-->

ผู้เขียน หัวข้อ: เพศศึกษา: รักร่วมเพศ ผิดปกติหรือ ?  (อ่าน 2127 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ชายวัยทอง

  • บุคคลทั่วไป
เพศศึกษา: รักร่วมเพศ ผิดปกติหรือ ?
« เมื่อ: 28 มิถุนายน 2007, 21:15:04 »

เพศศึกษา: รักร่วมเพศ ผิดปกติหรือ ?

นับตั้งแต่เริ่มรับปรึกษาทาง internet ปัญหาที่ผมได้รับปรึกษาบ่อยที่สุด ก็คือ เรื่องของการมีความรู้สึกรักในเพศเดียวกัน หรือที่เราเรียกกันว่า Homosexual ผมได้รับปัญหาอาทิตย์ละ 1-2 คำถาม เชื่อว่าอาจารย์ท่านอื่นๆที่รับปรึกษาปัญหา ก็คงจะได้รับการปรึกษาในปริมาณที่ไม่ต่างกันนัก ในอาทิตย์ที่เขียนบทความนี้ผมได้รับคำถามในลักษณะที่คล้ายๆกันถึง 4 คำถาม นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมคิดว่า ผมควรจะตอบสนองต่อคำถามเหล่านี้ด้วยบทความที่อธิบายถึงปัญหานี้ มากกว่าการมาคอยตอบปัญหาคล้ายๆกันที่มักจะถามว่า ?ผมเป็นเกย์ หรือเปล่า? ?ทำอย่างไรจึงจะเลิกเป็นเกย์? ?สามารถรักษาเกย์ให้หายขาดได้ไหม? หรือแม้กระทั่ง ?มีวิธีการรักษา หรือใช้เวลานานเท่าไหร่ และค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร?

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ ในชีวิตการทำงานของผมที่ผ่านมานั้น มีผู้มาปรึกษาปัญหานี้ ไม่ถึง 10 ราย เมื่อเปรียบกับจำนวนของปัญหาที่ผมได้รับในช่วงเดือนเศษนั้น เทียบกันไม่ได้เลย สิ่งนี้อาจจะเป็นตัวที่บอกกับเราว่า ปัจจุบัน คนประสบกับปัญหานี้มากขึ้น? คนกล้าเปิดเผยตัวเองมากขึ้น? หรือคนยอมรับกับตัวเองได้มากขึ้นและพยายามที่จะหาทางออก? หรือ ปัญหาและปริมาณยังเหมือนเดิม แต่คนไม่กล้าที่จะไปพบกับจิตแพทย์ แต่สะดวกใจกว่าในการปรึกษาปัญหาโดยไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ถาม?

สิ่งที่ผมกล่าวไปทั้งหมดนี้ ผมอยากให้ท่านที่สนใจในปัญหานี้ หรือ กำลังทุกข์กับปัญหานี้ ลองอ่านข้อคำถามที่ผมได้รับดู แล้วลองพิจารณาว่า สภาพของผู้ถามปัญหาเหล่านี้มาเหมือนกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับท่าน หรือกำลังเกิดขึ้นอยู่หรือไม่ และท่านมีวิธีการและหาทางออกกับปัญหานี้อย่างไร

ผมชอบพี่ในคณะคนหนึ่งนะครับ ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอดตั้งแต่เริ่มรู้จักกันมา จนใครๆก็แซวครับว่าเป็นคู่เกย์กัน แต่ผมกับพี่ก็ไม่ได้สนใจกับอะไรเลย (แต่ไม่เคยได้คุยกันถึงเรื่องนี้) ตอนนี้ก็ยังไปไหนมาไหนด้วยกันปกติ
ตอนนี้ผมเป็นอะไรหรือครับ แล้วผมจะทำยังไงต่อไปดี งงครับคุณหมอ

Smile. Wat.

ตัวเองเกิดมามีความรู้สึกว่าชอบเพศเดียวกันและมีความคับข้องใจมากและไม่อยากจะเป็นอย่างนี้เลย อยากทราบว่ามันเกิดมาจากสาเหตุอะไรเป็นมาแต่กำเนิดหรือเปล่า จากสารพันธุกรรมหรือเปล่า หรือจากสาเหตุจากภาวะแวดล้อมการเลี้ยงดู ที่สำคัญมีการแก้ไขได้หรือไม่ ถ้ารู้สึกเครียดมากกับเรื่องนื้ เพราะว่าแก้ไขยากจังเลย จะต้องทำอย่างไรครับ ช่วยแนะด้วยครับ ขอบคุณมากครับ

191

เรียนคุณหมอ....
หนูมีเรื่องจะเรียนถามและปรึกษาคุณหมอค่ะ... หนูคิดว่าหนูผิดปกติเพราะชอบผู้หญิงด้วยกันเอง คือ พูดง่ายๆว่าเป็นทอม ความรู้สึกของหนูก็คือ เวลามองมองผู้หญิงด้วยกันแล้วจะรู้สึกดีๆด้วย แบบที่ผู้ชายเค้ารู้สึกกับผู้หญิง แต่ไม่มีความรู้สึกแบบนั้นกับผู้ชายเลย เวลาไปไหนก็มองแต่ผู้หญิงสวยๆ ส่วนหนูแต่งตัวแบบผู้ชาย และคิดอยากมีแฟนเป็นผู้หญิงและก็เคยมีด้วย แต่....เพราะความที่หนูเป็นผู้หญิงหนูเลยอกหัก แฟนหนูไปคบผู้ชาย และให้เหตุผลว่าผู้หญิงเกิดมาคู่กับผู้ชาย ใช่หนูยอมรับ แต่เราคบกันมานาน กินอยู่ด้วยกัน อยู่บ้านเดียวกัน ผูกพันกันมาก แต่ตอนนี้ไม่มีเค้าแล้ว หนูเหมือนต้องอยู่คนเดียว
หนูไม่มีใคร เลยเกิดความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่ามาก คิดไปถึงอนาคตว่าถ้าเราเป็นแบบนี้เราคงต้องอยู่คนเดียวตลอดชีวิต เพราะผู้หญิงทุกคนคงต้องหวังว่าสักวันจะแต่งงาน ส่วนหนูไม่คิดอะไรแบบนั้น คิดถึงอนาคตแล้วคงจะไม่มีใครต้องการหนูเลย
และตอนนี้หนูไม่รู้จะผ่านความรู้สึกแบบนี้ไปได้ยังไง ความรู้สึกที่ไม่มีใคร เหงา คิดถึงแต่อดีต นึกเสียใจที่เกิดเป็นผู้หญิง
พูดอีกแง่คือกลัวว่าจะหาแฟนไม่ได้อีก ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่มีใจจะทำอะไรอีก วันๆได้แต่นั่งคิดมาก นอนไม่หลับ คิดเรื่องเก่าตลอดเวลา แม้จะพยายามทำอะไรให้ลืม แต่ก็ฝืนได้ไม่นาน ความจริงหนูไม่ได้อยากเป็นอย่างนี้ หนูอยากเป็นผู้หญิงปกติธรรมดาคนนึง
อยากมีครอบครัวแบบผู้หญิงทั่วไป แต่ความรู้สึกจริงๆคืออยากมีครอบครัวในฐานะที่เป็นผู้ชาย เป็นพ่อ ไม่ใช่แม่ ทำไมหนูถึงมีความคิดแบบนี้ หนูฝืนตัวเองไม่ได้ หนูไม่มองผู้ชายเลย และหนูก็พอใจที่จะเป็นแบบนี้ แต่อยากมีคู่ มีความสุข มีคนรัก

Sandy


สำหรับทางจิตเวชนั้น หลายสิบปีก่อนปัญหาเรื่องของเกย์ เลสเบียน หรือรักร่วมเพศนั้น ยังถูกจัดว่าเป็นปัญหา หรือความผิดปกติทางจิตเวชแบบหนึ่ง ซึ่งรักษาได้ยาก และไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แนวคิดในการมองเรื่องนี้ยังคงมองว่าเป็นความผิดปกติ เป็นความจ็บป่วยชนิดหนึ่งที่ควรได้รับการรักษา แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็เป็นการบอกของสังคมโดยผ่านจิตแพทย์ว่า นี่เป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ

สำหรับผมเองนั้นเมื่อเริ่มรับการฝึกอบรมทางจิตเวชนั้น แนวคิดในเรื่องนี้เริ่มเปลี่ยนไป ในอเมริกา (ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆทางจิตเวชมักจะเริ่มจากที่นี่ก่อน) รักร่วมเพศไม่ได้ถูกจัดเป็นความผิดปกทางจิตอีกต่อไป แต่จะยกเว้นก็ในกรณีที่บุคลนั้นเกิดความอึดอัดคับข้องใจกับพฤติกรรมของตนเอง จึงจะเข้ามารับการบำบัด โดยการทำจิตบำบัด ในช่วงนั้นจึงมีคำว่า Ego-dystonic homosexual ใช้กับคนกลุ่มนี้ แต่การรักษาก็มักจะจำกัดอยู่ที่การช่วยให้บุคลที่เป็นเกย์หรือเลสเบียน ปรับตัวกับสังคมให้ดีขึ้น มากกว่าการเปลี่ยนให้คนเหล่านี้ หันกลับมารักเพศตรงข้าม สำหรับบ้านเราเองนั้นวงการจิตเวชก็เดินตามทิศทางนี้เช่นกัน และหากยังจำกันได้ กระแสสังคมในช่วง 15-20 ปีหลังก็มีลักษณะของการต่อต้านเกย์ และเลสเบียนน้อยลง บุคลสำคัญในแวดวงสังคมหลายคนก็ประกาศตัว (coming out) (อาจโดยพฤติกรรม หรือวาจา)ว่าตัวเองเป็นเกย์ หรือเลสเบียน นี่อาจเป็นบรรยากาศแบบหนึ่งที่บ่งถึงการยอมรับของสังคม ในยุคนั้นถึงกับมีการพูดติดตลกว่า คนที่เก่งและมีความสามารถมักจะเป็นเกย์

ในปัจจุบันนี้ จากการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยาศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องรักร่วมเพศเปลี่ยนไป จากการมองว่า การรักต่างเพศเป็นเรื่องปกตินั้น นักวิทยาศาสตร์พบว่า พฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นสิ่งที่พบได้ในทุกสังคม วัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นในมนุษย์ หรือสัตว์ เราสามารถศึกษาพบพฤติกรรมรักร่วมเพศได้

นี่อาจจะเป็นคำอธิบายที่สมเหตุผลถึง ผลของการรักษาพฤติกรรมรักร่วมเพศที่ผ่านมา ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จก็เพราะ ผู้รักษาพยามเปลี่ยนพฤติกรรมที่ปกติของคนๆนั้น (ในการรักเพศเดียวกัน) ไปสู่พฤติกรรมที่ผิดปกติ(ในการรักต่างเพศ) ในบุคลนั้น

ถ้าเช่นนั้นทำไมปัญหาของความกังวล ความไม่สบายใจเกี่ยวกับการเป็นเกย์ และเลสเบียนยังมีอยู่

อาจจะเป็นเพราะว่า ถึงแม้ในช่วงสิบปีหลังนี้การเป็นเกย์ หรือเป็นเลสเบียนดูจะเป็นเรื่องที่ธรรมดา ไม่ใช่ประเด็นที่คนจะมาดูถูก หรือเหยียดหยาม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ดูเหมือนสังคมก็ยังมีลักษณะที่แบ่งแยก และกีดกันคนที่เป็นเกย์และเลสเบียน แม้กระทั่งในอเมริกาเองที่องค์กรของเกย์และเลสเบียนเข้มแข็งมาก แต่ลักษณะของการต่อต้าน กลัว หรือรังเกียจก็ยังคงมีอยู่ เช่นในกองทัพ หรือหน่วยงานความมั่นคง สิ่งเหลานี้เองก็ทำให้คนที่เป็นเกย์ หรือเลสเบียน ไม่แน่ใจ และไม่กล้าที่จะ เปิดเผยตัวเองออกมา เพราะกังวลถึงความยอมรับขององค์กร ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รวมกระทั่งการยอมรับของคนใกล้ชิด และครอบครัว และที่สำคัญที่คนที่เป็นเกย์ และเลสเบียนมักจะไม่ค่อยยอมรับสิ่งที่ตนเป็น เพราะมองว่าการเป็นเกย์ หรือเลสเบียนเป็นเรื่องที่ผิดจากคนปกติ และตนเองจะทำให้ครอบครัวอับอาย หรือผิดหวัง

ถ้าหากเราพิจารณาเรื่องของการเป็นเกย์ และเลสเบียน เป็นเพียงพฤติกรรมทางเพศของแต่ละคน (sexual orientation) การรักคนเพศเดียวกัน ก็ไม่ต่างจากคนที่รักเพศตรงข้าม มีปัจจัยของรูปร่าง หน้าตา นิสัยใจคอ ความห่วงใย ความอบอุ่นที่มีให้ต่อกัน สิ่งที่ต่างกันอาจจะมีเพียง รักร่วมเพศเป็นสิ่งที่เราถูกพร่ำสอนมาโดยตลอด (ไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อม ด้วยวาจา หรือพฤติกรรม)ว่าเป็นเรื่องผิดปกติ โอกาสที่จะอกหัก หรือโดนหลอกมีมาก แต่หากพิจารณากันจริงๆแล้ว เราจะพบว่า พฤติกรรมทางเพศที่ถือว่าปกตินั้น คนที่ผิดหวังก็มีมากมาย อย่างที่ผมเคยตอบปัญหากับท่านหนึ่งมาแล้ว การพยายามรักเพศตรงข้าม เพราะคิดว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดนั้น ก็ไม่ต่างจากการที่เราถูกบังคับให้แต่งงานกับคนที่เราไม่รัก การทำเช่นนั้นคนที่ทุกข์ คือเรา และคนที่เราแต่งงานด้วย สังคมไม่ได้มาทุกข์กับเรา

การพิจารณาว่าพฤติกรรมทางเพศของเรานั้นเป็นแบบรักร่วมเพศ หรือต่างเพศนั้น อาจพิจารณาง่ายๆจาก ใครที่ทำให้ตัวเราเกิดความรู้สึกทางเพศ เพศเดียวกัน หรือเพศตรงข้าม เมื่อมีความต้องการทางเพศคุณคิดฝันถึงใคร หากคุณไม่มีความรู้สึก ความต้องการกับเพศตรงข้าม แต่มีความรู้สึกกับเพศเดียวกันนี่ก็ค่อนข้างจะเป็นตัวบอกได้อย่างดี

หวังว่าบทความนี้คงจะช่วยคลายข้อสงสัยลงไปได้บ้าง ว่าเกย์และเลสเบียนไม่ใช่ความผิดปกติ เป็นเพียงความแตกต่างของ sexual orientation แต่หากท่านใดที่มีข้อสงสัยและอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ในบ้านเรามีองค์กรที่เป็นปากเสียงแทนเกย์และเลสเบียน รวมถึงช่วยในการให้คำปรึกษากับคนที่มีปัญหาในการปรับตัว ซึ่งผมคิดว่าท่านที่สงสัยไม่แน่ใจในตนเองอาจจะลองปรึกษากลุ่มนี้ได้โดยตรง คือ กลุ่มอัญจารี http://bkk.loxinfo.co.th/~anjaree e-mail : anjaree@hotmail.com และ anjaree@thaimail.com หรือหมายเลขโทรศัพท์ : 477-1776

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์เธียรชัย งามทิพย์วัฒนา
ปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2545