-->

ผู้เขียน หัวข้อ: ขีดจำกัดของการเรียนรู้  (อ่าน 463 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

don

  • บุคคลทั่วไป
ขีดจำกัดของการเรียนรู้
« เมื่อ: 10 ธันวาคม 2008, 05:03:01 »

ในปีมหามงคลนี้ ผมอยากเชิญชวนผู้อ่าน ?บิสิเนสไทย? ทุกท่านร่วมกันทำความดีถวายแด่ในหลวงของเราครับ ซึ่งมีแนวทางที่จะทำดีได้หลากหลายมากมาย ตามแต่ความถนัดของแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สินเงินทอง หรือสิ่งของต่างๆเสมอไป


ตัวอย่างที่ผมยกไปในคอลัมน์ ?คิดนอกกรอบ? ฉบับที่แล้วคือการเปิดใจตัวเองไปสู่ชนบทของบ้านเราที่แม้จะยังขาดแคลนในด้านต่างๆอยู่มาก แต่น้ำใจของพวกเขานั้นไม่น้อยหรือขาดแคลนไปด้วยเลย
 
มูลนิธิสร้างเสริมไทย จึงตั้งใจไปไปบริจากคอมพิวเตอร์และสื่อการสอนต่างๆ ให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนโอกาสดังกล่าวเป็นประจำทุกปีครับ แต่ในปีนี้อาจพิเศษสักหน่อยเพราะเศรษฐกิจบ้านเราค่อนข้างฝืดเคืองทำให้การช่วยเหลือของบางหน่วยงานต้องหดหายไป
 
แต่ที่ไม่หายก็คือความหวังและความฝันของเขาที่ยังคงมีอยู่เต็มเปี่ยมทั้งโรงเรียนและชุมชน รวมถึงชาวบ้านทุกคน ที่มีความหวังต่ออนาคตที่ดีขึ้น และสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดไม่ได้ทำให้ความฝันหายไป แต่กลับทำให้เขามีความขยันหมั่นเพียรไม่สิ้นหวัง และไม่เคยท้อแท้
 
โรงเรียนหลายๆแห่งติดต่อเข้ามาที่มูลนิธิสร้างเสริมไทยหลายๆวิธี จนเราได้รับรู้ข้อมูลและได้ไปบริจาครวมถึงร่วมทำกิจกรรมกับเขา ทำให้ได้เห็นความตั้งใจของทางโรงเรียนที่สอนให้เด็กได้รู้จักคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง อย่างเช่น ให้เด็กเลี้ยงกระต่าย เลี้ยงปลา ปลูกผักต่างๆ เพื่อเป็นรายได้สำหรับอาหารกลางวันในโรงเรียน
 
แนวคิดนี้คล้ายกับที่ผมเคยเห็นในออสเตรเลียที่โรงเรียนในเมืองจะจำลองฟาร์มขึ้นมา เพราะภาคการเกษตรเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย โรงเรียนกับธรรมชาติจึงต้องเชื่อมโยงกัน และเริ่มกันตั้งแต่เด็กเล็กๆในระดับประถม เพื่อสร้างความคุ้นเคย แม้เมื่อเติบโตขึ้นไปจะทำอาชีพอื่นก็ตาม
 
ดังนั้น ความไม่มีไม่ใช่ข้อจำกัด แต่ข้อจำกัด คือการไม่มีใจรักและไม่คิดต่างหาก เราอาจหลงลืมไปว่าประเทศไทยเรานี้กว้างใหญ่มหาศาล และคนส่วนใหญ่ก็ล้วนอาศัยอยู่ในชนบทที่ดูขาดแคลนซะเหลือเกิน แต่สิ่งที่เขามีอย่างมากมายล้นเหลือ คือความบริสุทธิ์ ความหวัง ความฝัน มีใจที่จะเรียนรู้ และมีใจที่จะทำดี หากเราสามารถเติมเต็มให้เขาได้ ก็เท่ากับสร้างอนาคตใหม่ให้กับประเทศได้เหมือนกัน
 
แต่สำหรับคนในเมืองก็ถือว่ามีทั้งโชคดีและโชคร้าย โชคดี คืออุดมสมบูรณ์ แต่โชคร้าย คือไม่มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติ ซึ่งความเป็นธรรมชาตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราขาดไม่ได้ ผมมีข้อคิดสำหรับเด็กในเมือง ซึ่งยังมีสิ่งที่ขาดอยู่ และต้องมีคนเสริมสร้างให้เขาคือ
 
1.  ต้องมีฝัน เพราะการฝันเป็นสิ่งสำคัญของความเป็นมนุษย์ และบางครั้งเราก็อาจยืนอยู่บนความสำเร็จของบรรพบุรุษที่ทำมาโดยตลอด จึงต้องชี้ให้เด็กรุ่นใหม่เห็นว่าความสำเร็จไม่ได้มาโดยความบังเอิญ ต้องมีความพยายามอย่างหนักจึงจะทำอะไรสำเร็จได้


เด็กรุ่นใหม่ในทุกวันนี้เคยชินกับความสำเร็จของบรรพบุรุษ และคิดว่าความสำเร็จสร้างได้โดยง่าย เช่น คิดว่าเรียนมหาวิทยาลัยแล้วทุกคนจะมีงานทำ หรือทำงานได้ไม่นานแล้วก็ได้เป็นเจ้าของ ทั้งที่ในความเป็นจริงคนเรียนจบก็ตกงานกันมาก คนที่ทำงานแล้วล้มเหลวก็มีไม่น้อย
 
ดังนั้นภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่มากมาย ทางเดียวที่จะทำให้อยู่รอดได้ คือต้องมีความพยายามอยู่เสมอ

ทุกคนต้องมีฝัน และรู้จักแปรฝันให้เป็นจริง รวมถึงต้องรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร สนใจจะเป็นอะไร ซึ่งเมื่อเริ่มเข้ามหาวิทยาลัยควรต้องรู้แล้วว่าต้องการเป็นอะไร เพื่อจะทุ่มเทเวลาได้เต็มที่
 
2. ฝันจะไม่เป็นจริงถ้าไม่มีความพยายามที่จะเรียนรู้ เด็กในปัจจุบันต้องมีฝันว่าอยากเป็นอะไร ถ้าอยากเป็นอะไรที่เกี่ยวกับนักวิชาการ ก็ต้องทุ่มเททั้ง 100% ให้กับเรื่องวิชาการ แต่ถ้าอยากเป็นอะไรที่ไม่ใช่วิชาการก็ต้องจัดสรรเวลาของตัวเองให้ดีเพราะการเรียนรู้ เกิดขึ้นได้ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เราจึงต้องจัดสรรเวลาให้ถูกต้อง ทั้งในด้านที่เป็นวิชาการที่จำเป็นต้องเรียนรู้ และการเจาะลึกในเรื่องที่สนใจด้วย เช่นอยากเรียนวิชาไฟฟ้า แต่การจะเป็นช่างไฟฟ้าในอนาคตก็จำเป็นต้องรู้วิชาอื่นๆด้วย เช่นปัญชี การเงิน ฯลฯ
 
3. สิ่งที่เรียนรู้ ต้องเรียนรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่เรียนรู้เพราะต้องการให้สอบผ่านและท่องจำ เพราะการท่องจำเมื่อสอบเสร็จก็ลืม แต่ในชีวิตที่แท้จริง เราถูกสอบทุกวันหลังจากเรียนจบ เพราะสถานการณ์ต่างๆ ทำให้เราต้องหยิบความรู้ที่อยู่ในสมองมาใช้ทุกวันและทุกแง่มุม
 
การผสมผสานความรู้ที่เรียนรู้จากตำรากับชีวิตจริง จึงเป็นสิ่งจำเป็น และเราสามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด จนกลายเป็นแนวคิดของ Life Long Learning แต่น่าเสียดายว่าเด็กรุ่นใหม่ในบ้านเรานั้นส่วนใหญ่สนใจการเรียนรู้จากการท่องจำและเน้นสอบให้ผ่านมากกว่า
 
ความรู้จากการท่องจำนั้น มักจะไม่ได้เกิดจากความเข้าใจจริงๆ เราจึงรู้ตัวว่าเราจัดการไม่ได้ และนำมาประยุกต์ใช้ไม่ได้ สุดท้ายแล้วแม้ว่าเด็กๆจะเรียนจบไปด้วยคะแนนค่อนข้างดี แต่กลับเอาไปใช้อะไรจริงๆไม่ได้เลย
 
ยังเหลืออีก 4 ข้อที่น่าจะเป็นข้อคิดที่ส่งไปถึงนักธุรกิจและนักการตลาด รวมถึงเจ้าของกิจการทุกท่านได้ ติดตามต่อในฉบับหน้าครับ