-->

ผู้เขียน หัวข้อ: ภาพรวมการบริหารร้านค้า SMEs  (อ่าน 906 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

don

  • บุคคลทั่วไป
ภาพรวมการบริหารร้านค้า SMEs
« เมื่อ: 07 มกราคม 2008, 07:49:59 »

ภาพรวมการบริหารร้านค้า SMEs

เรียบเรียงโดย อาจารย์วิภาวรรณ  กลิ่นหอม

โดยทั่วไปการดำเนินการปฏิบัติงานธุรกิจทุกประเภท ส่วนประกอบหนึ่งที่เป็นเสมือนสายเลือดหรือน้ำหล่อเลี้ยงให้เกิดการเคลื่อนที่ของงานต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว  คือวิธีหรือระบบในการบริหารสำนักงาน  ภายในองค์การนั่นเอง  ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจหรือแม้แต่ผู้ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ควรให้ความสนใจ  ให้ความสำคัญต่อการบริหารสำนักงาน ให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสมที่สุด  เพื่อการดำเนินงานที่สะดวกคล่องตัวต่อไป  ในที่นี้จึงจะของกล่าวถึงหลักการสำคัญสำหรับการบริหารสำนักงาน  เพื่อผู้ทำธุรกิจจะได้พิจารณาและนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่งานในองค์การของท่านต่อไป 
หลักพื้นฐานสำหรับการบริหารสำนักงานนั้นมีหลักการง่ายๆ เช่นเดียวกับการบริหารทั่วไปคือ  ใช้ต้นทุนให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้  โดยมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด   ทั้งนี้ผู้ที่ทำหน้าที่ในการบริหารสำนักงานไม่เพียงจะต้องทำหน้าที่  ในการดูแลสำนักงานและเพื่อนร่วมงานต่างๆ เท่านั้น  ยังต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในองค์การอื่นๆ ด้วย ทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า ผู้จัดหาวัตถุดิบ และอื่นๆ จึงต้องใช้เทคนิคไม่น้อยเลยในการบริหารสำนักงาน  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามวางระบบการจัดการภายในสำนักงานให้ลงตัวที่สุด  ระบบการจัดการภายในสำนักงานที่สำคัญ  ประกอบไปด้วย  การจัดการพื้นที่สำนักงาน  การจัดการสภาพแวดล้อมในสำนักงาน  การบริหารพัสดุสำนักงาน  การบริหารเอกสาร 

?   การจัดการพื้นที่สำนักงาน   มีสิ่งที่ต้องพิจารณาหลายประการ คือ
1.   การเลือกทำเลและตำแหน่งที่ตั้ง   ทำเลที่ตั้งเป็นปัจจัยแรกในการพิจารณา  ซึ่งมีหลักในการพิจารณาเลือกทำเลที่ตั้ง ดังนี้
-   ประเภทของธุรกิจ  ถ้าเป็นธุรกิจการผลิตหรือโรงงาน  ควรตั้งอยู่แถบชานเมือง  แต่อาจมีสำนักงานขายอยู่ในเมืองเพื่อติดต่อลูกค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น  ถ้าเป็นธุรกิจบริการ  ควรพิจารณาย่านการค้าหรือแหล่งธุรกิจสำคัญโดยคำนึงถึงระบบสาธารณูปโภค  สถานที่จอดรถ  การคมนาคม  และสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจโดยตรง  เช่น ธนาคารพาณิชย์ การติดต่อสื่อสาร  เป็นต้น
-   ลักษณะของภูมิประเทศ  บางทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณห่างไกล  แห้งแล้ง  ซึ่งนับว่าไม่ดีนัก  ถ้าเป็นไปได้  ควรจัดหาทำเลที่ตั้งในเขตพื้นที่สีเขียว  เพราะจะทำให้คุณภาพชีวิตพนักงานและสำนักงานดีขึ้น
-   แหล่งวัตถุดิบหรือแรงงานหรือคู่แข่งขัน  ต้องพิจารณาว่าทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ  การขนย้ายได้สะดวกเพียงพอหรือไม่  เพียงใด  หรือเป็นทำเลที่ง่ายและสะดวกต่อการว่าจ้างแรงงานขนาดไหน  บางแห่งอยู่ใกล้สถานศึกษา  บางแห่งอยู่ใกล้ชุมชน  แล้วแต่ความต้องการของธุรกิจเป็นสำคัญ  นอกจากนี้ควรคำนึงถึงคู่แข่งขันในบริเวณทำเลที่ตั้งใกล้เคียงด้วย
-   ต้นทุนค่าใช้จ่าย  พิจารณาเรื่องราคาที่ดิน  ต้นทุนในการพัฒนาที่ดิน  เส้นทางการขนส่งที่ช่วยให้ประหยัดต้นทุนมากน้อยเพียงใด  หรือแม้กระทั่งที่เกิดจากการบริการพนักงาน เช่น ค่ารถรับส่งพนักงาน
-   สภาพแวดล้อมและระบบสาธารณูปโภค   ถ้ามีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน  ก็จะทำให้สำนักงานสะดวกสบายและทำงานได้อย่างคล่องตัว  นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงระบบการกำจัดของเสีย  และภาวะมลพิษที่อาจจะเกิดขึ้นอีกด้วย
-   ทางเข้าออกของอาคารที่ตั้ง  ตลอดจนที่จอดรถ  และเส้นทางการจราจรและความหนาแน่น
ของการจราจรบริเวณตำแหน่งที่ตั้ง
-   สภาพแวดล้อมภายนอกของบริเวณสถานที่ตั้ง  ได้แก่  ธุรกิจข้างเคียงเป็นประเภทใด  ขัดแย้งหรือส่งเสริมการประกอบธุรกิจของสำนักงานหรือไม่  ธุรกิจที่สำคัญที่อยู่ใกล้เคียงมีมากน้อยเพียงใด  สะดวกในการติดต่อสถานที่ราชการ  ธนาคาร  หรือบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร  นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงธุรกิจคู่แข่งขันในตำแหน่งที่ตั้งใกล้เคียงหรือตรงข้ามด้วย(ถ้ามี)

เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่แล้ว  เราต้องมาพิจารณาเกี่ยวกับ
ความต้องการใช้พื้นที่ในสำนักงาน  ซึ่งมีสิ่งที่ควรนำมาใช้ในการพิจารณา 3 ส่วนหลักๆ คือ
1.  คน  ได้แก่ พื้นที่สำหรับการทำงานของบุคลากรในแต่ละแผนก
2.   ส่วนสนับสนุน  เป็นพื้นที่สำหรับการบริการ  เช่น ห้องประชุม  โถงกลาง เป็นต้น
3.   เส้นทางจราจร  ได้แก่  ทางเชื่อมตึก  ทางเดินระหว่างแผนก  ที่ใช้ต้อนรับลูกค้า เป็นต้น
ทั้งนี้การวางแผนพื้นที่ต้องเกิดขึ้นตามหน้าที่งานหรือสายทางเดินของงาน  มากกว่าการใช้พื้นที่เพื่อความสวยงามสำหรับบุคลากรเท่านั้น   อาจกล่าวได้ว่าควรพิจารณาความต้องการ   ของการไหลหรือเนื้อหางาน  คน  และหน้าที่งานเป็นเกณฑ์
กล่าวโดยสรุปได้ว่าหลักการบริหารพื้นที่ทำงานที่มีประสิทธิภาพ คือ
1.   ให้ทางเดินหรือการไหลของข้อมูลเป็นเส้นตรง  เพื่อลดการติดต่อสื่อสารและการเดินทางให้มีเส้นทางน้อยลง 
2.   มีพื้นที่เปิดขนาดใหญ่  เพื่อให้แนวทางกำหนดการดูแลและควบคุมทำได้ง่าย  และสะดวก  ช่วยให้มีการติดต่อสื่อสารกับพนักงานแต่ละคนโดยตรง  และยังทำให้สภาพแวดล้อมอื่นๆ ในสำนักงาน เช่น แสงสี เสียง  ถูกจัดแต่รวมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.   ใช้ผนังกั้นที่สามารถเคลื่อนย้ายได้  อย่าใช้ผนังปิดทึบ(ถ้าเป็นไปได้)
4.   รักษาพื้นที่โดยให้แต่ละสถานีหรือจุดทำงานของแต่ละบุคคลไม่เทอะทะ  หรือแน่นขนัดมากเกินไป
5.   ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับภายนอก  ต้องอยู่ในบริเวณเข้าถึงสะดวกและเป็นสาธารณะ
6.   การแบ่งสรรพื้นที่ใช้หลักการตามทางเดินหลักของงานในสำนักงาน
7.   มีการพยากรณ์ความต้องการงานในอนาคต  เพื่อจัดทำพื้นที่สำรองไว้เผื่อในการรองรับการขยายตัวในปีต่อๆ ไป

?   การจัดการสภาพแวดล้อมในสำนักงาน
สภาพแวดล้อมมีผลกระทบโดยตรงกับปริมาณและคุณภาพงาน  รวมทั้งขวัญกำลังใจของพนักงานในสำนักงานด้วย  โดยสภาพแวดล้อมหลักที่มีผลกระทบต่อการทำงาน  มีหลายปัจจัยเป็นสภาพทางด้านกายภาพ  ซึ่งกระทบความรู้สึกของคน  เช่น การมองเห็น  การได้ยิน  และการสัมผัส  ส่วนปัจจัยอื่นๆ  เช่น  ความปลอดภัยมาจากการทำงานในสถานที่ปลอดภัย  ทำให้รู้สึกสะดวกสบายใจในการทำงาน  เป็นต้น  ปัจจัยเหล่านี้มีผลช่วยสร้างบรรยากาศการสื่อสารที่ดี  และระดับของขวัญกำลังใจที่เพิ่มขึ้นในสำนักงาน  ดังนั้นเพื่อให้ได้สภาพแวดล้อมเป็นที่พอใจ  ก็ควรให้โอกาสพนักงานมีส่วนร่วมในการวางแผนพื้นที่และตกแต่งสำนักงาน  และพยายามให้พนักงานมีสำนึกในการให้เกียรติสถานที่และทิ้งบุคลิกภาพเฉพาะตัวในสถานที่ทำงาน   อาจช่วยสร้างบรรยากาศด้วยกระถางต้นไม้  หรือติดภาพส่วนรวมแทนภาพตัวเอง  ปัจจัยสภาพแวดล้อมเหล่านี้มีผลอย่างใกล้ชิดกับการปฏิบัติงานของแต่ละบุคคล  เป็นทั้งการจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการทำงานอันจะส่งผลต่อผลิตภาพโดยรวมขององค์การในที่สุด 
ซึ่งปัจจัยสภาพแวดล้อมที่มักเป็นสิ่งที่กระทบโดยตรงต่อผลทางกายภาพและจิตใจของพนักงานที่ผู้จัดการบริหารสำนักงานควรต้องให้ความสนใจ  ได้แก่ สี เพราะสีมีอิทธิพลต่ออารมณ์และทัศนคติของมนุษย์ , แสง ซึ่งมีผลต่อการทำงาน  ทั้งการอ่านและเขียนหนังสือ, เสียง มีทั้งเสียงธรรมดา และเสียงรบกวน  ซึ่งต้องการการควบคุมเช่นกัน  , อากาศ  หมายถึง  อุณหภูมิ  ความชื้น  การถ่ายเทอากาศ  และความสะอาด ที่ต้องควบคุมให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมเช่นกัน  ฯลฯ
?   การบริหารพัสดุสำนักงาน
อุปกรณ์สำนักงานมีบทบาทและมีอิทธิพลต่อการทำงานของมนุษย์  เนื่องด้วยเป็นทั้งเครื่อง
อำนวยความสะดวก  ประหยัดแรงงาน  เวลาและค่าใช้จ่าย  แต่หากใช้งานไม่ถูกต้องอาจกลายเป็นดาบสองคม  คือก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นอันตรายต่อพนักงานได้  การบริหารอุปกรณ์สำนักงานจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในการทำงาน   ทั้งนี้ในการบริหารพัสดุ  จะอยู่ภายใต้กระบวนการ 5 ขั้น ได้แก่  การศึกษาความต้องการ  การจัดซื้อ  การนำไปใช้  การควบคุม  และการจำหน่ายพัสดุ  ซึ่งจะขอกล่าวถึงหลักการโดยย่อ ดังนี้
   วิธีการกำหนดความต้องการ  ใช้การคำนวณจากข้อมูลอัตราการใช้พัสดุในอดีต  และยังมีการจัดมาตรฐาน  และกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ เพื่อสะท้อนกรรมวิธีการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่า  ซึ่งในการกำหนดมาตรฐานพัสดุ  เป็นกรรมวิธีของการกำหนดวิธีการคัดแยกวัสดุอุปกรณ์ให้เหมาะสม  และเป็นที่ยอมรับ  ไว้วางใจของทุกฝ่ายทั้งผู้ซื้อผู้ใช้และผู้ผลิต
   การจัดซื้อ  ผู้จัดซื้อต้องดำเนินการ  โดยยึดหลักการจัดซื้อที่มีประสิทธิภาพสูงสุด  คือ  ได้วัสดุอุปกรณ์ตามเป้าหมาย  โดยใช้ต้นทุนประหยัดที่สุด  ด้วยคุณสมบัติ  จำนวน  เวลา  ราคา  ที่ถูกต้อง  และสมเหตุสมผล    ทั้งนี้ในการดำเนินการจัดซื้อโดยทั่วไปทำได้อยู่หลายวิธี ได้แก่  วิธีตกลงราคา , วิธีสอบราคา  , วิธีประกวดราคา , วิธีกำหนดราคา  นอกจากนี้ อาจมีบางกรณีใช้วิธี จัดทำขึ้นเอง , การเช่า , การยืม หรือ การแลกเปลี่ยน ก็เป็นได้  ส่วนการจะเลือกใช้วิธีใดผู้มีหน้าที่ก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมตามหลักการเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
   การควบคุมพัสดุ  ผู้บริหารสำนักงานต้องบริหารการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ  ด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่  เลือกพัสดุที่เหมาะสมใช้ในยามที่มีความต้องการ เพราะพัสดุมีการใช้แตกต่างกัน    และมีการพิจารณาเลือกใช้อย่างต่อเนื่องและทันเวลา  มีการเผื่อสำรองฉุกเฉิน  แต่ไม่มากเกินไป  รวมทั้งมีการควบคุมทั้งด้านข้อมูล  และการเก็บรักษาในคลังพัสดุ  โดยใช้เครื่องมือในการควบคุมหลายประเภทตามความเหมาะสม  ทั้งนี้ในปัจจุบันระบบข้อมูลสินค้าและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ นิยมเก็บเป็นข้อมูลไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์  ดังนั้นเพียงใช้โปรแกรมจัดทำรายงานแสดงผลการใช้พัสดุ  ก็สามารถทราบความเคลื่อนไหวและช่วยควบคุมพัสดุได้
   การเก็บรักษาพัสดุ  ในการนำพัสดุไปใช้  การเก็บรักษาเป็นงานที่ต้องให้ความสำคัญมากเช่นกันในธุรกิจทุกประเภท  เพราะช่วยในการยืดอายุพัสดุ  และตอบสนองความต้องการผู้ใช้ได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ  วิธีการในการเก็บรักษาทำได้หลายแบบ ได้แก่ การเก็บรักษาในอาคาร เรียกว่าคลังสินค้าหรือคลังพัสดุ  และการเก็บรักษาภายนอกอาคารหรือกลางแจ้ง   ซึ่งปัจจุบันระบบการจัดเก็บและการกำหนดตำแหน่งที่เก็บพัสดุในคลังต่างๆ ควรใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย   และนอกเหนือไปจากการเก็บรักษาทั่วไปปกติแล้ว ยังต้องมีการรักษาความปลอกภัยในการเก็บรักษาด้วย คือต้องมีการป้องกันความเสียหายจากอันตรายที่สำคัญๆ ได้แก่  อัคคีภัย  โจรกรรม  ภัยธรรมชาติ  และภัยจากสัตว์ต่างๆ
   นอกจากนี้การบำรุงรักษาพัสดุ  ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเก็บรักษา  เพราะถ้าเก็บรักษาได้ดี  แต่ไม่มีการบำรุงรักษาสม่ำเสมอ  อาจทำให้พัสดุเสื่อมโทรม  และใช้งานไม่คล่องตามลักษณะที่ควรจะเป็น  ทั้งนี้การบำรุงรักษาก็มีได้ 2 แบบคือ  การป้องกันและการแก้ไขซ่อมแซม  ซึ่งมักทำทั้งสองอย่างประกอบกัน
   การจำหน่ายพัสดุ  เป็นการปลดภาระความรับผิดชอบทรัพย์สินออกไป  ซึ่งมีสาเหตุจากการชำรุดเสื่อสภาพและเสียหายตามกาลเวลา  การเก็บพัสดุในคลังมีมาก  และเหลือใช้เกินความจำเป็น  และมีความต้องการพัสดุทดแทนอื่นที่ทันสมัย หรือเป็นประเภทใหม่ที่มีประโยชน์ต่อส่วนงานมากกว่า  โดยมีวิธีการปฏิบัติได้หลายวิธี   ได้แก่ ขาย  แลกเปลี่ยน  ซ่อมแซม  แปรสภาพ  นำไปใช้อย่างอื่น  หรือทำลาย
?   การบริหารเอกสาร
ในการบริหารเอกสารนั้น  มีส่วนสำคัญในการดำเนินงานองค์การเพื่อให้บริการกับทุกส่วนงาน
ในองค์การ  ในการจัดหาข้อมูลให้ถูกต้องทันเวลา และประหยัด   โดยต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบในการสร้างสรรค์  คิดค้น  ธำรงรักษาซ่อมแซม  จัดเก็บ  ทำลาย  ปกป้องและดูแลเอกสารตามกระบวนการและมีการควบคุมอย่างเป็นระบบในแต่ละช่วงของวงจรชีวิตเอกสาร 
   ในการจัดเก็บเอกสาร  ควรทราบข้อมูลและระยะเวลาการเก็บเอกสาร  ทั้งปริมาณข้อมูล  และต้นทุนการเก็บรักษา  และการนำข้อมูลมาใช้  รวมทั้งการจัดประเภทเอกสารด้วย  เพราะเอกสารสำคัญของแห่งหนึ่งอาจเป็นเพียงเอกสารมีประโยชน์สำหรับอีกแห่งหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งควรมีการแบ่งเอกสารออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ คือ  เอกสารสำคัญที่สุด  เอกสารสำคัญ  เอกสารมีประโยชน์  และเอกสารไม่จำเป็น   
จากนั้นต้องมีการจัดสร้างแฟ้มเอกสาร  เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการเก็บเอกสาร  ซึ่งทั่วไประบบที่ง่ายที่สุดในการเรียงลำดับแฟ้มเอกสาร ควรมีการแบ่งแฟ้มดังนี้  แบ่งเป็นแฟ้มส่วนหลักต่างๆ วางคำแนะนำการใช้ไว้หน้าแรกของแต่ละส่วน  จัดให้แฟ้มอยู่ในระดับสายตา  และจัดแฟ้มให้เพียงพอกับการใช้งาน   และมีแฟ้มเฉพาะ ไว้กรณีที่มีเอกสารในเรื่องเดียวกันอย่างน้อย 5 ชิ้นและทราบว่าจะมีเอกสารเพื่อการสื่อสารเพิ่มขึ้นตามมาอีก  ให้จัดเตรียมเปิดแฟ้มเฉพาะนี้ขึ้นมา  โดยทำดัชนีติดเป็นชื่อแฟ้ม  สุดท้ายก็ควรมีแฟ้มเบ็ดเตล็ด  ใช้เก็บเอกสารเล็กๆ น้อยๆ เป็นการติดต่อเป็นครั้งคราว  หรือไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก
   ทั้งหมดที่กล่าวถึงโดยย่อเกี่ยวกับงานบริหารสำนักงานนั้น  ท่านผู้ทำธุรกิจอาจจะเห็นว่า การบริหารสำนักงานดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ในการทำธุรกิจ  แต่แท้จริงแล้ว  ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ท่านจะละเลยได้  เพราะมิเช่นนั้นแล้วท่านจะพบว่า  ขณะดำเนินงานจะเกิดความสับสนวุ่นวายในการปฏิบัติ  และทำให้งานไม่สามารถเลื่อนไหลได้อย่างต่อเนื่อง  อาจทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงตามมา  ตั้งแต่ งานล่าช้า  ไม่ทันเวลา  อันอาจส่งผลพวงให้งานอื่นๆ ที่ต่อเนื่องเกิดความล้มเหลวตามไปด้วยอีกมากมาย  ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้งานสำคัญๆ พังทลายลงได้เช่นกัน
   ท่านผู้ทำธุรกิจจึงไม่ควรมองข้ามการวางระบบการบริหารงานสำนักงานให้มีประสิทธิภาพ  รัดกุม  และเผื่อทางรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตไว้อย่างดีด้วย  จึงจะทำให้การดำเนินธุรกิจของท่านไม่ต้องมาพบกับปัญหาอุปสรรคจากเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องเหล่านั้น

เอกสารอ้างอิง

กฤษฎา เสกตระกูล. พิชิตธุรกิจอย่างมืออาชีพ  ชุดบันไดสู่ความมั่งคั่งเล่ม 2. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2546.
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน). SMEs กับการพัฒนาที่ยั่งยืน. กรุงเทพฯ:  ฝ่ายแผนงาน, 2536.
ผุสดี รุมาคม. การบริหารธุรกิจขนาดย่อม.กรุงเทพฯ:  ฟิสิกส์เซ็นเตอร์, 2544.
ภาวรี ฉัตรกุล ณ อยุธยา. เฟรนไชส์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ เค แอน พี บุ๊ค, 2546.
เรวัต ตันตยานนท์. ก่อร่างสร้างกิจการ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2546.
วรภัทร. 99 กฎทองสำหรับ เจ้าของ SMEs. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กู๊ด มอร์นิ่ง, 2546.
สมชาย หิรัญกิตติ และ ศิริวรรณ เสรีรัตน์. การบริหารธุรกิจขนาดย่อม. กรุงเทพฯ:  DIAMOND IN BUSINESS WORLD, 2542.
อำนาจ ธีระวนิช. การจัดการธุรกิจขนาดย่อม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2546.

กรณีศึกษา

บ้านไร่กาแฟ

(ประวัติความเป็นมาอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความที่ 4 การจัดโครงสร้างองค์กรเพื่อธุรกิจ SMEs)

   บ้านไร่กาแฟ ซึ่งเปิดตามปั๊มน้ำมัน ถือเป็นกรณีศึกษาของการเลือกทำเลที่ตั้ง บนพื้นฐานความคิด ?ผู้ที่ใช้รถคือผู้ที่มีรายได้? เพราะฉะนั้นลูกค้าของบ้านไร่กาแฟคือผู้มีกำลังซื้อ ขณะที่การดีไซน์รูปทรงของบ้านไร่กาแฟ มีเอกลักษณ์และมีความหมาย บางหลังมีรูปทรงเป็นบ้านคว่ำ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อสร้างความโดดเด่นและแรงจูงใจให้กับลูกค้าที่ผ่านไปผ่านมา ขณะที่ภายในร้านและภายนอกร้านมีการตกแต่งที่สะอาด ทันสมัย และ ดูดี เข้ากับกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นคนชั้นกลาง-สูง สอดคล้องกับราคาสินค้าภายในร้าน
   ส่วนภาชนะในการใส่กาแฟของบ้านไร่กาแฟจะเน้นคอนเซ็ปต์คือการให้ลูกค้าถือกลับไปด้วย หรือ ทิ้ง โดยไม่ต้องล้างนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ส่วนขายของบ้านไร่กาแฟที่ใช้ต้อนรับลูกค้าบนพื้นที่เล็กๆ ไม่ต้องจัดเตรียมสถานที่ล้างภาชนะทำให้ดูรกและยากต่อการจัดการให้สะอาด

ข้อสรุปทางวิชาการ
?   การจัดสภาพแวดล้อมบ้านไร่กาแฟ ถือเป็นกรณีศึกษาของการบริหารสำนักงานร้านค้า ที่มีการคำนึงถึงลูกค้า และ ความสะดวกในการทำงาน รวมทั้งความสวยงามน่าอยู่          แม้จะอยู่ภายในปั๊มน้ำมันก็ตาม