติอันเดียวกัน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า

       นอกจากนั้นแล้ว ในปัจจุบันนี้ ความรู้ทางฟิสิกส์ใหม่ได้ก้าวหน้าไปมาก จนมีหนังสือในชื่อเรื่องที่ว่า ?Beyond Einstein? [เหนือมิติที่สี่ของไอน์สไตน์] ซึ่งหมายถึงว่า องค์ความรู้ใหม่ทำให้ความรู้ที่ได้จากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์กลายเป็นความจริงเฉพาะที่อีกแล้ว แต่ก็ยังเป็นความจริงที่กว้างและเป็นสากลกว่าวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตัน

       เมื่อความจริงทางฟิสิกส์เปลี่ยนไปอีก พุทธวิชาการที่เอาสัจจะของศาสนาพุทธไปผูกไว้กับความจริงของฟิสิกส์ใหม่จะทำอย่างไร

       ลักษณะเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วกับพุทธวิชาการที่เอาสัจจะของศาสนาพุทธไปผูกไว้วิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตัน พุทธวิชาการกลุ่มนี้ตีความพระไตรปิฎกแบบชาติเดียว เพราะเชื่อไปตามวิทยาศาสตร์แบบนิวตันว่า มนุษย์เกิดมาชาติเดียวเท่านั้น ชาติหน้าชาติอื่นไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี เพราะขาดความเป็นเหตุเป็นผล (Irrationality)

       เมื่อฟิสิกส์ใหม่โค่นล้มวิทยาศาสตร์เก่าไปแล้ว จะเห็นได้ว่า พุทธวิชาการกลุ่มนี้ทำอะไรไม่ถูก ไม่มีหนังสือใหม่ๆ ออกมาเลย ในขณะที่พุทธวิชาการรุ่นใหม่เปรียบเทียบทฤษฎีใหม่ๆ ทางฟิสิกส์กับพระไตรปิฎกอย่างสนุกสนาน แต่พุทธวิชาการกลุ่มที่ว่านี้ ไม่พยายามจะเขียนถึงฟิสิกส์ใหม่เลย

       มีพุทธวิชาการบางคนเขียนถึงทฤษฎีของไอน์สไตน์บ้างเหมือนกัน แต่เขียนถึงเพียงแต่ว่า แสงเดินทางเป็นเส้นโค้ง โดยไม่กล่าวถึงเรื่องทฤษฎีเวลาของไอน์สไตน์แม้แต่น้อย เนื่องจากตนเองนั้น ได้ไปสมาทานวิทยาศาสตร์เก่ามาเนิ่นนาน และได้ปฏิเสธว่านรกสวรรค์ไม่มีเพราะพิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์เก่า พร้อมกันนั้นก็ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนความคิดไปตามฟิสิกส์ใหม่ หนทางที่ดีที่สุดสำหรับพุทธวิชาการกลุ่มนี้คือ หันไปเขียนหนังสือในแนวอื่น ไม่กล้าที่จะเขียนหนังสือเปรียบเทียบพุทธกับวิทยาศาสตร์อีกเลย ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไปซะ

 

สิ่งที่เกี่ยวกับ ?จริง? กับความหมาย

       ในทางปรัชญาตะวันตกนั้น สิ่งที่เกี่ยวกับ ?จริง? นั้นมีอยู่ 5 คำคือ ข้อเท็จจริง (fact) ความจริง (truth) ความเป็นจริง (reality) ความจริงขั้นสุดท้าย (ultimate truth) ความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality) แต่สิ่งที่เกี่ยวกับ ?จริง? ในทางศาสนาพุทธนั้นมีสิ่งเดียวคือ ?สัจจะ? คำทั้ง 6 คำดังกล่าวมีความเป็นมา สถานภาพ และความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง

       อย่างไรก็ดี คำที่เกี่ยวกับ ?จริง? ในปรัชญาตะวันตกนั้น คำว่า ข้อเท็จจริง (fact) ความจริง (truth) ความเป็นจริง (reality) และ ความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality) มีความหมายที่ใช้กันได้หรือถือว่าตรงกันกับข้อความของพุทธเถรวาท ส่วนคำว่า ความจริงขั้นสุดท้าย (ultimate truth) นั้น ไม่มีข้อความใดของพุทธเถรวาทตรงกับความหมายนี้ ดังที่จะได้อธิบายต่อไป



Reality [ความเป็นจริง, สิ่งเป็นจริง]

       พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ 2 ประการ ดังนี้

       1) ความเป็นจริง คือ ภาวะที่มีอยู่จริง ภาวะที่เป็นอย่างนั้นแน่แท้ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น

       2) คือ สิ่งที่มีอยู่จริง เป็นอยู่จริง ซึ่งอาจรู้ได้หรือไม่อาจรู้ได้ทางประสาทสัมผัส

       จากความหมายของ ?Reality [ความเป็นจริง, สิ่งเป็นจริง]? จะเห็นว่า นักปรัชญาตะวันตกเชื่อว่า มีสภาวะความเป็นจริงอยู่หลังเหตุการณ์ที่ปรากฏออกมาให้มนุษย์รับรู้ได้ แต่สภาวะความเป็นจริงนั้น อาจจะรู้หรือไม่รู้ก็ได้

       ในกรณีเช่นนี้ ถ้าพิจารณาในทางภาษาแล้ว ผมขอกล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้ว สภาวะความเป็นจริงดังกล่าวนั้น ไม่สามารถรับรู้ได้ เพราะ ขนาดบุคคลที่เป็นคนพบสภาวะเช่นนั้นเอง ยังอาจจะรับรู้ได้หรือไม่ได้ก็ยังไม่รู้ คนอื่นๆ ส่วนใหญ่จะรับเรื่องเหล่านั้น จากการฟังบ้าง การอ่านบ้าง จึงไม่มีทางจะรับรู้ ?Reality [ความเป็นจริง, สิ่งเป็นจริง]? ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นได้เลย



Truth [ความจริง]

       พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า ความจริง หมายถึง คุณสมบัติของข้อความที่มีลักษณะพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่ปรากฏในทฤษฎีความจริงที่สำคัญ 3 ทฤษฎีต่อไปนี้

       1) ทฤษฎีความจริงแบบสหนัย (coherence theory of truth)

             ทฤษฎีความจริงแบบนี้ ถือว่า ข้อความใดจะจัดได้ว่าจริง ข้อความนั้นต้องสอดคล้องกับข้อความอื่นๆ ที่อยู่ในระบบเดียวกัน

       2) ทฤษฎีความจริงแบบสมนัย (correspondence theory of truth)

              ทฤษฎีความจริงแบบนี้ ถือว่า ข้อความที่จัดว่าจริง คือ ข้อความที่มีความตรงกันกับข้อเท็จจริง

       3) ทฤษฎีความจริงแบบปฏิบัตินิยม (pragmatic theory of truth)

              ทฤษฎีความจริงแบบนี้ ถือว่า ข้อความใดที่นำไปใช้ได้ผลจริงตามที่คาดหมาย ข้อความนั้นถือว่าจริง

       โดยสรุป ความจริงในวิชาปรัชญาทั้ง 3 ทฤษฎีข้างต้น เน้นไปที่ ?ข้อความ? ซึ่งก็หมายถึง ?ข้อความในภาษา? นั่นเอง

       ตรงนี้ขอให้ทำความเข้าใจกันให้ดี ?Truth [ความจริง]? หมายถึงข้อความหรือคำบอกเล่าเท่านั้น อาจจะไม่ตรงกับ ?Reality [ความเป็นจริง, สิ่งเป็นจริง]? หรือ ?Fact [ข้อเท็จจริง]? ที่จะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้าก็เป็นได้



Fact [ข้อเท็จจริง]

       พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า ข้อเท็จจริงหมายถึง

1) ปรากฏการณ์ของแต่ละสิ่งที่เกิดขึ้น

2) ความจริงที่ประจักษ์ชัด

3) เหตุการณ์ที่เป็นจริง

       จากความหมายของคำว่า ?Fact [ข้อเท็จจริง]? จะเห็นว่าคำนี้ความหมายง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อนอะไร แต่ข้อควรระวังหรือข้อควรระลึกถึงก็คือ ถ้าบุคคลคนใด นำ?Fact [ข้อเท็จจริง]? ไปเล่าให้บุคคลอื่นฟัง ข้อความ/คำบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ ถือว่าเป็น ?Truth [ความจริง]? ขึ้นมาแล้ว ถ้ามีการเล่ากันหลายๆ ครั้ง ?Fact [ข้อเท็จจริง]? กับ ?Truth [ความจริง]? อาจจะไม่ตรงกันก็มีหนทางเป็นไปได้มากทีเดียว

       ขอยกตัวอย่างเรื่องข่าวหนังสือพิมพ์ ซึ่งนักวิชาการมักจะขนานนามว่า ข่าวของหนังสือพิมพ์ก็คือ ?เรื่องเล่าของความจริง? มิได้เป็นความจริง (truth) แต่อย่างใด เพราะ เมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นข่าวเกิดขึ้น และนักข่าวไปถึงสถานที่เกิดเหตุ นักข่าวเกือบทั้งหมดมิได้เป็นผู้เห็นเหตุการณ์เอง แต่ต้องไปซักถามเอากับประชาชนแถวนั้น ซึ่งหลายๆ คนก็ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ชัดเจนนัก อาจจะฟังเขาเล่าว่ามาอีกทีก็ได้ ดังนั้น ข่าวจึงไม่ใช่การถ่ายทอดเหตุการณ์จริงๆ ออกมา เป็นเพียงเรื่องเล่าของความจริงเท่านั้น



Ultimate truth [ปรมัตถสัจ, อันติมะสัจ]

       พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า ปรมัตถสัจ, อันติมะสัจหมายถึงความจริงขั้นสุดท้าย เช่น พระเวทของฮินดู

       สำหรับ ?Ultimate truth [ปรมัตถสัจ, อันติมะสัจ]? นี้ มุ่งหมายไปถึงความศักดิ์สิทธิ์ ของคัมภีร์ ความหมายของคำนี้ผมเห็นว่า ไม่มีในศาสนาพุทธเพราะ ในพระไตรปิฎกนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร หรือพระอภิธรรม พุทธศาสนิกชนเห็นว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เท่ากัน ส่วนคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จำนวน 4 คัมภีร์นั้น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูถือว่าคัมภีร์พระเวทมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าคัมภีร์อื่น

       ส่วนกรณีที่เป็นตำราที่ใช้อธิบายพระไตรปิฎก เช่น อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และคำอธิบายของพระภิกษุต่างๆ นั้น เป็นอีกกรณีหนึ่งไม่ใช่ในความหมายของคำๆ นี้ แต่คำๆ นี้ มีพุทธวิชาการนำเข้ามาใช้ในพุทธเถรวาทอย่างเข้าใจผิด และทำให้ผลของการศึกษาของพุทธวิชาการเหล่านั้น ผิดเพี้ยนไปมากมาย ดังที่จะได้กล่าวถึงข้างหน้า



Ultimate Reality [ความเป็นจริงอันติมะ]

       พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า ความเป็นจริงอันติมะหมายถึง ความเป็นจริงขั้นสูงสุด เช่น น้ำในปรัชญาของทาเลส (Thales) ปรมาตมันในปรัชญาฮินดู

       คำว่า ?Ultimate Reality [ความเป็นจริงอันติมะ]? ถ้าจะเทียบกับพุทธเถรวาทก็คือ นิพพานนั่นเอง



สัจจะ

       คำว่า ?สัจจะ? ในพจนานุกรมแปลว่า ความจริง ซึ่งจะแตกต่างไปจาก คำที่เกี่ยวกับ ?จริง? ของปรัชญาตะวันตก จะเห็นได้ว่า คำที่เกี่ยวกับ ?จริง? ของปรัชญาตะวันตกจะมีรากศัพท์ 3 คำคือ fact, truth และ reality เมื่อมีความหมายอื่นๆ นอกเหนือจากความหมายของคำทั้ง 3 คำเหล่านั้น ก็จะนำคำมาขยายหรือประกอบใหม่ให้มีความหมายแตกต่างไป เช่น ultimate truth และ ultimate reality ดังได้กล่าวมาแล้ว

       สำหรับ คำที่เกี่ยวกับ ?จริง? ในพุทธเถรวาทมีคำเดียวคือ ?สัจจะ? ถ้าจะใช้ในความหมายอื่น เราจะใช้คำอื่นๆ มาขยาย หรือมาประกอบให้เป็นคำใหม่ขึ้นมา เช่น อริยสัจ เป็นต้น

       ในบทความนี้ ขอตกลงกันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นเสียก่อนว่า ในพระไตรปิฎกมีพุทธพจน์ที่ว่า พระพุทธเจ้าจะตรัสแต่ความจริงที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ดังปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หัวข้อ ?วาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์? ซึ่งในพระสูตรนี้ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสกับเจ้าชายอภัยราชกุมาร ซึ่งสรุปได้ว่า

       พระพุทธองค์ทรงแบ่งพระวาจาของพระองค์ด้วยเกณฑ์ ความจริง ประโยชน์ และความชอบใจของผู้ฟังออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้

1) วาจาที่ไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง

2) วาจาที่ไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง

3) วาจาที่จริง ไม่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง

4) วาจาที่จริง ไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง

5) วาจาที่จริง เป็นประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง

6) วาจาที่จริง เป็นประโยชน์ และเป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง

       วาจาใน 4 ประเภทแรก พระพุทธองค์จะไม่ตรัสเลย ส่วนวาจา 2 ประเภทหลังนั้น พระองค์จะตรัสเมื่อเวลาอันสมควร จะเห็นได้ว่า พุทธพจน์ที่อยู่ในพระไตรปิฎกก็ย่อมจะเป็นข้อความที่เป็นสัจจะ หรือความจริง (truth) แล้ว ดังนั้น เราต้องยอมรับกันโดยพื้นฐานว่า พระไตรปิฎกทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี เนื้อความทั้งหมดเป็นสัจจะ/ความจริงทั้งนั้น ย้ำและเน้น ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด เราต้องยอมรับกันก่อนว่า เป็นความจริงทั้งหมด สิ่งไหนที่ดูไม่มีเหตุผล หรือไร้สาระ เราก็ต้องยอมรับเสียก่อนว่า ?เรามีความรู้ไม่พอ? ไม่ใช่ว่า ข้อความส่วนนั้นในพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไป หรือถูกแต่งเติมเข้าไปเพื่อต้องการให้คนทำความดี

       แต่อย่างไรก็ดี จากการศึกษาประวัติความเป็นมา นักวิชาการพบว่า เนื้อหาของพระไตรปิฎกมีการแต่งเพิ่มเติมเข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราวที่มีการสังคายนากัน ดังนั้น เราก็ต้องมาตั้งข้อยอมรับกันใหม่ว่า

       1) เนื้อความในพระไตรปิฎกที่เป็นพุทธพจน์เป็นความจริง

       2) เนื้อความในพระไตรปิฎกที่ไม่เป็นพุทธพจน์ ก็อาจจะเป็นความจริงได้ ถ้านำพุทธพจน์มาอธิบายขยายความอย่างถูกต้อง แต่ถ้านำพุทธพจน์อธิบายอย่างผิดเพี้ยน เพราะ ไปเชื่อเรื่องระบบเหตุผลของพราหมณ์-ฮินดูหรือเข้าใจผิดไปเอง เนื้อความส่วนนี้ของพระไตรปิฎกก็อย่าไปยึดถือว่าเป็นความจริง

       เพื่อให้การสื่อสารในบทความนี้ระหว่างผู้เขียนคือ ผม กับผู้อ่านมีประสิทธิภาพดี คือ สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจ มีข้อบกพร่องตกหล่นน้อยที่สุด เราก็ต้องมาเปรียบเทียบศัพท์ที่มาจากภาษาอังกฤษ คือ reality, truth, fact, ultimate reality และ ultimate truth กับ ความจริงในศาสนาพุทธเสียก่อนว่า คำใดตรงกับความหมายใด

       เริ่มต้นแต่คำง่ายๆ ก่อนคือ ข้อเท็จจริง (Fact) คำนี้ไม่เป็นปัญหา เพราะ เป็นคำที่อ้างมาจากประสบการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เห็นคนตกปลาอยู่ ก็มาเล่าสู่กันฟัง แล้วบอกว่า คนนั้นทำผิดศีลห้าข้อที่หนึ่ง เป็นต้น จะเห็นว่า ข้อเท็จจริง (Fact) ไม่เป็นปัญหาอะไร

       คำต่อมาจะต้องอธิบายพร้อมๆ กัน 2 คำคือ ความจริง (Truth) กับความเป็นจริง (reality) เพื่อให้เข้าใจง่ายเข้า ขออธิบายสั้นๆ ดังนี้ ความจริง (Truth) จากคำในภาษาอังกฤษ หมายถึง ข้อความ และเป็นข้อความที่ตรงกับ ข้อเท็จจริง (Fact) หรือ ความเป็นจริง (reality) ก็ได้ ย้ำว่า ความจริง (Truth) นักปรัชญาเน้นว่าเป็นภาษา มิใช่สิ่งอื่น

       ข้อแตกต่างของความจริง (Truth) โดยเนื้อหาก็อาจจะเป็นอย่างนี้ ถ้าความจริง (Truth) ตรงกับข้อเท็จจริงก็มักจะไม่มีปัญหามากนัก เพราะมีเหตุการณ์ยืนยันอยู่ แต่ถ้าความจริง (Truth) ตรงกับ ความเป็นจริง (reality) ก็เริ่มจะมีปัญหา เพราะ นักปรัชญาตะวันตกยอมรับว่า มีปรากฏการณ์ที่เป็นความเป็นจริง (reality) อยู่ แต่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงปรากฏการณ์ที่ว่านี้ได้ เมื่อมีนักวิชาการคนหนึ่งคนใด คิดว่ารู้และเข้าใจประสบการณ์ดังกล่าวนั้นแล้ว เมื่อเอามาสื่อสารให้คนอื่นฟัง ข้อความที่ตรงกับความเป็นจริง (reality) นั้น ก็คือ ความจริง

       ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมสักนิดหนึ่ง เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของภาษาโดยเฉพาะ

       สมมุติว่า นายแดงเป็นผู้โดยสารคนหนึ่งของสายการบินวันทูโก (One to go) ที่เกิดอุบัติเหตุลื่นไถลบันรันเวย์ทำให้ผู้โดยสารตายไปเกือบร้อยคน เมื่อนายแดงมาเขียนหรือเล่าให้คนอื่นฟัง ข้อเขียนหรือคำเล่าของนายแดงก็เป็นความจริง (truth) เรื่องนี้เป็นปัญหาน้อย เพราะ ถ้านายแดงเล่าหรือเขียนไม่ตรงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็อาจจะตรวจสอบได้จากคนอื่นๆ

       บางคนอาจจะคิดว่า ผมเพี้ยนหรือยังไง ที่กล่าวว่า นายแดงอาจจะเล่าหรือเขียนเหตุการณ์ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง (Fact) ที่เกิดขึ้น ก็นายแดงแกก็ลื่นไถลไปพร้อมๆ กับเครื่องบิน

       ผมขอยืนยันว่า นายแดงไม่มีโอกาสทราบทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นเป็นเด็ดขาด นายแดงจะทราบเหตุการณ์ที่นายแดงประสบอยู่เท่านั้น สถานการณ์ของคนอื่นๆ ถ้าไม่อยู่ในขอบเขตสายตาของนายแดง นายแดงไม่มีโอกาสจะรู้ได้เลย ถ้าจะรู้ได้ ก็จากการสอบถามผู้อื่น ซึ่งก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง (Fact) แล้ว แต่เป็นความจริง (truth) แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นความจริง (truth) ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง (fact) ก็อาจจะเป็นได้

       จะเห็นว่า ถ้าเป็นกรณีความจริง (Truth) ที่ตรงกับข้อเท็จจริง (fact) แล้ว ปัญหามีไม่มาก แต่ถ้าเป็น ความจริง (truth) ที่ตรงกับความเป็นจริง (reality) แล้วปัญหาเยอะ

       ยกตัวอย่างเรื่องแสงเดินทางเป็นเส้นโค้งของไอน์สไตน์ก็ได้

       เมื่อไอน์สไตน์แกคิดออกแล้วว่า แสงเดินทางเป็นเส้นโค้ง แถมบอกด้วยว่า ให้ไปพิสูจน์ตอนที่เกิดสุริยุปราคา แกบอกด้วยว่า แสงจะโค้งไปกี่ฟิลิปดา เซอร์เอ็ดดิงตัน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษเป็นคนไปพิสูจน์ตามทฤษฎีของไอน์สไตน์ โดยใช้วิธีการถ่ายภาพดวงดาว ก่อนและหลังการเกิดสุริยุปราคา ซึ่งก็พบว่า เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายแล้ว ดวงดาวนั้นเปลี่ยนที่ไปก็แสดงว่า ทฤษฎีของไอน์สไตน์ถูกต้อง ไอน์สไตน์ก็เริ่มดังมาตั้งแต่นั้น คือ หลังจากเสนอทฤษฎีไปแล้วประมาณ 10 ปี ก่อนหน้านั้น ยังไม่ค่อยมีใครเชื่อถือไอน์สไตน์มากนัก

       เมื่อเซอร์เอ็ดดิงตันนำเสนอภาพถ่ายพร้อมกับคำอธิบายในที่ประชุมเพื่อยืนยันว่าแสงเดินทางเป็นเส้นโค้งจริง นั่นก็แสดงว่า เซอร์เอ็ดดิงตันกำลังเสนอความจริง (truth) ที่ตรงกับความเป็นจริง (reality)

       ตรงนี้ผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยผมอีกแล้วว่า ตัวอย่างเรื่องเครื่องบินวันทูโก ผมบอกว่า ประเด็นนั้น นายแดงเสนอความจริง (truth) ที่ตรงกับข้อเท็จจริง (fact) แต่ในเรื่องนี้ เหตุการณ์ก็เป็ฯไปในทำนองเดียวกัน แต่ทำไมผมถึงบอกว่า เซอร์เอ็ดดิงตันกำลังเสนอความจริง (truth) ที่ตรงกับความเป็นจริง (reality)

       ผมขออธิบายเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

       ในกรณีนี้ ถ้าผู้ช่วยของเซอร์เอ็ดดิงตันมาแสดงภาพถ่ายในการทำงานของเซอร์เอ็ดดิงตันว่า ตั้งกล้องยังไง ถ่ายยังไง วัดแสงยังไง ถ่ายแล้วเก็บฟิล์มยังไง ขนย้ายฟิล์มยังไง ในกรณีนี้เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ช่วยของเซอร์เอ็ดดิงตันก็เสนอความจริง (Truth) ที่ตรงกับข้อเท็จจริง (fact)

        ในกรณีของเซอร์เอ็ดดิงตัน ท่านเซอร์ท่านเสนอว่า แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งนะครับ ผมอยากจะถามว่า ใครเคยเห็นแสงเดินทางเป็นเส้นโค้งบ้าง???

       แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งนี่เป็นความเป็นจริง (Reality) ไปแล้ว ในยุคฟิสิกส์ใหม่นี้ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่มีใครเห็นแสงเดินทางเป็นเส้นโค้งบ้าง แม้กระทั่งตัวของไอน์สไตน์เองก็ตาม

       ในรูปถ่ายนั้น เราจะเห็นแต่ภาพของดวงดาวกับภาพของดวงอาทิตย์ ส่วนแสงสว่างนั้น เราจะเห็นเต็มภาพไปหมด ถ้าถ่ายก่อนการเกิดสุริยุปราคา ถ้าถ่ายขณะที่เกิดสุริยปราคาเต็มดวง เราก็จะเห็นภาพดวงดาว แต่ไม่เห็นแสงสว่างเลย ยกเว้นแสงของภาพดวงดาว แล้วใครจะเห็นแสงเดินทางเป็นเส้นโค้งบ้าง

       จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น สรุปได้ว่า ความเป็นจริง (Reality) ในทางวิทยาศาสตร์นี้ มีความเป็นจริง (reality) เป็นจำนวนมากเลย ที่นักวิทยาศาสตร์ได้แต่เพียง ?รู้? เท่านั้น แต่ไม่มีใคร ?เห็น?

       ยกตัวอย่างอีกสักเรื่องก็ได้

       เอาเรื่องใกล้ๆ ตัวก็ได้คือ เรื่องของคลื่นโทรทัศน์หรือคลื่นวิทยุ

       คงมีคนเป็นจำนวนน้อยมากในยุคปัจจุบันนี้ ที่ไม่เคยดูโทรทัศน์และไม่ได้ฟังวิทยุมาเลย ถ้าจะมี ก็น่าจะเป็นคนที่พิการทั้งทางตาและทางหู คือ ทั้งหูหนวกและตาบอด ถ้าเป็นคนปกติก็คงจะต้องเคยดูโทรทัศน์และฟังวิทยุกันมาอย่างแน่นอน

       ทั้งๆ ที่ได้เคยดูภาพจากโทรทัศน์และฟังเสียงจากวิทยุมาเป็นระยะกันนานๆ บางคนก็ตั้งแต่เป็นเด็กทารากจนกระทั่งแก่ ผมขอยืนยันว่า ไม่มีใครในโลกนี้ เคยเห็นคลื่นวิทยุและคลื่นโทรทัศน์ แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์เอง

       เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงภาพของคลื่นที่คล้ายๆ กับคลื่นของน้ำนั้น เป็นภาพที่เครื่องแสดงให้ดูนะครับ ไม่ใช่ภาพของคลื่นจริงๆ ในความเป็นจริง ?คลื่น? มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร นักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่รู้เหมือนกัน

       ตัวอย่างนี้ก็เช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นจริง (Reality) ในทางวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก ที่นักวิทยาศาสตร์ได้แต่เพียง ?รู้? เท่านั้น แต่ไม่ ?เห็น?

       กลับมาเข้าเรื่องเพื่อเปรียบเทียบกับสัจจะของศาสนาพุทธ

       จะเห็นได้ว่า ข้อความในพระไตรปิฎกจำนวน 45 เล่มนั้น ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นพุทธพจน์ข้อความนั้นๆ ก็คือ ความจริง (Truth) สิ่งที่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์ก็คือ ความเป็นจริง (reality) ในทางศาสนาพุทธนั้น พุทธศาสนิกชนสามารถ ?เห็น? ได้ กล่าวได้ว่า ความเป็นจริง (reality) ในทางศาสนาพุทธนั้น สามารถทั้ง ?รู้? และ ?เห็น? ได้ หรือสามารถทั้ง ?เห็น? และ ?รู้? ได้

       หลักฐานในพระไตรปิฎกมีเป็นจำนวนมากมาย ซึ่งผมมักจะยกตัวอย่างเสมอๆ ในข้อเขียนของผม สำหรับบทความนี้ก็ขอยกตัวอย่างที่แต่สั้นๆ ในส่วนที่พระพุทธทรงบรรยายเหตุการณ์ที่พระองค์บรรลุวิชชาสุดท้ายของวิชชาสาม ก่อนที่จะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณว่า

       เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้น รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ

       ข้อความที่ว่า ?รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้? ก็เป็นหลักฐานสำคัญว่า ในการพิจารณาหัวข้อธรรมะขั้นละเอียดลึกซึ้งจนถึงการบรรลุพระอรหันต์ต้องใช้การเห็นเป็นสำคัญ พูดให้ง่ายเข้าก็คือ ทั้งเห็นทั้งรู้ และก็ทั้งรู้ทั้งเห็น จะรู้อย่างเดียวโดยปราศจากการเห็นไม่ได้ เพราะ รู้อย่างนั้นไม่ใช่การรู้แจ้งเห็นจริง

       เมื่อเปรียบเทียบกับ ความเป็นจริง [reality] กับความเป็นจริงสูงสุด [ultimate reality] ของนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตกแล้ว ทั้ง 2 ประการดังกล่าวนั้น มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าไปรู้ไปเห็นได้ แต่ ความเป็นจริง [reality] กับความเป็นจริงสูงสุด [ultimate reality] ของศาสนาพุทธ พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าไปรู้ไปเห็นได้ ถ้าปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างถูกต้องและตรงทาง

       ประเด็นนี้ก็มีพระสูตรยืนยัน กล่าวคือ มีพระสูตรหนึ่ง ในขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงสอนพระสาวกอยู่ พระองค์ถามพระสารีบุตรที่อยู่ข้างๆ ว่า ?เชื่อคำสอนของพระองค์หรือไม่? พระสารีบุตรตอบกลับว่า ?ไม่เชื่อ?

       พระสาวกที่ยังไม่บรรลุพระอรหันต์ก็เริ่มส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะ อัครสาวกเบื้องขวาตอบยังงั้นได้ยังไง

       พระพุทธเจ้าก็ทรงอธิบายให้พระสาวกต่างๆ ฟังว่า ที่พระสารีบุตรกล่าวตอบอย่างนั้นน่ะถูกแล้ว เนื่องจากพระสารีบุตรเมื่อได้ฟังแล้วก็ไปปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้วก็ได้รู้แจ้งเห็นจริงตามพระพุทธองค์ กล่าวโดยทั่วๆ ไปก็ว่า พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นอย่างไร พระสารีบุตรก็รู้และเห็นอย่างนั้น พระสารีบุตรจึง ?เชื่อ? ในภายหลัง

       พระสูตรนี้ ยืนยันให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของศาสนาพุทธที่ว่า การร่ำเรียนปริยัติอย่างเดียว อย่างที่พุทธวิชาการในปัจจุบันประพฤติปฏิบัติกันอยู่นั้น ไม่สามารถได้รับ ?ปฏิเวธ? ได้เลย และความรู้ที่ได้จากการคาดคะเนบ้าง นึกเอาบ้าง อนุมาน (infer) เอาบ้าง ก็ไม่มีทางตรงกับความเป็นจริง (reality) ของศาสนาพุทธได้เลย

       นอกจากนั้นแล้ว ยังบ่งบอกถึงถึงข้อจำกัดของภาษาได้เป็นอย่างดี คือ ภาษานี่ไม่ได้หมายความว่าจะสื่อสาร ?ความเป็นจริง? ได้ ภาษาสื่อสารได้แต่มโนทัศน์ (concept) เท่านั้น เช่น ถ้าผมพูดว่า ?แมว? มาคำหนึ่ง ทุกคนที่เป็นคนไทยจะเข้าใจมาผมหมายถึงสัตว์ประเภทไหน แต่ ?แมว? ที่ผมพูดถึงนี่ ไม่ใช่หมายถึงแมวตัวหนึ่งตัวใดในโลกนี้ แต่เป็นเพียงมโนทัศน์ (concept) ของแมวเท่านั้น ดังนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟังแล้ว แต่ไม่นำไปปฏิบัติ ก็ไม่มีทางเข้าถึง ความเป็นจริง (reality) ของทางศาสนาได้

       ขอสรุปในเบื้องต้นนี้ก่อนว่า

       ข้อเท็จจริง (Fact) คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

       ความจริง (Truth) คือ ข้อความหรือภาษาที่ตรงกับข้อเท็จจริง (Fact) หรือความเป็นจริง (Reality) โดยส่วนใหญ่แล้วในทางวิทยาศาสตร์มีความเป็นจริง (Reality) เป็นจำนวนมาก ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น แสงเดินทางเป็นเส้นโค้ง หรือคลื่นวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น แต่ความเป็นจริง (Reality) ในทางศาสนาพุทธ สามารถเข้าถึงได้โดยการปฏิบัติธรรม

       ในทางศาสนาพุทธนั้น ความเป็นจริง (Reality) ยังสามารถแบ่งแยกออกเป็น 2 ลักษณะคือ สังขตะกับอสังขตะ ความเป็นจริง (Reality) ที่เป็นสังขตะนั้น คือ ความเป็นจริง (Reality) ที่ยังมีปัจจัยปรุงแต่งอยู่ จึงเปลี่ยนแปลงสภาวะไปเรื่อย คือ เป็นอนิจจัง/ทุกขัง/อนัตตา ส่วนความเป็นจริง (Reality) ที่เป็นอสังขตะคือ ความเป็นจริง (Reality) ที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ซึ่งก็คือ ความเป็นจริงสูงสุด (Ultimate reality) หรือนิพพาน

       สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในขณะที่ในทางวิทยาศาสตร์นั้น ไม่สามารถเข้าถึงได้เลยก็คือ ความเป็นจริงสูงสุด (Ultimate reality) เพราะขนาดความเป็นจริง (Reality) ยังไม่สามารถเข้าถึงได้เลย แต่พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าถึงความเป็นจริงสูงสุด (Ultimate reality) หรือนิพพานได้



ความจริง (truth) ทางวิทยาศาสตร์

       ในการหาความจริงในทางวิทยาศาสตร์นั้น นักวิทยาศาสตร์เขาไม่เคยมาตกลงกันทั้งโลกว่า เราควรมาวางแผนกันเพื่อหาความจริงทั้งโลกด้วยกัน แล้วแบ่งหน้าที่กันไป นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยกระทำเช่นนั้น

       ในทางที่เคยเป็นมาจะเป็นในลักษณะนี้ นักวิทยาศาสตร์จะแบ่งกันไปตามลักษณะความสนใจและความถนัดของตน วิทยาศาสตร์กายภาพก็แบ่งเป็นหลายพวก วิทยาศาสตร์ชีวภาพก็แบ่งเป็นหลายพวก ขนาดแพทย์เองก็ยังแบ่งออกเป็นหลายสาขา นักวิทยาศาสตร์แต่ละคนก็จะศึกษาสิ่งที่ตนเองสนใจ เมื่อศึกษาวิจัยแล้ว ก็จะบันทึกความรู้ที่ได้ไว้

       ลักษณะเช่นนั้นก็จะเป็นคล้ายกับการเล่นจิกซอว์ (Jigsaw) แต่เป็นการเล่นจิกซอว์ที่ไม่มีตัวต่อภาพที่สำเร็จรูปที่พร้อมที่จะประกอบให้เป็นภาพใหญ่ และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในหลายๆ กรณีปรากฏว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบภายหลังว่า ที่ศึกษากันไปไม่ถูกต้อง ก็ต้องมีการรื้อการศึกษานั้นทิ้งไป และเริ่มตั้งต้นการศึกษากันใหม่อีก ที่แย่สุดๆ ก็คือ ในบางครั้งยังไม่มีการศึกษา ณ ตรงนั้นมาก่อน นักวิทยาศาสตร์ก็จะระบายตัวต่อภาพจิกซอว์ใส่เข้าไปเอง โดยวิธีการอนุมานเอา

       ในการศึกษานั้น ส่วนใหญ่แล้วนักวิทยาศาสตร์จะพบข้อปัญหาก่อน แล้วจึงเริ่มลงมือศึกษา นักวิทยาศาสตร์จะต้องกำหนดทฤษฎีความรู้ไว้ก่อนว่าจะศึกษาด้วยทฤษฎีใด แล้วหาเครื่องมือมาศึกษา ในประเด็นข้อปัญหาเดียวกัน ถ้าใช้ทฤษฎีที่ศึกษาต่างกัน ผลของการศึกษาก็ออกมาแตกต่างกันไป เมื่อผลของการศึกษาหลายครั้งให้ผลสรุปที่ตรงกัน ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแล้ว จึงมาตั้งเป็นกฎ (Law) เช่น กฎของแรงโน้มถ่วงของนิวตัน เป็นต้น

       ในตัวทฤษฎีนั้น มีนักวิชาการให้ความหมายไว้ดังนี้

       Feigl (cited in Griffiths, 1978) กล่าวว่า ทฤษฎี หมายถึง ข้อความที่ประกอบด้วยชุดของข้อตกลงเบื้องต้น (assumptions) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นหลักการหรือคำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้

       Fawcett and Downs (1986) กล่าวว่า ทฤษฎี หมายถึง ข้อความที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างหลักการ (principles) หรือมโนทัศน์ (concept) ซึ่งสามารถใช้สำหรับอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้

       Webster?s New World Dictionary (1984, p. 1475) กล่าวว่า ทฤษฎีเป็นข้อความที่แสดงหลักการทั่วไปซึ่งพัฒนามาจากความสัมพันธ์เชิงประจักษ์ของสิ่งที่สามารถสังเกตได้ในระดับหนึ่ง (แต่ยังไม่สามารถสังเกตยืนยันได้อย่างสมบูรณ์) เพื่อใช้สำหรับอธิบาย ปรากฏการณ์เฉพาะต่างๆ

       จะเห็นได้ว่า ทฤษฏีนั้นก็คือ ?ข้อความ? ซึ่งจะตรงกับความเป็นจริง (Reality) หรือไม่ก็ไม่อาจรู้ได้ เพราะ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย อันที่จริงแล้ว กฎ (Law) ในทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความแน่นอนมากกว่าทฤษฎียังถูกล้มล้างด้วยทฤษฎีใหม่ๆ เยอะแยะไป อย่างเช่น กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตันถูกล้มล้างไปโดยทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์เป็นต้น

       จากเหตุผลและหลักฐานดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ทฤษฎีและความรู้จากทางวิทยาศาสตร์จึงพร้อมที่จะมีการแก้ไขได้ตลอดเวลา ไม่ว่าทฤษฎีของใคร แม้กระทั่งทฤษฎีของไอน์สไตน์เอง ก็พบว่า ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จะมีความรู้ที่ก้าวหน้าไปกว่ากรอบทฤษฎีของไอน์สไตน์แล้ว

       เมื่อกล่าวเฉพาะถึงตัวของไอน์สไตน์เอง ไอน์สไตน์ก็ไม่ใช่เป็นคนที่ไม่มีข้อผิดพลาด ข้อสันนิษฐานของไอน์สไตน์หลายเรื่องเลยก็ผิดพลาด เช่น ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะส่งดาวเทียมฮับเบิ้ลขึ้นไปถ่ายรูปเอกภพ (universe) ได้ ไอน์สไตน์เชื่อว่า เอกภพของเราคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อพบว่า ภาพถ่ายจากดาวเทียมฮับเบิ้ลยืนยันว่า เอกภพขยายตัว ไอน์สไตน์จึงเปลี่ยนทัศนคติ

       อีกประเด็นหนึ่งก็คือ เมื่อจันทรุเสกขรร นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดีย ใช้สูตรของไอน์สไตน์คำนวณได้ว่า ถ้ามีดวงอาทิตย์ที่ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 500 เท่า เกิดแรงดึงดูดภายในมากเข้าก็จะยุบตัวลงไป จนกระทั่งเอกภพเป็นรูโหว่ และมีแรงดึงดูดมหาศาล ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านไป จะถูกดูดเข้าไป แม้กระทั่งแสงก็ไม่สามารถหลุดออกมาได้ จันทรุเสกขรรได้ตั้งชื่อสิ่งนี้ว่าหลุมดำ (Black hole)

       เมื่อคำนวณได้เช่นนั้น จันทรุเสกขรรได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาไอน์สไตน์ ไอน์สไตน์กล่าวว่า เป็นไปได้ทางคำนวณเท่านั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ในทางกายภาพ จันทรุเสกขรรได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับเซอร์เอ็ดดิงตัน ก็ได้คำตอบในลักษณะเดียวกัน แต่จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า เรื่องหลุมดำเป็นความจริง ในเอกภพของเรามีเป็นจำนวนมาก เฉพาะในกาแลกซี่ทางช้างเผือกของเราเองก็มีเป็นจำนวนมาก

       จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นว่า ความจริงทางวิทยาศาสตร์นั้น เป็นข้อความที่ตรงกับความเป็นจริง (Reality) ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่มีโอกาสที่จะพบความเป็นจริงเช่นนั้นได้ ดังนั้น ทฤษฎีและกฎทางวิทยาศาสตร์จึงไม่สามารถยืนยันได้อย่างแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ว ่า เป็นความจริง (truth) ที่ตรงกับ ความเป็นจริง (Reality) แล้ว และจากการศึกษาประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา พบว่า ทฤษฎีและกฎขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด

       เมื่อเปรียบเทียบกับองค์ความรู้ของศาสนาพุทธแล้ว จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสเสมอๆ ว่า พระองค์ค้นพบอริยสัจแล้ว ซึ่งอริยสัจนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับศัพท์ของปรัชญาและวิทยาศาสตร์ก็คือ ความจริง (truth) ที่ตรงกับ ความเป็นจริงสูงสุด (Ultimate Reality) ส่วนคำสอนอื่นๆ ที่เป็นสมมุติบัญญัติ เช่น การเวียนว่ายตายเกิด นรก สวรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับวิชชา 2 วิชชาแรกที่พระองค์ตรัสรู้คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ และจุตูปปาตญาณ [1] นั้นก็คือ ความเป็นจริง (Reality) สิ่งที่แตกต่างอย่างยิ่งระหว่างองค์ความรู้ของปรัชญาและวิทยาศาสตร์กับศาสนาพุทธก็คือ ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ไม่สามารถทำให้มนุษย์เข้าถึง ความเป็นจริง (Reality) กับ ความเป็นจริงสูงสุด (Ultimate Reality) ได้ แต่ในทางศาสนาพุทธทำได้โดยการปฏิบัติธรรม



สัจจะของศาสนาพุทธ

       เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนธัมมจักกัปปวัตนสูตรให้กับปัจจวัคคีย์ พระองค์ยืนยันว่าพระองค์ค้นพบสัจจะแล้ว และเป็นอริยสัจอันเป็นความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว นอกจากนั้น พระองค์ยังบอกวิธีที่จะเข้าไปรู้และเห็นความเป็นจริง (Reality) และความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality) อีกด้วย

       ดังนั้น เรื่องนรก สวรรค์ พรหม อรูปพรหม นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์กายละเอียดต่างๆ เช่น ยักษ์ พญานาค เป็นต้น ก็คือ ความเป็นจริง (Reality) ส่วนนิพพานก็คือ ความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality)

       พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องเวลาก็เพราะทรงต้องการอธิบายให้เห็นว่า ภพภูมิต่างๆ นั้น ช่วงระยะเวลาไม่เท่ากัน แต่พระองค์ไม่ได้ทรงบอกสูตรให้มาคิดคำนวณว่า แต่ละภพภูมิจะแตกต่างกันอย่างไร

       พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องจักรวาล/เอกภพว่ามีมากมายมหาศาลหรือเป็นอนัตตจักรวาล แต่พระองค์ก็ไม่เคยทรงอธิบายเรื่องบิกแบง (Big bang) หรืออธิบายว่า ในขณะนี้อยู่ในช่วงของบิกแบงก์ (Big bang) ไหน และ บิกแบงก์ (Big bang) ต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

       จะเห็นได้ว่า ความจริงของนักวิทยาศาสตร์นั้น เป็นความจริงทางกายภาพ ตาของนักวิทยาศาสตร์มองได้ไกลขนาดไหน ความรู้ก็ไปขนาดนั้น ความรู้สมัยปัจจุบันมักจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเครื่องมือที่ทำให้เห็น เช่น กล้องโทรทัศน์ เป็นต้น ส่วนสัจจะของศาสนาพุทธนั้น ต้องศึกษาเข้าไปข้างในจิตของตนเอง วิธีการศึกษาก็ต่างกัน ผลการศึกษาของต่างกัน แต่ความจริงบางอย่างอาจจะสอดคล้องกันได้ ในเมื่อทั้งศาสนาและวิทยาศาสตร์ รวมถึงปรัชญาก็ต้องการค้นพบความจริงทางธรรมชาติเดียวกัน



สมมุติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ

       พุทธวิชาการจำนวนมากเลยทีเดียว นำคำทั้งสองคำข้างต้นมาอธิบายพระไตรปิฎกกันอย่างมากมาย ราวกับว่า คำทั้งสองคำนั้นเป็น ?ความหมาย? ที่มีอยู่ดั้งเดิมพุทธเถรวาท แต่ความเป็นจริงแล้ว คำทั้งสองคำข้างต้น ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎก และไม่จำเป็นจะต้องนำคำทั้งคู่เข้ามาอธิบาย เพราะ คำต่างๆ ในพระไตรปิฎก เช่น สังขตะ อสังขตะ สมมุติบัญญัติ ปรมัถตบัญญัติ สัจจะ อริยสัจ เป็นต้น ก็เพียงพอแล้วที่จะอธิบายว่า สัจจะในทางพุทธศาสนาเป็นเช่นไร

       เมื่อในทางพุทธเถรวาทมีคำเพียงพอที่จะอธิบายเนื้อความของพระไตรปิฎกแล้ว ทำไมพุทธวิชาการจะต้องนำคำทั้งสองเข้ามาใช้ในการอธิบายพระไตรปิฎกด้วย?

       เหตุผลหรือคำตอบก็มีง่ายๆ ครับ เพื่อต้องการอธิบาย/ตีความให้เป็นไปตามความคิด/ความเชื่อของพุทธวิชาการ ที่หันไปสมาทานหรือเชื่อวิทยาศาสตร์ คำที่มีในพระไตรปิฎกไม่สามารถอธิบายให้คนเราเกิดมาเพียงชาติเดียวได้ ไม่สามารถอธิบายให้นิพพานเป็นอนัตตาหรือสูญหายไปได้ จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องนำศัพท์ใหม่เข้ามาช่วย

       ข้อความที่พุทธวิชาการใช้อธิบายที่พบเห็นได้โดยทั่วไปก็เช่น ?สภาวะของพ่อแม่ลูกนี้เป็นความจริงโดยสมมุติ หรือเป็นสมมุติสัจจะ เมื่อพิจารณากันในทางความจริงแท้หรือปรมัตถสัจจะแล้วไม่เป็นความจริง? เป็นต้น

       ข้อความที่อธิบายดังกล่าวนั้น ผิดพลาดคลาดเคลื่อนโดยสิ้นเชิง โดยผมมีคำอธิบายประกอบดังนี้

       1) จากหลักการของทางภาษาศาสตร์



ด้านโครงสร้างของคำ

       คำว่า สมมุติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ เมื่อพิจารณาด้านโครงสร้างของคำแล้ว คำว่า ?สัจจะ? เป็นคำนามหลัก แล้วนำคำว่า ?สมมุติ? กับ ?ปรมัตถ? มาขยายจึงเกิดเป็น 2 คำขึ้นมา จะเห็นว่า ความสำคัญและน้ำหนักอยู่ที่คำว่า ?สัจจะ? ดังนั้น ในทางภาษาศาสตร์ทั้งสมมุติสัจจะกับปรมัตถสัจจะต้องเป็นความจริงทั้งคู่ เป็นความจริงโดยสมมุติประเภทหนึ่ง และเป็นความจริงโดยปรมัตถอีกประเภทหนึ่ง ไม่ใช่ว่า ปรมัตถสัจจะคือ ความจริงแท้ ส่วนสมมุติสัจจะคือ ความไม่จริง



ด้านความหมายของคำ

       คำว่าสมมุตินี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 กล่าวว่าเขียนได้ 3 แบบคือ สมมต, สมมติ, และสมมุติ และให้ความหมายไว้ดังนี้

ก. รู้สึกนึกเอาว่า เช่น สมมติให้ตุ๊กตาเป็นน้อง

ว. ที่ยอมรับตกลงกันเองโดยปริยาย โดยไม่คำนึงถึงสภาพที่แท้จริง เช่น สมมติเทพ.

       ความหมายนั้นของคำว่าสมมุติดังกล่าวไม่ตรงกับความหมายในพระไตรปิฎกนัก ความหมายของคำว่า สมมุติในพระไตรปิฎกก็คือ ข้อตกลงที่จะให้เรียกกันเช่นนั้น พูดง่ายก็คือ ความจำเป็นทางภาษาที่จะต้องตั้งชื่อหรือกำหนดให้ ไม่อย่างนั้นก็สื่อสารกันไม่ได้

       ในพระไตรปิฎกจึงมี สมมติบัญญัติกับปรมัตถบัญญัติ ไม่เคยมี สมมุติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ ไม่ใช่ว่า สมมติบัญญัติเป็นของไม่จริง ส่วนปรมัตถบัญญัติเป็นของจริง สมมติบัญญัติทั้งหมดยังถูกปัจจัยปรุงแต่งอยู่ จึงตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ เป็นอนิจจัง/ทุกขัง/อนัตตา ส่วนปรมัตถบัญญัติ 4 ประการคือ จิต เจตสิก รูป นิพพานนั้น จิต เจตสิก รูปยังคงถูกปัจจัยปรุงแต่งอยู่ ส่วนนิพพานนั้นพ้นเหตุแห่งปัจจัยปรุงแต่งแล้ว จะเห็นว่า สมมติบัญญัติกับปรมัตถบัญญัติไม่เกี่ยวกับความจริงหรือความไม่จริงแต่อย่างใด

       2) จากหลักการของตรรกวิทยา

              คำอธิบายที่ว่า ?สมมุติสัจจะถ้าพิจารณาในแง่ของปรมัตถสัจจะแล้ว สมมุติสัจจะไม่จริงนั้น? ไม่สมเหตุสมผลในตัวคำอธิบายเอง

              2.1) พิจารณาอย่างหยาบๆ เลย ก็เป็นว่า สมมุติสัจจะก็ควรจะพิจารณากันในแง่ของสมมุติสัจจะทำไมจะต้องไปเอาปรมัตถสัจจะมาพิจารณา ขอให้ผู้เขียนลองเขียนวงกลมวงใหญ่ 1 วง ซึ่งกำหนดให้เป็นวงของสัจจะ หลังจากนั้นก็เขียนวงกลมเล็กอีก 2 วง ไม่ให้เกี่ยวข้องกัน วงหนึ่งเป็นของสมมุติสัจจะ อีกวงหนึ่งเป็นของปรมัตถสัจจะ ที่เขียนเป็นวงกลม 2 วงไม่เกี่ยวข้องกันก็เพราะว่า ผู้ที่อธิบายข้อความข้างต้นนั้น มีหลักการว่า สมมุติสัจจะกับปรมัตถสัจจะไม่เกี่ยวข้องกัน

       เมื่อเป็นวงกลมคนละวงกัน ทำไมจะต้องเอาปรมัตถสัจจะมาเป็นตัวกำหนดว่าสมมุติสัจจะจริงหรือไม่จริง

              2.2) อธิบายให้ละเอียดลงไปอีก ขอยกตัวอย่างดังนี้ มีครอบครัวหนึ่งคือ นายแดง นางดำ มีลูกชื่อนายขาว นายขาวโตขึ้นก็บวชจนบรรลุพระอรหันต์เข้าสู่ขอบเขตของปรมัตถสัจจะ ดังนั้น ถ้าข้อความข้างต้นเป็นจริงคือ ?สมมุติสัจจะถ้าพิจารณาในแง่ของปรมัตถสัจจะแล้ว สมมุติสัจจะไม่จริงนั้น? พระอรหันต์ขาวก็ไม่ต้องทำบุญหรืออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับนายแดงกับ นางดำเลย แต่ปรากฏว่า ในพระสูตรมีข้อความเป็นจำนวนมาก ที่พระอรหันต์ต้องไปช่วยบิดามารดาของตนเอง แม้กระทั่งหลายๆ ชาติที่ผ่านมาแล้ว ดังเช่นกรณีของพระสารีบุตร เป็นต้น

       ในกรณีเช่นนี้ ถึงแม้บุคคลจะพัฒนาตนเองจนหลุดพ้นขอบเขตของสมมุติสัจจะไปแล้ว สมมุติสัจจะก็ยังเป็นความจริงอยู่ แต่เป็นความจริงที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงตามหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเท่านั้นเอง

       จากหลักฐานดังกล่าวจะเห็นว่า ข้อความที่ว่า ?สมมุติสัจจะถ้าพิจารณาในแง่ของปรมัตถสัจจะแล้ว สมมุติสัจจะไม่จริงนั้น? ไม่สมเหตุสมผลแต่ประการใด ผู้เขียนหรือผู้กล่าวข้อความดังกล่าว ตกอยู่ในความครอบงำของศาสตร์ตะวันตก คิดว่าตายแล้วเกิดชาติเดียว นรก-สวรรค์ไม่มี การเวียนว่ายตายเกิดไม่มี ก็พยายามที่จะอธิบายให้เข้ากับความเชื่อ/ความเห็นของตนเท่านั้น



คำอธิบายเพิ่มเติม

       ผู้เขียนขออธิบายสมมุติสัจจะที่เป็นความจริงให้เห็นดังนี้คือ เรื่องเวลา เวลานี่มนุษย์สมมุติขึ้นมา เพราะ นักวิทยาศาสตร์เองยังไม่รู้ว่า บิกแบง (Big Bang) นั้นเกิดแน่ๆ เมื่อไหร่ ได้แต่ประมาณเอาเท่านั้น ดังนั้น เวลาในโลกจึงเป็นการสมมุติขึ้น แต่จะเห็นได้ว่า เวลานั้นเป็นความจริง เพราะ เมื่อเรานัดกับเพื่อนว่า จะเป็นเจอกันกี่โมง เมื่อเราไปตามนัดเราก็จะเจอเพื่อน ถ้าเรื่องเวลาซึ่งเป็นเรื่องสมมุติแท้ๆ ไม่จริง เราก็ไม่มีทางที่จะพบเพื่อนได้

       ขอยกตัวอย่างที่เป็นวิทยาศาสตร์สักนิด

       กระสวยอวกาศ ยานอวกาศ หรือดาวเทียมต่างๆ นักวิทยาศาสตร์สามารถส่งขึ้นไปทำงานตามความต้องการได้ และกลับมายังโลกได้อย่างถูกต้อง ตรงกับเวลาที่กำหนดไว้ ถ้าเวลาเป็นเรื่องไม่จริง ยานอวกาศก็จะไปไม่ถึงจุดหมายหรือกลับมาโลกไม่ได้แน่

       ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งก็คือ ค่าของเงินในธนบัตร จะเห็นว่า ธนบัตรต่างๆ ขนาดกระดาษก็เท่าๆ กัน กระดาษก็เป็นชนิดเดียวกัน เมื่อกำหนดค่าโดยสมมุติให้ไปแล้ว กลับมีค่าที่แตกต่างกันไป ธนบัตรใบละ 500 กับธนบัตรใบละ 1000 มื่อนำไปแลกสินค้าก็ได้ปริมาณและคุณค่าของสินค้าที่แตกต่างกันไป ถ้าเรื่องสมมุตินี้ไม่จริง เราจะใช้เงินไปซื้อของได้อย่างไร

       จะเห็นได้ว่า คำว่า ?สมมุติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ? นั้น ไม่จำเป็นจะต้องนำมาใช้อธิบายศาสนาพุทธเลย เพราะ เรามีคำเพียงพอที่จะอธิบายแล้ว พุทธวิชาการนำเข้ามาเพราะต้องการจะอธิบายให้ศาสนาพุทธมีเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง



สรุป

       ความจริงของวิทยาศาสตร์กับสัจจะของศาสนาพุทธไม่มีได้เป็นเรื่องเดียวกัน ถึงแม้จะมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการหาความจริงของธรรมชาติเช่นเดียวกัน แต่ระดับของความจริงที่ค้นหานั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่มีเนื้อหาในพระไตรปิฎกกล่าวไว้เลยว่า ความจริงที่พระพุทธองค์ทรงค้นหานั้น มีความคล้ายคลึงหรือสอดคล้องกับความจริงของปรัชญาตะวันตกและวิทยาศาสตร์ เท่าที่ศึกษาได้นั้น วิธีทางในการเสาะหาความจริงของพระพุทธองค์แตกต่างกับวิทยาศาสตร์และปรัชญาตะ วันตกโดยสิ้นเชิง พุทธวิชาการที่พยายามโยงว่า ความจริงของศาสนาพุทธกับวิทยาศาสตร์เก่านั้น ไม่กล้าเขียนหนังสือในทำนองนี้ออกมาแล้วอีกแล้ว เพราะ วิทยาศาสตร์เก่าถูกฟิสิกส์ตีตกไปแล้ว พุทธวิชาการยุคฟิสิกส์ใหม่ ก็เริ่มเดินทางผิดเช่นเดียวกัน เพราะพยายามโยงว่า ความจริงของศาสนาพุทธกับฟิสิกส์ใหม่นั้น เป็นความจริงเดียวกัน



อ้างอิง

       [1] วิชชาสองในวิชชาสามที่พระพุทธเจ้าบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มีการเวียนว่ายตายเกิดจริง มีนรกสวรรค์จริง โปรดดูรายละเอียดด้านล่าง



บุพเพนิวาสานุสสติญาณ

       เรานั้น ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกชาติได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัลป์ เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพโน้นนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพโน้นนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็น อันมาก พร้อมทั้งอุเทส พร้อมทั้งอาการ



จุตูปปาตญาณ

       เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควร แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เข้าถึงตามกรรมว่า หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือว่าหมู่สัตว์ผู้เกิด เป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการดังนี้

       จะเห็นได้ว่า ถ้าเราเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง พระองค์ตรัสรู้อริยสัจ 4 จริง และพระองค์ตรัสเฉพาะวาจาที่จริงและเป็นประโยชน์ เราก็ต้องเชื่อว่า นรก สวรรค์ พรหม อรูปพรหม การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง ซึ่งในประเด็นนี้ จะเห็นว่า พุทธวิชาการเลือกเชื่อในพระไตรปิฎกแต่เพียงบางอย่างเท่านั้น และเลือกเชื่อน้อยมาก เพราะ ตัดเรื่องที่ไม่มีเหตุผลในความคิด/ความเชื่อของตนออกไป พวกพุทธวิชาการเห็นว่า พระพุทธเจ้าก็เป็นเพียงนักปรัชญาคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เชื่อว่า พระพุทธองค์มีความสามารถเหนือมนุษย์ดังที่เขียนไว้ในพระไตรปิฎก

       พุทธวิชาการจึงสอนและเผยแพร่ออกไปว่า อิทธิปาฏิหาริย์ นรก สวรรค์ไม่มีจริง พวกที่เชื่อก็ไปตีความต่อว่า บุญบาปไม่มีจริง ไม่สามารถติดตัวไป ส่งผลให้ได้ดีหรือได้ชั่วในชาติหน้าและชาติต่อๆ ไปได้ สังคมไทยจึงมีคนที่มีอาชีพการงานในระดับสูง โกงกินชาติกันอย่างมหาศาลก็ด้วยคำสอนของพวกพุทธวิชาการทั้งหลายนี่แหละ



บรรณานุกรม

- Griffiths, D.E. 1978. Administrative Theory. Bombay: Prentice-Hall, Inc.

- Fawcett, J., and Downs, F.S. The Relationship of Theory and Research. Connecticut: ACC.

- Guralnik, D.B. 1984. Webster?s New World Dictionary. New York: Simon & Schuster.

 มนัส โกมลฑา
Ph.D. (Integrated Sciences/สหวิทยาการ)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
นครราชสีมา



cmman573

  • บุคคลทั่วไป

บาป บุญมีจริงครับ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

pass07

  • บุคคลทั่วไป

ใช้หลักการณ์    มีเหตุ ต้องมี ผล   เป็นความจริง ที่ไม่ต้องค้นหา  ;khhg ;khhg


    วิทยาศาสตร์ กับ ศาสนาพุทธ มีแนวทางที่เหมือนกัน        ครับ 

mormor1973

  • บุคคลทั่วไป

เรื่องมันยาว  อีกนานกว่าป๋มจะเข้าถึง ljhg

Lostman133

  • บุคคลทั่วไป

ผมคงอีกนาน กว่าจะบรรลุ

kalam

  • บุคคลทั่วไป

เห็นด้วยครับ หนังสือพวกนี้จับแพะชนแกะ  0okl

kaka123

  • บุคคลทั่วไป

อย่างไรน่าศึกษานะครับ อยากพิสูจน์ ในกาลามสูตรของสมเด็จพระชินวรบรมศาสดาตรัสว่าไม่ควรเชื่ออะไรง่ายจนกว่าจะพิสูจน์ว่าเป็นจริงตามนั้น
ลองพิสูจน์ดูครับ  pongz etewt


http://www.watthasung.com/wat/viewthread.php?tid=453

Nobody

  • บุคคลทั่วไป

อย่างไรน่าศึกษานะครับ อยากพิสูจน์ ในกาลามสูตรของสมเด็จพระชินวรบรมศาสดาตรัสว่าไม่ควรเชื่ออะไรง่ายจนกว่าจะพิสูจน์ว่าเป็นจริงตามนั้น
ลองพิสูจน์ดูครับ  pongz etewt


http://www.watthasung.com/wat/viewthread.php?tid=453

คุณเป็นศิษย์วัดท่าซุงเหรอครับ .,mn

shinpe uhah

  • บุคคลทั่วไป

นานาจิตตังครับงานนี้ เหอะๆๆๆ ขอบคุณครับ