-->

ผู้เขียน หัวข้อ: ทุติยบรรพ ? ตายแล้วไปไหนได้บ้าง?  (อ่าน 701 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

chon

  • บุคคลทั่วไป
ทุติยบรรพ ? ตายแล้วไปไหนได้บ้าง?
« เมื่อ: 25 กันยายน 2008, 04:04:03 »

ทุติยบรรพ ? ตายแล้วไปไหนได้บ้าง?


บางคนคิดว่าสิ่งที่เราไม่รู้อย่างที่สุดในชีวิตก็คือเรื่องเกี่ยวกับการตายของตัวเอง เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วยุติ จะตายวันไหน ตายอย่างไร และตายในสถานที่แบบใด วันนั้นจะมีอยู่เพียงวันเดียว เป็นประสบการณ์หนเดียว พูดง่ายๆว่าการตายคือการยุติ ไม่มีความจำเป็นใดๆต้องไปคำนึงถึงล่วงหน้าให้เสียเวลาเปล่า

แต่แท้จริงสิ่งที่เราไม่รู้ยังมีมากไปกว่านั้น ชนิดที่ทำให้ความไม่รู้เรื่องความตายกลายเป็นเรื่องจ้อยไปเลย นั่นคือความจริงเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย หากหลังความตายมีรูปแบบการมีชีวิตอยู่จริง ก็นับเป็นเรื่องน่าพะวงกว่าความตายมากนัก เพราะกระบวนการตายอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาที แต่หลังจากนั้นเราจะต้องทนอยู่กับความจริงที่เหลืออีกนานเพียงใดไม่อาจทราบได้

หากมองด้วยความเชื่อว่าหลังความตายมีภพภูมิใหม่รอต้อนรับเราอยู่ มุมมองเกี่ยวกับขณะแห่งความตายก็ต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ การตายเป็นการสอบครั้งเดียวที่ไม่มีโอกาสแก้ตัวใหม่อีกรอบ


ถ้ามองในแง่ที่ว่าทุกคนต้องเป็นผู้เสวยผลกรรมของตน ก็แปลว่าเราทำอะไรลงไปเท่าไหร่ ก็คือลงทุนให้ตัวเองได้รับกำไรหรือความขาดทุนเท่านั้น ต่อให้เราเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของคนอื่นตลอดทั้งชีวิต ท้ายที่สุดก็ไม่ใช่ใครอื่น เราจะเป็นผู้เสวยรางวัลแห่งการเสียสละนั้นเอง และในทางตรงข้าม แม้เราจะรู้สึกเหมือนเอารัดเอาเปรียบผู้คน กอบโกยผลประโยชน์มาได้ทั้งชีวิต ท้ายที่สุดก็ไม่ใช่ใครอื่น เราจะเป็นผู้เสวยโทษทัณฑ์จากการเป็นผู้เอารัดเอาเปรียบนั้นเอง

แต่การอยู่ในวังวนเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้นี้ ทุกคนถูกทำให้ไม่รู้ว่ามีการเกิดตายกันหลายชาติ มีการเสวยกรรมที่ทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ พวกเราเหมือนถูกหลอกกันตั้งแต่ลืมตาดูโลกว่าชีวิตนี้มีครั้งเดียว เพราะฉะนั้นอยากได้อะไรก็รีบๆโกยเสียจากชีวิตนี้ อย่ารีรอ อย่าเห็นใจใครอื่นมากกว่าตัวเอง

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เต็มใจหรือไม่เต็มใจ หากอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ ก็แปลว่าเรากำลังเล่นเกมแห่งความไม่รู้กันอยู่ ในเกมนั้นเต็มไปด้วยกฎ เต็มไปด้วยเงื่อนไขสลับซับซ้อน และเต็มไปด้วยการตกรางวัลและลงโทษทุกแบบทุกระดับ!

ความไม่รู้หาได้เกิดขึ้นจากการกลั่นแกล้งของใคร พวกเราเป็นของเราอย่างนี้กันเอง ถ้าหาก ?รู้? เสียอย่างเดียว เกมแห่งการเกิดตายจะไม่มีอยู่เลย หรือไม่เกมแห่งการเกิดตายก็จะมีแต่ฉากสนุก ตื่นเต้นเร้าใจ เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะเฮฮาและรอยยิ้มสดชื่น ทว่าเรื่องจริงไม่เป็นเช่นนั้น ความไม่รู้ว่ากรรมดีทำให้เป็นสุข กรรมชั่วทำให้เป็นทุกข์ ส่งผลให้เราทำกรรมดีบ้าง ทำกรรมชั่วบ้าง เพียงเพื่อตอบโต้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า เหมือนเด็กไร้เดียงสาที่อาจเอาตะปูแหย่รูปลั๊กไฟได้ทุกเมื่อ โดยไม่ทราบว่ามหันตภัยชนิดใดรออยู่ในนั้น

๙ เดือนแห่งการตกอยู่ในภวังค์เสียเป็นส่วนใหญ่ คล้ายสลบเหมือด หรืออยู่ในวังวนของฝันอันไร้ทิศทาง ๙ เดือนอันถูกกำหนดไว้ ๙ เดือนที่ยืดยาวพอจะทำให้มนุษย์ทุกคนหลงลืมทุกสิ่งแต่หนหลังสิ้น

นอกจากการถูกลบความจำจนหมดในกระบวนการตายแล้วเกิด ตลอดชีวิตเรายังมีการลบข้อมูลในความทรงจำไปเรื่อยๆ อายุขัยของความจำบางอย่างมีหน่วยนับเป็นชั่วโมง เช่นตัวเลขยุ่งๆในโจทย์คณิตศาสตร์ บางอย่างมีหน่วยนับเป็นวัน เช่นชื่อนามสกุลคนแปลกหน้า บางอย่างมีหน่วยนับเป็นเดือน เช่นใบหน้าของคนไม่รู้จัก บางอย่างมีหน่วยนับเป็นปี เช่นเหตุการณ์ประทับใจเล็กน้อย บางอย่างอาจอยู่ได้หลายสิบปี เช่นเหตุการณ์ประทับใจลึกซึ้ง แต่ไม่ว่าอายุขัยของความทรงจำจะสั้นหรือยาวเพียงใดก็มีความเหมือนกันหมด คือต้องมลายหายสูญไปจนสิ้น

เมื่อย้ายถิ่นฐาน เมื่อมาคลุกคลีกับสภาพแวดล้อมและผู้คนใหม่ๆสักระยะหนึ่ง เพียงความรู้สึกรู้สาที่แปลกไปก็ทำให้เราจำตัวตนแบบเดิมๆไม่ได้เสียแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงนิสัยและวิธีคิดกับวิธีพูดเสียใหม่ ก็จะรู้สึกราวกับเป็นคนละคนทีเดียวเมื่อนึกย้อนทบทวนสิ่งที่ผ่านมา

หรือเอาให้สั้นกว่านั้น เพียงชั่วขณะแห่งการเปลี่ยนสภาพจิตจากหลับเป็นตื่น ห่างกันไม่กี่วินาที ก็เหมือนจะมีกระบวนการลบความจำเกิดขึ้นแล้ว คนส่วนใหญ่ตื่นขึ้นจะลืมทันทีว่าเมื่อครู่เพิ่งฝันว่าอะไร นึกทบทวนเท่าไหร่ๆก็นึกไม่ออก แล้วอย่างนี้การนอนในท้องแม่ถึง ๙ เดือน แถมครองสภาพร่างใหม่เอี่ยม เริ่มจากจุดเล็กเท่าปลายเข็มหมุดจนกระทั่งกลายเป็นก้อนเลือดก้อนเนื้อใหญ่โตพอจะยืดออกเป็นแขนขาครบถ้วน จะมิยิ่งชะล้างความรู้สึกนึกคิดและความทรงจำทั้งหลายในอดีตได้เกลี้ยงเกลากว่ากันหลายร้อยหลายพันเท่าหรอกหรือ?


ในทุติยบรรพหรือส่วนที่สองของหนังสือเล่มนี้ จะพูดถึง ?ภพภูมิ? และทิศทางความเป็นไปได้ที่เรากำลังมุ่งไป

ทุติยบรรพจะชี้ชัดตามพระพุทธองค์ตรัส คือ เปรียบกับท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นบนอากาศ บางคราวก็ตกลงทางโคน บางคราวก็ตกลงทางขวาง บางคราวก็ตกลงทางปลาย ก็เหมือนสัตว์ทั้งหลายผู้มีความไม่รู้เป็นเครื่องกางกั้น มีความทะยานอยากเป็นเครื่องประกอบไว้ จึงท่องเที่ยวไปมาอยู่ บางคราวก็จากโลกนี้ไปสู่ปรโลก บางคราวก็จากปรโลกมาสู่โลกนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายมิได้

?สังสารวัฏ? คือภพภูมิต่างๆที่เราเวียนเกิดเวียนตายกันตามพฤติกรรมของจิต เมื่อใดจิตยึดความดีเป็นที่ตั้ง ก็ได้ชื่อว่าสร้างภพแห่งความเจริญรุ่งเรืองไว้เป็นที่ไป เมื่อใดจิตยึดความชั่วเป็นที่ตั้ง ก็ได้ชื่อว่าสร้างภพแห่งความเสื่อมทรามไว้เป็นที่หมาย แต่ละครั้งของการเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิจะมีกรรมอันเป็นตัวแปรมากมาย ซัดเราไปในทิศต่างๆ สูงบ้าง ต่ำบ้าง กลางบ้าง และจะไม่ยุติลงด้วยความบังเอิญขึ้นฝั่งเองเลย

คำว่า ?ไม่อาจกำหนดเบื้องต้นและเบื้องปลาย? นั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะหมายถึงไม่อาจนับว่าเราลอยคออยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรแห่งความเกิดตายนี้มากี่แสน กี่ล้าน กี่อสงไขยครั้ง และจะต้องถูกซัดไปซัดมาอย่างไม่อาจพยากรณ์ชะตากรรมอีกกี่แสน กี่ล้าน กี่อสงไขยหน เพราะฉะนั้นทุติยบรรพจะไม่นำเสนอเพียงที่หมายระยะสั้นเป็นภพภูมิต่างๆ แต่ยังจะแสดงที่หมายสุดท้ายตามคติพุทธ คือฝั่งอันเป็นที่หยุดลอยคอกลางมหาสมุทรแห่งความเกิดตายนี้ด้วย

จากหนังสือเสียดายคนตายไม่ได้อ่าน

cmman573

  • บุคคลทั่วไป
Re: ทุติยบรรพ ? ตายแล้วไปไหนได้บ้าง?
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 25 กันยายน 2008, 08:45:03 »

หง่ะ อ่านแล้วไม่อยากตายเลยขอรับ

shinpe uhah

  • บุคคลทั่วไป
Re: ทุติยบรรพ ? ตายแล้วไปไหนได้บ้าง?
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 21 เมษายน 2009, 19:18:00 »

บางคนก็บอกว่าตายแล้วต้องข้ามแม่น้ำบ้าง บางคนก็ว่าต้องเดินผ่านทะเลทราย บางคนก็ผ่านดงหนาม แต่ผมว่าถ้าตายไปจริงๆน่าจะอยู่ที่ผลกรรมที่ได้ทำมามากกว่านะครับว่าจะได้ไปที่ไหนก่อนจะมาเกิด