-->

ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมนำมาซึ่งความสงบสุข  (อ่าน 704 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

benznitez

  • บุคคลทั่วไป
ธรรมนำมาซึ่งความสงบสุข
« เมื่อ: 11 ธันวาคม 2009, 21:00:23 »

เขียนโดย สิริอัญญา   
วันจันทร์ที่ ๐๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙:๐๑ น.

            วันนี้เป็นวันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม 2552 ซึ่งในปีนี้ต้องถือว่ายังอยู่ในช่วงเฉลิมฉลองมหามงคลสมัยวันเฉลิมพระ ชนมพรรษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นบทความในวันนี้จึงยังคงเป็นบทความเพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระมหาราช เจ้าพระผู้เป็นพ่อของแผ่นดินต่อเนื่องจากเรื่อง “ทรงสรงพระเสโทต่างอุทกธารา” ซึ่งได้ลงตีพิมพ์ไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

            เพื่อการนี้จึงให้ชื่อบทความวันนี้ว่า “ธรรมนำมาซึ่งความสงบสุข” เนื่องเพราะเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแรกขึ้นเสวยสิริราช สมบัตินั้น ทรงเปล่งพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

            ไม่ทรงตั้ง พระองค์อยู่ในฐานะผู้ปกครอง แต่ทรงตั้งพระองค์อยู่ในฐานะผู้ครอง ซึ่งต่างกับฐานะผู้ปกครองตรงจุดสำคัญยิ่งคือความเป็นน้ำเนื้อเดียวกันกับ อาณาประชาราษฎรทั้งปวง

            และในการครองแผ่นดินนั้น ทรงประกาศเป็นพระปฐมบรมราชโองการซึ่งประหนึ่งเป็นคำปฏิญาณต่อหน้าเทพยดา อารักษ์และเทพผู้พิทักษ์พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร และพระราชบัลลังก์แห่งพระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรไทยว่า จะเป็นการครองแผ่นดินโดยธรรม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

            กำลัง อำนาจ บารมี เป็นสิ่งสามสิ่ง เป็นเรื่องสามเรื่อง ที่เนื่องกันอยู่ และเป็นลำดับที่สูงขึ้นเป็นลำดับ โดยกำลังต่ำสุด อำนาจเป็นส่วนกลาง และบารมีเป็นขั้นสูงสุด

            สัตว์เดรัจฉานเป็นหัว หน้าปกครองก็โดยอาศัยกำลังเป็นสิ่งชี้ขาด และมนุษย์โดยทั่วไปเป็นหัวหน้าปกครองก็โดยอาศัยอำนาจเป็นสิ่งชี้ขาด แต่สำหรับพระมหาราชผู้เป็นธรรมิกราชา จักครองแผ่นดินโดยอาศัยธรรม ที่ก่อและตกผลึกเป็น “บารมี”

            นั่นคือทรงเคารพธรรม ทรงปฏิบัติธรรม ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพราะธรรมนำมาซึ่งความสงบสุข เพื่อยังให้ราชอาณาจักรนี้ร่มเย็นเป็นสุข อุดมสมบูรณ์ ถึงซึ่งความรุ่งเรืองไพบูลย์เป็นนิรันดร

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงข้ามพ้นจากกำลังและอำนาจในฐานะพระประมุข ในฐานะจอมทัพไทย สู่ฐานะแห่งพระมหาราชเจ้าก็โดยธรรมนี้เอง

            นับ แต่เวลานั้นถึงเวลานี้อาณาประชาราษฎรทั้งปวงย่อมรู้ซึ้งตรึงใจและสัมผัสได้ ด้วยตนเองตลอดชั่วอายุขัยของเราท่านอย่างแจ่มชัดว่า พระมหาราชเจ้าพระองค์นี้ทรงบำเพ็ญ ทรงประพฤติปฏิบัติพระองค์อยู่ในครรลองแห่งธรรม ไม่เคยผันแปร หรือขาดตอนเลย แม้เวลาสืบทอดต่อเนื่องมากว่า 60 ปีแล้ว

            ทศพิธรราชธรรม จักรพรรดิธรรม และพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประกาศแล้วต่อเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดในวัตรปฏิบัติและพระราชกรณียกิจใหญ่น้อยในพระมหาราช เจ้าพระองค์นี้ ซึ่งยากที่จะหาบุคคลใด ผู้นำใด หรือพระมหากษัตริย์ใดๆ ในโลกนี้จะประพฤติปฏิบัติได้เสมอด้วยพระมหาราชเจ้าของชาวไทยพระองค์นี้เลย

            เพราะเหตุนี้จึงทรงได้รับการขนานพระสมัญญาว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของพระ มหากษัตริย์ทั้งปวง ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจ เป็นความอิ่มอกอิ่มใจของคนไทยทั้งประเทศ

            การครองแผ่นดินโดยธรรมต่างกับการปกครองแผ่นดินโดยอำนาจหรือโดยกำลังอย่างเทียบกันไม่ได้ และเป็นคนละเรื่องคนละโลกเลยทีเดียว

            การปกครองโดยอาศัยกำลังในวันนี้ก็ยังมีอยู่ในโลก ใช้กำลังเป็นสิ่งชี้ขาดผิดชอบชั่วดี และทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใต้การปกครองนั้น แม้ว่าเป็นการปกครองของมนุษย์ด้วยกัน แต่การปกครองชนิดนี้ไม่ต่างอันใดกับการปกครองของสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งสัตว์เดรัจฉานทุกชนิดก็ล้วนใช้กำลังเป็นสิ่งชี้ขาดในความเป็นหัวหน้า หรือผู้ปกครองของมันด้วยกันทั้งสิ้น

            การปกครองโดยอาศัยอำนาจในวันนี้ก็ยังมีอยู่มากในโลก ไม่ว่าอำนาจนั้นจะได้มาโดยวิถีใดหรือระบอบการปกครองใด ก็ถือเอาอำนาจนั้นเป็นสิ่งชี้ขาดผิดชอบชั่วดีและทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใต้ การปกครองนั้น แม้จัดว่าเป็นการปกครองของมนุษย์กับมนุษย์ แต่ก็เป็นการปกครองที่ขาดไร้ซึ่งจิตวิญญาณหรือความสัมพันธ์ผูกพันทางจิตใจ ที่มนุษย์พึงมีต่อมนุษย์ด้วยกัน

            การปกครองโดย ธรรม กระทั่งขั้นสูงสุดคือการครองแผ่นดินโดยธรรมมีอยู่น้อยมากในโลกนี้ ซึ่งถือเอาธรรมเป็นสิ่งชี้ขาดผิดชอบชั่วดี นี่แล้วคือการปกครองที่ประเสริฐ ที่เวไนยสัตว์พึงปกครองเวไนยสัตว์ด้วยกัน

            เพราะเหตุนั้นทั่วสากลโลกจึงยอมรับนับถือว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของพระมหา กษัตริย์ทั้งปวง เพราะทรงครองแผ่นดินโดยธรรม อันเป็นระบอบการปกครองที่เวไนยสัตว์ใช้และปฏิบัติกับเวไนยสัตว์

            ในเรื่องของอำนาจ ในเรื่องของการปกครอง และในเรื่องของสงครามนั้น ธรรมคือสิ่งที่ชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลว ชี้ขาดการดำรงอยู่หรือความดับสูญ ชี้ขาดแพ้ชนะและปราชัย รวมความก็คือธรรมเป็นสิ่งชี้ขาดทุกสิ่ง

            ในคัมภีร์พิชัยสงครามของซุนหวู่ ได้บัญญัติข้อแรกสุดของบรรพหนึ่งว่า

            “ฉะนั้นจึ่งวินิจฉัยด้วยกรณียกิจห้าประการ เปรียบเทียบถึงภาวะต่าง ๆ เพื่อทราบความจริง กล่าวคือ หนึ่ง ธรรม สอง ดินฟ้าอากาศ สาม ภูมิประเทศ สี่ ขุนพล ห้า ระเบียบวินัยและการจัดระบอบการรบ
ธรรมคือสิ่งที่บันดาลให้ทวยราษฎร์ร่วมจิตสมานฉันท์กับฝ่ายนำ รวมความเป็นความตายโดยมิได้ระย่อต่อภยันตรายใด ๆ เลย …

            กรณียกิจห้าประการนี้ แม่ทัพนายกองย่อมรู้อยู่ทั่วกัน แต่ทว่าผู้รู้จริงจึงชนะ ผู้ไม่รู้จริงย่อมปราชัย

            ด้วยเหตุฉะนี้ จึ่งต้องเปรียบเทียบภาวะต่าง ๆ เพื่อทราบความจริง กล่าวคือมุขบุรุษฝ่ายไหนมีธรรม ขุนพลฝ่ายไหนมีสมรรถภาพ ดินฟ้าอากาศอำนวยประโยชน์แก่ฝ่ายใด การบังคับบัญชาฝ่ายไหนยึดปฏิบัติมั่น มวลพลฝ่ายไหนแข็งกล้า ทแกล้วทหารฝ่ายไหนชำนาญศึก การปูนบำเหน็จหรือการลงโทษฝ่ายไหนทำได้โดยเที่ยงธรรม จากเหตุเหล่านี้ ข้าก็พอหยั่งถึงความมีชัยหรือความปราชัยได้แล้ว”

            อริราชศัตรูที่มิรู้จักฟ้าดินจึงมีแต่ต้องปราชัย เพราะไม่เข้าใจและไม่กระจ่างในสิ่งที่เรียกว่าธรรม

            ในคัมภีร์วิถีแห่งฟ้า ได้บัญญัติเกี่ยวกับการครองตนและครองแผ่นดินไว้เป็นนัยยะสำคัญ แม้ถ้อยคำจะใช้คำว่า “ฟ้า” และไม่ใช้คำว่า “ธรรม” แต่ความหมายของคำว่าฟ้าในคัมภีร์วิถีแห่งฟ้านั้นเนื้อแท้แล้วก็คือธรรมนั่น เอง

            ในบทต้นๆ ของคัมภีร์วิถีแห่งฟ้าบัญญัติว่า

            “กระทำการใดอย่างสอดคล้องกับวิถีแห่งฟ้า ย่อมเกิดมงคล
            กระทำการใดอย่างสับสน ไม่สอดคล้องกับวิถีแห่งฟ้า ย่อมเกิดอัปมงคล
            การได้รับผลดีก็เพราะครองตัวสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของฟ้า
            เกิดวิบัติก็เพราะครองตัวแปลกแยกกับกฎเกณฑ์ของฟ้า
            หลักเหตุผลย่อมเป็นไปเช่นนี้ อย่าได้ลงโทษโกรธว่าฟ้าบันดาลเลย”

            และอีกบทหนึ่งว่า

            “เมื่อรู้การควร ไม่ควร ฟ้าดินย่อมมารับใช้เรา สรรพสิ่งย่อมมารับใช้เรา พฤติกรรมก็ย่อมดีงามเพรียบพร้อม จิตใจก็ย่อมดีงามเพรียบพร้อม ชีวิตย่อมไม่มีภัยอันตรายใดทำร้าย ดังนี้ ปราชญ์จึงว่าคือผู้เข้าถึงฟ้า

            ความฉลาดรู้ที่แท้จริงจึงอยู่ที่การไม่กระทำในสิ่งที่ขัดขืนกับธรรมชาติ ภูมิปัญญาที่แท้จริงอยู่ที่การไม่คิดหมกมุ่นในเรื่องขัดขืนกับธรรมชาติ”

            อริราชศัตรูเป็นผู้ไม่เข้าถึงฟ้า เป็นผู้ไม่ดำรงตนและดำเนินตามวิถีแห่งฟ้า จึงมีแต่ต้องรับอัปมงคล มีแต่ต้องรับวิบัติและสรรพวินาศทั้งหลายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะนั่นคือวิบากกรรมอันเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำไว้ และย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรมด้วย

            อริราชศัตรู เป็นผู้คิด ผู้ทำ และผู้ก่อให้เกิดความจลาจล วิปริตวิปลาสต่าง ๆ ทำให้อาณาประชาราษฎรทั้งปวงไม่เป็นสุข ขุ่นเคืองคับแค้นหมองใจ แผ่นดินร้อนระอุ ไอร้อนแผ่วสะท้อนไปถึงฟ้า ฟ้าไฉนเล่าจะเป็นสุข ดังนี้ไพร่ฟ้าก็ย่อมไม่เป็นสุข

            แต่เพราะฟ้าทรงธรรม ทรงเมตตาธรรมต่อสรรพสัตว์ และปวงอาณาประชาราษฎร์ ดังนั้นอำนาจแห่งกรรมและกฎแห่งกรรมจึงย่อมต้องทำหน้าที่ให้เป็นที่ประจักษ์ แก่ใจคน เสียงการแสดงธรรมของกรรมกำลังก้องกระหึ่มสนั่นหวั่นไหวสะเทือนฟ้าสะท้านดิน แต่ทุรชนนั้นแม้ได้ยินเสียงฟ้าร้องก็หาได้ยินไม่ สำมะหาอะไรกับเสียงแห่งธรรมที่ทุรชนไม่มีวันได้ยินเลย

            ดังนั้นใครจะพร่ำเตือนประการใดก็ไม่มีวันบังเกิดสัมฤทธิผล มีแต่ธรรม มีแต่กฎแห่งกรรมเท่านั้น ที่จะสำแดงอานุภาพและพลานุภาพอันเป็นธรรมสัจจะให้ประจักษ์

            “ข้าพเจ้าชูแขนขึ้นป่าวประกาศธรรม แต่หามีใครเชื่อฟังข้าพเจ้าไม่
            ธรรมนำมาซึ่งความสงบสุข                  แต่ไฉนเล่าจึงไม่มีผู้ใดปฏิบัติธรรม”

            ธรรมนำมาซึ่งความสงบสุข เป็นธรรมสัจจะอันประกาศแล้วแก่เทพยดา อินทร์ พรหม มาร มนุษย์ คนธรรพ์ นาค และสัตว์ทั้งหลาย ที่จักไม่มีอำนาจใดผันแปรเปลี่ยนแปลงไปได้เลย

            ขอทรงพระเจริญ และทรงพระชนมายุยั่งยืนนานเถิดพระพุทธเจ้าข้า.