-->

ผู้เขียน หัวข้อ: สู่ความสำเร็จในการเขียนแผนธุรกิจ SMEs  (อ่าน 3005 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

cmxseed

  • บุคคลทั่วไป

เรียบเรียงโดย อาจารย์วิภาวรรณ  กลิ่นหอม

SMEs หรือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นธุรกิจฐานรากของระบบเศรษฐกิจไทย สร้างผลผลิต สร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นในประเทศ SMEs เป็นพลังขับเคลื่อนในการสร้างอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  ปัญหาของ SMEs ที่มีมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น การขาดความรู้ความชำนาญในการประกอบการ  การตลาด เงินทุนและเทคโนโลยี เป็นต้น  สำหรับปัญหาเร่งด่วน 2 ปัญหาหลักของ SMEs ไทย คือ ปัญหาด้านการเงินและปัญหาด้านการตลาด
ขณะนี้ในภาครัฐกำลังเร่งสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและบริการภาครัฐให้มีความพร้อมและกระจายอย่างทั่วถึงเพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ มีการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการและยกระดับทักษะของแรงงานใน SMEs   เร่งการส่งเสริมความเชื่อมโยงและการรวมกลุ่มวิสาหกิจ  การเชื่อมโยงนี้ยังมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาและวางรากฐานเพื่อให้เกิดการเติบโต ในวิสาหกิจยุทธศาสตร์สำคัญเฉพาะกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย (1) วิสาหกิจส่งออก โดยเน้นการวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ทีมีโอกาสและศักยภาพสูงในตลาดส่งออก รวมทั้งการยกระดับสินค้าไปสู่ตลาดที่สูงขึ้น   การสร้างผู้ประกอบการใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ใช้ฐานความรู้สมัยใหม่ เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทย การสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างงานและสร้างรายได้ และ (2)วิสาหกิจชุมชน ให้มีการใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาในท้องถิ่นในการผลิตสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาดและมีคุณภาพสูงรวมทั้งเชื่อมโยงและเกิดการพัฒนาร่วมกัน  ส่วนในภาคประชาชนก็จะต้องช่วยในการสร้างเสริมและอุดหนุน SMEs ให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน

ทำความรู้จักแผนธุรกิจ SMEs

การเริ่มต้นธุรกิจ SMEs ควรเริ่มต้นอย่างมีหลักการและเหตุผลที่เป็นระบบ  เพื่อการดำเนินงานอย่างมีแบบแผน  มีลำดับขั้นตอนและเพื่อความผิดพลาดที่น้อยที่สุดทั้งนี้ต้องอาศัยการเตรียมการล่วงหน้า  ด้วยการวางแผนงานที่ดี  มีการคาดการณ์อนาคต  และคิดวิธีการรองรับไว้อย่างมีประสิทธิภาพ   
แผนธุรกิจ (Business Plan) มีความสำคัญมากสำหรับการเริ่มต้นและการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการทุกขนาด  เพราะแผนธุรกิจจะเป็นบทสรุปแห่งกระบวนการคิด และการตัดสินใจ  ที่จะถ่ายทอดความคิดของผู้ทำธุรกิจออกมาเป็นช่องทางแห่งโอกาสทางธุรกิจ แผนธุรกิจจึงเปรียบเสมือนแผนที่ในการเดินทางทางธุรกิจ ที่ช่วยกำหนดทิศทาง รวมถึงชี้แนะขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ เพื่อการก้าวย่างทางธุรกิจในโลกแห่งการแข่งขันที่กว้างใหญ่และรุนแรงในปัจจุบัน   
แผนธุรกิจเป็นแหล่งรวมของเรื่องราวที่เกี่ยวกับกลยุทธ์การแข่งขันทางการตลาด การคาดคะเนทางการเงิน ที่จะเป็นข้อมูลที่นำทางให้ผู้ทำธุรกิจเดินทางไปสู่เป้าหมายและพบกับความสำเร็จได้ อีกทั้งยังเป็นตัวบ่งบอกถึงจุดแข็งจุดอ่อนและข้อควรระวังภัยจากภายนอกให้แก่ผู้ทำธุรกิจอีกด้วยนอกจากนี้แผนธุรกิจยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้ร่วมลงทุนตัดสินใจได้ว่าควรเข้าร่วมการลงทุนหรือไม่  เพราะในแผนธุรกิจจะมีการกล่าวถึงรายละเอียดต่างๆให้ผู้ร่วมลงทุนได้เข้าใจไว้อย่างชัดเจน อาทิ วัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจ  แนวคิดและปรัชญาของธุรกิจ  ปัญหาและอุปสรรค  และหนทางที่เตรียมไว้สำหรับพาผู้ประกอบการไปสู่ความสำเร็จได้ 
สำหรับผู้ประกอบการแล้ว แผนธุรกิจเป็นเอกสารที่มีความสำคัญยิ่งกว่าเอกสารใดๆ ที่เคยมีการรวบรวมมา  ความสำคัญเหล่านี้สามารถสรุปได้คือ
1.   แผนธุรกิจสำคัญในฐานะที่จะให้รายละเอียดของการเริ่มต้นธุรกิจ แผนธุรกิจทำให้ผู้ประกอบการมีเป้าหมายที่ชัดเจน กำหนดแนวทางของความคิด และช่วยให้ผู้ประกอบการแน่วแน่ต่อการใช้ทรัพยากรและกำลังความพยายามเพื่อไปสู่เป้าหมาย
2.   แผนธุรกิจสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือที่จะแสวงหาเงินทุนจากผู้ร่วมลงทุน จากกองทุนร่วมลงทุนและจากสถาบันการเงินต่างๆ
3.   แผนธุรกิจสำคัญในฐานะที่เป็นเสมือนพิมพ์เขียวที่ให้รายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมในการจัดหาเงินทุน กิจกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กิจกรรมการตลาด และอื่นๆ ในการบริหารกิจการใหม่ แผนธุรกิจยังใช้เพื่อกำหนดการปฏิบัติงานที่ต่อเนื่องในอนาคตของกิจการอีกด้วย

ข้อมูลที่สำคัญสำหรับการทำแผนธุรกิจ

สำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นจะมีความสงสัยเกิดขึ้นว่าจะทำแผนธุรกิจในลักษณะใดและแผนธุรกิจจะต้องทำอย่างไร  ควรเริ่มต้นที่จุดไหนก่อนแล้วจะทำอย่างไรต่อไป  จึงจะกลายเป็นแผนธุรกิจ      ที่สมบูรณ์และใช้การได้จริง ซึ่งต้องเริ่มต้นที่การหาข้อมูลก่อนเป็นสิ่งแรก  ข้อมูลที่สำคัญสำหรับการทำแผนธุรกิจ แบ่งได้ 4 ด้านใหญ่ๆ คือ
1.   ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความเป็นไปของธุรกิจที่จะทำ  ผู้ทำธุรกิจต้องคำนึงถึงความเป็นไปของธุรกิจ   ซึ่งต้องทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  และขณะเดียวกันไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตัดสินใจของผู้ทำธุรกิจ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว จะมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา     ในขณะที่ผู้ทำธุรกิจไม่สามารถควบคุมได้  ปัจจัยดังกล่าว เช่น สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ  นโยบายรัฐบาลแต่ละชุด กฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยีใหม่ๆ และกระแสสังคม เป็นต้น
2.   ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง  ผู้ทำธุรกิจต้องประเมินว่าตนเองมีคุณสมบัติที่จะทำธุรกิจนั้นหรือไม่  คือมีความรู้ ความสามารถในเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจนั้นเพียงใด  มากพอที่จะก่อให้เกิดความมั่นใจในการทำหรือไม่   นอกจากนี้ยังต้องสำรวจอีกว่าตนเองมีความอดทน  ขยัน  ซื่อสัตย์  และยอมรับกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่  และที่สำคัญที่สุดต้องถามตนเองว่ามีความหนักแน่นจริงจังและกล้าตัดสินใจในสิ่งที่จะทำมากพอหรือไม่
ผู้ทำธุรกิจต้องสามารถเลือกทำธุรกิจในประเภทที่เหมาะสมกับตนเองโดยพิจารณาสิ่งที่คิดจะทำจากความชอบ  ความถนัดและความสนใจของตนเองเป็นหลัก   แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมที่จะต้องเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคด้วย  ผู้ทำธุรกิจต้องสำรวจฐานะการเงินของตนเองว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะลงทุนหรือไม่หรือต้องแสวงหาเงินลงทุนจากแหล่งเงินกู้อื่นๆ
สถานที่ตั้งกิจการที่เหมาะสมนับเป็นสิ่งสำคัญ ทำเลที่เหมาะสมหมายถึงสถานที่ที่สะดวกในการจัดซื้อและขนส่งวัตถุดิบ  สามารถเข้าถึงลูกค้าหรือลูกค้าเข้าถึงได้โดยสะดวก  หากยังไม่มีสถานที่ตั้งเป็นของตนเอง  ก็ต้องมองหาที่ตั้งที่เหมาะสมกับธุรกิจและอยู่ภายใต้ต้นทุนที่ยอมรับได้   ดังนั้นจึงต้องพิจารณาต่อไปว่าควรใช้วิธีซื้อหรือเช่า 
3.   ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า  ผู้ทำธุรกิจต้องสามารถเจาะจงกลุ่มลูกค้าที่ตนเองคาดหวังได้อย่างชัดเจน  คือสามารถนึกภาพออกว่าลูกค้าของตนเองจะเป็นใคร  ต้องอธิบายได้ว่าลูกค้าที่คาดหวังของเราจะมีพฤติกรรมอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไรหรือสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษและที่สำคัญจะไปหาพวกเขาเหล่านั้นพบได้จากที่ไหน
โดยกลุ่มลูกค้าที่คาดหวังจะต้องเป็นกลุ่มลูกค้าที่เหมาะสมสอดคล้องกับธุรกิจ สินค้าและบริการของเรา  ซึ่งควรเริ่มต้นด้วยการสำรวจเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้าเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ  ว่ามีความต้องการลักษณะใด  มากน้อยเพียงใด  เพื่อการนำข้อมูลเหล่านั้นไปเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์  และกลยุทธ์การบริหารในด้านต่างๆ ที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงใจพวกเขาเหล่านั้นได้ต่อไป  และนั่นจึงจะมั่นใจได้ว่าสินค้าหรือบริการที่เราทำขึ้นจะเป็นที่ต้องการในตลาดและสามารถขายได้
4.   ข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งขัน ผู้ทำธุรกิจจำเป็นที่จะต้องรู้จักคู่แข่งขันของตนเองให้ดี   เพื่อที่จะต่อสู้และสามารถแข่งขันจนก่อให้เกิดชัยชนะได้  ผู้ทำธุรกิจจึงควรทำการหาข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งขันให้ละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์  แล้วนำไปหาแนวทางการตั้งรับหรือรุกในการแข่งขันต่อไป 
ผู้ทำธุรกิจควรรู้ตั้งแต่ประวัติความเป็นมาและรายละเอียดอื่นๆ ว่าเขาทำอะไร  ที่ไหน ทำอย่างไร ใช้กลยุทธ์อะไร  ให้ใครทำหรือมีใครเกี่ยวข้องสนับสนุนบ้าง  ทั้งในอดีต  ปัจจุบัน  และที่กำลังจะทำต่อไปในอนาคต  รวมทั้งผลลัพธ์เป็นอย่างไรบ้าง  แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์หาจุดเด่น จุดด้อยของคู่แข่งขันว่าอยู่ตรงไหน  เพื่อที่จะนำผลการวิเคราะห์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการกำหนดแนวทางเพื่อการแข่งขันที่เหมาะสมต่อไป  แต่อย่างไรก็ตามการจะได้มาซึ่งข้อมูลของคู่แข่งขันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  ทั้งนี้ต้องหาข้อมูลอย่างมีจรรยาบรรณด้วยคือต้องอยู่ภายใต้วิธีการที่โปร่งใส ไม่ผิดกฎหมายและจริยธรรมอีกทั้งยังต้องติดตามข้อมูลของคู่แข่งขันตลอดเวลา โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีการเคลื่อนไหวทางแข่งขันสูงและรุนแรง
 
แผนธุรกิจควรมีอะไรบ้าง

          เนื่องจากแผนธุรกิจที่ดีย่อมช่วยในการวัดถึงความเป็นไปได้ของกิจการที่จะลงทุนแผนจึงควรประกอบด้วยการวิเคราะห์อย่างละเอียดในตัวแปรหรือปัจจัยดังต่อไปนี้
1.   สินค้าหรือบริการที่จะขาย
2.   กลุ่มลูกค้าที่คาดหวัง
3.   จุดแข็งและจุดอ่อนของกิจการที่จะทำ
4.   นโยบายการตลาด เช่น นโยบายด้านราคา การส่งเสริมการตลาด การกระจายสินค้า
5.   วิธีการหรือกระบวนการในการผลิต รวมถึงเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ต้องใช้
6.   ตัวเลขทางการเงิน นับตั้งแต่รายได้ที่คาดว่าจะได้ ค่าใช้จ่าย กำไร ขาดทุน จำนวนเงินลงทุนที่ต้องการ และกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้มาหรือใช้ไป

ข้อแนะนำเบื้องต้น

ผู้ทำธุรกิจต้องมีการหาความรู้และทำความเข้าใจในหลักการที่ถูกต้องของการทำแผนธุรกิจเสียก่อน  อย่าลงมือทำโดยยังไม่มีความรู้จริงในสิ่งที่จะลงมือทำเป็นอันขาด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแผนธุรกิจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือกำหนดทิศทางการเดินของธุรกิจด้วยแล้ว  ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับหลักการที่ถูกต้องเป็นเบื้องต้นเสียก่อน  เพราะหากยังขาดความรู้ที่ถูกต้องตามหลักการแล้ว  แผนธุรกิจที่เกิดขึ้นจะเกิดความผิดพลาดได้โดยง่าย  โดยที่ผู้ทำธุรกิจเองอาจไม่ทันรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ  แล้วยังเข้าใจผิดคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วอีกด้วย 
เมื่อถึงขั้นตอนที่นำแผนธุรกิจมาใช้ในการปฏิบัติจริง  จะพบว่าผลการปฏิบัติอาจไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวังหรือเขียนไว้ในแผน หรืออาจเกิดปัญหาผิดทิศผิดทาง  โดยที่หาต้นตอสาเหตุของประเด็นปัญหาความผิดพลาดเหล่านั้นไม่พบด้วยซ้ำ  และสุดท้ายแผนธุรกิจนั้นก็จะกลายเป็นเพียงสิ่งที่ไร้ค่า  ไม่มีประโยชน์ใดๆ หรืออาจจะกลายเป็นดาบสองคม ส่งผลในแง่ลบต่อธุรกิจเสียด้วยซ้ำเพราะทำให้ธุรกิจเดินผิดทิศทางทั้งหมด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ทำธุรกิจเป็นรายใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นด้วยแล้ว  หากเกิดความผิดพลาดเสียแต่ต้นมือ  การจะแก้ไขหรือปรับตัวก็มักจะกลายเป็นเรื่องยาก  จะตกในสถานการณ์ที่ลำบากทันที  เพราะในวงจรชีวิต (Industrial life cycle) ขั้นเริ่มต้นกิจการ (Introduction) ซึ่งถือเป็นภาวะเสี่ยงที่สุดของธุรกิจนั้น  เราต้องพยายามทำทุกอย่างให้มีโอกาสผิดพลาดให้น้อยที่สุด  เพราะหากล้มไปแล้วโอกาสที่จะลุกขึ้นมายืนได้คงเป็นไปได้ยากมาก หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้อีกเลย  ดังนั้นการทำความเข้าใจในหลักการที่ถูกต้องของแผนธุรกิจ  ผู้ทำธุรกิจจึงควรที่จะเรียนรู้อย่างตั้งใจที่จะเข้าถึงมันอย่างแท้จริง มิใช่เพียงฉาบฉวยเท่านั้น 
กระบวนการในการจัดทำแผนธุรกิจ
   กระบวนการที่จะนำมาใช้ในการวางแผนธุรกิจมีดังนี้
1.    ขั้นตอนการกำหนดกลยุทธ์   แบ่งออกได้เป็นลำดับต่อไปนี้ คือ
   ขั้นเก็บรวบรวมข้อมูล
   เพื่อนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ ในการเก็บข้อมูลควรพิจารณาถึงสิ่งต่างๆดังนี้
   -   วิธีการแสวงหาข้อมูลที่เหมาะสม  โดยการเลือกวิธีการหาข้อมูลก็ต้องพิจารณาความต้องการในข้อมูลว่าต้องการข้องมูลประเภทไหน ข้อมูลอะไรบ้าง  และมีข้อจำกัดอะไรบ้างในการจะหาข้อมูล เช่น  จำกัดเวลา หรือจำกัดค่าใช้จ่าย หรือจำกัดบุคลากรหรือจำกัดแหล่งข้อมูล  แล้วก็เลือกวิธีการหาข้อมูลที่เหมาะสมกับเงื่อนไขเหล่านั้น
   -   ประเภทของข้อมูล  ต้องแยกแยะออกมาได้อย่างชัดเจนว่าต้องการข้อมูลประเภทใด  ข้อมูลชนิดไหน ข้อมูลอะไรบ้าง หยาบหรือละเอียดแค่ไหน เก่าใหม่เพียงใด 
   -    แหล่งข้อมูล ที่สำคัญต้องใช้แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ  เป็นแหล่งข้อมูลจริงที่จะทำให้ข้อมูลไม่ถูกบิดเบือน  เพราะหากเลือกแหล่งข้อมูลผิดพลาด  ข้อมูลที่ได้มาอาจไม่ถูกประเด็น หรือไม่น่าเชื่อถือ  เมื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์สิ่งที่ได้ออกมาทุกอย่างก็จะผิดพลาดทั้งหมด  หลังจากนั้นเมื่อนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ในการวางแผน  แผนที่ถูกกำหนดขึ้นก็จะผิดพลาดเช่นกัน  และนั่นหมายถึงความล้มเหลวในสิ่งที่คิดจะทำก็จะตามมา
             1.2 ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล 
   ต้องใช้การวิเคราะห์ด้วยหลักการทางความคิดที่ถูกต้อง  ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม  หรือการวิเคราะห์การแข่งขัน    การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมก็ต้องพยายามทำความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจทั้งในปัจจบันและในอนาคตว่ามีอะไรบ้าง และพิจารณาทีละตัวที่เป็นสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อธุรกิจของเรา  โดยในการวิเคราะห์ควรมองหลายๆมุม ว่าสภาพแวดล้อมแต่ละตัวส่งผลต่อธุรกิจในทางบวกหรือทางลบอย่างไรบ้าง ต้องสามารถอธิบายชี้แจงได้อย่างชัดเจน  เพื่อที่จะได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการกำหนดแผนการดำเนินงานของธุรกิจต่อไป  ซึ่งเครื่องมือที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมสำหรับการทำแผนธุรกิจก็คือ SWOT Analysis ส่วนการวิเคราะห์สภาพการแข่งขันก็ต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางธุรกิจ ความน่าสนใจโดยรวมของธุรกิจที่ทำ  ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรและความพร้อมด้านต่างๆ ของกิจการ 
1.3    ขั้นกำหนดกลยุทธ์
          เป็นการนำผลการวิเคราะห์ ข้อ 1.2 มากำหนดกลยุทธ์ ซึ่งในขั้นนี้จะต้องแยกออกเป็น การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายก่อนแล้วจึงไปสู่การกำหนดกลยุทธ์

        2. ขั้นแปลงกลยุทธ์ไปสู่ขั้นปฏิบัติ   เพื่อให้กลยุทธ์ของทุกๆแผนสามารถนำไปดำเนินการได้อย่างเป็นธรรม โดยการจัดทำแผนปฏิบัติการ

        3. ขั้นควบคุมกลยุทธ์ เพื่อให้การปฏิบัติการทั้งหมดเป็นไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยในขั้นนี้จะมีการจัดทำดรรชนีชี้วัด (KPI) ผลความสำเร็จไว้อย่างชัดเจน
สรุป
จะเห็นว่ากว่าจะมาเป็นแผนธุรกิจที่สมบูรณ์ได้จะต้องประกอบด้วยทักษะที่สำคัญๆ หลายส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ผู้ทำธุรกิจต้องตระหนักไว้เสมอว่า  การเขียนแผนธุรกิจที่ดีต้องเขียนขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นจริงทุกประการ  ตั้งแต่ข้อมูลก็ต้องเป็นข้อมูลจริง  การวิเคราะห์ก็ต้องวิเคราะห์บนฐานแห่งความเป็นจริง  การกำหนดแผนก็ต้องกำหนดขึ้นบนทิศทางของความเป็นจริง  คิดและเขียนในสิ่งที่เป็นจริงและเป็นไปได้เท่านั้น  และแผนธุรกิจที่ดีที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องไม่ใช่แผนที่ทำตามแบบของใคร  ต้องยืนอยู่บนต้นแบบของตัวเอง เพราะอย่าลืมว่า ทุกคนไม่มีใครเหมือนใคร  ธุรกิจก็เช่นกันไม่มีใครจะเหมือนใครไปได้ อาจจะเห็นคนอื่นทำวิธีนี้แล้วสำเร็จก็ใช่ว่าเราทำเหมือนเขาแล้วจะประสบความสำเร็จอย่างเขา  เพราะทุกคนมีความเป็นมาต่างกัน  มีเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงมีความคาดหวังและมุมมองที่แตกต่างกันและอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน มันจึงทำให้ทุกอย่างออกมาแตกต่างกัน  แผนที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถเหมือนกันได้เสมอไป  อาจกล่าวได้ว่าแต่ละธุรกิจ แต่ละกิจการก็จำเป็นที่จะต้องมีแผนที่เป็นของตัวเองเฉพาะตัว  แผนธุรกิจไม่มีสูตรสำเร็จ  แม้กระทั่งทำขึ้นมาแล้วหากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง  แผนนั้นก็อาจถูกรื้อหรือปรับแก้ได้อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน  เพราะทุกอย่างที่เขียนขึ้นเป็นเพียงแนวทางเพื่อการดำเนินงานที่เราคิดขึ้นล่วงหน้าเท่านั้น  ถึงเลาที่จะนำไปใช้จริงก็อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เหมาะสมกับการปฏิบัติอยู่บ้างเหมือนกัน  แต่แผนที่ดีก็ไม่ควรผิดเพี้ยนไปมากนัก  เพราะมันผ่านกระบวนการคิดอย่างรอบคอบมาแล้ว

สรุปความคิดรวบยอด

แผนธุรกิจ
มีความสำคัญมากสำหรับการเริ่มต้นและการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการทุกขนาด  เพราะแผนธุรกิจจะเป็นบทสรุปแห่งกระบวนการคิด และการตัดสินใจ  ที่จะถ่ายทอดความคิดของผู้ทำธุรกิจออกมาเป็นช่องทางแห่งโอกาสทางธุรกิจ  แผนธุรกิจจึงเปรียบเสมือนแผนที่ในการเดินทางทางธุรกิจ ที่ช่วยกำหนดทิศทาง รวมถึงชี้แนะขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ เพื่อการก้าวย่างทางธุรกิจในโลกแห่งการแข่งขันที่กว้างใหญ่และรุนแรงในปัจจุบัน
ขั้นตอนในการวางแผน
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลได้แล้วก็นำผลการวิเคราะห์มาใช้ใน การวางแผนธุรกิจ กำหนดกลยุทธ์ด้านต่างๆ ของกิจการ  ซึ่งขั้นตอนในการวางแผนมีลำดับดังนี้  กำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ            วัตถุประสงค์  แผนการตลาด    แผนการจัดการและแผนกำลังคน    แผนการผลิต   แผนการเงิน   แผนการดำเนินงาน    แผนฉุกเฉิน     วิธีการควบคุมและประเมินผล




เอกสารอ้างอิง

กฤษฎา เสกตระกูล. พิชิตธุรกิจอย่างมืออาชีพ  ชุดบันไดสู่ความมั่งคั่งเล่ม 2. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2546.
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน). SMEs กับการพัฒนาที่ยั่งยืน. กรุงเทพฯ:  ฝ่ายแผนงาน, 2536.
ผุสดี รุมาคม. การบริหารธุรกิจขนาดย่อม.กรุงเทพฯ:  ฟิสิกส์เซ็นเตอร์, 2544.
ภาวรี ฉัตรกุล ณ อยุธยา. เฟรนไชส์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ เค แอน พี บุ๊ค, 2546.
เรวัต ตันตยานนท์. ก่อร่างสร้างกิจการ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2546.
วรภัทร. 99 กฎทองสำหรับ เจ้าของ SMEs. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กู๊ด มอร์นิ่ง, 2546.
สมชาย หิรัญกิตติ และ ศิริวรรณ เสรีรัตน์. การบริหารธุรกิจขนาดย่อม. กรุงเทพฯ:  DIAMOND IN BUSINESS WORLD, 2542.
อำนาจ ธีระวนิช. การจัดการธุรกิจขนาดย่อม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2546.


กรณีศึกษา
ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาสมุนไพร ร้าน ?ใบเตย?
แฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวไทย ไอเดียเพื่อสุขภาพ
------------------------------------------------------------------------
ความเป็นมา
ร้าน ?ก๋วยเตี๋ยว? ทำไมต้อง ?ลูกชิ้นปลาสมุนไพร? และ ทำไมต้อง ?ใบเตย?!?
   เรื่องนี้คงต้องถาม คุณ ปฐมพงษ์ อรรคศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิร์ค ไทม์ เอ็นเตอร์              เทนเม้นท์ จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาสมุนไพร ?ใบเตย?
   คุณปฐมพงษ์เล่าว่า ก่อนที่จะเบี่ยงเบนอาชีพแบบสุดขั้วมาทำแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวนั้น เดิมเคยเปิดบริษัทซื้อขายเวลาทางสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แต่ก็ไปไม่รอด หลังเจอเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ โดนลูกค้าเบี้ยวเงินจนสถานการณ์บริษัทย่ำแย่
   แต่ด้วยความเป็นคนสนใจในธุรกิจแฟรนไชส์เป็นทุนเดิม  และหมั่นศึกษาหาข้อมูลมาโดยตลอด จึงพลิกตัวได้อย่างรวดเร็ว
แนวคิดของคุณปฐมพงษ์นั้นค่อนข้างน่าสนใจ และมีเสน่ห์อยู่หลายจุดทีเดียว
อันดับแรก ทำไมต้องเป็น ?ร้านก๋วยเตี๋ยว? เพราะหากจะนั่งนับดูแฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเวลานี้ หรือร้านก๋วยเตี๋ยวที่เปิดเอง ต้องบอกว่าสมรภูมินี้หินเอาการและเต็มไปด้วยการแข่งขันที่รุนแรง
คำตอบของคุณปฐมพงษ์มีอยู่ข้อเดียว และเป็นข้อเดียวที่ยากจะปฏิเสธ ?ธุรกิจอาหารเป็นตลาดที่ใหญ่ และมหาศาล ยังไงก็ขายได้? 
เพียงแต่คุณต้องหาจุดเด่นที่แตกต่างให้กับธุรกิจอาหารของคุณ ให้เจอเท่านั้น!?
คุณปฐมพงษ์เลือกที่จะสร้างจุดเด่นด้วยคอนเซ็ปต์ ?เพื่อสุขภาพ? โดยใช้ ?เนื้อปลา? ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีไขมันต่ำ และมีสาร DHA กับ ?สมุนไพรไทย? เข้ามาเป็นจุดขาย เรียกว่าอิงเข้ากับกระแสนิยมและความตื่นตัวของคนในช่วงเวลานี้ได้อย่างพอดิบพอดี
มนุษย์ทุกวันนี้ นอกจากเสพอาหารก็ยังเสพข่าวสาร ซึ่ง โฆษณาและประชาสัมพันธ์ ที่โหมยิงออกมาจากสินค้ายี่ห้อดัง ๆ เวลานี้ล้วนแต่กระตุ้นให้คนไทยตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องการบริโภค?เนื้อปลา? และ ประโยชน์นานัปการของ ?สมุนไพรไทย? ซึ่งคุณปฐมพงษ์ก็รู้จักที่จะหยิบยืมผลพลอยได้นี้มาใช้
?ลูกชิ้นปลาของผมจะประกอบไปด้วยสมุนไพรกว่า 10 ชนิด ทั้ง ตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า ผักชี ต้นหอม เยอะมาก ในน้ำซุปก็เหมือนกันจะมีส่วนผสมของสมุนไพรด้วย ก็ต้องลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง กว่าจะลงตัว ช่วงแรกผมใส่สมุนไพรลงไปเป็นชิ้นๆ ลูกค้าบางคนชอบ บางคนไม่ชอบ ต้องปรับปรุงตลอดเวลา? คุณปฐมพงษ์พูดถึงการการนำสมุนไพร และเนื้อปลา เข้ามาเป็นจุดขายของร้าน
ส่วนชื่อร้านนั้นคุณปฐมพงษ์ก็เลือกใช้ชื่อที่เก๋ไก๋ จำง่าย และดูเป็นไทยๆ เป็นสมุนไพรไปด้วยในตัว ว่า ?ใบเตย? ที่สำคัญคอนเซ็ปต์ของร้าน ก็จะมีน้ำใบเตยไว้คอยบริการลูกค้าด้วย เพื่อสร้างความประทับใจ
สาขาแรกของร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาสมุนไพร ?ใบเตย? หรือร้านต้นแบบเกิดขึ้นที่ย่านถนนเพชรเกษม ภายใต้สโลแกน ?ร้านก๋วยเตี๋ยวชามด่วน ของคนรักสุขภาพ อร่อย สะอาด ราคาถูก? ปรากฏ  ว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
?เปิดไปได้ 6 เดือน ก็มีลูกค้าประจำ เขาบอกว่ากำลังจะลาออกจากงาน มาถามผมว่าจะมารับลูกชิ้นไปขายได้มั้ย จะเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวอย่างเราได้มั้ย ทำให้ผมเริ่มมั่นใจที่จะเปิดร้านใบเตยเป็นแฟรนไชส์? คุณปฐมพงษ์เล่า
เมื่อตั้งใจเปิดเป็นแฟรนไชส์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด หรือสร้าง Brand Royalty ความที่เคยผ่านงานสื่อ และคลุกคลีอยู่ในวงการมานาน ทำให้คุณปฐมพงษ์มองหาช่องทางประชาสัมพันธ์โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้งการเดินไปตามค่ายเพลง ซึ่งไม่ว่าจะไปจัดคอนเสิร์ตที่ไหน คุณปฐมพงษ์ก็จะขอตามไปออกบูธเพื่อให้ผู้ไปชมคอนเสิร์ตได้ทดลองชิม เพราะกลุ่มเป้าหมายของร้านใบเตยนั้น คุณปฐมพงษ์มองไว้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพ่อบ้าน แม่บ้าน รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน
สำหรับค่าแฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาสมุนไพร ?ใบเตย? นั้น เริ่มต้นที่ 70,000-150,000 บาท
70,000 บาท ก็จะได้เป็นคีออสหรือรถเข็น แต่ถ้าเป็นร้านอาคารพาณิชย์ 1 คูหา ก็ 100,000 บาท ถ้า 2 คูหา ก็ 150,000 บาท ส่วนสิ่งที่จะได้รับเรียกว่าอุปกรณ์ครบครันพร้อมขาย เพียงแต่คุณหาทำเลให้ได้เท่านั้นเอง
คุณปฐมพงษ์บอกว่า ที่ลืมไม่ได้คือคุณต้องมีเงินทุนหมุนเวียนติดมือเอาไว้อย่างน้อย 30,000 บาท ระยะเวลาคุ้มทุนนั้นขึ้นอยู่กับทำเล หากขายดี 1-2 เดือนก็คืนทุนแล้ว  ใครสนใจแฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวปลาสมุนไพรใบเตย ก็ลองติดต่อคุณปฐมพงษ์ได้ที่เบอร์โทร.02-377-9582 , 02-377-9735 หรือ

mormor1973

  • บุคคลทั่วไป
Re: สู่ความสำเร็จในการเขียนแผนธุรกิจ SMEs
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 10 มิถุนายน 2008, 23:07:15 »