-->

ผู้เขียน หัวข้อ: การห้ามจิตคิดชั่วเป็นไปไม่ได้ ต้องห้ามจิตไม่ให้คิดคล้อยตาม  (อ่าน 957 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

lonely boy

  • บุคคลทั่วไป

--------------------------------------------------------------------------------

การห้ามจิตคิดชั่วเป็นไปไม่ได้ ต้องห้ามจิตไม่ให้คิดคล้อยตาม

โดยท่านจิตโต (บ้านตลิ่งชัน)







การ เจริญพระกรรมฐานในช่วงนี้ .............. สิ่งที่พระท่านแนะนำมา ก็ต้องการให้เธอทุกคน ตั้งใจที่จะรักษาใจตน มากกว่าไปพะวงที่จะไปรักษาใจใคร นักปฏิบัติก็ใช้อิทธิบาทสี่ เรียกว่ามีใจพึงพอใจ ฉันทะ..พอใจ วิริยะ...คือความขยันขันแข็ง ที่จะทำให้เกิดผลในสิ่งที่ตนตั้งมั่น จิตใจก็ใจจดใจจ่อ พยายามใคร่ครวญในสิ่งที่ตนปฏิบัติเสมอว่าถูกหรือว่าผิด สิ่งนี้ควรจะต้องมีกับเธอทุกคนอยู่แล้ว เพราะว่าบุคคลใดที่มีอิทธิบาทสี่ บุคคลนั้นก็สามารถจะถึงผลของความสำเร็จในการปฏิบัติได้

แต่เรามี อีกคำคำหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกับอิทธิบาทสี่ โดยเฉพาะคำว่า "เอาใจใส่" ถามว่า "ใจจดใจจ่อแล้ว ยังต้องเอาใจใส่ด้วยรึ?" คำว่าใจจดใจจ่อ มันไม่ยอมให้สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำคลาดเคลื่อนไปจากจิต แต่การที่เราเอาใจใส่ มันหมายถึงว่าเราตั้งใจดูแลรักษาใจเรา อุปมา เหมือนกับเธอเอาใจใส่ใครคนใดคนหนึ่ง คอยดูแลว่าเค้าต้องการอะไร แต่ไม่ใช่ว่าเราจะนั่งใจจดใจจ่อจ้องมองดูว่าบุคคลผู้นั้นต้องการอะไร .....เขาต้องการน้ำมั้ย เขาต้องการอาหารมั้ย เขาต้องการพัดลมมั้ย...เพราะร้อน เขาต้องการของเย็นมั้ย ต้องการสิ่งโน้นสิ่งนี้ เราก็คอยตั้ง นั่งหน้า..มอง...จ้องมอง...เพ่งมองอยู่อย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่า "ใจจดใจจ่อ" ไม่ยอมไปทำอย่างอื่น แต่ถ้าคำคำว่า "เอาใจใส่" ก็คือว่า คอยดู แต่มันก็ยังทำกิจของตนอยู่ มันเป็นธรรมชาติ ที่ไม่ได้นั่งใจจดใจจ่อขนาดนั้น คำว่า "เอาใจใส่" ภาษาบาลีเค้าหมายความว่ากระไร? ....."โยมนสิการ" น่ะนะ ... ถ้าจำไม่ผิด

องค์ สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสแนะนำพระภิกษุไว้ ว่าเธอทั้งหลาย จงมีใจที่จะ "เอาใจใส่" ดูแลในการปฏิบัติของตน ประดุจดัง ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ได้ดูแลในอุทร คือลูกของตนฉันนั้น .... ฟังแล้วยังงงมั้ย?

ยก ตัวอย่างง่าย ๆ ก็แล้วกันนะว่า ใจเราคิดอะไรเรารู้ ไม่มีใครรู้ดีเท่าตัวเรา เวลานี้อารมณ์เป็นสุขหรือเป็นทุกข์เราก็รู้ ใครก็ไม่รู้ดีเท่าเรา เราคิดเรื่องอะไรที่ใจเราเป็นทุกข์เราก็ทราบ ใครก็ไม่สามารถมารู้ในสิ่งที่เราคิดอยู่ แต่เราจะแก้ไขใจเราไม่ให้มันคิด ไม่ให้มันพูด ไม่ให้มันมีอารมณ์ที่เป็นทุกข์เราจะทำยังไง ก็บุคคลที่มีอิทธิบาทสี่ เขาก็จะไม่ปล่อยใจของเขานั้นไปในทางอื่นเลย เรียกว่าใจจดใจจ่อตั้งมั่น แสวงหาความสงบให้จิตของตนสงบอยู่เนือง ๆ เป็นปกติ พยายามที่จะไม่คิดวุ่นวายในเรื่องของใคร ไม่สนจริยาของใคร ไม่เพ่งโทษใคร ไม่เอาเรื่องของใครมาคิดให้วุ่นวายใจ คิดแต่เรื่องของตนอย่างเดียว ทำกิจของตนที่ต้องทำ เพราะใจของตนยังไม่ถึงที่สุด ก็ยังต้องปฏิบัติอยู่ ก็จะทำสิ่งนี้สิ่งเดียวเป็นอารมณ์เดียว

แต่ถ้าเราเอาใจใส่ มันก็หมายถึงว่า คอยดูแลว่าใจของเราเวลานี้ มันคิดดีก็ไม่เป็นไร คิดดีก็ปล่อยให้เขาคิดไป คิดแล้วเขามีความสุขก็ไม่เป็นไร ยังไม่สร้างโทษ แต่ถ้าเขาคิดไม่ดี เราต้องเริ่มที่จะคอยพูดคอยอธิบายให้เราเองนั่นแหละ ไม่ใช่ใครหรอก เข้าใจว่าสิ่งที่กำลังคิดอยู่น่ะมันสร้างใจให้เราเป็นโทษเป็นทุกข์ ทำให้เราไม่สบายใจ ควรคิดซะใหม่ ทีนี้ถ้ามันคิดไม่ได้ในเวลานั้นทำยังไง ....... ก็ทุกข์ใจต่อไป

เอาล่ะ! ... เรื่องนี้ก็พักไว้ ก็จะไม่ขอพูดต่อล่ะนะ เพราะว่าทุกคนต้องรู้ตนอยู่แล้วว่า พึงต้องทำอะไรเพื่อรักษาใจตนให้เป็นสุข ใครเขาจะมาเตือนมาบอกนั้นเป็นเรื่องที่ยาก โอกาสที่เขาจะมาพูดเตือนเรานั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเวลาวันนึงคืนนึง เราอยู่กับตัวเรามากกว่าที่จะไปอยู่กับใคร ใครเขาจะมีเวลามาคอยตักเตือนเราจ้ำจี้จ้ำไชเราตลอดเวลา มันเป็นไปได้ยากมาก เวลาของเรามันมีอยู่มากกับตัวตน เราถึงต้องพยายามทำใจของเราทุกขณะที่คอยระมัดระวังใจตนเองไม่ให้คิดชั่ว แต่เราก็รู้ว่าการคิดชั่วเราห้ามมันไม่ได้ แต่การห้ามคิดชั่วคืออย่าคิดต่อไป อย่าเห็นว่าสิ่งที่มันคิดชั่วนั่นน่ะเป็นของดี พูดอย่างนี้เข้าใจมั้ย

คือ เราน่ะ มันคิดชั่วน่ะมันมีแน่นอน ถูกมั้ย? มันต้องคิด มันต้องพลาดคิดแน่นอน มันคิดดีตลอดทั้งวันน่ะมันเป็นไปไม่ได้หรอก โอกาสที่มันไปคิดเรื่องอื่นที่ทำให้ใจเราเป็นทุกข์น่ะมันมีแน่นอน เราจะห้ามไม่ให้มันไม่เกิดขึ้นเลย มันต้องเกิดขึ้นไม่ได้ ทุกขณะจิตมันจะต้องคิดดีอย่างเดียว ถ้ามันเริ่มคิดไม่ดี เอ็งจะต้องถูกขัง!!! ... หมายถึงว่าถูกกดเอาไว้ด้วยสมาธิ ไม่ยอมให้ปล่อยใจไปเรื่องอื่นเลย นี่ก็เป็นการฝืนความเป็นจริงไป ถามว่าดีมั้ยที่ทำอย่างนี้ ก็ดี แต่มันยังดีไม่หมด

แต่ที่พระ พุทธเจ้าทรงตรัสว่าอย่าคิดชั่วนั้นหมายความว่า ความคิดมันห้ามไม่ได้ แต่เราอย่าเอาความคิดที่มันคิดชั่วน่ะ คิดต่อไป อย่าไปปรุงแต่งมันต่อไป อุปมาเหมือนดั่งว่า เค้าพูดไม่ดี ก็อย่าไปยินดีกับเขา อย่าไปคล้อยตามเขา ถ้าเราไปคล้อยตามในสิ่งที่เขาพูดไม่ดี ทำไม่ดี เท่ากับเราโมทนากับเขา เขาไปนรกเราก็ไปนรกด้วย ......พอเข้าใจมั้ย

งั้นสิ่งใดก็ตามที่มัน เกิดขึ้นในใจเราทั้งดีและชั่วมันต้องเกิดแน่นอน เธอไม่มีทางที่จะไปบังคับให้มันเอาแต่ดีอย่างเดียว ที่มันจะคิดชั่วมันจะคิดไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ยังมีร่างกาย สิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตราบใดที่ร่างกายยังมีอยู่ อารมณ์ใจของเธอก็จะมีที่เป็นไปทางดีและทางชั่วตลอดเวลา แต่ผู้ปฏิบัติเนี่ย เขาไม่คล้อยตามอารมณ์ใจที่คิดชั่ว ไม่ปรุงแต่งตามมันไป รู้ทันทีว่าเวลานี้ใจมันเริ่มคิดไม่ดี เขาก็เริ่มแก้ไขใจของเขาทันที ไม่ยอมที่จะปรุงแต่งคิดตามมันไปว่า เออ!!! จริงว่ะ ถูกว่ะ ใช่ว่ะ คิดไปเรื่อย ๆ ๆ ๆ ๆ จนไม่รู้มันจะไปจบเอาตรงไหน นอกจากสร้างความทุกข์ให้กับใจแล้ว ก็ยังสร้างความทุกข์ให้กับใจคนอื่นที่อยู่ใกล้ตัวเราไปด้วย

หนัก เข้ามันก็จะกลายเป็น "โทสะ" แสดงส่งออกมาทางวาจาแล้วก็การกระทำ มันก็กลายเป็นกรรม เค้าเรียกว่า "วจีกรรม" "กายกรรม" ส่วนมโนกรรมน่ะเกิดแล้ว มันเกิดที่ใจของเราแล้ว ใครไม่รู้หรอก แต่เราน่ะรู้แล้วว่าเกิดขึ้นแล้ว เป็นมโนกรรมคือกรรมชั่วที่เกิดขึ้นในใจของเราที่เราไม่ยอมหยุดความคิด ไม่ยอมตักเตือน อุปมาเหมือนกับพ่อแม่เลี้ยงลูก ถ้าลูกทำชั่ว เออ!! ดีลูก แถมยังช่วยลูกทำมันต่ออีก ทำอย่างนี้สิลูก ทำอย่างนี้สิลูก หาช่องหาทางให้ลูกเสร็จ แต่ถ้าลูกกำลังทำความชั่ว เราบอก... ไม่ได้ หยุดนะลูก อย่าทำอย่างนี้นะไม่ดี อย่าทำอย่างนั้นนะไม่ถูก อย่างนี้แหละเค้าเรียกว่า ห้ามใจคิดชั่ว ที่ทรงตรัสว่า อย่าคิดชั่ว ไม่ใช่ความคิดมันเกิดมาไม่ได้ แต่มันเกิดแล้ว เราอย่าคิดมันต่อไป มันปรุงแต่งเกิดขึ้นเพราะสังขารเราแปรปรวน มันปรุงแต่งขึ้นเพราะกรรม .... มันเกิดแน่ มันจะปรุงแต่งเพราะด้วยเหตุอะไรที่ความรู้ยังไม่ครบก็ได้ แต่ไม่ว่ามันจะเกิดการปรุงแต่งขึ้นในความคิดของเธอด้วยเหตุอันใดก็ตาม พระพุทธเจ้าสอนให้เรานั้นหยุดยั้งมันเสีย อย่าคิดตามต่อไป

นี่คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน สอนให้เราหยุดที่จะคล้อยตามไป ให้สักแต่ว่ารู้อยู่ว่า นี่มันเกิดแล้ว สิ่งนี้มันเกิดความคิดแบบนี้ เราต้องแก้ไข เราต้องพูดอธิบายภายในใจตนว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ ไม่ควรคิดอย่างนี้ คิดอย่างนี้ไม่ถูก ลองนิ่ง ๆ สิ ลองคิดใหม่สิ เราก็ฝึกใจที่จะหยุดใจให้มันหยุดนิ่ง ๆ เดี๋ยวมันก็คิดใหม่ เออ!!.....คิดอย่างนี้ใช้ได้ คิดอย่างนี้ไม่ทุกข์ใจ เราก็ทำด้วยการเอาอกเอาใจเอาใจใส่ลงไป พยายามดูแลรักษาใจของตนตลอดเวลา แต่ไม่ถึงขั้นใจจดใจจ่อว่า มึงคิดชั่วไม่ได้ วันนี้ทั้งวันมึงห้ามคิดชั่วนะ มึงโผล่มาเมื่อไหร่ล่ะก็ ....ตาย!!!! จิตตาย

หมายความว่าไง เราตายก่อนจิตแน่นอนนะ ... เครียด เครียดจนหน้าไม่มีแววของคนที่มีสายตามองให้ชุ่มชื่นใจเลย เพราะมัวแต่นิ่งสงบใจตนหน้าก็จะแข็งทื่อเหมือนสากกะเบือ อยู่ในครัวเห็นมั้ย สากกะเบือมันเป็นยังไง มันแข็งทื่อไปอย่างงั้น ไม่รู้รสรู้ชาติอะไรเลย เพราะมันต้องกดใจตนเอง กดให้นิ่ง กดให้สงบ กดไม่ให้มันเกิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมาในใจเราเลย จริง ๆ แล้วมันเป็นวิธีเบื้องต้น แต่ทำผิดจังหวะไปหน่อย เค้าต้องทำตอนที่จิตมันรู้ตัวว่า นี่มันคิดชั่วแล้วอย่าคิดต่อไปนะ อย่าคิดต่อไป หาทางแก้ไข ทำความเข้าใจเสียใหม่ พอทำความเข้าใจเสียใหม่ เราก็หยุดใจนิ่งเพื่อหาความเข้าใจใหม่ว่า เราควรจะเข้าใจยังไง เราควรจะคิดยังไงดีที่ทำให้ใจของเรามันมีความสุขได้ พอมันหยุดใจได้มันคิดได้ปั๊บ อีตอนนี้ล่ะนะหน้ามันก็เบิกบาน จิตใจมันก็กลับมาเบิกบานใหม่ ชุ่มชื่นใจใหม่แทนที่หน้าแข็งทื่อเหมือนสากกะเบือก็ไม่มี อันนั้นจะทรงตัวทั้งวันทั้งคืนก็ไป...ทึ่มทื่อไปอย่างนั้น หาความสุขได้มั้ย? ไม่ได้ แล้วก็เครียดกับตัวเอง ไม่ได้เครียดกับใครเลย นี่คือการปฏิบัติเหมือนกันนะ เธอทั้งหลาย

จำไว้ว่า คำว่า "อย่าคิดชั่ว" เนี่ย ไม่ใช่ว่ามันไม่เกิด .... มันเกิด แต่ไม่ใช่ว่าเราปล่อยให้มันเกิดแล้วคิดตามมันไป เราต้องหยุดไม่ให้มันคิดต่อไป โดยการที่เราไม่ปรุงแต่งตามมันนั่นเอง ไม่เชื่อมันแล้ว ไม่คล้อยตามมันไปแล้ว ไม่คล้อยตามด้วย แถมยังจะบอกว่าเดินทางนี้สิ คิดอย่างนี้สิ ทำใจให้เป็นแบบนี้สิ พระท่านสอนเราว่าอะไร คำสอนของพระพุทธเจ้าท่านบอกว่ายังไง เอามาขัดจิตขัดใจเรา

ยากมั้ย? เอาใหม่นะ...เรามาปฏิบัติกันให้ตรงทางซะหน่อย อย่าห้ามจิตคิดชั่ว มันห้ามไม่ได้ แต่ห้ามใจคิดชั่วต่อไป เราห้ามได้ อย่างนี้เข้าใจมั้ย ห้ามไม่ให้มันคิดชั่วเนี่ยเราห้ามไม่ได้ เราต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ตราบใดที่สังขารร่างกายมันมี กรรมมันมี มันต้องเกิดขึ้นแน่นอน ห้ามไม่ได้ แต่เราสามารถจะห้ามไม่ให้เราตามมันไปได้ ตามความคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเวลานั้น ปรุงแต่งต่อได้ ยินดีไปกับมันได้ เราห้ามตรงนี้ได้

ถ้าเราสามารถห้ามมันได้ตอนนี้ล่ะก็ สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ไม่นาน แล้วมันก็ดับ .... จบมั้ย? จบ!!! อารมณ์นั้นจบ ความวุ่นวายในขณะนั้นจบสิ้น ถ้าจบด้วยปัญญา จบสนิท ถ้าจบด้วยกำลังสมาธิ ไม่แนบเนียน มันจบแค่ปากไม่พูด การกระทำไม่เกิด จบแค่นั้นนะ แต่ข้างในเนี่ยมันจะหนัก มันจะเป็นอารมณ์ที่มันยังหนักยังกดอยู่ ภายนอกคุณจะไปอยู่กับใครหรือแสดงท่าทีอาการยังไงก็ตาม แต่รู้ตัวเองว่ายังหนัก ข้างในยังหนักไม่อยากจะพูดกับใครไม่อยากจะวุ่นวายกับใคร มันจะไปยังงั้นเลย เพราะเราจะเริ่มเข้าสมาธิแล้ว ช่วยตัวเองด้วยการทำสมาธิแล้ว ภาวนาหนักขึ้นจ ับลมหายใจมากขึ้น จับภาพพระมากขึ้น จับอะไรต่อมิอะไรที่เป็นการกระทำมาในการก่อน เพื่อไม่ให้ไอ้สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาอีก พอมันโผล่แวบ โมโหอีกกดอีก ทำจนเหนื่อยก็ไม่สำเร็จ เสียเวลาไปแล้วครึ่งค่อนวัน ไม่สามารถพิชิตใจของตนได้เลย ... จริงมั้ย? มันเป็นอย่างนั้นถูกมั้ย? เราทำไม่ถูก

งั้นการปฏิบัติที่ถูก เราต้องยอมรับนับถือความเป็นจริงก่อนว่า ความคิดเนี่ยเราห้ามมันไม่ได้ คิดดีเราก็ไม่ได้ห้าม ใช่มั้ย? เพราะบางทีมันก็คิดของมันไปเอง ในทางที่ดี อยู่ ๆ มันก็คิดเรื่องสบายใจของมันขึ้นมา เรายังปล่อยได้ คิดตามต่อไปก็ได้ ปล่อยให้มันคิดไปธรรมดาก็ได้ แต่ไม่มีใครเค้าปล่อยกันให้เป็นอย่างนั้น ถ้าคิดดีก็คิดส่งเสริมให้มันดียิ่งขึ้นไป ถ้าเค้าเริ่มนึกถึงพระได้ เริ่มเลยทีนี้ เอาคำสั่งสอนของพระเข้ามาสอนเขา เอาให้เขาเห็นพระจับจิตจับใจให้ได้ .... ทำเลย!!! ถ้าเค้านึกถึงความตายได้ คิดต่อไปเลย สอนเค้าต่อไป อย่าให้เค้าเพียงแค่คิดแค่นั้นแล้วก็จบลงไปเฉย ๆ

อย่างบางเวลามันคิดไม่ดี ก็รีบคิดว่า นี่!!! มันคิดไม่ดี มันเกิดแล้ว ไม่ต้องไปหนักใจมัน มันไม่ดีไม่เป็นไร แต่เราจะไม่คิดตามมันไป ไม่เอามันมาเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่จะคล้อยตาม ยินดีตามมันไป กลับดึงใจมันกลับมาว่า ไม่ได้!!! เอ็งคิดอย่างนี้ไม่ถูก ลองตั้งสตินึกนับหนึ่งกันใหม่สิ แล้วเริ่มต้นคิดใหม่สิว่า ไอ้ที่คิดมันถูกหรือไม่ถูก สงบใจลงไปใหม่สิ แบบนี้แหละนะ เค้าเรียกว่า จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ... เหมือนมั้ย? เอาให้เหมือนให้ได้

แต่ จะเรียกว่าอะไรก็ช่างเถอะนะ เรื่องของตำรา เราเป็นนักปฏิบัติไม่ใช่นักเกาะตำรา เอาความจริงเข้าว่า เป็นความจริงที่ปรากฏกับเธอทุกคนเช่นนี้หรือเปล่า เป็นมั้ย? .... เป็น!!! งั้นเป็นเธอต้องยอมรับนับถือก่อนว่า ไม่มีใคร ทำให้ใจของตนน่ะคิดดีได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน ไม่มีใครทำให้อารมณ์ใจของท่าน สามารถจะแช่มชื่นได้ตลอดทั้งวันทั้งคืนได้ ตราบใดที่ยังมีร่างกายอยู่ เป็นไปไม่ได้!!! ไม่ได้ก็คือไม่ได้ นะ...อย่าฝืน

ในเมื่อเป็นความ จริงที่ไม่สามารถทำให้มันเป็นตามใจเราได้ ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นไปไม่ได้ ... ยอมรับมั้ย? ต้องยอมรับมันก่อนนะว่า เราไม่สามารถที่จะทำสิ่งนี้ ให้มันดีได้ตลอดเวลา ให้มันมีอารมณ์โปร่งได้ตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ร่างกายมีอยู่ ไม่มีทาง!!! เราจึงมีหน้าที่เพียงแค่ว่า ไม่คล้อยตาม อันนี้แหละสำคัญ ที่องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชี้ให้เราได้เห็นว่าจงอย่าได้ปรุงแต่ง ภาษาพระเรียก "ปรุงแต่ง" หมายความว่า คิดตาม ยินดี คล้อยตามมันไป

ท่านผู้รู้มีสติดีมากจน ถึงขึ้นบริสุทธิ์แล้ว คิดไปดีก็ไม่ปรุงแต่งตาม คิดไปไม่ดีก็ไม่ปรุงแต่งตาม คือไม่ไปทั้งยินดีและยินร้ายทั้งสองอย่าง เพราะเห็นว่าสิ่งนี้ไม่มีสาระที่จะต้องไปตามอะไรกับมัน มันเป็นเรื่องของร่างกาย เราต้องการเพียงแค่พ้นจากร่างกายนี้ไป อยู่ยังไง? ก็อยู่อย่างเฉย ๆ รู้ความจริงมันคืออะไรก็ปล่อยมันไป พระท่านมักจะพูดว่า "เกิดแล้วก็ดับ" ไม่มีอะไร กว่าจะพูดคำนี้ได้นี่ ก็ล่อมาหลายอสงไขยนะ

งั้น วันนี้ขอเน้นเรื่องเดียว เพราะนับแต่นี้เป็นต้นไป ปีนี้ เธอจะต้องผจญกับอารมณ์ที่กระทบมากขึ้น กว่าที่เคยผ่านมา ขอยืนยันว่าเธอทุกคนจะต้องผ่านสิ่งเหล่า ๆ นี้ กำลังใจของเธอต้องหนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าในปีก่อน ๆ ปีนี้เธอต้องหนักแน่นกว่าเดิม ต้องฉลาดกว่าเดิม ถ้าเธอแย่กว่าเดิมล่ะก็ .... แย่กว่าเดิมแล้วเป็นยังไง? เสร็จ!!!! นะ เสร็จแน่ ๆ ฉันไม่ได้พยากรณ์นะ แต่เป็นการคิดเอาเอง ... คิดเอาเอง นึกเอาเอง คิดเอา อย่าเพิ่งเชื่อนะ เพราะนี่เป็นเรื่องของการนึกเอาเอง คิดเอาเองนะ

ก็ ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป มันจะมีแต่ความวุ่นวายรุกเร้าเข้ามาในใจของทุกคน มันเป็นกระแสของความเร่าร้อน จะเกิดขึ้น หุนหันพลันแล่นโดยเฉียบพลัน ความคิดแปรปรวนไปในทางลบมากกว่าทางบวก คือทางดีน่ะไม่ค่อยคิด มันจะไปในทางไม่ค่อยจะดีมากกว่า เธอต้องเตรียมใจได้แล้วว่า ถ้าเราไม่โง่เราก็สู้ได้ แต่ถ้าเราโง่เราก็จะเดือดร้อน

ที่โง่ก็ เพราะอะไร โง่เพราะต้องเข่นใจตัวเองนั้นมันเหนื่อย ก็โมโหกับความเป็นใจของตัวเอง ว่าทำไมเราทำไม่ได้ ทำไมอีกแล้ว ทำไมอีกแล้ว แล้วเราก็จะเครียด ถูกมั้ย เครียดกับใจเราในการปฏิบัตินั่นเอง งั้นขอย้ำนะ เธอกลับไปคิดทำใหม่ มองถึงความเป็นจริงให้เห็นชัดเจนเสียก่อนว่า จิตยังอยู่กับกาย ไม่มีวันที่จำทำให้จิตดวงนี้ดีได้ตลอดเวลา คิดดีได้ตลอดเวลา จำแต่สิ่งดี ๆ ได้ตลอดเวลา มีอารมณ์เป็นสุขได้ตลอดเวลา อย่าไปหวัง สิ้นหวังแล้วนะ ไม่ต้องหวัง ถ้าร่างกายยังมีอยู่ไม่ต้องหวัง

แล้ว ยิ่งร่างกายมันช่วงนี้ด้วยนะ กระแสที่มีความวุ่นวายรุนแรงเกิดขึ้นยิ่งจะทำให้จิตของเธอเนี่ยกระสับ กระส่ายมากกว่าเดิม กรรมก็แรง ในเวลาเดียวกัน บุญก็แรง ยกตัวอย่างว่าสมัยหลวงพ่อน่ะ ถ้าเธอเคยอ่านหนังสือปฏิปทาท่านผู้เฒ่า ก่อนที่ ... สมัยที่ท่านยังศึกษาอยู่ยังไม่จบกิจ ที่ท่านปฏิบัติที่วัดโพธิ์กระมัง ...ถ้าจำไม่ผิดน่ะนะ เวลาจะได้ดีขึ้นมา มันจะต้องมีอะไรกระทบแรงมาก ทุกครั้งเวลาท่านได้ดี แต่ละคราวเนี่ยมันจะต้องมีเรื่องราวอะไรแรง ๆ มาหาท่าน โหมเข้ามาโหมเข้ามา แต่ว่าท่านมีความมั่นคงในการปฏิบัติ ใช่มั้ย? ครูบาอาจารย์สอนอย่างไรท่านก็เคร่งครัดในการปฏิบัติอย่างนั้น ท่านไม่เคยทิ้งสมาธิ ไม่เคยทิ้งในการควบคุมใจของท่าน งั้นโอกาสที่ท่านจะได้ขัดเกลาจิตใจของท่านไปในทางที่ดีน่ะ มีสูง

มี กระทบก็แรงขึ้น แรง ๆ รอบตัวท่านนะไม่มีใครเป็นมิตร มีแต่วาจากล่าวจาบจ้วงตลอดเวลา ประทุษร้ายท่านอย่างนั้น ประทุษร้ายท่านอย่างนี้ ไม่มีวาจาดีให้ท่านได้ยินได้ฟังเลย ท่านอยู่โดดเดี่ยวอยู่องค์เดียว ในสถานที่ที่ทุกคนน่ะห้อมล้อมด้วยการคิดแบบจะปองร้ายท่าน คิดร้ายท่าน กล่าววาจาจาบจ้วงท่าน ตำหนิติเตียนท่านตลอด ขับไล่ท่านทำทุกอย่างเลยแหละ

แต่ สิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับท่านกลับเป็นผลดีให้ท่านน่ะ หนักแน่น แล้วก็ชนะกับบุคคลเหล่า ๆ นั้น จนท่านไม่หวั่นไหวและสั่นสะเทือนกับสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นจะทำอะไรท่านเลย นี่ครูบาอาจารย์ของเราก็เจอแบบนี้มานะ กว่าจะได้อะไร มันก็มีเรื่องเข้ามาให้ท่านต้องรบกวนจิตใจอย่างแรง ท่านถึงจะเกิดมรรคเกิดผล เราทุกคนก็ไม่อยากเจอแบบท่านหรอกนะ เพียงแต่จะเปรียบเทียบให้ฟังว่า สมัยนี้เริ่มแล้วนะ มันเริ่มแบบลักษณะคล้าย ๆ อย่างนี้ แล้วเธอจะต้องถูกกระทบในรอบตัวที่เธอคาดไม่ถึง คนที่ไม่เคยกระทบเธอเลยนั่นแหละ จะมากระทบตัวเธอเอง คนที่ดีกับเธอมานานแสนนาน ก็จะมีวาจากระทบใจเธอได้อย่างง่ายดาย จนเธอคาดคิดไม่ถึงว่า อะไรกันนี่ ....

กลัวหรือยัง (หัวเราะ) เริ่มกลัวหรือยัง ... ขู่มีขู่ (หัวเราะ) มีขู่เล็ก ๆ ....

แต่ ไม่สำคัญหรอก เราลูกพระ ถูกมั้ย? เราก็หนึ่งในตองอูเหมือนกัน ใช่มั้ย? หลวงพ่อท่านก็มีสิบนิ้ว เราก็มีสิบนิ้วเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าท่านทำได้แล้วเราทำไม่ได้ เราก็ต้องทำได้ใช่มั้ย? เราลูกท่านเราต้องทำได้ ลูกพระต้องทำได้ ไม่ว่าจะเจอในเรื่องอะไรเราก็ต้องทำได้ เพราะเรามีวิชาความรู้ เราไม่ใช่สิ้นเนื้อประดาตัวที่ไหน ความรู้ที่พระพุทธเจ้าสอนเรามา ครบถ้วนสมบูรณ์ดี ยังมีอยู่ พระธรรมคำสั่งสอนที่ทำให้ใจของเราพ้นจากทุกข์ ยังมีอยู่ เพียงแต่เรานำสิ่งที่พระท่านสอนเรา เอามาประคับประคองเอาใจใส่กับตัวเองมากขึ้นกว่าเดิมหน่อย แล้วพยายามทำความเข้าใจว่า เราห้ามในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นไม่ได้ ตราบใดที่เรามีกาย คนอื่นมีร่างกาย จะหลีกเลี่ยงในสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นกับเราไม่ได้เลย จงยอมรับมันเถิดว่า มันต้องเกิดและมันต้องมี

เรามีวิธีปฏิบัติเพียงอย่างเดียวว่า เราไม่คล้อยตาม เข้าใจคำว่าไม่คล้อยตามมั้ย? ไม่คิดตามต่อ ไม่คิดต่อไป รู้นะว่าเราเริ่มคิดไม่ดีแล้ว เริ่มร้อนแล้วนะ ตอนนี้กำลังเดือดแล้วนะ ปุบปับ ๆ ๆ นะ ... มึงนะ... ยอ ๆ ไว้ นะ เอาเชือกร้อยจมูกมันไว้ ยอ ๆ ๆ .... ตัวอะไรวะ เออนั่นล่ะ ควายล่ะ ...ยอ ๆ ๆ เอาไว้ ..หยุด ๆ หยุดก่อนโยม หยุดเสียก่อน จิตกลับมาคิดเสียใหม่ก่อน อย่าไหลไปตามมัน อย่าปล่อยให้มันไปแล้วเราทุกข์ไปกับมัน นั่นไม่ใช่ทางที่พระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าสอนให้ รู้จักมัน แล้วรู้จักหยุดมัน รู้จักที่จะไม่คล้อยตามมันไป

วันนี้เอาแค่นี้พอมั้ย? เนอะ เอาเรื่องเดียวก็พอเนอะ เออ...แค่นี้ก็แย่แล้วเนอะ (หัวเราะ) แค่นี้ก็หนักเหมือนกันนะ ปฏิบัตินี่ใช่มั้ย เอาเรื่องนะ ระวังอะไรไม่เท่ากับระวังใจเราคิดชั่วนี่ใช่มั้ย แต่เราห้ามจิตคิดชั่วไม่ได้ แต่เราห้ามใจไม่ให้มันคิดต่อไปล่ะก็ได้ ...เออ...ห้ามตรงนี้นะ ห้ามที่อย่าให้มันคิดต่อไป มันคิดน่ะไม่แปลก กรรมมันพาให้เราคิดได้ สังขารแปรปรวนทำให้เราคิดได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่ปฏิบัติแล้วไม่ให้สิ่งนี้ปรากฏมีในใจเราเลย นั่นล่ะไม่ใช่คนแล้ว ทำไม่ได้หรอก นะ .. พระอรหันต์ท่านก็ไม่ทำแบบนั้นนะ ...เออ..

ก็ขอ ให้ทุกคนนะจงตั้งใจจะยากเย็นเข็ญใจเพียงใดมันก็เป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะเราต้องการดี ใช่มั้ย? สุขมันอยู่ที่เรา ทุกข์ก็อยู่ที่เรา โง่ก็เรา ฉลาดก็เรา ไม่มีใครทำให้เราทุกข์ แล้วก็ไม่มีใครทำให้เราเป็นสุข ไม่มีใครทำให้เราเป็นคนโง่ แล้วก็ไม่มีใครทำให้เราเป็นคนฉลาด จะสุขจะทุกข์ จะโง่หรือจะฉลาด มันอยู่ที่เรานั่นแหละตั้งใจทำ ถ้าเราไม่ตั้งใจทำดี ใครก็ไม่สามารถจะช่วยให้เราดีขึ้นมาได้ มันคือความจริง มันไม่เกี่ยวกับว่า ไม่เมตตาแล้วรึ ไม่รักแล้วหรือ ไม่สงสารแล้วหรือ มันคนละเรื่อง ถูกมั้ย เหมือนอย่างที่พูดว่า เราไม่มีไม่ใช่ไม่มี เราไม่ทำ!!! ไม่มีแต่ใจมันอยากทำถูกมั้ย? แต่มันไม่มี จะทำยังไง คนมีเขาก็ได้ทำมันก็ตรงไปตรงมาใช่มั้ย

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าไม่รัก ไม่ใช่ว่าไม่อยากสงเคราะห์ ไม่ใช่ไม่เมตตา ขาดแล้วซึ่งความเมตตา แต่เราไม่สามารถที่จะทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นมาได้ ทุกคนก็ต้องกระทำสิ่งนี้ด้วยใจของตนวันยังค่ำ สิ่งเดียวที่เธอต้องเตือนตนไว้เสมอ เวลาน้อยไม่คอยท่า กาลเวลาผ่านมาแล้วก็ผ่านไป มันไม่สามารถเลื่อนกลับมาได้ จะดีจะชั่วยังไง จะให้สะสมเอาไว้ กรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ก็จงอย่าให้เกิดกรรมต่อไป หยุดกรรมเสีย หยุดการกระทำที่สร้างเวรสร้างกรรมซะ หยุดความคิดที่จะสืบเนื่องต่อไปให้มันเป็นทุกข์เป็นโทษ เค้าเรียกว่า "มโนกรรม"

มโนกรรมเนี่ยหนักที่สุด วจีกรรมคือวาจาที่เป็นโทษยังไม่เท่าไหร่ กายกรรมคือการกระทำทางกายที่เป็นโทษก็ยังไม่หนักเท่าไร แต่มโนคือใจเราที่คิดชั่วและคิดจะทำให้มันเกิดความชั่วต่อไป หนักที่สุด เพราะมันจะลงนรกก็ไอ้ตรงนี้แหละ ใช่มั้ย? ลงนรกก็ไอ้ตรงนี้แหละ จิตคิดปั๊บ ไปแล้ว เหมือนเรายินดีเขาทำความชั่ว ไปแล้ว!!! เดินไปกับเขาแล้ว เขาน่ะคิดแล้ว ทำแล้ว ...ชั่ว ลงนรกแล้ว เดินลงไปแล้วข้างล่าง เราน่ะจะไปยินดีกับสิ่งที่เขาคิดชั่วทำชั่ว เออ ๆ ดีว่ะ ๆ นั่นแหละไปกับเค้าแล้ว ไปแล้ว

งั้นอย่าไปกับเค้านะ อย่าเดินตามเขา อย่าสนใจในสิ่งที่เขาทำไม่ดี เอาใจเรานั่นแหละตั้งมั่นเอาไว้เสมอ ขอฝากเอาไว้เพียงเท่านี้แหละนะ ๚ะ