-->

ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ ๑ - ใครเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องกรรม?  (อ่าน 1112 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

chon

  • บุคคลทั่วไป

บทที่ ๑ - ใครเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องกรรม?

คนเราชอบพูดเรื่องลี้ลับน่าตื่นเต้น เรื่องที่พยากรณ์ยากว่าจะออกหัวออกก้อยท่าไหน เพราะชอบแสดงความคิดเห็นว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้น่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อ และถึงจุดหนึ่งอยากพิสูจน์ว่าตนเป็นฝ่ายถูกในขณะที่คนอื่นอ่านทางไม่ขาดอย่างตน อย่างเช่นบางทีเถียงกันคอเป็นเอ็นเรื่องมนุษย์ต่างดาว เรื่องสัตว์ประหลาด เรื่องสงครามโลก ฯลฯ ต่างคนต่างมั่นใจเอาจริงๆว่าความเชื่อของตนถูก ความเชื่อของตนเท่านั้นตรงกับความจริง ทั้งๆที่อาจไม่รู้ข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงประกอบเลยแม้แต่น้อย

มนุษย์เป็นกันได้อย่างนี้จริงๆ คือเชื่อโดยไม่ต้องหาหลักฐานสนับสนุน ฉะนั้นเมื่อเถียงกันเรื่องความเชื่อแล้วถามอีกฝ่ายว่า ?แน่ใจได้อย่างไร?? แล้วสืบไปสืบมาสรุปว่าเพราะคิดเอาเอง เพราะคาดเดาเอาตามอำเภอใจ หรือเพราะมีอคติอยากให้ความจริงตรงกับสิ่งที่ตนเชื่อ ก็อย่าไปใส่ใจเลยจะดีกว่า เป็นทุกข์เปล่าๆ เพราะคนเกือบทั้งโลกต่างก็ยินดีที่จะทึกทักตามใจตนต่างๆนานา ไม่มีวันที่เราจะไปไล่จี้ให้ใครต่อใครหันเหศรัทธาของเขามาตามทางศรัทธาของเราได้หมดแน่ๆ

ขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดประการหนึ่ง ไม่ว่าไทยหรือเทศ ไม่ว่าเชื่อนรกสวรรค์หรือไม่ เวลาโกรธเกลียดใครก็มักสาปแช่งว่า ?ไปลงนรกเถอะ!? หรือแม้ไม่ถึงขั้นสาปแช่ง ก็นึกอยู่ในใจว่ากรรมที่เขาทำให้เราเดือดเนื้อร้อนใจย่อมส่งเขาไปไม่ดีแน่นอน นับว่าเป็นการเดาแกมแช่งอยู่ดี คนเราก็เท่านี้ รักใครก็จะดันก้นเขาขึ้นฝั่งสวรรค์ เกลียดใครก็จะขว้างเขาลงเหวนรก โดยที่ความจริงสวรรค์และนรกไม่ได้เปิดประตูต้อนรับใครตามการแยกเขี้ยวยิงฟันลุ้นตัวโก่งของบรรดาญาติมิตรหรือศัตรูคู่อาฆาตรายใดเลย

เรื่องของกรรม หรือที่คนไทยชินหูกับคำว่า ?กฎแห่งกรรม? นั้น เป็นหนึ่งในสี่ของอจินไตย อจินไตยคือเรื่องที่ไม่ควรใช้ความคิดตรึกเดาหรือฟุ้งซ่านจินตนาการไปเอง คือจิตไม่รู้ว่าทำอะไรแล้วจะโดนสนองคืนท่าไหน แต่กรรมรู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร จิตได้แต่คาดเดา ส่วนกรรมเป็นผู้ตัดสินว่าเราเดาถูกหรือเดาผิด

ในต้นบทขอกล่าวถึงอจินไตยโดยสังเขปเป็นอันดับแรก เพราะเห็นว่าโยงกันแล้วจะทำให้เข้าใจเรื่องกรรมวิบากได้กระจ่างกว้างขวางขึ้น

อจินไตย ๔

๑) พุทธวิสัย ? หมายถึงคุณสมบัติและความสามารถของพระพุทธเจ้า ยกตัวอย่างเช่นหนึ่งในความสามารถของพระพุทธองค์คือ ?รู้ทุกอย่าง? ถ้าด้วยปุถุชนวิสัยก็ย่อมสงสัยว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร มนุษย์ที่ไหนจะไปรู้ทุกอย่างได้เล่า อันนี้เป็นการมองมาจากมุมมืดอันแคบจำกัดของปุถุชน ซึ่งแม้ได้ข่าวว่ามนุษย์อื่นแค่จดจำสิ่งต่างๆได้มากกว่า หรือคิดเลขได้เร็วกว่า หรือเจนจัดในการงานหลากหลายกว่าตน ก็โน้มเอียงจะดูหมิ่น เห็นเป็นข่าวกุ พร้อมจะเอ่ยเต็มปากเต็มคำแล้วว่าไม่เชื่อ อย่างนี้จะไปเชื่อพุทธวิสัยอันเหนือมนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้อย่างไร

๒) ฌานวิสัย ? หมายถึงคุณภาพจิตที่สามารถนิ่งอย่างเอกอุ เสพรสปีติสุขในสมาธิอันยิ่งใหญ่ระดับทิพย์ที่เกินประสบการณ์มนุษย์สามัญ และนอกจากนั้นยังมีผลเป็นความผ่องใสทางกายเกินคนธรรมดา ล่วงรู้สิ่งลี้ลับต่างๆมากกว่าที่จิตคิดๆนึกๆทั่วไปจะทำได้ เมื่อผู้ได้ฌานพยายามพรรณนาความสุขและความล่วงรู้ต่างๆให้คนกิเลสหนาทั้งหลายฟัง หรือกระทั่งอยากให้รับรู้ตาม เขาจะมีภาพของคนบ้า คนเพ้อเจ้อ หรือคนหลอกลวงมากกว่าอย่างอื่น และในทำนองเดียวกันแม้ใครเชื่อเรื่องฌาน ก็ไม่อาจจินตนาการถูกว่ารสสุขระดับฌานนั้นยิ่งกว่ารสสุขแบบโลกๆสักแค่ไหน รวมทั้งไม่อาจเข้าใจเลยว่าจิตอีกแบบสามารถทะลุทะลวงกำแพงความไม่รู้ต่างๆนานาได้อย่างไร เช่นอ่านใจคนอื่นออกเป็นคำๆ พยากรณ์อนาคตได้แม่นยำเหลือเชื่อ ฯลฯ

๓) วิบากแห่งกรรม ? หมายถึงผลที่ปรากฏเป็นเหตุการณ์ต่างๆนานาในชีวิตเรา เมื่อไม่รู้เหตุผลเราก็อาจบัญญัติคำว่า ?บังเอิญ? ขึ้นมา แต่แม้เมื่อเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นผลที่หลั่งไหลมาจากต้นธารคือกรรมเก่า ก็ไม่อาจเข้าถึงว่าตนเองเคยไปทำกรรมอันใดไว้ หลายคนโยงกรรมอันเป็นต้นเหตุเข้ากับผลกรรมอันเป็นปลายทางด้วยความคิดคาดเดา บางทีเผอิญถูก แต่หลายทีจะผิดถนัด และแม้จะเรียนรู้เรื่องกฎแห่งกรรมละเอียดลออปานใด ท่องจำหลักของกรรมวิบากได้มากมายเพียงไหน ก็ไม่อาจระบุด้วยจินตนาการคิดนึกว่าตนเจอสุขหรือเจอทุกข์หนึ่งๆเพราะแรงกรรมเก่าอันใดเหวี่ยงมา

๔) ความคิดเรื่องโลกและจักรวาล ? หมายถึงที่มาที่ไปของวัตถุซึ่งใหญ่มากๆเช่นโลกและดวงดาว กับวัตถุที่เล็กมากๆเช่นอะตอมและองค์ประกอบสุดจิ๋ว หลายคนเข้าใจว่าปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบคำตอบทั้งหมดแล้ว แต่ความจริงก็คืออัจฉริยะที่อุทิศทั้งชีวิตทำงานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับวัตถุระดับมหภาคและจุลภาคนั้น เลิกพูดถึง ?ความจริงสุดท้าย? กันนานแล้ว หลายคนเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์ที่รู้มากที่สุดในโลก อย่างมากก็เป็นได้แค่เด็กที่ยืนอยู่ชายหาดแต่อยากรู้อยากเห็นและสัมผัสความลี้ลับของท้องสมุทรกันเท่านั้น เอาแค่ได้ข้อสันนิษฐานว่าก่อนเกิดจักรวาลไม่มีอวกาศ ไม่มีกาลเวลา เท่านี้ก็งงแปดกลับแล้วว่าสภาพนั้นเป็นอย่างไร และเหตุใดจึงอุบัติมหากัมปนาท จากความไม่มีอะไรกลายเป็นดาราจักรนับแสนล้านอย่างที่กำลังเห็นๆอยู่ได้ท่าไหน

ผู้มีสิทธิ์ล่วงรู้เรื่องอจินไตย

จากนิยามของอจินไตยทั้ง ๔ คงสรุปได้ว่าเรื่องอจินไตยนั้น ขืนคิดๆนึกๆเอาก็หัวแตกเปล่า เพราะจะไม่มีใครได้คำตอบเรื่องอจินไตยจากจินตนาการคาดเดา อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเป็นเรื่องอจินไตยแล้วเราจะหมดสิทธิ์ล่วงรู้ความจริงอย่างสิ้นเชิง เช่นพุทธวิสัยนั้น เมื่อชาติหนึ่งชาติใดเบื้องหน้าโพ้นสามารถบำเพ็ญบารมีจนแก่กล้าพอจะบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ก็ย่อมเข้าถึงพุทธวิสัยได้ว่ามีขอบเขตประมาณใด

และสำหรับมนุษย์ที่บารมีไม่สามารถถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ก็อาจบำเพ็ญเพียรทำสมาธิจนถึงฌาน ผู้ได้ฌานย่อมทราบฌานวิสัยได้ รวมทั้งยังอาจจะหยั่งรู้เรื่องกรรมวิบากและเรื่องจักรวาลกับภพภูมิต่างๆเป็นของแถมอีกด้วย สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสใดจรมารบกวน มีความอ่อนควรแก่การงาน มีความตั้งมั่นไม่หวั่นไหวแล้ว ก็ย่อมสามารถโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้การจุติและการอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย อาศัยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงตาเนื้อของมนุษย์ เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติและกำลังอุบัติ ทั้งในสภาพเลว ทั้งในสภาพประณีต ทั้งมีผิวพรรณดี ทั้งมีผิวพรรณทราม ทั้งได้ดี ทั้งตกยาก

นอกจากนั้นยังรู้ชัดว่าหมู่สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม จำแนกถูกว่าเมื่อสัตว์ใดดำรงตนอยู่ด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจความเห็นผิด เบื้องหน้าเมื่อตายเพราะกายแตก ก็ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่าใดดำรงตนอยู่ด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจความเห็นชอบ เบื้องหน้าเมื่อตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์

นี่คือภาพการเห็นอย่างใหญ่ที่สุด สรุปโดยรวมคือถ้าทำดี มีความเห็นถูก สัตว์ย่อมบ่ายหน้าไปถือกำเนิดในสภาพน่าชื่นใจ แต่ถ้าทำชั่ว มีความเห็นผิด สัตว์ย่อมบ่ายหน้าไปถือกำเนิดในสภาพน่าสังเวช เมื่อเห็นการถือกำเนิดของวิญญาณแบบหนึ่งๆ ก็หมายความว่าย่อมเห็นสภาพแห่งภพภูมิซึ่งปรากฏอยู่นอกเหนือการรับรู้ของตาเนื้อด้วย อย่างเช่นโลกมนุษย์ใบอื่น หรือเช่นโลกทิพย์ของเทวดา เป็นต้น

เป็นอันว่าใครมีสมาธิจิตที่บริสุทธิ์ก็มีสิทธิ์ล่วงรู้เรื่องอจินไตย ทราบว่าวิสัยของผู้มีฌานมีขอบเขตประมาณไหน ทราบว่าผลของการประพฤติประกอบกรรมแบบหนึ่งๆจะออกหัวออกก้อยในวันตายท่าใด กับทั้งทราบด้วยว่าโลกอื่นมีจริงหรือไม่ มีที่มาที่ไปเพื่อรองรับวิญญาณบุญวิญญาณบาปประเภทใดบ้าง

พระพุทธองค์ยังตรัสปิดท้ายว่าการจะมีสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้วได้นั้น คือต้องปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่ถูกต้องอีกด้วย และพระองค์ท่านก็ไม่ได้ตรัสลอยๆแบบคิดเองสรุปเองโดยปราศจากหลักฐานยืนยันเป็นบุคคล สมัยพุทธกาลมีพระที่เจริญสติเจริญปัญญาตามแนวทาง ?สติปัฏฐาน ๔? แล้วได้ผลจริงมากมาย อย่างพระผู้ทรงคุณวิเศษเป็นที่เลื่องลือเช่นท่านอนุรุทธะ ซึ่งมีตาทิพย์และล่วงรู้เรื่องกรรมวิบากได้มาก สาธยายธรรมเกี่ยวกับกรรมวิบากได้มาก พอใครสงสัยไถ่ถามว่าทำไมท่านทราบกรรมวิบากได้แจ่มแจ้งแทงตลอดนัก ท่านก็จะตอบให้หายกังขาว่า

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมรู้วิบากของการกระทำทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต โดยฐานะ โดยเหตุ จะแจ้งตามความเป็นจริง ก็เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔

และการยืนยันทำนองเดียวกันก็มิได้ขึ้นอยู่กับยุคสมัย ไม่ใช่ว่าสิ้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกแวดล้อมพระองค์แล้วก็เป็นอันหมดกัน ไม่มีใครทำได้อีก ข้อเท็จจริงคือใครเจริญสติปัฏฐาน ๔ ให้มาก จะเป็นสองพันปีก่อน จะเป็นสองพันปีหน้า หรือจะเป็นปีนี้ พ.ศ. นี้ ก็ย่อมมีสิทธิ์รู้เรื่องอจินไตยอย่างกรรมวิบากและภพภูมิได้เสมอกันหมด ไม่เว้นแม้แต่ผู้เขียนและผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ด้วย!

นิยามของกรรมและวิบาก

กรรม แปลว่าการกระทำ แบ่งอย่างกว้างสุดเป็นทำดี (กุศลกรรม) และการทำชั่ว (อกุศลกรรม) และการกระทำนั้นย่อมไหลมาจากเจตนา จึงต้องตัดสินกันที่เจตนาว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ คือจะเห็นพระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัด เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดก่อน แล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ดังนี้จะเห็นว่ากรรมมิใช่สิ่งที่ลี้ลับแต่อย่างใด ไม่ต้องใช้ความสามารถแบบผู้วิเศษที่ไหน ถ้าหากเห็นเข้าไปในขณะหนึ่งๆได้ว่าเรามีเจตนาอย่างไร ก็เรียกว่าเป็นผู้เห็นกรรมของตนเองแล้วว่าดีหรือร้าย หากเป็นไปในทางเกื้อกูลกรุณาก็ต้องว่าดี หากเป็นไปในทางเบียดเบียนให้เดือดร้อนก็ต้องว่าร้าย

ขอยกตัวอย่างง่ายที่สุด คนเราอาจร้องดังๆออกมาเป็นคำว่า ?เฮ้ย!? เหมือนกัน ทั้งสุ้มเสียง ทั้งระดับเสียง ทั้งความสั้นยาวของเสียง ดูเผินๆน่าจะก่อกรรมทางวาจาอันเดียวกัน แต่หากทราบว่าร้องในเหตุการณ์แบบไหนก็จะเห็นเจตนาที่อยู่เบื้องหลังวจีกรรม เช่นถ้าร้องขึ้นมาข้างหลังคนกำลังเผลอ กะให้เขาสะดุ้งตกใจขวัญหาย อันนั้นก็เรียกว่ามีความประสงค์ร้าย แต่ถ้าร้องขึ้นเตือนเพราะเห็นคนกำลังจะเดินเหม่อให้รถชน เช่นนั้นจะเรียกว่ามีความประสงค์ดี

แม้ทางกฎหมายเวลาจะตัดสินใครก็ดูกันที่เจตนา ไม่ใช่เห็นใครฆ่าคนแล้วตัดสินไปเหมือนๆกันหมด กฎแห่งกรรมก็เช่นนั้น คือไม่ได้มองกรรมโดยความเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่มองกรรมโดยความเป็นเจตนา ถ้าจำไว้อย่างนี้ก็จะสบายใจและตอบคำถามให้ตัวเองได้หลายๆเรื่อง เช่นขับรถอยู่ดีๆมีแมวโดดใส่ล้อ ไม่เปิดโอกาสให้เราเบรกใดๆทั้งสิ้น อย่างนี้เราย่อมไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าสัตว์แต่อย่างใดเลย

อีกประเด็นหนึ่ง มีผู้เชื่อว่าคนเราเจตนาทำอะไรไปทั้งชีวิตนั้นก็เพราะการดลบันดาล หรือเพราะการควบคุมของสิ่งลี้ลับที่ทรงอำนาจเหนือมนุษย์ ความจริงการคิดทำอะไรของเราเป็นเพียงปฏิกิริยาโต้ตอบสิ่งกระทบเท่านั้น ดังเช่นที่พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน? ผัสสะนั่นเองเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม

ฉะนั้นหากขาดผัสสะเช่นรูปกระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น ของกระทบตัว นามธรรมกระทบใจ จิตของเราจะว่างเฉย ไม่น้อมไปสู่ความจงใจเจตนากระทำการใดๆเลย ตัวอย่างเช่นถ้าเด็กข้างถนนผู้ตกยากไม่มีความหิวโหยแตะต้องกาย น้ำลายก็จะไม่ไหลสอ ใจคอจะไม่อยากลอบขโมยข้าวและน้ำขึ้นมาได้ เป็นต้น ส่วนที่ว่าเขาจะยับยั้งชั่งใจหรือตัดสินใจลงมือขโมย อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการรบกันระหว่างกิเลสและมโนธรรม ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดในบทต่อๆไป

ในที่นี้สรุปคือโดยความเป็นมนุษย์ธรรมดาๆที่มีหูตา มีหนึ่งสมองสองมืออย่างนี้เอง สามารถเข้าอกเข้าใจเรื่องกรรมได้ เพราะทั้งเหตุให้เกิดกรรม และทั้งเจตนาก่อกรรมหนึ่งๆนั้น สามารถสืบทราบ ตรวจสอบ และรู้จริงแก่ใจตนว่าทำสิ่งใดเพราะอะไร และเพื่ออะไร

วิบาก แปลว่าผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วที่ทำไว้ วิบากเป็นสิ่งที่รู้ไม่ได้ง่ายๆเหมือนกรรม ดังที่กล่าวแล้วแต่ต้นว่าวิบากกรรมเป็นหนึ่งในอจินไตย ไม่ควรคิดคาดเดาให้เกิดโทษทางใจเปล่าๆ อย่างเช่นเราชอบไปเร่งรัดระคนสาปแช่งให้คนเลวได้รับความวิบัติไวๆ ยิ่งถ้าใครทำร้ายเราแล้วไม่เห็นเขาถึงความวอดวายภายใน ๓ วัน ๗ วัน ก็มักบ่นว่าสงสัยวิบากกรรมไม่มีจริงกระมัง

ที่วิบากเป็นสิ่งรู้ได้ยาก หรือกระทั่งเชื่อได้ยากว่าเป็นของจริง ก็เพราะลำดับการให้ผลของกรรมนี่เอง เช่นบอกยากว่าเราร้อง ?เฮ้ย!? ด้วยเจตนาแกล้งคนไปแล้วเมื่อใดผลนั้นจะย้อนกลับมาหาเรา ลองตรองดูว่าถ้าร้องแกล้งเพื่อนให้ตกใจเล่นโดยทราบว่าเป็นไปเพื่อหัวเราะสนุก ก็จะมีน้ำหนักความรู้สึกที่ใส่ลงไปในการกระทำอย่างหนึ่ง แต่ถ้าร้องแกล้งคนแก่ที่เราทราบว่าเป็นโรคหัวใจ ไม่ควรตกใจมากๆอาจช็อกได้ น้ำหนักความรู้สึกที่ใส่ลงไปในการกระทำจะต่างไปเป็นคนละเรื่องทันที ด้วยความคิดนึกคาดเดาธรรมดาเราจะไม่มีวันรู้เลยว่าผลสะท้อนที่ย้อนกลับมาหาตัวนั้น ระหว่างแกล้งเพื่อนเอาสนุกกับแกล้งคนแก่ให้ช็อกตายจะต่างกันขนาดไหน ที่สำคัญคือเมื่อใดจะให้ผล เมื่อให้ผลแล้วเราอาจนึกไม่ถึง หรือลืมไปแล้วว่าเคยก่อกรรมอันเป็นต้นเหตุให้โดนลงโทษแต่ปางไหน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า วิบากแห่งกรรมเป็นไฉน? เราย่อมกล่าววิบากแห่งกรรมว่ามี ๓ ประการ คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันหนึ่ง กรรมที่ให้ผลในภพที่ไปเกิดใหม่หนึ่ง กรรมที่ให้ผลในภพถัดๆไปหนึ่ง เหล่านี้แหละเรียกว่าวิบากแห่งกรรม

ถ้าทราบว่าร่างกายนี้ก็เป็นวิบากกรรมของเรา เราจะทราบว่าแม้วินาทีที่หายใจเข้าออกในปัจจุบัน เราก็กำลังเสวยวิบากของกรรมอันทำไว้ในอดีตชาติอยู่ เช่นเมื่อเจอใครเขาให้ความชื่นชมว่าเราสวยหล่อ อันนั้นก็เรียกว่าเป็นการเสวยผลจากกุศลกรรมเก่าในอดีตที่มาให้ผลในชาติปัจจุบัน เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้คนและสรรพสิ่งในโลกทั้งใบ ก็เหมือนถูกจัดตั้งมาให้พร้อมตกรางวัลและลงโทษเราได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่มีการพักร้อนหรือวันหยุดพิเศษด้วย ฉะนั้นสิ่งที่เราทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจพุ่งย้อนกลับมาสนองตอบรวดเร็วราวกับจรวดภายในชั่วโมงหรือสองชั่วโมงถัดจากนาทีที่ก่อกรรมก็ได้!

วิบากกรรมเป็นธรรมชาติที่มีความอัศจรรย์ และไม่มีธรรมชาติอื่นมาเปรียบเทียบ เพราะวิบากกรรมอาจทำตัวเป็นแรงดึงดูด เป็นแรงผลักดัน เป็นผู้ก่อสร้าง หรือเป็นผู้ทำลายก็ได้ทั้งนั้น และสำคัญคือการเข้าคิวให้ผลนั้น ไม่อาจประเมินหรือประมาณเอาด้วยอคติของปุถุชนธรรมดา

แต่ละคนมีฐานอำนาจที่พร้อมให้ก่อกรรมต่างกัน เช่นเศรษฐีจะให้ทรัพย์แก่ผู้ตกยากได้มากกว่าคนใจบุญที่รวยน้อยกว่า ขณะเดียวกันเศรษฐีก็มีอิทธิพลจ้างวานคนไปบุกรุกหรือทำร้ายศัตรูได้มากกว่าคนใจบาปที่รวยน้อยกว่าไปด้วย

และฐานอำนาจที่กรรมเก่าส่งมาให้นั้น ก็เป็นเสมือนกำแพงปกป้องที่มีความหนาบางและสูงต่ำผิดกัน เช่นเศรษฐีใหญ่ต้องเล่นพนันหลายปีกว่าจะหมดตัว ในขณะที่ชาวบ้านฐานะปานกลางเล่นพนันไม่กี่วันอาจล่มจมล่อนจ้อนได้ หากกรรมเก่าในอดีตให้วิบากเป็นเรือใหญ่เอาไว้ลอยลำอย่างปลอดภัยแล้ว เจ้าของเรือต้องทุบ ต้องเจาะ ต้องรื้อเรือตัวเองกันนาน กว่าที่เรือจะจม อันนี้คงพอทำให้หายสงสัยได้ว่าเหตุใดผู้ที่เราพิจารณาว่าเขาเลวสุดๆถึงไม่ได้รับการลงโทษจากกฎแห่งกรรมเสียที

เราอาจเห็นเฉพาะเมื่อเขาสร้างอกุศลกรรมในปัจจุบัน แต่ไม่เคยเห็นเลยว่าปางก่อนปางไหนเขาสร้างอัครมหากุศลยิ่งใหญ่เกินกันเพียงใด ดังนั้นจึงควรทำใจเป็นกลาง บอกตนเองว่าเรายังไม่รู้แจ้งเรื่องวิบาก แต่หากรู้จริงๆก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธองค์ประทานไว้ กระทั่งมีสมาธิตั้งมั่น จิตมีความผ่องแผ้วจากกิเลส มีความเป็นกลางไม่ลำเอียงเข้าข้างตัวเอง ไม่มีอคติกับใครอื่น จึงค่อยน้อมจิตไปหยั่งรู้ จับคู่ได้ถูกว่าวิบากนี้ไหลมาแต่กรรมอันใด หรือก่อกรรมนี้แล้วจะต้องไปเจอกับวิบากท่าไหน แนวทางปฏิบัติดังกล่าวจะแสดงไว้ต่อไปในหนังสือเล่มนี้ด้วย

ขอกล่าวถึงเกร็ดเกี่ยวกับคำว่า ?กรรม? อีกสักนิด นิยามของกรรมยังมีอีกอย่างหนึ่งที่เป็นลบ คือดั้งเดิมในภาษาทมิฬหรือมลายู กรรมจะหมายถึงผลร้ายของการกระทำ ดังนั้นถ้าใครใช้คำว่ากรรมคำเดียวแทนบาปเคราะห์ หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นวิบากร้าย เช่นไทยเรามักพูดว่า ?ไปทำเวรทำกรรมมาแต่ไหนหนอ?? ก็ไม่ถือว่าผิดจากความหมายของต้นตำรับเสียทีเดียว เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้นอีกนิดหนึ่ง ว่าพุทธเรากล่าวถึงกรรมโดยความเป็นกลาง สื่อได้ทั้งทางดีและทางร้าย ถ้าเป็นกรรมดีก็เรียก ?กรรมขาว? บ้าง หรือ ?กุศลกรรม? บ้าง ส่วนถ้าเป็นกรรมร้ายก็เรียก ?กรรมดำ? บ้าง หรือ ?อกุศลกรรม? บ้าง

ที่ตั้งของกรรมวิบาก

นี่เป็นปัญหาอีกข้อหนึ่งที่คนเริ่มศึกษาเรื่องกรรมมักไถ่ถามกัน คนเราเคยชินกับการเห็นรูปด้วยตา เห็นต้นแหล่งกำเนิดเสียง กลิ่น รส และสัมผัส เลยทำให้เชื่อว่าถ้ากรรมมีจริง ก็ต้องสามารถแสดงตัวได้ หรือเราสามารถตรวจตำแหน่งที่อยู่ของวิบากซึ่งเหมือนติดตามเราเป็นเงาตามตัวได้

ทว่าพลังที่อยู่ในรูปของ ?สัจจะ? ไม่ได้ตรวจจับกันง่ายๆเหมือนพลังชนิดอื่น นอกจากสมาธิจิตอันบริสุทธิ์จากกิเลสชั่วคราวแล้ว ปุถุชนไม่อาจทราบได้ว่ามีสัจจะกี่ล้านเรื่องติดตามพวกเขาอยู่ และเรื่องไหนจะให้ผลก่อน เรื่องไหนจะให้ผลทีหลัง

แต่ในเมื่อบอกว่า ?มีอยู่? ก็ควรจะบอกได้ถูกว่าสัมพันธ์กับสิ่งที่เราเห็นจะจะอย่างไร พระพุทธองค์เป็นนักเปรียบเทียบอุปมาอุปไมยที่ไม่มีใครเสมอเหมือน เหตุเพราะพระองค์สามารถเห็นในสิ่งที่สัตว์อื่นไม่เห็น และเป็นการเห็นที่แจ่มแจ้งลึกซึ้งตลอดสาย ฉะนั้นจึงควรฟังพระองค์ตรัสคือ

กรรมที่อำนวยผลในขอบเขตกามธาตุมีอยู่ กามภพจึงปรากฏ และด้วยเหตุนี้ กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง

หมายความว่าเมื่อทำกรรมอันเกลือกกลั้วอยู่ด้วยกาม ไม่ได้ทำกรรมอันจะหลุดพ้นจากกามไปรวมอยู่กับพระพรหมหรือเข้าถึงนิพพาน ก็ยังต้องถูกคุมขังไว้ในอาณาเขตของกาม นั่นเองภพอันเนื่องด้วยกามจึงปรากฏ เพราะฉะนั้นกรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา เป็นพื้นยืน เป็นจุดเริ่มต้นฝังเมล็ดพันธุ์ ส่วนวิญญาณเป็นพืชซึ่งอาศัยผืนนาตั้งอยู่ เป็นสิ่งที่งอกเงยขึ้นจากพื้นดินนั้น และตัณหาหรือความทะยานอยากเปรียบเหมือนยาง คือพืชนั้นถ้ายังไม่หมดยางก็แปลว่ายังไม่ตาย และเอาไปเพาะปลูกใหม่ได้

จากหลักธรรมนี้สามารถพลิกมุมมองของเราเสียใหม่ได้ประการหนึ่ง นั่นคือเราไม่อาจจินตนาการว่ามีวิญญาณอมตะเป็นดวงๆ วิญญาณไม่ได้มีรูปทรงหน้าตาอย่างหนึ่งๆเที่ยงแท้ บนส่วนยอดสุดมิได้มีเขาหรือสวมชฎาถาวร แต่ด้วยสนามพลังกุศลแห่งกรรมขาว จึงมีที่เกิดของวิญญาณซึ่งฉายรัศมีสว่าง และด้วยสนามพลังอกุศลแห่งกรรมดำ จึงมีที่เกิดของวิญญาณอับแสงไสว

และเมื่อตั้งมุมมองไว้ใหม่ได้อย่างนี้ เราก็จะเลิกพยายามนึกคิดจินตนาการว่ากรรมมีรูปทรงอย่างไร เป็นลูกคลื่น เป็นดวงกลม หรือเป็นของทึบของโปร่งที่ดักหน้าดักหลังห่างจากเราอยู่กี่เมตร ภาพความจริงที่ใหญ่ที่สุดนั้นอยู่เหนือจินตนาการ เราต้องทราบผ่านสัมผัสรู้สึกเข้าไปตรงๆ ว่าเพราะมีสนามพลังกรรมปรากฏรองรับอยู่ วิญญาณจึงได้ที่ปรากฏ

หลักธรรมชาติที่ว่า ?เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมีได้? เป็นเรื่องลึกซึ้งมาก หากเข้าใจได้ก็จะทำลายความกังขาในข้อขัดแย้งทั้งปวงลงได้เช่นกัน เราจะเลิกสงสัยอย่างแคบจำกัดอยู่ในขอบเขตของรูปทรงสีสันของรูปธรรมหยาบๆ แต่จะเข้าไปสัมผัสถึง ?สัจจะแห่งเหตุผล? อันเป็นต้นแหล่งบันดาลร่างกาย สิ่งแวดล้อม และเหตุการณ์ทั้งหมด คำถามเช่น ?ที่ตั้งของกรรมวิบากอยู่ตรงไหน?? จะกลายเป็นของตื้นๆไปในทันที

หากรู้สึกเหมือนจะเข้าใจอะไรเป็นเค้ารางๆ แต่ไม่กระจ่างแจ้งเต็มที่ ก็ขอให้เห็นเป็นเรื่องปกติ เพราะจิตที่ยังคิดๆในแบบต้องมีรูปทรงสีสันเป็นตัวตั้งนั้น จะไม่สามารถสัมผัสนามธรรมซึ่งอยู่คนละมิติกับรูปทรงสีสัน เหมือนสมมุติให้เราอาศัยอยู่ในกระดาษสองมิติที่มีเพียงด้านกว้างกับด้านยาว เราจะนึกไม่ออกเลยว่าด้านลึกหรืออากาศที่รองรับกระดาษอยู่นั้นเป็นอย่างไร เอาเป็นว่าทำความเข้าใจผ่านสติปัญญาแบบมนุษย์ไปพลางๆ ว่ายังมีมิติแห่งความจริงที่ใหญ่กว่าห่อหุ้มเราอยู่ และภายในขอบเขตมิติดังกล่าวนั้นเองเป็นที่ตั้งของวิบากกรรมของเรา

บทสำรวจตนเอง

เมื่อทราบนิยามของกรรมและวิบาก จะเห็นว่าคนธรรมดาสามารถรู้แก่ใจว่าตนทำกรรมทางความคิด กรรมทางคำพูด และกรรมทางกายไว้อย่างไรบ้าง แต่ไม่อาจรู้เห็นแจ่มแจ้งในเรื่องวิบากของกรรมทั้ง ๓ นั้น

เพื่อให้สัมผัสกับของจริงในตนเอง บทนี้จะให้ทำความรู้จักกับกรรมวิบากของแต่ละคนผ่านกรรมร้ายและกรรมดีตามลำดับ ขอให้ระลึกว่านี่เป็นการสำรวจตนเพื่อทำความรู้จักกับกรรมวิบาก ยังไม่ใช่ข้อสอบ เพราะฉะนั้นไม่ต้องหวังเก็บเกี่ยวคะแนน ไม่ต้องพะวงคิดปกป้องตนเอง ไม่ต้องห่วงเรื่องภาพไม่ดี เราเอาความจริงเป็นที่ตั้งอย่างเดียวพอ

อกุศลกรรม ถ้าให้นึกขึ้นมาเดี๋ยวนี้ มีกรรมอันใดในชั่วชีวิตที่เรารู้สึกผิดชัด ไม่ว่าจะล่วงเลยมานานเพียงใดก็ยังนึกถึงอยู่ หรือยังจำได้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีเหตุการณ์ย้อนกลับมาสนอง แล้วกระตุ้นเตือนให้นึกถึงความผิดนั้นๆเสมอ

ให้ถามตัวเองเป็นข้อๆอีกด้วยว่า

๑) เราสำนึกผิดหรือไม่?

๒) เราตั้งใจไม่ทำอีกหรือไม่?

๓) เรารักษาความตั้งใจไม่ทำอีกได้จริงหรือไม่?

กุศลกรรม ถ้าให้นึกขึ้นมาเดี๋ยวนี้ มีกรรมอันใดตลอดชีวิตที่ผ่านมาซึ่งเราภาคภูมิใจเสมอทุกครั้งที่นึกถึง ไม่ว่าจะล่วงเลยมานานเพียงใดก็ยังนึกถึงอยู่ หรือยังจำได้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีเรื่องย้อนกลับมาตอบแทน แล้วกระตุ้นเตือนให้นึกถึงความดีนั้นๆเสมอ

ให้ถามตัวเองเป็นข้อๆอีกด้วยว่า

๑) เรารู้สึกว่าบุญนั้นเป็นของดีหรือไม่?

๒) เรามีกำลังใจจะทำดีเช่นนั้นให้ยิ่งขึ้นไปหรือไม่?

๓) เรารักษาความตั้งใจทำดีได้จริงหรือไม่?

การตอบคำถามอย่างซื่อสัตย์กับตัวเองจนครบทุกข้อโดยไม่คำนึงถึงคะแนน จะเป็นชนวนให้จิตเริ่มหยั่งเข้าไปในความจริงเกี่ยวกับกรรมวิบากที่สัมผัสได้ โยงเหตุโยงผลได้ โดยเฉพาะเมื่อค่อยๆสังเกตไปเรื่อยในชีวิตจริงวันต่อวัน แม้ยังไม่มีญาณหยั่งรู้เช่นผู้มีกำลังสมาธิจิตผ่องแผ้ว แต่อย่างน้อยก็ไม่ทำให้จิตของเราฉาบฉวย ละเลย ดูดายกับการกระทำต่างๆอย่างที่ผ่านมา ส่วนลึกต้องเริ่มถูกปลุกให้สำนึกว่ากรรมใดๆทำแล้วไม่สูญเปล่า แต่ต้องย้อนกลับมาคืนผล แม้ไม่ด้วยเหตุการณ์กระทบ ก็มาในรูปสุขทุกข์ทางใจอยู่ดี

สรุป

พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องกรรมและวิบากไว้แจ่มแจ้งแล้ว น่าเสียดายที่เหล่ามนุษย์ผู้มีบุญพอจะพบพุทธศาสนากลับไม่ยอมอ่านกันเอง

เรื่องการตัดสินว่าจะได้รับผลกรรมอย่างไรนั้น จิตไม่รู้ แต่กรรมเขารู้ เขาไม่มีอคติในการทำหน้าที่ตัดสินส่งใครไปเสวยผลใดๆ ผู้รู้แจ้งเรื่องกรรมวิบากจากจิตอันเป็นสมาธิผ่องแผ้วย่อมได้เปรียบ เพราะจะไม่เพียงเชื่อตามๆกัน แต่เป็นความเห็นประจักษ์แจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ทนโท่ต่อหน้าต่อตาทุกวินาที ชีวิตที่เหลือจะขวนขวายพยายามประกอบแต่กรรมดีให้มากที่สุด เพื่อความสุขความเจริญของตนเองโดยตรง ขอให้อ่านต่อไป จะทราบว่ามีวิธีพิสูจน์เพื่อความประจักษ์แจ้งความจริงเกี่ยวกับกรรมวิบากด้วยตนเอง ซึ่งพระพุทธเจ้าประทานแนวทางไว้ชัดเจนแล้ว

จากหนังสือเสียดายคนตายไม่ได้อ่าน ของดังตริน

narzzezus

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๑ - ใครเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องกรรม?
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 31 กรกฎาคม 2008, 03:29:47 »

ขอบคุณสำหรับบท ความนะคับป๋า :o :o

don

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๑ - ใครเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องกรรม?
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 31 กรกฎาคม 2008, 06:55:31 »

 nears แก้กลัวผีได้ดีเลยคับ

cmman573

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๑ - ใครเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องกรรม?
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 31 กรกฎาคม 2008, 08:32:33 »

กรรม นึกว่าท่าน don กับป๋า ชลจาพูดเล่นซะอีก กลับเปิดห้องธรรมะขึ้นมาเจงๆ แต่ผมว่าขอบทสวดที่สวดแล้วทำให้ผมสบายจัยจากเรื่องผี หน่อยได้ไหมครับ

chon

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๑ - ใครเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องกรรม?
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 31 กรกฎาคม 2008, 17:13:03 »

กรรม นึกว่าท่าน don กับป๋า ชลจาพูดเล่นซะอีก กลับเปิดห้องธรรมะขึ้นมาเจงๆ แต่ผมว่าขอบทสวดที่สวดแล้วทำให้ผมสบายจัยจากเรื่องผี หน่อยได้ไหมครับ

อารหังสัมมาสัมพุทโธ นั่นแหละครับ สวดไปเรื่อยๆๆๆ รับรองได้ผลแน่นอน แล้วก็ คิดดี ทำดี พูดดี อยู่ในสุถานที่ดี คบคนดี รับรองครับ มีความสุข

Lostman133

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๑ - ใครเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องกรรม?
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: 02 สิงหาคม 2008, 00:49:44 »

ห้องนี้ ดีมากเลย อยู่ คู่เวปเราไปนาน นาน นะครับ

shinpe uhah

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๑ - ใครเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องกรรม?
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: 21 เมษายน 2009, 19:02:56 »

ขอบคุณมากครับ แล้วจะไล่อ่านให้ครบทุกอันเลยครับ...