-->

ผู้เขียน หัวข้อ: การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ SMEs  (อ่าน 1315 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

don

  • บุคคลทั่วไป

การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ SMEs

เรียบเรียบโดย อาจารย์ วิภาวรรณ  กลิ่นหอม

ในขณะที่ดำเนินการจัดทำหรือหลังจากดำเนินการจัดทำแผนธุรกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ผู้ทำธุรกิจควรจะต้องมีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแผนควบคู่ไปด้วย  เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของแผน  เพราะแผนธุรกิจที่ดีต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ในการนำมาปฏิบัติใช้จริง  จึงจะเกิดประโยชน์คุ้มค่าในการดำเนินการจัดทำแผนดังกล่าว   
การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ  ผู้ทำธุรกิจจำเป็นที่จะต้องมีความรู้และประสบการณ์เฉพาะด้านเป็นอย่างดี  หรืออาจส่งให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแต่ละแผนย่อยๆ ในแผนธุรกิจ เป็นผู้วิเคราะห์ให้ความเห็นในความเป็นไปได้ของแผนดังกล่าว  ไม่ว่าจะเป็น แผนการตลาด  แผนการจัดการ  แผนคน  แผนผลิต  แผนการเงิน  แผนดำเนินการ รวมทั้งแผนฉุกเฉินด้วย    เพราะความเป็นไปได้สำหรับแผนย่อยๆ แต่ละแผน    อาศัยหลักการประเมินความเป็นไปได้ที่แตกต่างกันออกไป     

สิ่งที่ต้องวิเคราะห์ในแผนธุรกิจ SMEs

อันที่จริงแล้วถ้าจะวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแผนให้ละเอียด  ต้องวิเคราะห์กันตั้งแต่
?   ความถูกต้องน่าเชื่อถือของข้อมูลพื้นฐานที่จะนำมาใช้ในการกำหนดแผน  ว่ามีความเที่ยงตรง หรือเบี่ยงเบนเพียงใด  เพราะถ้าเกิดความเบี่ยงเบนมากเสียตั้งแต่จุดเริ่มต้นตรงนี้แล้ว  สิ่งที่จะถูกกำหนดขึ้นตามมาก็จะคลาดเคลื่อน  และห่างไกลความเป็นจริงที่อาจเป็นไปได้ในแผนทั้งหมด  เช่น  การได้ข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งขันมาไม่ถูกต้อง  ก็ทำให้เราประเมินความสามารถของคู่แข่งขันผิดไป  ผลที่ตามมาคืออาจทำให้เราประมาทคู่แข่งขัน  หรือใช้กลยุทธ์ที่จะรุกหรือรับกับคู่แข่งขันผิดทางไปก็เป็นได้   ดังนั้นในการวิเคราะห์ต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล  ให้เป็นแหล่งที่ถูกต้องสำหรับฐานข้อมูล    และความทันสมัยของข้อมูล  คือข้อมูลที่ได้มาต้องไม่ล้าสมัยจนมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วทำให้เกิดความผิดเพี้ยนของข้อมูลในเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น

?   เมื่อแน่ใจแล้วว่าข้อมูลที่ได้มามีความเที่ยงตรงเพียงพอ  ต่อมาก็ต้องวิเคราะห์เกี่ยวกับแผนที่
กำหนดขึ้น  โดยในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแผนแต่ละแผนนั้นต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้  ได้แก่
-   วัตถุประสงค์ชัดเจนหรือไม่  และมีความเป็นไปได้เพียงใดในทางปฏิบัติ 
-   ความละเอียดของแผนที่เขียนขึ้น  มีความชัดเจนเพียงพอต่อการนำไปปฏิบัติหรือการตัดสินใจเพื่อการลงทุนหรือไม่
-   ความสามารถขององค์การ  ในด้านต่างๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะ การตลาด  การเงิน  บุคคล  การผลิตและเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มี   รวมทั้งทางด้านการบริหาร 
-   ศักยภาพและองค์ประกอบสนับสนุนขององค์การว่ามีเพียงพอ  สำหรับการปฏิบัติตามแผนนั้นหรือไม่
-   ระยะเวลาการปฏิบัติตามแผนที่กำหนดขึ้น  เหมาะสม เป็นไปได้หรือไม่เพียงใด  โดยพิจารณาเงื่อนไขการปฏิบัติงานอื่นๆ ประกอบด้วย
-   ความคุ้มค่าในสิ่งที่คิดจะทำที่กำหนดไว้ในแผน  ความคุ้มค่าที่ผู้ทำธุรกิจมักจะคำนึงถึงจุดแรกคือ  ความคุ้มค่าทางด้านการเงิน  นอกจากนั้นก็เป็นความคุ้มค่าทางความรู้สึกของผู้ปฏิบัติ  และความคุ้มค่าในสายตาผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่ ลูกค้า หรือผู้รับผลกระทบภายนอกอื่นๆ 
-   ความก้าวหน้าของกิจการ  พิจารณาว่าแผนที่กำหนดขึ้นสามารถนำพาความก้าวหน้าให้แก่องค์การในอนาคตได้มากแค่ไหน
-   ผู้บริหารเห็นด้วยกับแนวทางที่กำหนดขึ้นในแผนหรือไม่
-   ผู้ปฏิบัติเห็นด้วยและให้ความร่วมมือเพียงใด

ความสามารถขององค์การทางด้านต่างๆ
การพิจารณาความสามารถขององค์การทางด้านต่างๆ ที่ส่งผลต่อ ความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ  ไดแก่
?   ความสามารถขององค์การทางด้านการตลาด  ต้องพิจารณา
-   ตั้งแต่วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์  ว่าธุรกิจที่กำลังจะเดินเข้าไปหรือกำลังดำเนินกิจกรรมอยู่นั้น   อยู่ในระยะวงจรชีวิตที่มีอนาคตต่อไปหรือไม่  หากอยู่ในระยะวงจรชีวิตที่กำลังถดถอยหรืออิ่มตัวแล้ว  ก็ถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่ไม่น่าเข้าไปทำแล้ว  แผนธุรกิจที่ทำขึ้นอาจเสียเปล่า  ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน  แต่ถ้าอยู่ในระยะที่ยังมีอนาคตต่อไป  ไม่ว่าจะเป็นขั้นแนะนำ  ขั้นเติบโต  ก็ถือว่ายังน่าสนใจอยู่ที่จะเข้าไปร่วมวงแข่งขันทางธุรกิจด้วย 
-   จากนั้นก็หันมาพิจารณาเกี่ยวกับองค์ประกอบอื่นทางด้านการตลาด  ได้แก่  คู่แข่งขันเก่งมากไหม  ผูกขาดหรือเปล่า ถ้าผูกขาดก็ต้องมาพิจารณาแล้วว่า 
-   กลยุทธ์การตลาดที่เราเลือกใช้มีศักยภาพเพียงพอที่จะสู่รบกับเขาได้หรือไม่ 
-   จากนั้นก็มาพิจารณาว่าแผนที่เราเขียนนั้นมีองค์ประกอบที่คอยสนับสนุน   ให้กิจกรรมทางการตลาดของเราประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด ถ้าตอบได้ว่ามี  ก็ถือว่าเป็นแผนงานที่มีความเป็นไปได้  องค์ประกอบเหล่านั้นได้แก่  เงิน  บุคคล  อุปกรณ์ เป็นต้น
-   สุดท้ายต้องพิจารณาเกี่ยวกับส่วนประสมทางการตลาดที่เราเลือกใช้และกำหนดขึ้น  ว่าผลิตภัณฑ์น่าสนใจเพียงใดในตลาด  ราคาเหมาะสมหรือไม่  ช่องทางการจัดจำหน่ายเข้าถึงลูกค้าได้ดี  หรือไม่  กลยุทธ์ส่งเสริมการขายดึงดูดให้ลูกค้าซื้อสินค้าของเรามากขึ้นได้หรือไม่  ถ้าทุกอย่างลงตัวก็ถือว่าแผนการตลาดมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ  ที่จะนำไปใช้ปฏิบัติต่อไป 
-   อย่าลืมดูศักยภาพของคนที่จะนำแผนนี้ไปปฏิบัติด้วยว่ามีความเข้าใจ  และมีความสามารถพียงใด  รวมถึงยินดูยินดีให้ความร่วมมือทุ่มเทหรือไม่  ซึ่งมีส่วนสำคัญไม่น้อยที่จะทำให้แผนการตลาดมีความเป็นไปได้จริง
?   ความสามารถขององค์การทางด้านการเงิน  ต้องพิจารณา
-   ตั้งแต่แหล่งเงินลงทุน  ว่าองค์การมีความสามารถเพียงพอที่จะไปหาเงินจากแหล่งเงินต่างๆ มากน้อยเพียงใด  อันนี้ขึ้นกับความสามารถของผู้บริหาร  ความน่าสนใจและความเป็นไปได้ของแผนงานที่กิจการวางไว้ 
-   จากนั้นก็ต้องพิจารณาเกี่ยวกับความสามารถในการทำเงินให้เข้าสู่กิจการ  ซึ่งในส่วนนี้เกี่ยวข้องกับความสามารถทางการขายและการตลาดที่จะทำให้เกิดรายได้แก่กิจการ  อีกทั้งยังเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารการเงินให้เกิดสภาพคล่องอีกด้วย  ซึ่งอันนี้ต้องฝากความหวังไว้กับผู้บริหารอีกเช่นกัน 
-   นอกจากนี้ยังต้องไม่ลืมที่จะพิจารณาเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ด้วย  เพื่อไม่ให้กิจการต้องเสียความน่าเชื่อถือทางธุรกิจ   และต้องบริหารกำไรให้เกิดขึ้นแก่กิจการได้ด้วย
?   ความสามารถขององค์การทางด้านบุคคล   ต้องพิจารณาเกี่ยวกับ
-   จำนวนบุคลากรว่ามีเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานหรือไม่ 
-   บุคลากรที่มีอยู่นั้นมีคุณภาพเหมาะสมเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในแต่ละด้านหรือไม่  ที่จริงแล้วเรื่องนี้อาจเกี่ยวพันกับศักยภาพทางด้านการเงิน  ว่ามีเงินเพียงพอต่อการจ้างงานคนคุณภาพหรือไม่ 
-   ความสามารถของผู้บริหารในการบริหารบุคลากรอีกด้วย  ในที่นี้คือผู้บริหารมีภาวะผู้นำเพียงใด  มีทักษะการจูงใจ  มีจิตวิทยาการบริหารที่ดีพอสำหรับการบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาหรือไม่ 
-   นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงเรื่องผลตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ที่จะมีให้แก่พนักงานงานเพื่อที่จะผูกใจให้คนทำงานอย่างทุ่มเทอีกด้วย  เพราะหากขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว  แผนงานที่แสนดีทั้งหมดจะกลายเป็นเพียงเศษกระดาษที่ไร้ค่าไปในที่สุด  เนื่องด้วยปราศจากคนที่จะรับไปปฏิบัติตามอย่างที่คิดและเขียนไว้  ให้เกิดความเป็นจริงขึ้นมาได้
?   ความสามารถขององค์การทางด้านการผลิตและเครื่องจักรอุปกรณ์ 
-   ต้องเริ่มต้นด้วยการพิจารณาบุคลากรในฝ่ายผลิตที่มีอยู่ว่า มีคุณภาพและความสามารถเพียงพอ  ในการปฏิบัติงานตามแผนงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้หรือไม่   
-   พิจารณาต่อไปว่าระบบกระบวนการผลิต  และเครื่องจักรอุปกรณ์ที่กำหนดไว้  มีประสิทธิภาพเพียงพอ  คุ้มค่าต่อการลงทุน  เป็นที่ยอมรับนิยมใช้ในธุรกิจ  มีมาตรฐาน รวมถึงมีความทันสมัยเพียงพอหรือไม่   
-   นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาเกี่ยวกับการเลือกสถานที่ตั้งโรงงาน  การวางผังโรงงาน  การเตรียมการสั่งซื้อ  การระบุแหล่งแหล่งวัตถุดิบ  และรายละเอียดของวัตถุดิบ  มีความชัดเจนและเหมาะสมเพียงใดต่อการดำเนินงานทางด้านการผลิต 
-   สุดท้ายต้องพิจารณาว่ามีการเงินสนับสนุนเพียงพอหรือไม่สำหรับการผลิต  ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารต้นทุนการผลิตนั่นเอง
?   ความสามารถขององค์การทางด้านการบริหาร  ต้องพิจารณา
-   ตั้งแต่ตัวผู้บริหาร  คือพิจารณาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา  ทัศนคติ  แนวความคิด  วิสัยทัศน์ของผู้บริหารแต่ละคน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเจ้าของผู้ทำธุรกิจเอง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการกำหนดแนวทางการบริหารของผู้บริหารแต่ละคนเลยทีเดียว  อาทิเช่น  ผู้บริหารที่เรียนมาทางด้านวิศวกรรม  ก็จะมีวิธีการบริหารและแนวคิดออกไปทางวิทยาศาสตร์  แต่ถ้าผู้บริหารจบมาทางด้านธุรกิจก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป
-   นโยบายการบริหาร  เป็นตัวบอกทิศทางขององค์การว่าจะดำเนินไปในแนวทางใด  ก็ต้องพิจารณาว่านโยบายองค์การอยู่ในกระแสของธุรกิจหรือไม่  ถ้าทวนกระแส  ความเป็นไปได้ก็จะต่ำ  การดำเนินงานก็จะยากลำบาก
-   ระบบการบริหารภายใน  ต้องพิจารณาว่าทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานเพียงใด  รวมทั้งก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากน้อยแค่ไหน
-   การวางแนวทางการบริหารรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต  ต้องพิจารณาว่ามีการวางแนวทางเผื่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไว้เพียงใด  หรือคาดการณ์สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นไว้รัดกุมเพียงใด

 สรุป
ทั้งหมดนี้ผู้ทำธุรกิจจะเห็นได้ว่าแผนธุรกิจจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดนั้น  มีเรื่องที่
ต้องพิจารณาในหลายประเด็นดังที่กล่าวข้างต้น  แต่ท้ายที่สุดแล้วประเด็นสำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่  ขั้นตอนในการนำแผนไปปฏิบัติ  เพราะแผนจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด  ก็ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติและวิธีการปฏิบัติเป็นสำคัญ   หากคิดให้ดีแล้ว   จะเห็นว่าแม้แผนที่เขียนขึ้นไว้จะดีเพียงใด  หากผู้นำไปปฏิบัติไม่มีความเข้าใจในแผน  ไม่เห็นความสำคัญ  หรือไม่ให้ความร่วมมือด้วยแล้ว  ทุกอย่างก็อาจล้มเหลว  สิ่งที่ผู้ทำแผนคิดว่าเป็นไปได้ก็อาจเป็นไปไม่ได้ในที่สุด  ทางที่ดีแล้วในขั้นตอนการเขียนแผน  ควรจะได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่ในการนำแผนไปปฏิบัติ  ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนด้วยเพื่อให้แผนนั้นๆ เกิดความเป็นไปได้มากที่สุดในการนำไปปฏิบัติ

เอกสารอ้างอิง

กฤษฎา เสกตระกูล. พิชิตธุรกิจอย่างมืออาชีพ  ชุดบันไดสู่ความมั่งคั่งเล่ม 2. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2546.
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน). SMEs กับการพัฒนาที่ยั่งยืน. กรุงเทพฯ:  ฝ่ายแผนงาน, 2536.
ผุสดี รุมาคม. การบริหารธุรกิจขนาดย่อม.กรุงเทพฯ:  ฟิสิกส์เซ็นเตอร์, 2544.
ภาวรี ฉัตรกุล ณ อยุธยา. เฟรนไชส์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ เค แอน พี บุ๊ค, 2546.
เรวัต ตันตยานนท์. ก่อร่างสร้างกิจการ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2546.
วรภัทร. 99 กฎทองสำหรับ เจ้าของ SMEs. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กู๊ด มอร์นิ่ง, 2546.
สมชาย หิรัญกิตติ และ ศิริวรรณ เสรีรัตน์. การบริหารธุรกิจขนาดย่อม. กรุงเทพฯ:  DIAMOND IN BUSINESS WORLD, 2542.
อำนาจ ธีระวนิช. การจัดการธุรกิจขนาดย่อม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2546.


กรณีศึกษา
เฉาก๊วยธัญพืช Jelly Bird
สร้างธุรกิจจากแผ่นกระดาษสู่การขยายตลาดไปต่างประเทศ
-----------------------------------------------------------------
(ประวัติความเป็นมาอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความที่ 2 วิธีเขียนแผนธุรกิจ SMEs)

การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ

2 ปี 200 แฟรนไชส์
   จากแผนธุรกิจที่เขียน ขั้นแรกก็ต้องเปิดร้านต้นแบบ เพื่อใช้เป็นร้านทดลองตรวจหาสิ่งที่เป็นจุดอ่อนธุรกิจและดำเนินการแก้ไข พร้อมทั้งเก็บข้อมูลทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุดิบ การจัดส่ง การบริการ ค่าใช้จ่าย และ รายได้ 
   ?ผมเริ่มลงทุนเปิดเป็นคีออส และ ลงไปทดลองตลาดเอง ทั้งที่สวนลุมไนบาซาร์ , ราชเทวี , ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ , ท็อปส์รัชดา และ ท็อปส์ลาดพร้าว ปรากฎว่าผลตอบรับจากลูกค้าดีมาก พร้อมทั้งมีลูกค้าสนใจติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์เพิ่มมากขึ้น?
   จากการศึกษาร้านต้นแบบทำให้คุณอรินทร์สามารถกำหนดเงินลงทุนให้กับลูกค้าที่จะมาซื้อ แฟรนไชส์ได้ในวงเงินลงทุนที่ไม่สูงมากนัก และสามารทำกำไรได้
   ?การเข้ามาเป็นแฟรนไชส์นั้นง่ายๆ เพียงคุณมีความตั้งใจจริง และ อดทน พร้อมด้วยเงินลงทุนเพียง 45,000 บาท โดยจะได้รับอุปกรณ์ครบชุด ได้รับสิทธิ์ในการต่อแฟรนไชส์ปีต่อปี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งขณะนี้มีแฟรนไชส์เฉาก๊วยธัญพืชแล้วทั้งหมด 200 สาขาทั่วประเทศ?
หยุดที่ 200 หันกลับมาดูตัวเอง
   การขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจเฉาก๊วยธัญพืช เพียง 2 ปี มีแฟรนไชส์กว่า 200 สาขา นั่นทำให้การบริหารจัดการเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะในด้านสภาพคล่อง
   ?ต้องบอกว่าเฉาก๊วยธัญพืชนั้นประสบความสำเร็จเป็นไปตามแผนธุรกิจที่เราตั้งเอาไว้ แต่การขยายตัวอย่างรวดเร็วก็ทำให้เราพบปัญหาใหม่ จากการควมคุมแฟรนไชส์ซีที่ลำบาก เพราะรูปแบบการทำแฟรนไชส์ของเขา ลูกค้าจะได้รับเครดิตสินค้าไปก่อน แล้วจ่ายเงินทีหลัง ทำให้เกิดปัญหาการจ่ายเงินไม่ตรงตามมา?
   คุณอรินทร์ เริ่มหยุด เพื่อหันมาสร้างความพร้อมให้กับบริษัท ด้วยการสร้างความเข้มแข็งภายใน ก่อนที่จะรุกไปข้างหน้าอีกก้าว โดยได้ลงทุนซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ในการผลิตใหม่ จ้างที่ปรึกษามาให้คำปรึกษาเรื่องการจัดวางระบบเพื่อให้ได้มาตรฐาน HACCP ทั้งนี้เป้าหมายของคุณอรินทร์ คือการขยายออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ และ มาเลเซีย  เป็นแผนธุรกิจแผนที่สองที่เขียนขึ้นเพื่อรุกตลาดต่างประเทศ