-->

ผู้เขียน หัวข้อ: การประมาณการงบการเงินและความต้องการทางการเงิน  (อ่าน 7702 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

don

  • บุคคลทั่วไป

การประมาณการงบการเงินและความต้องการทางการเงิน

เรียบเรียงโดย ผศ.กิตติภูมิ  มีประดิษฐ์

งบการเงิน เป็นรายงานที่เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงาน ฐานะของกิจการ และ สภาพคล่องทางการเงิน ประกอบด้วย (1) งบกำไรขาดทุน (2)งบดุล (3) งบกระแสเงินสด

งบกำไรขาดทุน เป็นงบการเงินที่แสดงถึงกำไรหรือขาดทุนจากการดำเนินงานของกิจการในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น
1.   รายได้จากการขายเกิดจากการขายสินค้าหักด้วยรับคืนสินค้าและส่วนลดจ่าย
2.   ต้นทุนขาย ประกอบด้วย สินค้าคงเหลือต้นงวด บวกด้วยซื้อหักส่วนลดรับ หักด้วยสินค้าปลายงวด
3.   ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการขาย หักด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ผลต่างคือกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน เมื่อหักดอกเบี้ยจ่ายและหักภาษีเงินได้ก็จะออกมาเป็นกำไรสุทธิหลังหักภาษี

งบดุลเป็นรายงานที่แสดงฐานะการเงินของกิจการ ประกอบด้วย สินทรัพย์ หนี้สิน และทุน ดังนี้
1.   สินทรัพย์ หมายถึง ทุกสิ่งทีกิจการเป็นเจ้าของ ประกอบด้วย
   สินทรัพย์หมุนเวียน เช่น เงินสด ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ
   สินทรัพย์ถาวร เช่น อุปกรณ์ อาคาร และที่ดิน
   สินทรัพย์อื่นซึ่งกิจการมีอยู่ อาจจะเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่นสิทธิบัตร ค่านิยม เป็นต้น
2.   หนี้สิน เป็นภาระผูกพันการชำระหนี้ของกิจการต่อบุคคลอื่น ประกอบด้วย
   หนี้สินหมุนเวียน เช่นเจ้าหนี้การค้า ตั๋วเงินจ่าย เงินเดือนค้างจ่าย ภาษีค้างจ่าย
   หนี้สินระยะยาว เช่นเงินกู้ จำนอง
3.   ส่วนของเจ้าของกิจการ เป็นการจัดหาเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการซึ่งต้องการเงินลงทุนในลักษณะเจ้าของกิจการ

การประมาณการงบการเงินและความต้องการทางการเงิน
โอกาสการลงทุนที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อสินค้าและบริการที่กิจการสร้างขึ้นมีความได้เปรียบในเชิงแข่งขันและสามารถสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้า และท้ายที่สุดแล้วโอกาสการลงทุนต้องขึ้นอยู่กับ 1) ระดับของกำไร  และ  2)  ขนาดการลงทุน  ดังนั้นก่อนการตัดสินใจลงทุนผู้ประกอบการต้องทำการประมาณการกำไร ความต้องการสินทรัพย์และเงินทุนเพราะปัจจัยเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการกำหนดความเป็นไปได้ในการลงทุน  ซึ่งในการประมาณการความต้องการเงินทุนจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับงบการเงิน

การประมาณการงบการเงิน
ในการวางแผนธุรกิจการประมาณงบการเงินควบคู่กับกระบวนการจัดทำงบประมาณจะช่วยให้  ผู้ประกอบการสามารถมองภาพของเป้าหมายทางธุรกิจที่คนต้องการได้อย่างสมจริง ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการได้จัดทำงบประมาณขึ้นมานั้นจะช่วยให้กิจการสามารถตอบคำถามได้ หลายประการด้วยกัน เช่น
กำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตรงกับที่คาดหวังหรือไม่ 
ถ้ากิจการต้องการผลกำไรในระดับหนึ่ง ยอดขายควรเป็นเท่าใด
จุดคุ้มทุนของกิจการควรอยู่ในระดับเท่าใดภายใต้ต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรที่ประมาณการไว้ เป็นต้น
ซึ่งคำตอบของคำถามต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการจัดทำแผนทางการเงินของธุรกิจขนาดย่อม
ก่อนที่ผู้ประกอบการจะทำการประมาณการทางการเงินได้นั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีความเข้าในเกี่ยวกับงบการเงินทั้งนี้เพราะงบการเงินถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวัดฐานะทางการเงินของกิจการซึ่งงบการเงินที่สำคัญ ได้แก่ 1) งบกำไรขาดทุน 2) งบดุล และ 3) งบกระแสเงินสด  ดังนั้นความเข้าใจวัตถุประสงค์และเนื้อหาของงบการเงินเหล่านี้จึงมีความจำเป็นถ้าผู้ประกอบการต้องการจะทราบถึงฐานะของกิจการและความต้องการในการใช้เงินทุน
อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์ที่สำคัญของบทนี้ได้เน้นไปที่การจัดทำประมาณการงบการเงิน ทั้งนี้เพราะประมาณการงบการเงินจะช่วยให้กิจการสามารถคาดคะเนศักยภาพของกำไรและเงื่อนไขทางการเงินต่าง ๆ ในอนาคต นอกจากนั้นแล้วข้อมูลทางการเงินเหล่านี้ยังมีส่วนในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสถาบันการเงินและผู้ลงทุนอีกด้วย ดังนั้นในบทนี้นอกจากเราจะทำความเข้าใจขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับงบการเงินต่าง ๆ แล้วยังเสนอวิธีการในการประมาณการงบการเงินเหล่านี้
นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งที่เผชิญหน้าผู้ประกอบการโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นกิจการใหม่ ๆ ได้แก่การกำหนดจำนวนเงินทุนที่จำเป็นต้องใช้สำหรับเริ่มดำเนินงาน ซึ่งจำนวนเงินทุนที่จำเป็นนี้จะขึ้นอยู่กับประเภทของการดำเนินงาน ทำเลที่ตั้ง ระดับสินค้าคงคลัง ยอดขายและองค์ประกอบอื่น ๆ แต่กิจการที่เปิดขึ้นใหม่ทุก ๆ กิจการจะต้องมีเงินทุนอย่างเพียงพอเพื่อนำมาใช้จ่ายในช่วงเริ่มต้นกิจการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเงินทุนสำหรับการเช่า/ซื้อโรงงาน เครื่องจักรเครื่องมือ วัตถุดิบและอื่น ๆ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องมีเงินทุนเตรียมสำรองไว้หรือต้องเตรียมจัดหามาใช้จ่ายในการดำเนินงานจนกระทั่งกิจการเริ่มมีผลกำไร

การประมาณการงบกำไรขาดทุน
งบกำไรขาดทุนเป็นงบที่แสดงให้เห็นถึงระดับกำไรของกิจการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ดังนั้นงบกำไรขาดทุนจึงแสดงถึงองค์ประกอบอันเป็นที่มาของกำไรหรือขาดทุนของกิจการ ในงบการเงินโดยทั่วไปจะมีองค์ประกอบทางการเงินที่แสดงถึงกิจกรรมทางธุรกิจ 5 ประการด้วยกัน ได้แก่
-   รายได้จากการขายสินค้าหรือบริการ
-   ต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนสินค้าที่ขายหรือบริการที่ขาย
-   ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน  ซึ่งเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายทางการตลาดและการขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหาร
-   ต้นทุนของเงินทุนที่ใช้ในกิจการหรือดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับเจ้าหนี้
-   ภาษีจ่าย
องค์ประกอบหลักของงบกำไรขาดทุน เริ่มตั้งแต่เมื่อนำรายได้จากการขายลบด้วยต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนสินค้าที่ขายหรือบริการที่ขาย ดังนั้นกิจการจะได้รับกำไรขั้นต้น และเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานออกแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นกำไรจากการดำเนินงาน หรือกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี  ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้ถือเป็นการตัดสินใจทางการดำเนินงานของกิจการ โดยการตัดสินใจนี้จะเกี่ยวข้องกับยอดขายต้นทุนของสินค้า ค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายทั่วไปและการบริหาร อย่างไรก็ตามในส่วนนี้เรายังไม่ได้พิจารณาถึงต้นทุนทางการเงินอันเป็นผลมาจากโครงสร้างเงินทุนของกิจการ
หลังจากที่กิจการได้รับผลกำไรจากการดำเนินงานแล้ว การที่กิจการจะได้กำไรสุทธิมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างเงินทุนของกิจการหรือการตัดสินใจในการจัดการเงินทุน ว่าเงินทุนของกิจการนั้นมาจากหนี้หรือทุนส่วนของเจ้าของ ถ้าเงินทุนส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดมาจากหนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือดอกเบี้ยที่กิจการต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้ หลังจากนั้นเมื่อกิจการมีผลกำไรหลังหักดอกเบี้ยจ่าย แล้ว กิจการจะต้องจ่ายภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ สุดท้ายจึงเป็นกำไรสุทธิหลังหักภาษี ซึ่งกิจการอาจนำเงินส่วนนี้มาใช้ในกิจการหรือจัดสรรให้กับเจ้าของกิจการ
ในการจัดทำประมาณการงบกำไรขาดทุนนั้นผู้ประกอบการมีทางเลือกในการจัดทำ
2 วิธีการด้วยกันคือ 1) การพยากรณ์ยอดขายและแยกย่อยรายละเอียดลงมาจนกระทั่งได้กำไรสุทธิหลังหักภาษีหรือ 2) กำหนดกำไรเป้าหมายและจัดทำรายละเอียดต่าง ๆ ขึ้นไป ซึ่งในการวางแผนธุรกิจสำหรับกิจการที่เปิดใหม่กิจการส่วนใหญ่ได้ใช้วิธีการที่ 2 โดยผู้ประกอบการกำหนดระดับกำไรเป้าหมายที่กิจการต้องการและหลังจากนั้นจึงหาระดับของยอดขายเพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไรที่ต้องการ (โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของยอดขายเมื่อเทียบกับที่ได้พยากรณ์ไว้) ในกรณีนี้ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำรายการต่าง ๆ ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ณ ระดับยอดขายนั้น ๆ
สำหรับการดำเนินธุรกิจขนาดย่อมแล้วโดยทั่วไปกำไรที่กิจการคาดว่าจะได้รับต้องมากพอเพื่อให้คุ้มกับค่าของความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ถ้าผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะได้รับจากการทำงานอื่นเขาก็ควรชั่งน้ำหนักถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบจากการเลือกวิถีชีวิตมาเป็นผู้ประกอบการว่าเพราะเหตุใดจึงต้องเป็นผู้ยอมรับความเสี่ยงและความยุ่งยากใจนานัปการ การทำงานที่หนักทั้งในช่วงเริ่มต้นและในช่วงเวลาดำเนินงาน ถ้าผลตอบแทนยังคงน้อยกว่าที่เขาจะไปทำงานอื่นที่มีความมั่นคงมากกว่า ดังนั้นรายได้เป้าหมายของผู้ประกอบการอย่างน้อยที่สุดควรเท่ากับผลรวมของเงินเดือนอย่างมีเหตุผลที่เขาต้องใช้เวลาไปและรวมถึงผลตอบแทนการลงทุนตามปกติ ซึ่งเป้าหมายนี้จะมีจำนวนเท่าใดจึงเป็นขั้นตอนแรกที่ผู้ประกอบการใช้ในการจัดทำประมาณการงบกำไรขาดทุน
   
การประมาณการงบดุล
ในขณะที่งบกำไรขาดทุนเป็นรายงานผลทางการเงินอันเกิดจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่งบดุลเป็นงบการเงินที่แสดงถึงฐานะทางการเงินของกิจการโดยแสดงผลกระทบสะสมตั้งแต่เริ่มกิจการจนถึงระยะเวลาที่กำหนดโดยแสดงออกในรูปของสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนส่วนของเจ้าของ

สินทรัพย์
ในด้านของสินทรัพย์โดยทั่วไปได้มีการแบ่งสินทรัพย์ของกิจการออกเป็น 3 ส่วนที่สำคัญคือ สินทรัพย์หมุนเวียน สินทรัพย์ถาวร และสินทรัพย์อื่น
สินทรัพย์หมุนเวียน ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องที่กิจการสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ตามวงจรดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของกิจการ สินทรัพย์หมุนเวียนรวมถึง เงินสด ที่ทุกกิจการจำเป็นต้องมีไว้สำหรับใช้จ่ายในปัจจุบันโดยขนาดของการถือเงินสดที่จำเป็นต้องใช้ไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับยอดขายเท่านั้นแต่ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการคาดคะเนเงินสดรับและเงินสดจ่ายของกิจการอีกด้วย รายการต่อมาได้แก่ลูกหนี้ การที่กิจการจำนวนมากมีนโยบายทางการตลาดในด้านสินเชื่อทางการค้าและ/หรือสินเชื่อสำหรับผู้บริโภค ดังนั้นจึงก่อให้เกิดบัญชีลูกหนี้และลูกหนี้นี้ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญของกิจการที่มีการจัดจำหน่ายบนพื้นฐานของสินเชื่อ สำหรับ สินค้าคงคลังซึ่งมีทั้งที่เป็นวัตถุดิบ สินค้าระหว่างทำและสินค้าสำเร็จรูปที่กิจการมีไว้เพื่อจำหน่าย แม้ว่าความสำคัญของสินค้าคงคลังจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทของกิจการแค่โดยทั่วไปสินค้าคงคลังถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญของสินทรัพย์หมุนเวียน ส่วนสุดท้ายได้แก่ ค่าใช้จ่ายๆล่วงหน้า กิจการอาจมีความจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินล่วงหน้า เช่นเงินล่วงหน้าเพื่อสำรองจ่ายและค่ามัดจำ เป็นต้น
การที่สินทรัพย์หมุนเวียนมีผลโดยตรงต่อสภาพคล่องของกิจการ ดังนั้นการจัดการสินทรัพย์หมุนเวียนที่ไม่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสาเหตุหลักของปัญหาทางการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มกิจการดังจะกล่าว
สินทรัพย์ถาวร อันได้แก่ที่ดิน สำนักงานและเครื่องจักรเครื่องมือ เป็นต้น กิจการแต่ละ
ประเภทมีความจำเป็นในการลงทุนด้านสินทรัพย์ถาวรแตกต่างกัน
สินทรัพย์อื่น นอกจากสินทรัพย์หมุนเวียนและถาวรแล้ว กิจการอาจมีรายการสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนอื่นๆ เช่นลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เป็นต้น สำหรับกิจการที่ตั้งขึ้นใหม่สินทรัพย์อื่นยัง
รวมต้นทุนในการก่อตั้งและส่งเสริมกิจการ
ในการรายงานฐานะทางการเงินของกิจการในรูปของสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้เพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติ กิจการส่วนใหญ่จึงรายงานสินทรัพย์บนพื้นฐานของต้นทุน (อย่างไรก็ตามได้มีข้อยกเว้นเช่นสินค้าคงคลังอาจแสดงได้ทั้งในรูปของต้นทุนหรือราคาตลาด) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจำนวนเงินในรายการต่าง ๆ ของงบดุลส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงในรูปมูลค่าตลาดในปัจจุบัน แต่จะเป็นการรายงานผลการประกอบการที่ผ่านมาโดยอาศัยพื้นฐานของราคาทุนเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะการรายงานมูลค่าทางการเงินในราคาตลาดจะมีความยุ่งยากซับซ้อนและยังไม่มีหลักเกณฑ์การประเมินค่าที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

หนี้สินและทุนส่วนของเจ้าของ
ในอีกด้านหนึ่งของงบดุลคือหนี้สินและทุนส่วนของเจ้าของ ซึ่งเป็นส่วนที่แสดงให้เห็นว่ากิจการได้ทำการจัดหาเงินทุนมาอย่างไรเพื่อนำไปใช้ลงทุนในสินทรัพย์หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเงินทุนที่กิจการนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ นั้นมาจากแหล่งใดระหว่างหนี้สินและ/หรือทุนส่วนของเจ้าของ โดยหนี้เป็นเงินที่กิจการจัดหามาและต้องชำระในช่วงเวลาที่กำหนดโดยอาจเป็นได้ทั้งหนี้จากการค้าและการกู้ยืม  สำหรับทุนส่วนของเจ้าของนั้นเป็นเงินที่เจ้าของและผู้ถือหุ้นได้ลงทุนไปในกิจการโดยไม่ได้กำหนดเวลาการจ่ายคืนไว้แน่นอน ถ้ากิจการเป็นของเจ้าของคนเดียว ทุนส่วนของเจ้าของคือเงินลงทุนของผู้ประกอบการและกำไรที่กิจการกันไว้ในกิจการ ถ้ากิจการอยู่ในรูปของหุ้นส่วน ทุนส่วนของเจ้าของได้แก่ส่วนที่หุ้นส่วนได้ลงในกิจการและกำไรสะสม และถ้ากิจการอยู่ในรูปบริษัททุนส่วนของเจ้าของรวมถึงมูลค่าหุ้น ส่วนเกินมูลค่าหุ้นและกำไรสะสม
หนี้สิน
หนี้สินถือว่าเป็นส่วนที่กิจการจำมาจากเจ้าหนี้โดยแบ่งเป็น 1) หนี้ระยะสั้น ซึ่งเป็นหนี้ที่กิจการจะต้องจ่ายภายใน 12 เดือน โดยแหล่งของหนี้ระยะสั้นสามารถจำแนกได้เป็น เจ้าหนี้การค้า ที่เกิดจากสินเชื่อการค้าที่กิจการได้รับจากผู้จัดหา ซึ่งอาจมีระยะเวลา 30-90 วัน เจ้าหนี้อื่น ๆ รวมถึงดอกเบี้ยและภาษีที่กิจการต้องชำระและจะถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เป็นหนี้สินระยะสั้นที่เกิดขึ้นแต่กิจการยังไม่ได้ชำระเช่นค่าตอบแทนพนักงานที่ปฏิบัติงานแต่กิจการยังไม่ได้จ่ายจนกว่าจะถึงกำหนดเวลาจ่าย เป็นต้น เงินกู้ระยะสั้น  เป็นหนี้ที่กิจการกู้ยืมจากสถาบันการเงินหรือแหล่งเงินกู้อื่นที่ถึงกำหนดชำระในระยะสั้น และ 2) หนี้ระยะยาว เป็นหนี้จากสถาบันการเงินหรือแหล่งอื่นที่กิจการยืมมาโดยมีระยะเวลาการชำระคืนเกินกว่า 1 ปี
ทุนส่วนของเจ้าของ
เงินทุนส่วนของเจ้าของนั้นมาจาก 1) เงินลงทุนของเจ้าของในช่วงเริ่มกิจการบวกด้วยเงินลงทุนเพิ่มในช่วงเวลาต่อมา และ 2) กำไรหรือขาดทุนสะสมตั้งแต่เริ่มกิจการมาซึ่งส่วนนี้จะเท่ากับกำไรทั้งหมดตั้งแต่เริ่มกิจการมาลบด้วยเงินปันผลที่จ่ายให้กับเจ้าของ
   หลังจากทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบและลักษณะที่สำคัญๆ ของงบดุลแล้ว ผู้ประกอบการควรที่จะทำการประมาณการงบดุลของกิจการ แม้โดยธรรมชาติแล้วผู้ประกอบการจะให้ความสนใจกับศักยภาพของกำไรโดยพิจารณาจากประมาณการงบกำไรขาดทุนก็ตาม แต่ในความเป็นจริงการประมาณการงบดุลถือเป็นส่วนที่สำคัญเพราะมีตัวอย่างปรากฏให้เห็นเสมอว่ากิจการที่ละเลยต่อการกำหนดความต้องการในการใช้สินทรัพย์ทั้งหมดมักมีผลทำให้การดำเนินงานของกิจการต้องเริ่มต้นทั้ง ที่มีพื้นฐานทางการเงินที่อ่อนแอ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาทางการเงินที่จะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการควรจัดทำประมาณการงบดุลทั้งความต้องการในด้านสินทรัพย์และแหล่งที่มาของเงินทุน
สรุปประเด็น
   ในการวางแผนธุรกิจการประมาณการงบการเงินควบคู่กับกระบวนการจัดทำงบประมาณจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมองภาพของเป้าหมายทางธุรกิจที่คนต้องการได้อย่างสมจริง ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการได้จัดทำงบประมาณขึ้นมานั้นจะช่วยให้กิจการสามารถตอบคำถามได้หลายประการด้วยเช่น
   กำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตรงกับที่คาดหวังหรือไม่
   ถ้ากิจการต้องการผลกำไรในระดับหนึ่ง ยอดขายควรเป็นเท่าใด
   จุดคุ้มทุนของกิจการควรอยู่ในระดับเท่าใด ภายใต้ต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรที่ประมาณการไว้ เป็นต้น
   ซึ่งคำตอบของคำถามต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการจัดทำแผนทางการเงินของธุรกิจขนาดย่อม
   อย่างไรก็ตามก่อนที่ผู้ประกอบการจะทำการประมาณการทางกรเงินได้นั้น ผุ้ประกอบการจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับงบการเงินทั้งนี้เพราะงบการเงินถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการวัดฐานะทางการเงินของกิจการซึ่งงบการเงินที่สำคัญ ได้แก่ 1) งบกำไรขาดทุน 2) งบดุล และ 3) งบกระแสเงินสด ดังนั้นความเข้าใจวัตถุประสงค์และเนื้อหาของงบการเงินเหล่านี้จึงมีความจำเป็นถ้าผู้ประกอบการต้องการจะทราบถึงฐานะของกิจการและความต้องการในการใช้เงินทุน


กรณีศึกษา

เดอะ คอฟฟี่ เมกเกอร์

ความเป็นมา
?เราอยากให้คนมาดื่มกาแฟได้ทุกวัน ไม่ใช่ดื่มเป็นแฟชั่นอาทิตย์ละวัน หรือ เดือนละวัน?
   ประโยคข้างต้นเป็นคำพูดของคุณ ดวงกมล รัตนอุบล เจ้าของแฟรนไชส์กาแฟ เดอะ คอฟฟี่เมกเกอร์  ซึ่งเธอตั้งราคากาแฟ เดอะ คอฟฟี่ เมกเกอร์ ของเธอไว้ระดับกลาง ในขณะที่คุณภาพกาแฟ การบริการ พนักงานบุคลากร การตกแต่งร้าน และความสะอาด ไม่ได้เป็นรองแฟรนไชส์กาแฟข้ามชาติ
   ?ราคากาแฟเราจะตั้งไว้ระดับกลาง ถ้าเทียบกับเชนต่างประเทศ ในโปรดักส์เดียวกัน เราจะถูกกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะเราอยากให้คนไทยมาดื่มกาแฟได้ทุกวัน ไม่ใช่ดื่มเป็นแฟชั่นอาทิตย์ละวัน หรือเดือนละวัน? คุณดวงกมลกล่าวถึงเป้าหมายที่เธออยากเห็น
   หากจัดอันดับธุรกิจที่คนไทยต้องการลงทุนมากที่สุดเวลานี้ คงต้องนับ ?ธุรกิจกาแฟ? อยู่ในอันดับต้นๆ เพราะเสน่ห์ของการมีร้านกาแฟเป็นของตนเองนั้น เป็นอารมณ์โรแมนติกของคนไทยยุคนี้ทีเดียว
 แต่ 100 ร้านที่เปิด 100 แฟรนไชส์ที่เข้ามาโลดแล่นในยุทธจักรที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง คงไม่ได้หมายความว่าทุกแบรนด์จะประสบความสำเร็จ คงมีเพียงบางแบรนด์เท่านั้นที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เดอะ คอฟฟี่ เมกเกอร์
หัวใจความสำเร็จของ เดอะคอฟฟี่ เมกเกอร์ ก็คือ ?ต้องรู้จริงเรื่องกาแฟ?
คุณดวงกมลเล่าว่าก่อนที่เธอจะหันมาเอาดีด้านการเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้านกาแฟ เธอเคยผ่านงานอย่างเคี่ยวกรำในบริษัทที่ทำกาแฟของญี่ปุ่น ทำให้เธอรู้จริง และ รู้ลึกเรื่องกาแฟ แบบครบวงจร
?จบใหม่ๆ ก็ได้ไปทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นที่ทำกาแฟมานานกว่า 50-60 ปี ตอนนั้นเขาต้องการมาเป็นเชนในเมืองไทย ถือเป็นโชคดีของเราที่ได้มีโอกาสเข้าไปศึกษางานตรงนั้น เรียกว่าเทรนตั้งแต่เรื่องการคั่วกาแฟ การบริหารงานร้าน ประกอบกับเราจบมาทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร เราก็เลยได้ความรู้มาครบวงจร ตั้งแต่คั่วกาแฟ เอากาแฟมาทำโปรเซสยังไง จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค โอเปอเรทร้าน ครบวงจร เราทำอยู่ 15 ปีตรงนั้น รู้สึกเอาเงินให้ต่างชาติไปเยอะแล้ว ก็เลยอยากสร้างให้เป็นแบรนด์ไทยขึ้นมา? คุณดวงกมลเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเดอะคอฟฟี่เมกเกอร์
คุณภาพ รสชาติ และความหอม ของ กาแฟของเดอะคอฟฟี่เมกเกอร์นั้น คอกาแฟพันธุ์แท้อย่างคุณดวงกมลการันตีว่าไม่แพ้กาแฟต่างชาติ เพราะเธอคัดสรรตั้งแต่เมล็ดกาแฟ คั่วเอง คิดสูตรเอง จนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
?เพราะเรามีประสบการณ์ด้านกาแฟมาเกือบ 20 ปี เป็นจุดแข็งของเรา กาแฟที่ออกมาจึงมีคุณภาพ เรามีโรงงานกาแฟของเราเอง เราสามารถคอนโทรลคุณภาพ ตั้งแต่วัตถุดิบที่เข้ามา เอามาคัดแยก คั่วเอง เรามีเครื่องคั่วแบบ 30 กิโลกรัม อยู่ตัวหนึ่ง คั่วจนกระทั่งเป็นสูตรต่าง ๆ ออกมา เพราะฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่า กาแฟของเรามีคุณภาพเท่าเทียมกันหมด ที่สำคัญเราใช้กาแฟอาราบิก้าของไทยเอง ไม่ได้ใช้กาแฟนอกเลย เพราะกาแฟอาราบิก้าของไทยมีคุณภาพไม่แพ้ของนอก? คุณดวงกมลพูดถึงสูตรกาแฟเดอะคอฟฟี่เมกเกอร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เข้าคอร์สอบรม กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เพียงรู้จริงเรื่องกาแฟ คงไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
คุณดวงกมลจัดเป็นคนที่แสวงหาความรู้อย่างไม่หยุดนิ่งคนหนึ่ง เธอไม่รีรอที่จะเข้ารับการอบรม และขอรับการส่งเสริมจากภาครัฐ เช่นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งให้การสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ในเวลานี้
?การที่เราเข้าไปอบรมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทำให้เรากล้าลงทุน กล้าที่จะทำ เรามองเห็นความสำเร็จอยู่ข้างหน้า เมื่อ SME BANK เห็นเราผ่านตรงนั้นมาก็กล้าที่จะปล่อยกู้ให้กับเรา เชื่อมั่นเรา ตอนนี้เรากำลังพัฒนา ด้วยการเข้าคอร์สแอดวานซ์โปรแกรม เพื่อที่จะโกอินเตอร์ แฟรนไชส์เดอะคอฟฟี่เมกเกอร์ของเราจะต้องโกอินเตอร์? คุณดวงกมลพูดถึงเป้าหมายที่เธอจะเดินต่อไปในอนาคต
จุดเด่นนอกจากเรื่องรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เดอะคอฟฟี่เมกเกอร์ ยังออกแบบร้านได้อย่างลงตัว พร้อมด้วยทีมพนักงานที่ได้รับการอบรมมาอย่างดี สะอาดสะอ้าน เน้นการบริการเพื่อมัดใจลูกค้า 
?จริงๆ รูปแบบแฟรนไชส์เราจะมี 3 รูปแบบ คือแบบเล็กสุดเป็นรถเข็น โตขึ้นมาหน่อยก็เป็นคอนเนอร์เล็กๆ และเป็นร้านขนาดใหญ่เป็นคอฟฟี่ช็อป ซึ่งก็จะมีทั้งแบบอินดอร์ เอ๊าท์ดอร์ คืออยู่ในอาคารสำนักงาน และ ตั้งเป็นร้านติดแอร์เดี่ยวๆ คนที่สนใจแฟรนไชส์เรา คุณเตรียมตัวมาเป็นเจ้าของร้านอย่างเดียว เราทำให้ทั้งหมด เราจะฝึกให้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ฝึกตั้งแต่เมล็ดกาแฟดิบ จนกลายมาเป็นกาแฟพร้อมดื่มสำหรับผู้บริโภค หรือใครยังไม่มีทำเล เราก็พร้อมจะหาทำเลให้ด้วย? คุณดวงกมลอธิบาย
?จากยอดขาย ถ้าหักต้นทุนขาย เช่นวัตถุดิบ กาแฟ อาหาร จะอยู่ที่ 20% ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่า ค่าพนักงาน จะอยู่ที่ 20% เพราะฉะนั้นเราจะได้กำไร 40-50%? คุณดวงกมลให้ข้อมูล
นอกจากกาแฟ เดอะคอฟฟี่เมกเกอร์ ยังพัฒนาสินค้าอื่นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเข้ามาใส่ในร้านเพิ่มมาก ขึ้นไม่ว่าจะเป็นนมเย็น ชาเขียว สูตรเฉพาะตัว ไม่พอยังมีเครื่องดื่มโซดาสีสดใสที่กำลังเป็นที่โปรดปรานของเด็กวัยรุ่นขณะนี้ ส่วนขนมขบเคี้ยวก็มีมีวัฟเฟิล  เค๊ก แซนด์วิช สลัด สูตรเฉพาะที่เธอคิดขึ้นด้วย เรียกว่าใครไม่ดื่มกาแฟก็เข้ามานั่งในเดอะคอฟฟี่เมกเกอร์ได้
   มุมกาแฟมุมนี้จึงเปิดกว้างสำหรับทุกคน จะใช้เป็นที่นั่งพักผ่อน นั่งพูดคุย  จะมาเดี่ยว มาเป็นคู่ หรือมาเป็นครอบครัว เดอะคอฟฟี่เมกเกอร์ก็พร้อมต้อนรับเสมอ

วิเคราะห์แผนธุรกิจ
จัดทำงบประมาณทางการเงิน ให้ลูกค้าแฟรนไชส์   
    สำหรับหัวใจของธุรกิจแฟรนไชส์ นั้น  ?แฟรนไชส์ซอร์จะรวยได้ แฟรนไชส์ซีต้องรวยก่อน?
   เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจแฟรนไชส์ในฐานะแฟรนไชส์ซอร์นั้น จะต้องมีการจัดทำประมาณการทางการเงิน และมีการวางแผนธุรกิจ ให้กับแฟรนไชส์ซี เสมือนหนึ่งแม่ที่ต้องดูแลลูก ต้องช่วยคิด และ คอยระมัดระวังความเสี่ยงทางธุรกิจในทุกด้าน ให้กับแฟรนไชส์ซีเป็นพิเศษ
   สำหรับคอฟฟี่เมคเกอร์ ใครที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ เธอจะเริ่มตั้งแต่การหาทำเลให้กับลูกค้า ในกรณีที่ไม่มีทำเล ตลอดจนการเข้าไปวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าในทำเลนั้น ว่ามีจำนวน หรือมีกำลังซื้อมากพอที่จะเปิดร้านหรือไม่  รวมทั้งการประมาณการกำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ถ้าต้องการผลกำไรในระดับหนึ่งยอดขายควรเป็นเท่าใด จะคุ้มทุนของกิจการควรอยู่ระดับใด ภายใต้ตุ้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรที่ประมาณการไว้ เป็นต้น
   ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล่วนแต่เป็นข้อมูลที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ หรือ แฟรนไชส์ซีต้องการรู้มากที่สุด และผิดพลาดไม่ได้
   เวลานี้คอฟฟี่เมคเกอร์มีแฟรนไชส์ซีทั่วประเทศกว่า 25 สาขา ซึ่งเป็นความเติบโตที่เธอพยายามจำกัดเอาไว้ เพื่อให้ดูแลแฟรนไชส์ซีของเธอได้อย่างทั่วถึง
 
เดอะคอฟฟี่เมคเกอร์
ติดต่อ คุณดวงกมล รัตนอุบล
โทร.   0-1846-5080
   0-2559-3611-4