-->

ผู้เขียน หัวข้อ: บทที่ ๖ - เหตุใดจึงมีสติปัญญามาก?  (อ่าน 721 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

chon

  • บุคคลทั่วไป
บทที่ ๖ - เหตุใดจึงมีสติปัญญามาก?
« เมื่อ: 14 สิงหาคม 2008, 02:07:07 »

ถึงแม้เกิดมาเป็นคนสวยคนหล่อ หรือต่อให้มีฐานะดีปานใด หากไร้ซึ่งสติปัญญาความสามารถแล้ว ก็เรียกได้ว่า ?มีไม่ครบสูตร? ลองนึกดูว่าถ้ามีอะไรๆดีหมด แต่คิดอ่านไม่ทันคนก็อาจเข้าตำราสวยแล้วถูกหลอกง่าย หรือถ้ารวยแล้วไม่ทันเกมธุรกิจ รูปสมบัติและคุณสมบัติก็คงไม่ช่วยให้มีความสุขกับชีวิตใหม่เท่าใดนัก


เป็นที่ถกเถียงกันมาช้านานว่าสติปัญญามาจากไหน ถ้าบอกว่ามาจากเชื้อของพ่อแม่หรือคนในตระกูลก็ลืมได้ เพราะนั่นจะไม่ใช่ความจริงสากล เนื่องจากบางคนฉลาดระดับอัจฉริยะในขณะที่พ่อแม่มีสติปัญญาปานกลางหรือค่อนข้างต่ำด้วยซ้ำ

บางคนก็บอกว่าสติปัญญาเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนได้ด้วยความรู้และประสบการณ์ หรือสะกิดให้ถูกจุดความสนใจ ก็เกิดการใฝ่ใจเรียนรู้ และเป็นที่มาของการต่อยอดปัญญายิ่งๆขึ้นไปได้ แต่ความเชื่อนี้ก็ไม่ใช่สัจจะสากลอีก เพราะบางคนเรียนกี่ปีๆก็ยังคงมีไอคิวเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลงเลย

เดี๋ยวนี้เวลามนุษย์จะหาหลักฐานมาสนับสนุนความเชื่อของตัวเอง ก็มักใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็ได้แก่การตรวจสอบวัตถุอันเป็นรูปธรรมต่างๆ ตั้งแต่สมองจนถึงดีเอ็นเอ ความจริงคือหยักสมองและพันธุกรรมอาจมีส่วนช่วยให้คนเราออกจากจุดเริ่มต้นต่างกัน แต่สมองและพันธุกรรมเป็นเพียงวิบากชนิดหนึ่ง หากปราศจากการตกแต่งของกรรมแล้ว สมองและพันธุกรรมของทุกคนจะต้องเริ่มต้นเหมือนกันหมด ทุกคนจะฉลาดเท่ากัน เป็นดอกเตอร์ได้เหมือนๆกัน และโลกนี้ก็จะไม่มีความแตกต่างทางปัญญา หรือแม้ทางความคิดอยู่เลย


ความต่างระหว่างปัญญากับความฉลาด
หากดูในพจนานุกรม จะเห็นว่าปัญญากับความฉลาดเป็นคำแปลของกันและกัน ปัญญาหมายถึงความฉลาดที่เกิดจากการเรียนและคิด ส่วนฉลาดหมายถึงการมีปัญญาดี เพราะฉะนั้นจะมองเป็นคนละด้านของเหรียญก็ได้ แต่เพื่อให้เป็นที่เข้าใจความหมายและมองเห็นภาพกว้างตรงกัน ก็ขอจำแนกนิยามของปัญญากับความฉลาดไว้ดังนี้

ปัญญา หมายถึงความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ไม่แคบจำกัดอยู่ตรงจุดเล็กๆ ถ้ารู้มากเรื่องเดียว ถามอย่างอื่นนอกเหนือจากนั้นแล้วเป็นใบ้ ก็ไม่เรียกเป็นปัญญาได้เต็มปากเต็มคำ ที่มักได้ยินกันบ่อยในโครงการพัฒนาชนบทได้แก่ ?ภูมิปัญญาชาวบ้าน? ซึ่งหมายถึงความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์ หาไม่ได้จากตำราทั่วไป เพราะถ้าหาได้จากตำราก็เรียกว่าลอกเลียนเขามา ไม่ต้องใช้ปัญญาคิดค้นอะไรขึ้นมาเอง

ความฉลาด หมายเอาความมีไหวพริบดี ปฏิภาณดี พูดง่ายๆว่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันการณ์ ตรงนี้เรามักเทน้ำหนักให้ความสามารถในการรับข้อมูลจำนวนหนึ่งเข้ามาในหัว แล้วเห็นความเชื่อมโยงกลุ่มข้อมูลเหล่านั้นได้ตั้งแต่หนึ่งแง่มุมขึ้นไปในเวลาไม่เนิ่นช้า ยิ่งเห็นได้หลายแง่มุมโดยใช้เวลาน้อยลงเท่าไหร่ ก็นับว่าฉลาดกว่าคนปกติมากขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่นนักสืบเข้าไปในที่เกิดเหตุฆาตกรรมซึ่งไม่มีใครรู้เห็นเหตุการณ์จริง แต่นักสืบมองปราดไปโดยรอบ เห็นวัตถุต่างๆ เห็นร่องรอยการต่อสู้ รวมทั้งรับฟังการบอกเล่าจากพยาน ก็อาจสรุปได้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีการต่อสู้แบบไหน คนร้ายใช้อาวุธชนิดใด ฯลฯ อย่างนี้เรียกว่าความฉลาด บางทีไม่ต้องเป็นนักสืบอาวุโสที่ผ่านประสบการณ์โชกโชนหลายสิบปีเสียก่อนก็หัวไวพอจะโยงอะไรต่ออะไรเองได้


คราวนี้ขอมองจุดร่วมระหว่างความมีปัญญากับความเป็นคนฉลาด โดยมองเฉพาะขณะความรู้สึกของจิตที่กำลังมีปัญญา และ/หรือ ความฉลาด

๑) ขณะนั้นมีสติรู้เห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งแจ่มชัดตามจริงไม่ผิดเพี้ยน

๒) ขณะนั้นทราบดีว่าเรื่องนั้นๆมีองค์ประกอบสำคัญใดอยู่บ้าง

๓) ขณะนั้นรู้ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆเป็นอันดี ในแง่มุมหนึ่งหรือหลายแง่มุม

๔) ขณะนั้นหากจำเป็นต้องแก้ปัญหา หรือต้องคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ก็สามารถโยงสิ่งต่างๆเข้ามาถักทอเป็นสะพานเข้าถึงจุดหมายปลายทางตามประสงค์


ยิ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญามากหรือฉลาดมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งมีคุณสมบัติของจิตดังกล่าวมากขึ้นเท่านั้น

มองอีกแง่หนึ่งตามนิยามที่ต่างกันเล็กๆน้อยๆ คนมีปัญญามากอาจใช้ความรู้ทำให้เกิดข้อสรุปที่เป็นคุณยิ่งใหญ่ ส่วนคนฉลาดมากอาจใช้เวลาเพียงสั้นๆในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฉะนั้นความมีปัญญามากกับความฉลาดมากอาจรวมอยู่ในคนๆเดียวกันหรือต่างคนก็ได้ เช่นเสนาธิการทหารใหญ่อาจเป็นผู้วางนโยบายที่สมบูรณ์แบบซึ่งนำไปสู่ชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่อาจต้องใช้เวลาพิจารณาข้อมูลเพื่อวางแผนให้รอบคอบสักนิดหนึ่ง ไม่อาจคิดคำนวณแบบปุบปับฉับพลันทันด่วน เป็นต้น

สมัยพุทธกาลเมื่อกล่าวถึงปัญญา จะหมายถึงปัญญาได้หลายแบบ ซึ่งอาจรวมอยู่ในคนๆเดียว หรืออาจมีคนละนิดคนละหน่อย เช่นการมีปัญญามาก การเป็นคนเจ้าปัญญา เป็นผู้มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่นเร็ว มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีปัญญาแน่นหนา มีปัญญาไพบูลย์ มีปัญญาลึกซึ้ง มีปัญญาดังแผ่นดิน มีปัญญาคมกล้า มีปัญญาหาประมาณมิได้ ชนิดของปัญญาต่างๆเหล่านี้ล้วนบ่งบอกถึงสภาพจิตในขณะนั้นๆทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่นบางคนสนุกกับการคิดเรื่องยากๆได้อย่างต่อเนื่อง ก็เรียกว่าเป็นผู้มีปัญญาชวนให้ร่าเริง แต่อาจจะไม่ได้เป็นผู้มีปัญญาคมกล้าประดุจดาบเหล็กที่สามารถตัดเครื่องขวางขาดสองท่อนในทันทีทันใด


พอพูดถึงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แทนปัญญานั้น หลายแห่งมักใช้ตัวหมากรุกกันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะเกมหมากรุกได้รับการยอมรับมานับพันปีว่าเป็นเกมที่ต้องใช้ทางเล่ห์กล ใช้ปฏิภาณ ใช้จินตนาการ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งกำลังสติอย่างมากในการเอาชนะกัน เสน่ห์ของเกมนี้ยิ่งใหญ่ขนาดที่ดึงดูดคนหัวดีไปทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตให้กับมันแบบมืออาชีพ และเมื่อแข่งกันระดับโลกสามารถล่าเงินรางวัลกันได้เป็นล้านเหรียญ

คนฉลาดอาจเห็นหมากรุกเป็นเครื่องวัดความฉลาด คือยิ่งชนะมากก็ยิ่งฉลาดมาก แต่คนมีปัญญาอาจเห็นว่าการหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับหมากรุกทั้งวันทั้งคืนตลอดชีวิตนั้น จัดเป็นการถูกหลอกให้เอาความฉลาดไปหมกมุ่นและจมปลักอย่างโง่เขลาเสียมากกว่า แทนที่จะเอาความฉลาดมาพัฒนาโลกให้ดีขึ้น เพราะความจริงก็คือนักหมากรุกบางคนฉลาดขนาดเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ตั้งแต่วิศวกรขององค์การนาซ่า ตลอดไปจนกระทั่งแพทย์ในทีมวิจัยพัฒนารักษาโรคเอดส์

แต่ฝ่ายนักหมากรุกก็อาจเถียงกลับ ว่าแล้วการใช้ความฉลาดไปทางอื่นช่วยให้โลกนี้ดีขึ้นได้สักแค่ไหน ไอน์สไตน์ปฏิวัติทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ผลคือโลกเราได้เห็นอานุภาพที่น่าสะพรึงกลัวของระเบิดนิวเคลียร์ ๒ ลูกแรกในที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ยอดรวมคนตายทั้งทันทีและอีก ๔ เดือนต่อมาประมาณสองแสนคน ยังไม่นับความบาดเจ็บทางกายและความเสียหายทางจิตวิญญาณที่ประมาณได้ยากว่าเท่านั้นเท่านี้

อีกประการหนึ่ง บางชาติเช่นรัสเซียและจีนทุ่มกำลังเงิน กำลังคน และเวลาหลายทศวรรษเพื่อชิงความเป็นที่หนึ่ง ผู้ชนะจะได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของประเทศ และคำพูดของผู้ชนะอาจมีอิทธิพลกระทบแม้การเมืองระดับชาติ ทั้งนี้เพราะหมากรุกเป็นเกมทางปัญญาที่แข่งกันระดับโลก หากชาติใดคว้าชัยไป หรือชาติไหนมีคนเก่งหมากรุกอยู่มากๆ ก็แปลว่าชาตินั้นเป็นเผ่าพันธุ์ที่ทรงปัญญาเหนือเผ่าพันธุ์อื่น เขามองกันอย่างนี้จริงๆ


จะเห็นว่าการใช้ปัญญาหรือความฉลาดนั้นเป็นไปได้ทุกทาง แล้วแต่จะคิด แล้วแต่จะตัดสินใจเลือกเอา เพราะทุกๆทางมีคุณค่าของตัวเอง และอาจแฝงโทษของตัวเองไว้ก็ได้ทั้งสิ้น

หากมาตั้งมุมมองกันอีกแบบหนึ่ง คือทำอย่างไรจะใช้ปัญญาและความฉลาดที่มีอยู่ทั้งหมดให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดโดยไม่แฝงโทษไว้เลย ก็คงจำเป็นต้องมองไปโดยรอบ ต้องหาให้เจอเสียก่อนว่าประโยชน์สูงสุดคืออะไร อยู่ที่ไหน และจะอาศัยปัญญาหรือความฉลาดมาช่วยให้เข้าถึงด้วยท่าใด

ในความหมายของพระพุทธเจ้า บุคคลผู้จัดเป็นบัณฑิตหรือมีปัญญามากนั้น คือผู้ที่ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ถ้าจะคิดก็คิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น และเกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดเลยทีเดียว

ฟังดูเหมือนง่ายๆและเป็นไปตามสามัญสำนึก แต่ถ้าถามคำถามเดียวสั้นๆแค่ว่า ?การคิดไม่เบียดเบียนตนเป็นอย่างไร?? ก็คงมีน้อยเท่าน้อยที่ตอบถูก เหตุเพราะปัญญาของชาวโลกส่วนใหญ่ถูกเบียดบังด้วยคลื่นหมอกราคะ โทสะ โมหะหนาแน่น กระทำการโดยมากเพื่อรับใช้ราคะ โทสะ โมหะ โดยไม่อาจทราบได้ว่ามีกี่การกระทำที่เผลอเบียดเบียนตนเข้าไปแล้วโดยไม่รู้ตัว

สิ่งที่พระพุทธองค์พร่ำตรัสสอนอยู่เสมอนั้น จะเรียกว่าเป็น ?วิชารู้ตามจริง? ก็ได้ คือท่านชี้ให้มองว่าสิ่งใดคือประโยชน์ สิ่งใดคือโทษ สิ่งใดเป็นทางหลุดพ้นจากเขาวงกตแห่งความหลงไม่รู้


กรรมที่ทำให้มีปัญญามาก
พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม จะได้ชื่อว่าสร้างเหตุแห่งการเป็นผู้มีปัญญามาก ก็เมื่อเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรที่ทำแล้วเป็นโทษ หรือเป็นไปเพื่อต้องทนทุกข์จนสิ้นกาลนาน อะไรที่ทำแล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล หรือเป็นไปเพื่อความสุขจนสิ้นกาลนาน

เมื่อไถ่ถามหรือใฝ่รู้อยู่โดยอาการอย่างนี้ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดถามในสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุด หากมีวาสนาพอจะได้พบสมณะหรือพราหมณ์ที่รู้หลักกรรมวิบากตามจริง แล้วมีจิตศรัทธา ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในขอบเขตที่ถูกต้อง ไม่เอาตัวเข้าไปอยู่ในขอบเขตที่ผิดพลาด ย่อมเป็นผู้มีสติรู้เห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งแจ่มชัดตามจริงไม่ผิดเพี้ยน

จิตที่ทรงสติเห็นตามจริงไม่ผิดเพี้ยน เห็นชัดว่าเพราะมีเหตุดี ผลที่ดีจึงปรากฏ เพราะมีเหตุชั่ว ผลที่ชั่วจึงปรากฏ ไม่มีการปรากฏใดๆเกิดขึ้นเองลอยๆโดยปราศจากเหตุ หากมาถึงจุดนั้นได้ก็ย่อมเป็นบ่อเกิดของปัญญาและความฉลาดทั้งปวง เพราะยิ่งเห็นตามจริงมาก ไม่หลงตามกิเลสมาก สติก็ยิ่งคมชัดมาก มีความเป็นกลางมาก และเมื่อสติคมชัดมาก มีความเป็นกลางมาก ความสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นสิ่งที่เราสามารถเห็นผลได้ทันตาในชาติปัจจุบัน

ผลของการเป็นผู้รู้เรื่องกรรมตามจริง จะทำให้การเกิดเป็นมนุษย์ในครั้งต่อไปเป็นผู้มี ?สมองโต? จะมองในแง่ขนาดหรือจำนวนหยักสมองมากก็ได้ หรือแม้ว่าจะไม่ได้มีหยักสมองเกินมนุษย์ปกติ ก็จะไม่มีปัญหาทางสมองที่ขัดขวางสติปัญญาแต่อย่างใด อย่างน้อยก็ฉลาดพอจะเรียนได้ทุกสาขาไม่ว่ายากเย็นเพียงใด อีกทั้งจบมาต้องเป็นที่ต้องการตัวของบริษัทห้างร้านใหญ่ๆประจำยุคนั้นๆอย่างแน่นอน


ต่อไปนี้ขอแสดงทานและศีลในแง่ที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา

๑) ให้วิทยาทาน

เมื่อใครมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญด้านใด ก็ควรแจกจ่ายความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ตามสมควร หากใครให้แบบไม่หวงวิชา หรือที่เรียก ?ไม่มีกำมือของอาจารย์? ก็จะทำให้เป็นผู้ลงลึกในด้านนั้นๆไปเรื่อย เมื่อเกิดใหม่ต้องแข่งความรู้ความสามารถกับใครก็มักหาคนมีบารมีเทียบเคียงได้ยาก เนื่องจากวิบากของการให้ความรู้เป็นทานนั้น จะปรุงแต่งให้เกิดปัญญามาก มีพลังในการเรียนรู้มากมายเหลือเฟือ ทำนองเดียวกับให้ทรัพย์เป็นทานมากย่อมไปเกิดในบ้านคนมีเงินมาก ได้คาบช้อนเงินช้อนทองออกมาจากท้องแม่นั่นเอง

ไม่ว่าจะให้เป็นอาชีพ หรือให้ตามโอกาส ขอเพียงมีเจตนาอนุเคราะห์ หวังให้ศิษย์ได้ดี ได้มีความรู้ติดตัว ก็จัดเป็นวิทยาทานทั้งสิ้น ซึ่งจะให้ผลสะท้อนกลับมาเป็นปัญญาลุ่มลึกและกว้างขวางทันทีในชาติปัจจุบัน เพราะถ้าสอนบ่อย หรือให้คำตอบบ่อย ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดการตอกย้ำเสาหลักแห่งความรู้ให้ลึกลงไป และเพราะมีคำถามหลากๆมุมมอง ก็ย่อมเป็นเหตุให้คิดอ่านและเห็นด้านต่างๆของปัญหาเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ

นิสัยในการให้ความรู้มีหลายแบบจาระไนไม่หมด ในที่นี้ขอจำแนกไว้ง่ายๆเพื่อให้นึกออกว่ารูปแบบของวิทยาทานมีประมาณใด

-                             ตอบอย่างเต็มใจเมื่อมีคนถาม: หากตอบให้กระจ่างเป็นที่เข้าใจได้ วิบากจะเป็นผู้มีปัญญาระดับแก้ข้อสงสัยให้ตนเองได้ เช่นเด็กที่เรียนสอบผ่านด้วยการอ่านหนังสือเอง ไม่ต้องให้ใครช่วย

-                             พยายามสอนแม้ไม่มีคนถาม: คือเห็นใครกำลังเก้ๆกังๆก็อาสาเข้าไปช่วยเอง หรือเพื่อนๆขอให้ติววิชาก็ร่ายยาวแบบมีต้นมีปลายเรียบเรียงอย่างดี หากสอนจนวิชาความรู้เข้าไปอยู่ในหัวคนอื่นได้ ช่วยให้เขาสอบผ่าน หรือช่วยให้เขาประกอบวิชาชีพอย่างมีคุณภาพสูงขึ้น วิบากจะเป็นผู้มีปัญญาสว่างไสว แบบที่มักเรียกกันว่า ?ไบรท์? เป็นพิเศษ ประเภทท็อปวิชาต่างๆ หรือได้ที่หนึ่งเป็นประจำ

-                             ชอบสอนให้จำ: ถ้าบังคับให้นักเรียนท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง วิบากจะเป็นผู้มีปัญญาแบบคิดอะไรชั้นเดียว จดจำแบบลอกตามคนอื่นอย่างเดียว ไม่กล้าคิดเองเพราะกลัวผิด แต่หากสอนให้จำแบบมีอุบายวิธีดีๆ วิบากจะเป็นผู้มีปัญญาแบบเรียนรู้ตามคนอื่นด้วยทางลัด

-                             ชอบสอนให้คิด: คือนิยมให้องค์ความรู้ไปกว้างๆ แล้วสอนให้เชื่อมโยง สอนด้วยเจตนาจะจุดประกายความคิดใหม่ๆให้นักเรียน สอนให้คิดเองเป็น อย่างนี้วิบากจะเป็นผู้มีปัญญาแบบคิดอะไรได้ซับซ้อน มีไอเดียริเริ่มใหม่ๆได้ด้วยตนเอง เวลามองโลก เวลาคิดเกี่ยวกับโลก จะต่างจากคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด


นอกจากนี้ยังมีระดับความกว้างของการเผยแพร่ความรู้ เช่น
-                             ระดับครอบครัว: เช่นพ่อแม่สอนลูกๆ วิบากจะเป็นผู้ไม่ขาดแคลนผู้ให้ปัญญา ขอให้สังเกตเด็กบางคนที่น่าสงสาร ถามใครไม่ค่อยมีคนว่างให้คำตอบ หรือได้คำตอบที่ไม่จุใจ ไม่อิ่มในความรู้ อันนี้ก็มีกรณีที่เคยเป็นพ่อแม่คนแล้วไม่ค่อยอบรมเลี้ยงดู ไม่ค่อยเห็นความสำคัญในการให้คำตอบกับลูกๆ

-                             ระดับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย: คือครูบาอาจารย์นั่นเอง ถ้าหากมีเจตนาดี มีความหวังว่าจะให้วิชาเต็มกำลัง มีความกระตือรือร้นเสมอต้นเสมอปลาย สอนนักเรียนให้จบออกไปหลายต่อหลายรุ่น วิบากจะเป็นผู้มีบุคลิกทรงภูมิแบบคงแก่เรียน และหากในชาติที่เสวยวิบากนั้นไม่เป็นคนเหลวไหล ก็จะเป็นผู้มีปัญญาลึก มีปัญญากว้างขวาง รับรู้ได้มากกว่าคนธรรมดา คิดได้มากกว่าคนธรรมดา

-                             ระดับประเทศ: อย่างเช่นวิทยากรรายการที่ให้ความรู้และมีคนติดตามดูด้วยความสนใจมากๆ หากมีวิธีพูดให้คนส่วนใหญ่เข้าอกเข้าใจ วิบากจะเป็นผู้มีสิทธิ์ชนะการแข่งขันระดับประเทศ อย่างเช่นเด็กที่สอบเอนทรานซ์ได้ที่หนึ่ง มีชื่อเสียงเป็นเกียรติประวัติ เป็นต้น

-                             ระดับโลก: อย่างเช่นผู้ที่เขียนตำราเรียนซึ่งใช้กันหลายต่อหลายมหาวิทยาลัยของแทบทุกประเทศ วิบากจะเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลกบางอย่าง เช่นถ้าในชาติที่เสวยวิบากนั้นอยากทำงานวิจัยซึ่งต้องอาศัยปัญญาอันล้ำลึก ก็อาจมีคนเล็งเห็นประโยชน์และมอบรางวัลโนเบลให้ นอกจากนี้พวกนักวิทยาศาสตร์ที่เกิดมาอยากไขความลับของโลกและจักรวาลให้เป็นที่เปิดเผยกระจ่างแจ้งแก่ชาวโลก ก็มักได้เกิดใหม่มีนิสัยเดิมๆ อย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบหลักความจริงอันยิ่งใหญ่ บางคนเกิดใหม่อีกทีพบความจริงยิ่งใหญ่กว่า และอาจหักล้างการค้นพบของตนเองในชาติก่อนก็ได้


วิทยาทานที่ให้เดี๋ยวเดียวกับให้ตลอดชีวิตนั้นต่างกัน ข้างต้นจะกล่าวเฉพาะวิทยาทานแบบที่ให้จนติดเป็นนิสัยไปตลอดชีวิต และจะได้รับผลของวิทยาทานในกาลต่อๆไปเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามระดับของตน


๒) ให้ธรรมเป็นทาน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า การให้ธรรมเป็นทานชนะทานทั้งปวง ธรรมะในที่นี้หมายถึงเรื่องกรรมวิบากสำหรับคนธรรมดา และหมายถึงเรื่องการปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานสำหรับภิกษุ

เมื่อศึกษาเรื่องกรรมวิบาก ศึกษาเรื่องหนทางออกจากวังวนทุกข์จนเข้าใจแจ่มแจ้งถูกต้อง แล้วนำความรู้ที่มีอยู่นั้นไปเผยแพร่ นำไปบอกต่อแก่คนที่ควรรู้ หรือนำไปเป็นคำตอบสำหรับคนที่สงสัยใคร่รู้ ใช้ความคิดทั้งหมดทุ่มเทลงไปไขความข้องใจแก่ผู้อื่น ก็นับเป็นธรรมทานอันยิ่งใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่หลวงเกินประมาณ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ทำอยู่เป็นปกติ จะเห็นผลชัดภายในเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น ก็ขนาดเข้าไปไต่ถามเรื่องบุญกรรมจากสมณะยังมีผลให้เป็นผู้มีปัญญามาก แล้วถ้าเป็นผู้ให้ความรู้เรื่องบุญกรรมจากความเข้าใจที่ถ่องแท้ด้วยตนเองเล่า จะยิ่งมีผลคูณทวีตัวกว่าเป็นผู้ถามสักเพียงไหน?

ในขั้นต้นที่ง่ายกว่านั้นอาจให้ธรรมทานในลักษณะของสิ่งของแก่ผู้ควรให้ อย่างเช่นถ้าใครตระเวนไปตามวัดต่างๆ จะเห็นว่าภิกษุในปัจจุบันน้อยนักที่รู้ข้อตกลงกับพระพุทธเจ้าว่ามาบวชห่มผ้าเหลืองก็เพื่อ ?ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง? ส่วนใหญ่เข้าใจเพียงว่าถ้าอายุครบก็ควรบวชตามประเพณี หรือบวชเพื่อให้พ่อแม่ได้ชื่นใจ อาศัยเกาะผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ พูดง่ายๆคือมีความเข้าใจว่าเพศพระหรือการบวชเป็นอะไรอย่างหนึ่งที่วิเศษสูงส่ง และสามารถแปลงคนธรรมดาให้กลายเป็นผู้วิเศษสูงส่งขึ้นมาทันตา ขอเพียงมีเงินค่าบวช และมีความจำเพียงเล็กน้อย ท่องบทสวดขอบวชต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ได้ถูก

และแม้พระหลายต่อหลายรูปใคร่จะทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งตามกติกาการบวช ก็ติดปัญหาอีก คือไม่มีคนสอน หรือสอนไม่ถูกทาง หรือบางทีก็ขาดสิ่งแวดล้อมสนับสนุน ไม่มีใครเป็นเพื่อนปฏิบัติ ไม่มีใครเป็นแรงบันดาลใจ ไม่มีใครเป็นแม้กำลังใจให้ในขั้นเริ่มต้น ฉะนั้นหากเราเอาหนังสือแม้เล่มเล็กๆที่เป็นกำลังใจให้ภิกษุรู้ทางดี ทางชอบ ทางตรง หรือเหนี่ยวนำให้เกิดความปรารถนามรรคผลนิพพาน ก็ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้ปัญญาอันประเสริฐ หากนำไปถวายเป็นสังฆทานเรื่อยๆพร้อมกับปัจจัย ๔ อื่นๆดังแจกแจงแล้วในบทก่อน ก็จะทำให้สังฆทานบริบูรณ์ถึงขีดสุด ช่วยส่งเสริมให้เป็นผู้มีปัญญาเอกอุได้ ทั้งที่อาจเห็นผลในชาติปัจจุบัน และต้องรอดูผลยิ่งใหญ่ในชาติถัดๆไป

หากทราบว่าที่ใดมีการร่วมมือร่วมใจจัดสร้างพระไตรปิฎก ถ้าเข้าไปร่วมบริจาคหรือให้ความช่วยเหลือในทางใดทางหนึ่งได้ก็จะเป็นเรื่องวิเศษ เพราะการจัดสร้างพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นสื่อแบบหนังสือชุดรวม ๔๕ เล่มหรือว่าเป็นสื่อบันทึกข้อมูลคอมพิวเตอร์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการสืบทอดคำสอนล้ำค่าของพระพุทธเจ้าที่หาได้ยาก เนื่องจากพุทธศาสนาจะตั้งอยู่ได้เป็นพันๆปี ก็ต้องอาศัยบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เท่านั้น โดยเฉพาะถ้าตั้งจิตอนุเคราะห์แก่ปวงชนไว้ เช่นขอให้พระไตรปิฎกที่เราสร้างจงเป็นประโยชน์ จงก่อให้เกิดปัญญาสว่างไสวแก่ผู้คลำหาทางไปสู่สวรรค์นิพพานทั้งหลาย เช่นนี้วิบากของผู้มีส่วนร่วมในธรรมทานย่อมไม่อาจประมาณ ทั้งแง่ของความกว้างขวาง และแง่ของความยิ่งใหญ่แห่งคุณภาพบุญ


๓) รักษาศีลทุกข้อ
บางคนรู้สึกอยู่ลึกๆว่าตัวเองก็ฉลาดไม่แพ้ใครอื่น แต่น่าเจ็บใจที่มีข้อติดขัดบางประการ หลายครั้งเมื่อจะต้องตัดสินใจดีๆดันไม่มีสมาธิ หรือหลายครั้งเมื่อเผชิญกับสถานการณ์เข้าด้ายเข้าเข็มต้องอาศัยหูตากว้างขวางรู้เห็นชัดเจน จู่ๆก็หนักหัวขึ้นมาเฉยๆ ความคิดความอ่านและหูตาพร่ามัวไปหมดโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่ทราบจะแก้ไขอย่างไร เพราะตรวจสุขภาพแล้วหมอก็บอกว่าปกติดี

ต่อให้เนื้อแท้ฉลาด แต่ถ้าโดนบาปกรรมบางอย่างปิดบังเนื้อแท้นั้นไว้ หลายๆทีก็ดูเหมือนคนทึ่มๆ เซ่อซ่าเด๋อด๋า หรือตัดสินใจในเรื่องสำคัญไม่ต่างจากคนเขลาอย่างที่สุดคนหนึ่งได้ ผู้ที่เคยผิดศีลอย่างหนักในอดีตชาติจะได้รับผลเป็นข้อๆประมาณนี้

-                             เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไว้มาก โดยเฉพาะพวกขุนศึกเก่งๆ วิบากคือทำให้รู้สึกหนักหัว มึนตลอด บางทีคล้ายใครเอาหมอนมาโปะไว้บนกระหม่อมอุดทางออกของปัญญา ยิ่งถ้าเคยคิดประทุษร้าย แบบแกล้งให้ใครสมองบอบช้ำ ก็อาจต้องรับผลคือเป็นคนปัญญาอ่อนมาแต่กำเนิดเลยทีเดียว

-                             เคยลักทรัพย์ทางปัญญาไว้มาก ยกตัวอย่างที่จัดแจ้งสุดได้แก่พวกเผาโรงเรียน หรือยักยอกหนังสือที่เขาบริจาคเพื่อให้เด็กยากไร้มีโอกาสเรียนกัน วิบากคือทำให้ขาดที่ศึกษา ขาดเครื่องมือ หรืออยู่ในถิ่นไกลปืนเที่ยงเสียจนไม่อาจหวังเอาวิชาความรู้ได้จากไหน หรือถ้ามีโอกาสเรียนก็เจอความมืดทางปัญญา ชนิดเรียนอย่างไรก็ไม่รู้ พยายามดูอย่างไรก็ไม่เห็น ราวกับผีเอากำแพงมาบังกระดานดำหน้าชั้นเรียน พูดง่ายๆว่าขณะเสวยวิบากนั้นยากจะเป็นคนมีความรู้แม้เพื่อเลี้ยงชีพตนเองให้อยู่รอดปลอดภัย

-                             เคยลักลอบเป็นชู้ด้วยความหน้ามืดตามัว หมกมุ่นและเมากามอย่างหนัก วิบากคือทำให้อ่อนแอ ไม่อยากเรียน ไม่อยากคิดมาก ฝักใฝ่ถึงแต่นิมิตบนเตียง มองครูหรือมองเพื่อนในห้องก็จะเอาแต่คิดอัปมงคลไปเสียหมด

-                             เคยโกหกมดเท็จ ปั้นน้ำเป็นตัวจนชิน วิบากคือทำให้มองไม่เห็นตามจริง รับรู้อยู่ในปัจจุบันให้ตรงจริงได้ยาก ส่วนใหญ่พอได้ความรู้อะไรนิดหนึ่ง จิตจะดีดไปทางอื่น ทะเล้นคิดแบบไร้สาระ ไม่ยอมรับสาระ เห็นจริงเป็นเท็จ เห็นเท็จเป็นจริงอย่างง่ายดาย แม้พยายามหันมาสนใจจดจ่อรับรู้อะไรให้ตรงจริงเป็นปัจจุบัน แต่ละทีก็ยากเย็นสาหัส

-                             เคยร่ำสุราจนได้ชื่อเป็นขี้เมา วิบากคือจะเป็นผู้ฟุ้งซ่านจัด ห้ามยาก หยุดยาก เรียกว่าบางทียิ่งเรียนเหมือนยิ่งใกล้บ้า ทั้งเบื่อ ทั้งหงุดหงิด ทั้งล่องลอยเลื่อนเปื้อน คนมักเข้าใจว่าถ้าเมามายแล้วมีผลเสียเฉพาะกับสุขภาพ แต่ความจริงคือเราขยำวิญญาณตัวเองให้ยับยู่ยี่ไปด้วย และมีผลข้ามภพข้ามชาติทีเดียว เนื่องจากจิตวิญญาณขี้เมาจะมีคุณภาพต่ำ หาความสงบสุขไม่ค่อยได้ สติปัญญาย่อมไม่เกิดขณะทุกข์หนักด้วยความฟุ้งซ่านรำคาญใจ


กรรมที่เคยผิดศีลและให้วิบากเป็นม่านทึบบดบังแสงสว่างทางปัญญานั้น พอจะแก้ได้ด้วยการกลับลำในศีลแต่ละข้อ เช่นถ้ามึนๆหนักๆหัว ขอให้ลองปล่อยนกปล่อยปลา ปล่อยโคกระบือที่เห็นชัดว่ากำลังจะถูกฆ่า หัดแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งปวง ขอภัยเวรจงเป็นอโหสิ ทำมากๆข้ามเดือนข้ามปีถ้าอะไรที่หนักๆในหัวหรือบนหัวก็เบาบางลง ก็แปลว่าแก้ถูกทางแล้ว

นอกจากนั้นยังมีกรรมที่พึงระวังเกี่ยวกับเรื่องการดูถูก หรือการปิดกั้นการศึกษา เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กรรมชนิดนี้คนฉลาดหลายๆคนชอบทำกัน เห็นใครต่อใครโง่เง่าเต่าตุ่นไปหมด ถ้านึกอยู่ในใจเงียบๆคงไม่กระไรนัก แต่ถ้าถึงขนาดพูดถากถางให้เขาอับอาย น้อยเนื้อต่ำใจจนขาดความมานะพยายามที่จะเพียรศึกษาต่อ อย่างนี้มีโทษหนัก

ตัวอย่างเช่นพระจูฬปันถก ความจริงท่านเป็นคนมีบุญญาธิการ แต่เพราะในอดีตเคยก่ออกุศลกรรม คือชอบไปดูถูก หัวเราะเยาะ บั่นทอนกำลังใจของคนที่เขามีสติปัญญาไม่ใคร่ดี จนกระทั่งเขาอับอายถอยเท้าไปจากแวดวงการศึกษาธรรมะ ส่งผลให้ท่านเกิดใหม่แล้วท่องจำหรือเรียนมนต์อะไรไม่ได้แม้แต่คาถาสักบทเดียว เป็นต้น ต่อเมื่อพระพุทธเจ้าช่วยแนะอุบายช่วยแหวกม่านโมหะออก ปัญญาที่แท้จริงของท่านจึงสว่างชำแรกออกมาได้


๔) เจริญสติรู้ความเคลื่อนไหวทางกาย

ข้อนี้เป็นวิชาในพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ผลจะเกิดขึ้นในปัจจุบันชาติ ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า แนวคิดหลักๆมีอยู่ว่าถ้ามีสติสัมปชัญญะ รู้เห็นอะไรตามจริงอยู่ทุกขณะ ไม่ว่าจะใช้อะไรเป็นเป้าล่อ ก็จะได้ผลเป็นความสามารถทางปัญญาอย่างเอกอุ

สิ่งที่จะใช้อาศัยเป็นเป้าล่อ หรือเครื่องระลึกของใจนั้นก็ไม่ต้องไปหาอะไรอื่น คือกายทั่วทั้งหมดของเรานี้เอง ทุกขณะจิตมีการเคลื่อนไหวหรือหยุดนิ่งทางกายให้อาศัยระลึกรู้ได้ตลอดเวลา แต่เมื่อไม่ฝึกตามรู้ก็ไม่มีใครทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาเป็นรางวัล พระพุทธเจ้าตรัสว่า


เมื่อบุคคลเจริญธรรมข้อหนึ่งแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความไพบูลย์แห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาใหญ่ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไพบูลย์ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาสามารถยิ่ง ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มากด้วยปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาว่องไว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเร็ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาร่าเริง ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาแล่น ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาคม ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส ธรรมข้อหนึ่งนั้นคืออะไร? คือ ?กายคตาสติ? ธรรมข้อนี้เมื่อบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว แม้ที่สุดย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส


โดยย่นย่อกายคตาสติคือหลักรู้อาการทั้งปวงของกาย อะไรเกิดขึ้นเด่นๆให้รู้ให้หมด นับตั้งแต่มีสติรู้ว่าขณะนี้กำลังหายใจออก ขณะนี้กำลังหายใจเข้า ขณะนี้กำลังหายใจยาว ขณะนี้กำลังหายใจสั้น ไม่ต้องสำรวจให้ละเอียดอะไร ทำได้ทุกเมื่อ ทุกสถานที่

เมื่อแรกอาจรู้ลมหายใจไม่ได้บ่อยนัก แต่ถ้าเตือนตัวเองเสมอๆทุกครั้งที่ระลึกได้ ว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า เท่านี้ก็ได้ชื่อว่าเริ่มทำกายคตาสติ

ทุกครั้งที่ทราบลมหายใจชัด เราจะสามารถรู้สึกเข้ามาถึงกายไปด้วย ว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถใด การทราบอิริยาบถอันเป็นปัจจุบัน เช่นหัวกำลังตั้งหรือเอียง กายกำลังขยับหรือหยุด แขนตกหรือยกเกร็งที่หัวไหล่ ขากำลังก้าวสลับเดินหรือวางนิ่งบนพื้นเก้าอี้ ยืดแขนหรือหดแขน ฯลฯ หากรู้ได้สบายๆแล้วก็ล้วนแต่ปรุงจิตให้เกิดสติสัมปชัญญะมากขึ้นเรื่อยๆทั้งสิ้น

ยิ่งเมื่อถึงจุดที่สติสัมปชัญญะเจริญถึงจุดที่สามารถเห็นถนัดว่ากายสงบ ไม่กวัดแกว่ง มีความสุขทางกายให้รู้ได้ ตลอดจนเมื่อเกิดความอึดอัดทางกายก็รู้ทัน เห็นว่าอาการทั้งปวงของกายแปรปรวนอยู่ตลอด มีความสนุกกับการตามรู้ว่าอะไรๆทางกายล้วนไม่เที่ยง ที่ตรงนั้นจิตเราจะมีความเป็นกลางขึ้นมา รู้เห็นอะไรคมชัดขึ้นไม่ว่าจะภายนอกหรือภายใน แม้อาการรู้สึกนึกคิดที่เกิดกับจิตก็พลอยเห็นไปหมด โดยไม่ต้องฝืนพยายามจ้องดูแต่อย่างใด

ตรงนั้นเราจะทราบเองว่าแท้จริงแล้วเคล็ดลับของมหาปัญญาก็คือการมีมหาสตินั่นเอง เรื่องง่ายๆที่ไม่มีใครสักกี่คนในโลกล่วงรู้ แม้วิชากายคตาสติจะสืบทอดกันมาเนิ่นนานหลายพันปีแล้วก็ตาม


กรรมที่ทำให้เป็นอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก
ความฉลาดมิใช่คุณสมบัติจำกัดเพศ และไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะสวยหรือหล่อปานไหน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกรรมเก่าที่ทำมาในอดีตดังกล่าวแล้วในหัวข้อก่อน บวกกับกรรมใหม่ซึ่งเริ่มต้นจุดชนวนจากแรงบันดาลใจรักใคร่ชื่นชอบในงานใดงานหนึ่ง เมื่อชอบงานใดย่อมมีความพากเพียรในงานนั้นอย่างต่อเนื่อง ใฝ่ใจจดจ่ออุทิศพลังกายพลังใจทั้งหมดให้ รวมทั้งหมั่นประเมินฝีมือเพื่อพัฒนาต่อยอดยิ่งๆขึ้นไป

ถ้าหากมีทั้ง ?พรสวรรค์? อันได้แก่กรรมเก่าส่งเสริม บวกกับ ?พรแสวง? อันได้แก่กรรมใหม่ชักนำ คนๆหนึ่งอาจเก่งได้โดยไม่จำกัดหน้าตา อายุ และเชื้อชาติ

ที่ยกตัวอย่างกันมากน่าจะได้แก่อัจฉริยะที่ผู้คนยังจดจำและกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ แม้ว่าตัวเขาจะล่วงลับจากโลกนี้ไปกว่าสองศตวรรษแล้วก็ตาม คือโวล์ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ท กรรมเก่าที่เคยมีคุณูปการต่อแวดวงการดนตรีได้ส่งเขามาเกิดในบ้านที่จะได้รับแรงบันดาลใจอย่างสูง ทั้งเห็นพ่อเล่นฮาร์พซิคอร์ด ทั้งเห็นพี่สาวเล่นคลาเวียร์ได้เก่ง และทั้งมีความสามารถของตัวเขาเองที่จดจำเสียงดนตรีได้แม่นยำ เรียนรู้ได้เร็วเกินวัย เมื่อมาประกอบกับกรรมใหม่ที่สมัครใจทุ่มเทเวลามาฝึกหัดจริงจัง กล้าหาญชาญชัย ในที่สุดเขามีความสามารถเล่นดนตรีได้ตั้งแต่ ๔ ขวบ ประพันธ์เพลงได้เมื่อ ๕ ขวบ และเล่นไวโอลินให้สมาชิกวงดนตรีประจำสำนักของอาร์ชบิชอพตะลึงฟังตาค้างได้ขณะที่อายุเพิ่ง ๖ ขวบเท่านั้น!

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใจแคบ ยึดถือความเชื่อผิดๆไว้อย่างเหนียวแน่น เช่นเห็นว่าถ้ามีรูปสมบัติคือหน้าตาดี จะต้องแถมพกเอาคุณสมบัติคือสมองโง่คู่มาด้วยเสมอ หรือไม่ก็มองว่าเพศชายต้องฉลาดกว่าเพศหญิง ถ้าผู้หญิงคนไหนเก่งกว่าผู้ชายจะถูกมองเป็นตัวประหลาดไม่น่าคบทันที

ความจริงคืออัจฉริยะที่มีผลงานระดับโลกมากมายหน้าตาดีระดับพระเอกนางเอกหนัง อย่างเช่นโมสาร์ทนั้นก็เป็นที่เลื่องลือในรูปโฉมคนหนึ่ง หรืออย่างอลิเซีย วิตต์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนางเอกสาวรูปงามของฮอลลีวูดก็พูดคำแรกได้ขณะอายุ ๑ เดือน อ่านหนังสือได้เมื่ออายุเพียง ๖ เดือน เขียนนวนิยายได้หลายเรื่องเมื่ออายุได้เพียง ๕ ขวบ กับทั้งแข่งเปียโนชนะในหลายรายการแข่งขันจนได้รับการยกย่องให้เป็นเด็กอัจฉริยะทางดนตรีคนหนึ่ง

ความน่าทึ่งของเด็กอัจฉริยะทำให้หลายต่อหลายเรื่องยากจะเป็นที่ยอมรับ หรือง่ายที่จะทำให้รู้สึกว่าเป็นข่าวโคมลอยมากกว่าเรื่องจริง อีกทั้งยังปรากฏอย่างสม่ำเสมอในโลกนี้โดยไม่จำกัดอยู่ที่ยุคใดยุคหนึ่ง บุคคลร่วมสมัยอย่างเช่น ไมเคิล เคียร์นีย์ มีไอคิวสูงเสียจนเข้าเรียนมัธยมปลายตอน ๕ ขวบ และเข้าเตรียมมหาวิทยาลัยเมื่ออายุเพียง ๖ ขวบเท่านั้น!


ในโลกที่คนไม่รู้เรื่องกรรมวิบากและภพชาติ หลายฝ่ายถกเถียงกันมาตลอดว่าความเก่งกาจผิดมนุษย์มนาของเด็กอัจฉริยะมีเหตุมาแต่ไหน ระหว่างพรสวรรค์ พรแสวง หรือสิ่งแวดล้อม

กรณีตัวอย่างของการไล่ล่าคว้าคำตอบซึ่งค่อนข้างโด่งดัง ได้แก่การที่นักจิตวิทยาคนหนึ่งเอาตนเองและชีวิตลูกสาวสามคนเป็นเดิมพันการทดลอง กล่าวคือเขาประกาศตั้งแต่ก่อนลูกสาวคนแรกเกิด ว่าเขาจะมีลูกเท่าไหร่ ทุกคนต้องยิ่งใหญ่ในโลกหมากรุก และเขาก็ทำได้จริงๆ เริ่มจากการให้ลูกเรียนหนังสือที่บ้าน กระตุ้นให้เกิดความสนใจในเกมหมากรุก ในที่สุดก็ได้ผลผลิตที่ระดับประวัติศาสตร์ นั่นคือนักหมากรุกทุกคนจะต้องรู้จักสามพี่น้องโพลการ์ โดยเฉพาะ จูดิท โพลการ์ ผู้เป็นน้องคนสุดท้องนั้น เล่นได้ถึงระดับแกรนด์มาสเตอร์ (คล้ายปริญญาดอกเตอร์ทางหมากรุก นักเล่นเก่งๆหลายคนพยายามจนอายุ ๖๐ ก็ไม่ได้เป็น) ตั้งแต่อายุเพียง ๑๕ ปีกับ ๕ เดือน ทำลายสถิติโลกเดิมที่ผู้ชายทำไว้ก่อนหน้าลงอย่างราบคาบ

การที่นักจิตวิทยาดังกล่าวเสนอทฤษฎีว่าเด็กอัจฉริยะไม่ได้เกิดขึ้นจากพรสวรรค์หรือความบังเอิญทางพันธุกรรมใดๆ แต่เกิดขึ้นจากการให้สภาพแวดล้อมที่ดีในการกระตุ้นความสนใจ รวมทั้งการฝึกฝนอย่างจริงจังภายใต้ความสมัครใจของเด็กเอง นับเป็นเรื่องที่ควรพิจารณา เพราะเขากับภรรยาไม่ใช่อัจฉริยะ และได้ประกาศเจตนารมณ์ในการสร้างเด็กอัจฉริยะก่อนเด็กเกิด อีกทั้งค่าความบังเอิญก็ถูกตัดทิ้งไปด้วยความสำเร็จของลูกสาวถึง ๓ คน (ทางวิทยาศาสตร์ถือว่า ๑ ใน ๓ ?อาจ? เป็นเรื่องบังเอิญ แต่ ๓ ใน ๓ นั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน)

พ่อแม่ยุคปัจจุบันมักเห่อเด็กอัจฉริยะ และขวนขวายบำรุงลูกทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เป็นเด็กอัจฉริยะ แต่ความจริงคือการเป็นเด็กอัจฉริยะมีความหมายกับตัวเด็กเองและหน้าตาของพ่อแม่เพียงเดี๋ยวเดียว ผลงานถาวรที่แต่ละคนฝากไว้กับโลกต่างหากจะเป็นที่จดจำยั่งยืน และเป็นบุญติดตัวไปถึงภพหน้า เช่นที่มีผู้กล่าวไว้ว่าโมสาร์ทเป็นเด็กอัจฉริยะในช่วงต้นชีวิต ขณะที่บีโธเฟ่นไม่ใช่ แต่ทั้งสองคนก็ฝากผลงานน่าชื่นชมไว้เสมอกัน (ไอน์สไตน์ซึ่งนับถือสองผู้ยิ่งใหญ่เท่าเทียมกันเคยกล่าวคำเด็ดไว้ว่า บีโธเฟ่นสร้างงานขึ้นเอง ขณะที่โมสาร์ทเป็นผู้ค้นพบดนตรีอันบริสุทธิ์งดงามซึ่งเหมือนมีอยู่ก่อนแล้วในธรรมชาติ)

สรุปคือถ้าต้องการเกิดเป็นเด็กอัจฉริยะผู้น่าอัศจรรย์ของโลก ก็ไม่ใช่แค่สร้างกรรมว่าด้วยการมีปัญญามาก แต่เราจะต้องสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และเป็นผู้ใหญ่ที่มีความตั้งใจอุทิศชีวิตทั้งหมดของตนเป็นคุณูปการกว้างขวางแก่แวดวงสาขาอาชีพที่รัก กระทั่งเชื้อความรัก ความสนใจ และอานิสงส์ที่ช่วยคนอื่นในสาขานั้นๆ ติดตัวไปบันดาลสภาพแวดล้อมการเกิดใหม่ให้สอดคล้องกับบรรยากาศแบบเดิมๆอีก เพราะหากขาดความรักเดียวใจเดียวในสาขาวิชาชีพหนึ่งๆแล้ว จิตก็จะไม่ยึดภพแห่งความเป็นเช่นนั้นไว้เหนียวแน่นพอ เกิดใหม่ก็ไม่มีอะไรกระตุ้นความสนใจได้แรงพอจะทุ่มเวลาช่วงเด็กให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเช่นกัน

ขอให้พิจารณาด้วย ว่าใครๆไม่มีทางเป็นเด็กอัจฉริยะ หรือแม้กระทั่งเป็นเด็กฉลาดตามปกติขึ้นมาได้เลย ถ้าเกิดในชาติที่ต้องเสวยผลกรรมชนิดปิดบังสติปัญญา ดังได้แจกแจงไว้แล้วในหัวข้อก่อน


บทสำรวจตนเอง
ไม่ว่าใครจะพอใจในสติปัญญาของตนเองเพียงใด ทุกคนต้องยอมรับเหมือนกันหมดว่าสติปัญญาเป็นอาวุธสำคัญสูงสุดในการรบกับความทุกข์และภาระหน้าที่การงาน

แต่กรรมของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ละเมิดศีลเป็นอาจิณ และที่ไม่สนใจว่าอะไรคือบาปบุญคุณโทษ ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องบั่นทอนสติปัญญาทั้งในชาตินี้และชาติหน้าทั้งสิ้น จึงสมควรสำรวจตนเองว่าเราทำทางอันเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของสติปัญญา

๑) เรามีความสนใจใคร่รู้ด้วยตนเองหรือไม่ ว่าทำอย่างไรเป็นประโยชน์ ทำอย่างไรเป็นโทษ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว?

๒) เมื่อรู้หลักจากพระพุทธเจ้าว่าอะไรคือบุญ อะไรคือบาป รู้ว่าอะไรคือประโยชน์ อะไรคือโทษ เรามีความขวนขวายเพื่อประโยชน์อันเป็นที่สุดตามที่สามารถทำได้หรือไม่?

๓) เมื่อมีความรู้อะไรดีๆ เราเคยคิดแบ่งปันให้คนอื่นหรือไม่?

๔) เราเป็นผู้ละเมิดศีล ๕ ข้อเป็นอาจิณหรือไม่?

๕) เราเคยทดลองเจริญสติรู้ความเป็นไปทั้งปวงทางกายหรือไม่?


สรุป
การมีความฉลาดกับการมีปัญญารอบรู้ในเรื่องดีๆนั้นแตกต่างกัน ความจริงคือคนฉลาดทำเรื่องเดือดร้อนให้ชาวโลกได้มากกว่าคนโง่เสียด้วยซ้ำ

การเป็นผู้มีปัญญาดี การเป็นผู้มีปัญญาเห็นชอบ คือหัวหน้าของความเจริญทั้งปวง คนมีปัญญาเห็นทางประพฤติตนอันชอบเท่านั้น ที่นำความเจริญมาสู่ตนเองกับโลกรอบด้านโดยส่วนเดียว การมีชีวิตอยู่ของเขาย่อมหมายถึงแสงสว่าง ไม่ใช่ความมืด

ถ้าให้เลือกได้ ระหว่างสวยหล่อกับฉลาดจะเลือกอะไร? คนส่วนใหญ่จะเลือกไม่ค่อยถูก เพราะถ้าหน้าตาดีแต่ถูกหาว่าโง่ก็คงไม่มีใครรู้สึกดีนัก ส่วนถ้าจะให้ฉลาดแล้วหน้าหักก็คงมีปมด้อยไปทั้งชีวิตเช่นกัน ฉะนั้นเมื่อทราบทางไปสู่สภาพน่าพึงใจทั้งสองส่วน ก็ควรเร่งสร้างเหตุสร้างปัจจัยเสียแต่บัดนี้ จะได้เป็นผู้มีความสุขที่สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่มีอย่างแต่ขาดอีกอย่างเหมือนหลายๆคน

จากหนังสือ เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน

pass07

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๖ - เหตุใดจึงมีสติปัญญามาก?
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 14 สิงหาคม 2008, 09:09:31 »

เป็นบทความที่ดีครับ  ;khhg

cmman573

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๖ - เหตุใดจึงมีสติปัญญามาก?
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 19 สิงหาคม 2008, 16:29:55 »

คนฉลาดหรือคนโง่ ใครจาอันตรายกว่ากัน ผมก้อคิดว่ามันอยู่ที่นิสัยของแต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญ คิดดีทำดี จิตใจดี รับรองสบายจัยครับ

Nobody

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๖ - เหตุใดจึงมีสติปัญญามาก?
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 22 สิงหาคม 2008, 18:42:42 »

http://grathonbook.net/book/24.html

ถาม :    ต้องทำบุญอะไรคะถึงจะฉลาด  ?   
       ตอบ :    ฉลาดมันต้องในเรื่องของธรรมทาน   และอีกตัวหนึ่งก็คือตัวภาวนา ตัวภาวนานี่เป็นตัวสร้างปัญญาโดยเฉพาะ สมมุติว่าถ้าหากว่าชาตินี้เราภาวนาจนสามารถทางฌานทรงสมาบัติได้ เกิดชาติใหม่ฉลาดแน่นอน แต่ขณะเดียวกันถ้ามีผลทางด้านธรรมทาน อย่างเช่นว่า ถวายพระไตรปิฎก  ไว้   หรือว่า  ข้อธรรมอันใดที่เรามั่นใจว่าปฏิบัติได้แล้วนำไปสั่งสอนคนอื่นต่อ  อันนี้ก็จะเป็นตัวที่สร้างความฉลาดให้โดยตรง การบริจาคหนังสือทุกประเภท  ถือเป็นธรรมทานแต่ ถ้าหากว่าได้พระไตรปิฎกนี่   เป็นธรรมทานโดยตรง    อานิสงส์ก็จะมากกว่าอันอื่นเขา  เอามั้ยเกิดกี่ยกดี  ?
       ถาม :    รอสังคายนาอยู่ครับ  ?   
       ตอบ :    รอสังคายนาอยู่ ...   จริง  ๆ  ไม่ต้องก็ได้  ฉบับสยามรัฐ   ดี   มันผิดอยู่คำเดียว   มันไม่ได้ผิดหรอกมันเพี้ยนกันระหว่าง  ชะโน   กับ  ชะนัง  มันก็ชนหมู่มากเหมือนกัน    ต่างกันอยู่นิดเดียวเท่านั้นเอง
       ถาม :    พระไตรปิฎกนี่จริง  ๆ   ไม่มีอรรถกถาเลยใช่มั้ยครับ  ?
       ตอบ :    พระไตรปิฎกนี่จริง  ๆ   ไม่มี  อรรถกถานี่ประเภทที่เรียกว่าเห็นว่ากระดูกเยอะไป เติมน้ำให้หน่อยอะไรอย่างนี้ ไม่งั้นเดี๋ยวจะแทะไม่ออกแล้วเสร็จแล้วก็ใบฎีกา แล้วก็อธิบายอรรถกถา อนุฎีกา อธิบายฎีกาใช่มั้ย ? เสร็จแล้วก็ยังมีเกจิอาจารย์ อธิบายอนุฎีกาอีกอันนี้อีก ยิ่งมาต่อปีกต่อหางยิ่งยาวไปเรื่อย อย่างเช่นว่า ถ้าหากว่ากล่าวถึงพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎกก็จะว่าพระพุทธเจ้าเกิดในตระกูลศากยะอย่างนี้ เสด็จออกบวชเมื่ออายุ ๒๙ ปี ต่อมาอรรถกถาก็ พระพุทธเจ้าเกิดในตระกูลศากยะใช่มั้ย ? มีบิดาชื่อนั้น มีมารดาชื่อนั้น แต่งงานเมื่อนั้น มีบุตรเมื่อนั้น เสด็จออกบวชเมื่อนั้นอย่างนี้ พอใบฎีกาเขาจะต่อปีกต่อหางไปอีก มีภรรยาชื่อนั้น พี่น้องชื่อนั้นอะไรอย่างนี้ มันก็จะเยอะขึ้น ๆ ไปเรื่อย ถ้าหากว่าอรรถกถานี่ยังเชื่อได้เพราะว่า อรรถกถาเป็นสัมภิทาญาณแล้วหลังจากนั้นเขาก็จะอธิบายเฝื่อมากขึ้น เพราะว่ามันจะอยู่ลักษณะที่เรียกว่าเหมือนจะพยายามเอาความเก่งของตัวเองมากลบความเก่งของคนเก่า ในเมื่อในลักษณะนั้นมันก็จะจิตมันก็จะประกอบไปด้วยกิเลสด้วยอะไรด้วยมันก็จะอธิบายเข้าป่าเข้าดงไปก็เยอะ
       ถาม :    อย่างพระสูตรนี่   พระพุทธเจ้าท่านจะดูตามเฉพาะบทบาลีอย่างเดียวเหรอครับ    แนวเรื่องมันไม่ได้ต่อกันเลย  ?
       ตอบ :  เขาเอามาจัดอยู่เป็นหมวดหมู่เดียวกัน เพราะว่าจะเป็นเนื้อหาในลักษณะที่สอนคนประเภทเดียวกัน อย่างเช่นว่า พระสูตรแต่ละสูตรนี่จะสอนคนในลักษณะอย่างนี้ ๆ ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งปลายแล้วจบลงในลักษณะอย่างนี้ ท่านจะขึ้นหัวแล้วสรุปท้ายตั้งแต่ เอวัมเมสุตัง  ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้  เอกังสะมะยังภะคะวา   สมัยหนึ่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า....  ไล่ไปเรื่อยแล้วก็จะมาสรุปลงท้าย  อิทะมะโว   จะภะคะวา    ปัญจวัคคียาภิกขุ     ภะคะวะโตภาสิตัง พระปัญจวัคคีพอได้ฟังภาษิตก็คือ คำเทศน์ของพระพุทธเจ้าแล้วอย่างนี้นี่ก็จะไล่ลงไปว่าผลเป็นอย่างไร ขึ้นต้นอย่างไร เนื้อหาอย่างไร สรุปอย่างไรนี่ ละเอียดมากมาสมัยหลัง ๆ ตัดออกเยอะ ยิ่งถ้าหากว่าเกี่ยวกับชาดกต่าง ๆ ซึ่งเราเห็นเป็นนิทานไปเลยอย่างนี้ เขาจะตัดหัวตัดท้ายหมดเหลือแต่เนื้อหาที่มา ๆ อย่างไรไม่บอก ผลลัพธ์รับอย่างไรก็ไม่บอก มันจะทำให้เสียผลถ้าหากว่าคนที่ไม่ใช่ประเภท อุคคติติญญู คือประกอบไปด้วยปัญญาอย่างยิ่งฟังแค่เนื้อหาแทงตลอดเลย ก็จะเสียผลไปเลย เพราะส่วนใหญ่ชาดกแต่ละเรื่องจะเริ่มจากว่ามีสาเหตุมาจากอะไร อย่างเช่นว่าทำไม พระโลลุทายี นิสัยเสียขนาดนี้ ทำอะไรก็จับจดโลเลมีแต่สิ่งผิดพลาดอยู่ตลอด พอคนเขากล่าวนินทาขึ้นมา พระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงถามว่าภิกษุทั้งหลายเธอพูดกันด้วยเรื่องอะไร พอพูดกับถึงเรื่องนี้เสร็จแล้วท่านก็อธิบายว่า โลลุทายีไม่ได้เป็นชาตินี้ชาติเดียว อดีตชาติเขาเป็นมาอย่างนี้ ๆ ท่านเกิดเป็นคนนี้ ๆ ว่าไปเรื่อย ๆ แล้วก็สรุปว่า อะหังเอวะ ตัวตถาคตเองก็เกิดเป็นอย่างนี้ ท่านโลลุทายีเป็นผู้นี้ ท่านผู้นี้เกิดเป็นอะไรอย่างนี้ พอสรุปเสร็จเรียบร้อยคนฟังก็บรรลุมรรคผลเป็นแถว ของเราเองยังไม่ได้อะไรเลย เพราะว่าไม่ได้ตรองตามในปัญหาในเนื้อหาตามที่ท่านว่ามา เพราะว่าคนมี ปัญญาเขาตรองตามเออ... ขนาดพระพุทธเจ้าเองท่านก็ยังเวียนตาย เวียนเกิดไม่รู้จบเนาะ กว่าจะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ท่านเองก็ต้องทุกข์ต้องยากมาอย่างนี้ แต่ละท่านแต่ละองค์ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ๆ แรงกรรมมันหนุนส่งเป็นอย่างนี้ ถ้าเกิดอีกมันก็จะทุกข์อีก เป็นแบบนี้เราอย่าเกิดอีกดีกว่า จะมีการสรุปท้ายอะไรด้วย ลักษณะท่านตรองตามด้วยปัญญา ดังนั้นว่า ทุกสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ท่านเน้นเอามรรคผลทั้งนั้น เพียงแต่สมัยนี้หลวงพ่อท่านบอกว่าสัญญาและปัญญาของคนมันทรามลงไม่ได้คิดถึงตรงจุดนี้ ฟังเอามันอย่างเดียวก็มี หรือไม่ก็อยากรู้ว่าเรื่องราวมันเป็นยังไงแค่นั้นเอง
       ถาม :     แล้วเรื่องที่ต่อเนื่องอย่างนี้เราก็จะพบอยู่ในอรรถกถา  ?
       ตอบ :  จะมีอรรถกถาที่ท่านอธิบายอยู่แต่ว่าเนื้อหายังไม่ละเอียดอย่างที่บอกแล้วว่า ส่วนใหญ่ก็ประเภทเนื้อล้วน ๆ อย่างนี้ถ้าใส่น้ำลงไปหน่อยค่อยคล่องคอขึ้น
       ถาม :  เลยมีความรู้สึกว่า เอ้... พระพุทธเจ้าเวลาท่านเล่าเรื่องท่านตรัสเป็นบท ๆ อย่างนี้หรือเปล่าหรือท่านเล่าเป็นเรื่องกันแน่ ?
       ตอบ :     จะเป็นเรื่องไป    แต่ว่า  แต่ละเรื่องแต่ละตอนไม่ได้ต่อเนื่องกันเพียงแต่ว่าพอถึงเวลาสังคายนาเขาจะมาจัดเป็นหมวดหมู่เข้า พอจัดหมวดหมู่เข้า อันที่เป็นพระวินัยก็เป็นพระวินัย ท่านอาจจะประเภทวันนี้เทศน์พระสูตรไปซักครึ่งวันอย่างนี้ อยู่ ๆ มันมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระวินัยขึ้นมา ก็ต้องเรียกสงฆ์มาประชุมกัน ตรัสถามว่าเธอทำอย่างนี้จริงมั้ย ? เสร็จแล้วก็โทษของการที่ทำอย่างนี้เป็นอย่างไร ? ประโยชน์ของการละเว้นเป็นอย่างไร ? แล้วก็บัญญัติเป็นข้อห้ามขึ้นต่อสงฆ์ทั้งหลาย ก็อาจจะเป็นว่า วันนี้อย่างนี้ วันนี้อย่างนี้สลับกันไปกันมา แต่ว่า พระอานนท์ ท่านจำได้ทั้งหมด ท่านก็เอามาจัดหมวดหมู่ตอนสังคายนาพระไตรปิฏก เนื้อหามันก็เลยเหมือนอย่างกับว่าบางทีมันกระโดดไม่ได้ต่อเนื่องกันไม่ได้อะไรกัน
       ถาม :    อ่านตามบทแปลของบาลีอย่างเดียวนี่ไม่ต่อเนื่องกันเลยครับ  ?
       ตอบ :  ไปคนละทิศคนละทาง ยังดีว่าท่านมาแยกหมวดแยกหมู่นี่พวกเราสบายกันเยอะ ไม่งั้นมันต้องคลำกันทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ กว่าจะเจอส่วนที่ตัวเองชอบ
       ถาม :    ฉบับสยามรัฐนี่ผิดตัวเดียวเท่านั้นเหรอครับ  ?
       ตอบ :    ไม่ได้ผิดหรอก   เพี้ยน  (หัวเราะ)    ไม่ถือว่าผิด    คำเดียวเท่านั้น
       ถาม :   แล้วฉบับภาษาไทยล่ะครับ  ?
       ตอบ :  ยังไม่ได้อ่านรายละเอียดของเขา แต่ส่วนใหญ่แล้วมันก็จะเป็นไทยที่ต้องแปลเป็นไทยอีกทีพอเป็นไทยที่ต้องแปลเป็นไทยอีกทีคนอ่านถ้าไม่คุ้นกับภาษาไทยโบราณก็เรียบร้อยเลย เจ๊งสนิท สมัยก่อนเขาว่าอะไรนะ ปลูกเรือนใกล้ท่าไม่มีน้ำจะกิน ช่างปั้นหม้อดินไม่มีหม้อจะใช้ เลี้ยงไก่ไว้ไม่มีไก่จะขัน อยากขึ้นสวรรค์ให้ไปแก้ผ้าในวัด ปลูกเรือนใกล้ท่าไม่มีน้ำจะกิน บ้านอยู่ริมน้ำไม่มีน้ำจะกินน่ะ   ลูกบ้านนั้นขี้เกียจบรรลัยเลย    ตักน้ำขึ้นบ้านแค่นั้นมันยังไม่ตัก      ช่างปั้นหม้อดินไม่มีหม้อจะใช้   ก็สไตส์เดียวกัน    เลี้ยงไก่ไว้ไม่มีไก่จะขัน อันนี้เขาหมายถึงว่าประเภทที่ว่าถึงเวลาชาวบ้านใส่บาตรเลี้ยงพระไปเรื่อย บทจะเอาจริงขึ้นมาพระเอาแต่ขี้เกียจ กินแล้วนอนสวดมนต์ไหว้พระอะไรไม่ป็นสักอย่าง ถึงเวลาจะจัดพิธีสงฆ์อะไรก็ทำไม่ได้ เลี้ยงไก่ไว้ไม่มีไก่จะขัน อยากไปสวรรค์ให้ไปแก้ผ้าในวัด สมัยก่อนส่วนใหญ่จะเป็นใบลานหรือไม่ก็กระดาษสาอะไรที่เป็นพับ ๆ ถึงเวลาจารึกเป็นคำสอนเป็นพระสูตร เป็นพระวินัย พระอภิธรรมเสร็จก็จะห่อผ้าเก็บไว้ อยากไปสวรรค์ต้องไปแก้ผ้าในวัด ไปแกะอ่านเอาเอง
       ถาม :   นึกว่าให้ไปแก้ผ้าจริง  ๆ  ?
       ตอบ :    ยายบ๊อง    ขืนไปแก้ผ้าจริง ๆ   พระ  เณรแตกตื่นหมด

shinpe uhah

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทที่ ๖ - เหตุใดจึงมีสติปัญญามาก?
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 21 เมษายน 2009, 19:05:24 »

ขอบคุณมากๆ ครับสำหรับสาระดีๆ