-->

ผู้เขียน หัวข้อ: เทคโนโลยีสะอาดสำหรับธุรกิจ SMEs  (อ่าน 1845 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

don

  • บุคคลทั่วไป
เทคโนโลยีสะอาดสำหรับธุรกิจ SMEs
« เมื่อ: 08 มกราคม 2008, 11:01:27 »

เทคโนโลยีสะอาดสำหรับธุรกิจ SMEs
อาจารย์ วรพจน์  มีถม
ในปัจจุบันขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีการลงทุนในการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดตามมาอันเป็นผลพวงจากการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมคือ  ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม คือโรงงานอุตสาหกรรมนั่นเอง โดยเฉพาะองค์กรที่ผู้ประกอบการขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ทำการผลิตสินค้าโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ก็จะก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แม่น้ำลำคลองที่เน่าเหม็น อากาศที่มีไอระเหยของสารพิษ เป็นต้น จากปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าว นอกจากจะส่งผลให้ประชาชนทั่วไปเกิดโรคภัยไข้เจ็บเนื่องจากสภาพแวดล้อมเป็นพิษแล้ว ถ้ามองในระดับประเทศและระดับสากล จะพบว่าทรัพยากรโลกที่มีอยู่อย่างจำกัดต้องสิ้นเปลือง และสูญเสียเกินความจำเป็นกับการผลิตที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แม้แต่องค์กรการผลิตเองก็จะมีต้นทุนที่สูงเนื่องจากเกิดความสิ้นเปลืองและการสูญเสียที่ไม่ได้คำนึงถึง ส่งผลให้การผลิตมีต้นทุนที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น
เทคโนโลยีสะอาด คืออะไร
 เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology, CT) คือ แนวความคิดในการปรับปรุงแบบของผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือการบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่คุ้มค่าที่สุด อันได้แก่ การใช้วัตถุดิบ พลังงาน น้ำ และ ฯลฯ โดยการลดการใช้สารเคมีอันตราย ลดของเสียและของเหลือใช้ รวมไปถึงการนำกลับมาใช้ใหม่หรือการดัดแปลงเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างอื่น และการลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดหรือบำบัดของเสียนั้นๆ เพื่อให้เกิดการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทางไม่ใช่การจัดการที่ปลายทางเหมือนในอดีตที่ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และมีของเสียจากการผลิตเหลือตกค้างมาก

หลักการของเทคโนโลยีสะอาด
   หลักการของเทคโนโลยีสะอาด แบ่งออกเป็น 2 ด้านใหญ่ๆ คือ การลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด และการนำกลับมาใช้ใหม่
1. การลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด
การลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด แบ่งได้เป็น  2 แนวทางใหญ่ ๆ คือ การเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ และการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต
1.1   การเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์
 ทำได้โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด หรือให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ลดการใช้สารเคมีอันตรายที่มีผลในการผลิต การใช้งาน และการทำลายหลังการใช้งาน เช่น ปรับเปลี่ยนสูตรของผลิตภัณฑ์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อผู้บริโภคนำไปใช้ ยกเลิกการใช้ชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และยกเลิกการบรรจุหีบห่อที่ไม่จำเป็น เป็นต้น
1.2   การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต
 แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ การเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และการปรับปรุงกระบวนการ ให้สะดวก รวดเร็ว และเกิดของเสียหรือของเหลือใช้น้อยลง
1.2.1   การเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบ ทำได้โดยการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ หรือมีความบริสุทธิ์สูง รวมทั้งการลดหรือยกเลิก การใช้วัตถุดิบที่เป็นอันตราย เพื่อหลีกเลี่ยงการเติมสิ่งปนเปื้อนเข้าไปในกระบวนการผลิต และพยายามเลือกใช้วัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น การไม่ใช้หมึกพิมพ์ที่มีแคดเมียมเป็นสารประกอบ การไม่ใช้น้ำยาไซยาไนท์ในการชุบผิวโลหะ
1.2.2   การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ทำได้โดยการออกแบบระบบการผลิตใหม่ เพิ่มระบบอัตโนมัติเข้าไปช่วยในการผลิต ปรับปรุงคุณภาพของอุปกรณ์ หรือแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ที่ทำสามารถช่วยให้เกิดของเสียหรือของเหลือจากการผลิตน้อยลงมาใช้ เช่น การจัดวางผังโรงงานใหม่ที่ช่วยลดระยะการเคลื่อนย้ายวัสดุให้น้อยลง การควบคุมความเร็วมอเตอร์เพื่อควบคุมการสิ้นเปลืองพลังงาน
1.2.3   การปรับปรุงกระบวนการดำเนินการ ทำได้โดยปรับปรุงวิธีการผลิตเดิมโดยใช้เทคนิคการลด การรวม และการทำขั้นตอนการผลิตให้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ซึ่งส่งผลให้การผลิตใช้เวลาน้อยลง ใช้พลังงานน้อยลง และผู้ปฏิบัติงานทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดของเสียจากการผลิตลดลง เช่น ในกรณีมีผลิตภัณฑ์หลายแบบ การวางแผนการผลิตที่ดีจะช่วยลดการที่ต้องเสียเวลาปรับตั้งเครื่องจักรก่อนเริ่มงานเพราะเปลี่ยนแบบผลิตภัณฑ์

2. การนำกลับมาใช้ใหม่
การนำกลับมาใช้ใหม่ แบ่งออกได้เป็น 2 แนวทางคือ การนำผลิตภัณฑ์เก่ากลับมาใช้ใหม่หรือการใช้ผลิตภัณฑ์หมุนเวียน และการใช้เทคโนโลยีหมุนเวียน
2.1 การใช้ผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ทำได้โดยการหาทางนำวัตถุดิบ ที่ไม่ได้คุณภาพมาใช้ประโยชน์ หรือหาทางใช้ประโยชน์จากสารหรือวัสดุที่ปนอยู่ในของเสีย โดยการนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตเดิม หรือกระบวนการผลิตอื่นๆ
2.2 การใช้เทคโนโลยีหมุนเวียน เป็นการนำเอาของเสีย ไปผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อให้สามารถนำเอากลับมาใช้ได้อีก หรือเพื่อทำให้เป็นผลพลอยได้ เช่น การนำน้ำหล่อเย็น น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต หรือตัวทำละลาย ตลอดจนวัสดุอื่น ๆ กลับมาใช้ใหม่ในโรงงาน การนำพลังงานความร้อนส่วนเกิน หรือเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น
การนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ (RECYCLE) ควรจะดำเนินการ ณ จุดกำเนิดของเสียนั้น มากกว่าการขนย้ายไปจัดการที่อื่น โดยเฉพาะของเสียที่เกิดจากการปนเปื้อนของวัตถุดิบ เช่น การแยกน้ำเสียด้วยไฟฟ้า เพื่อแยกโลหะ เช่น ดีบุก ทองแดง หรือตะกั่ว เพื่อนำกลับมาใช้งาน ซึ่งจะทำได้ง่าย และมีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งลดอัตราเสี่ยง จากการปนเปื้อน ในระหว่างรวบรวมหรือขนถ่าย

ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ ในการจัดทำเทคโนโลยีสะอาด
1.   วางแผนและจัดองค์กร (นโยบาย/วัตถุประสงค์/เป้าหมาย/ตั้งคณะทำงาน) การวางแผนและจัดองค์กรนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของผู้บริหาร โดยการกำหนดนโยบายและเป้าหมายซึ่งจะเป็นแนวทางในการทำเทคโนโลยีสะอาด (CT) ขององค์กรนั้นๆ นอกจากนั้นผู้บริหารสูงสุดยังต้องให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ โดยการจัดตั้งคณะทำงานเทคโนโลยีสะอาด (ทีม CT) และในขั้นตอนนี้ อาจมีการพิจารณาถึงอุปสรรคซึ่งอาจมีผลต่อการดำเนินงาน และควรเตรียมการเพื่อการแก้ไขไว้ด้วย
2.   ทำการประเมินเบื้องต้น (เลือกบริเวณที่จะทำการประเมิน) หลังจากที่ได้โครงสร้างและกรอบในการทำงานแล้ว คณะทำงานหรือทีม CT ต้องทำการประเมินเบื้องต้นว่ามีบริเวณหรือจุดใดบ้าง ที่เกิดความสูญเสียและสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ และเลือกบริเวณที่จะทำการประเมินโดยละเอียดต่อไป การประเมินเบื้องต้นอาศัยหลักสามัญสำนึกเป็นส่วนใหญ่ และยังไม่ลงลึกในรายละเอียดเท่าใดนัก ผลจากการประเมินนี้จะใช้เป็นแนวทางกำหนดบริเวณหรือทรัพยากรที่จะศึกษาในการประเมินโดยละเอียดต่อไป
3.   ทำการประเมินโดยละเอียด (รายการทางเลือกทั้งหมด) เมื่อได้พื้นที่หรือบริเวณที่เกิดความสูญเสียสูงและต้องการจะปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้ว จึงเริ่มทำการประเมินโดยละเอียด เพื่อจัดทำสมดุลมวลและพลังงานเข้า ออก เพื่อทำให้ทราบถึงสาเหตุและแหล่งกำเนิดของของเสียหรือมลพิษ การสูญเสียพลังงาน ความเสี่ยง และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดี จากนั้นจึงทำรายการและจัดลำดับความสำคัญทางเลือก เพื่อการปรับปรุงต่อไป
4.   ศึกษาความเป็นไปได้ (รายการของทางเลือกที่คุ้มค่าในการลงทุน) การศึกษาความเป็นไปได้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงระดับความละเอียดที่ต้องทำการศึกษาในแต่ละทางเลือกและความพร้อมของข้อมูล นอกจากนั้นสำหรับโครงการที่ต้องมีการลงทุนสูง ต้องประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน และทำรายการของทางเลือกที่เป็นไปได้
5.   ลงมือปฏิบัติ (แผนปฏิบัติงาน/ดำเนินงานตามแผน) การลงมือปฏิบัติเพื่อให้ทางเลือกที่ได้เลือกไว้ประสบความสำเร็จ ต้องมีการวางแผนการทำงานโดยละเอียด โดยในแผนงานควรประกอบด้วย เรื่องที่จะทำ บริเวณเป้าหมาย ขั้นตอนการปฏิบัติ กำหนดระยะเวลาเสร็จสิ้น และผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน
6.   ติดตามประเมินผล (ติดตาม ตรวจสอบ อย่างใกล้ชิด) เมื่อการทำงานดำเนินไประยะหนึ่งควรมีการติดตามประเมินผลเพื่อให้แน่ใจว่า การปฏิบัติเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ หรือถ้าหากมีปัญหาประการใดจะได้ทบทวนแก้ไขเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคในการทำงานต่อไป การติดตามประเมินผลยังเป็นการทำให้ โครงการ CT ของบริษัทดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องและดียิ่งขึ้น

หลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดของเทคโนโลยีสะอาด
แนวความคิดเทคโนโลยีสะอาด ไม่ว่าจะเป็นการประกอบกิจการใดก็ตามต้องพิจารณา สิ่งที่ออกมา (Output) จะเท่ากับสิ่งที่ใส่เข้าไป (Input) เสมอ
ปัจจัยการผลิต(Input)      กระบวนการแปลงสภาพ      ผลผลิต(Output)
-พลังงาน
-แรงงาน
-วัตถุดิบ
-เครื่องมือ
-วิธีการผลิต
            -ผลิตภัณฑ์หรือบริการ
-ผลพลอยได้
-ของเสีย
-ความสูญเสีย
-ความไม่ปลอดภัยหรืออุบัติเหตุ

ในกระบวนการผลิตประกอบไปด้วยส่วนประกอบเบื้องต้น 3 ส่วน คือ ปัจจัยการผลิต  กระบวนการแปลงสภาพ  และผลผลิต การผลิตจะเริ่มจากการที่เราใส่ปัจจัยการผลิตเข้าไปในระบบ ผ่านกระบวนการแปลงสภาพ และได้ผลิตภัณฑ์อกมา แต่ผลที่ได้ออกมานั้น นอกจากผลิตภัณฑ์ แล้ว เรายังได้ผลพลอยได้ ของเสีย ความสูญเสีย และความไม่ปลอดภัยด้วย อีกด้วย

พลังงาน ในที่นี้จะพูดรวมทั้งพลังงานที่ใช้ในการผลิตโดยทางตรงและพลังงานที่ใช้สนับสนุนการผลิต กล่าวคือ พิจารณาว่าในการผลิตนั้นต้องใช้พลังงานอะไรบ้าง เช่น ใช้พลังงานความร้อนจากกาซ จากไฟฟ้า จากถ่านหิน จากนั้นพิจารณาว่ามีวิธีการทำงานอย่างไรบ้างจึงจะสามารถทำให้ใช้พลังงานเหล่านี้ลดน้อยลง นอกจากนี้ควรพิจารณาต่อไปอีกว่ามีพลังงานเหลือใช้ที่สามารถนำมาปรับปรุง และนำไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ด้วยหรือไม่ เช่น
ถ้าในกระบวนการแปลงสภาพต้องมีการทำให้เปียกแล้วต้องทำให้แห้งโดยใช้พลังงานไฟฟ้า หรือกาซ เรามีวิธีอื่นอีกหรือไม่ที่ใช้แทนได้ เช่น การนำไปตากแดด หรือการนำมาสะบัดน้ำก่อนที่จะทำให้แห้งโดยใช้พลังงานความร้อน ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาที่ต้องใช้พลังงานหรือการใช้พลังงานลดลง
ถ้าต้องใช้เครื่องจักรมีวิธีใดบ้างที่ทำให้เวลาการใช้เครื่องจักรลดน้อยลง เช่น เดิมใช้เวลาในการนำไม้มาเข้าเครื่องขัดกระดาษทราย 30 นาที จะมีวิธีการอย่างไรที่ทำให้ใช้เครื่องขัดลดลง จากเดิมเหลือ 20 นาที เป็นต้น ในการแก้ปัญหานี้ส่วนใหญ่ใช้วิธีการศึกษาการทำงาน (WORK STUDY) หรือเทคนิคการวางแผนการผลิตเข้าช่วย ซึ่งจะสามารถลดความสูญเสียด้านการใช้พลังงานลงได้
ถ้ามีการใช้ความร้อนในกระบวนการผลิต ความร้อนที่เหลือสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น นำไปใช้อบความร้อนช่วยทำให้วัตถุดิบแห้ง เป็นต้น
น้ำ ในกระบวนการผลิตมีการใช้น้ำเป็นส่วนประกอบหรือส่วนสนับสนุนหรือไม่ หากมีก็วิเคราะห์ว่าใช้ปริมาณมากเกินความจำเป็นหรือไม่ และหลังการใช้แล้วคุณสมบัติของน้ำเป็นอย่างไรมีอะไรเจือปนบ้าง ทำอย่างไรให้มีสิ่งเจือปนในน้ำน้อยลง และจำเป็นต้องลดอันตรายจากสิ่งเจือปนหรือไม่ และสามารถนำกลับมาใช้ทำอะไรได้บ้าง เช่น ที่โรงพยาบาลเลิศสินได้จัดทำโครงการการใช้พลังงานไอน้ำสามารถลดค่าน้ำมันเตาลง 97,272 บาท/ปี และลดค่าน้ำลง 19,710 บาท/ปี เป็นต้น
พนักงาน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการจัดทำเทคโนโลยีสะอาดประสบความสำเร็จ ดังนั้นควรจัดอบรมให้พนักงานมีความรู้และความเข้าใจในแนวคิดเรื่องเทคโนโลยีสะอาด รวมทั้งทราบหลักวิชาการที่นำมาใช้เพื่อให้มีแนวคิดในการปรับปรุง นอกจากนี้ควรมีการจัดอบรมพนักงานที่เข้าทำงานใหม่ในหน้าที่ของตัวเอง หรือที่เรียกว่า on the job training เพื่อที่พนักงานใหม่สามารถทำงานได้ถูกต้องไม่เกิด หรือเกิด ของเสีย และของเหลือ จากการทำงานน้อยที่สุด
วัตถุดิบ ควรพิจารณาว่ามีวิธีการใดบ้างที่ทำให้ใช้วัตถุดิบแล้วมีเศษเหลือน้อยที่สุด หรือมีวัตถุดิบชนิดอื่นที่มีความเป็นพิษน้อยลงกว่าที่ใช้หรือไม่ เช่น ตัดเหล็กจากแผ่นใหญ่อย่างไรให้เหลือใช้กับงานอื่นได้ เศษเหล็กที่เหลือชิ้นเล็กจะทำอย่างไรให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ อาจเขียนขนาดติดไว้และแยกที่เก็บทำบัญชีของเศษเหลือเวลาต้องการใช้จะได้ไม่ต้องเสียเวลาหาว่าเก็บไว้ที่ใด หากมีสารพิษที่เป็นวัตถุดิบมีการเปลี่ยนชนิดหรือ ลดอันตรายในการผลิต การใช้งาน การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ การทำลายหลังการใช้งานอย่างไร อาจให้หลักของวิศวกรรมคุณค่า (VALUE ENGINEER) หรือหลักการ 5 ส เข้าช่วย รวมทั้งการปรับปรุงแบบของผลิตภัณฑ์
ของเสีย มีวิธีการใดบ้างที่สามารถลดของเหลือใช้หรือเศษวัสดุที่เหลือ การลดของเสียที่เกิดในกระบวนการผลิตมีวิธีง่ายๆ  คือ หาสาเหตุและแก้ปัญหาตามสาเหตุที่เกิดนั้นๆ ส่วนใหญ่จะใช้หลักการตรวจสอบคุณภาพก่อนการผลิต ระหว่างการผลิต และหลังจากสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป จากนั้นจึงหาสาเหตุของการเกิดของเสียจากการใช้เทคนิคเครื่องมือคุณภาพ (QC Tools)

ประโยชน์ที่ได้จากการนำเทคโนโลยีสะอาดไปใช้ในอุตสาหกรรม
เทคโนโลยีสะอาดเป็น ทางออกที่เหมาะสมลงตัวของการแก้ปัญหาทาง สิ่งแวดล้อมและทางเศรษฐกิจสำหรับอุตสาหกรรม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งประโยชน์ที่ได้จาก การใช้เทคโนโลยีสะอาด มีหลายประการได้แก่
ด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสะอาดจะลดปริมาณมลพิษจากอุตสาหกรรม และหลีกเลี่ยงการสะสมตัวของความเป็นพิษต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ด้านพนักงาน เทคโนโลยีสะอาด ทำให้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานดีขึ้น ถูกสุขลักษณะส่งผลให้สุขภาพอนามัยของพนักงานดีขึ้นและก่อให้เกิด อันตรายต่าง ๆ น้อยลง นอกจากนี้เทคโนโลยีสะอาดยังสามารถเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อไปสู่ ระบบมาตรฐาน ISO 14000 ได้อีกด้วย
ด้านการประหยัดวัตถุดิบและพลังงาน เทคโนโลยีสะอาด ทำให้เกิดการประหยัดวัตถุดิบและลดการเกิดมลพิษ ช่วยทำให้เกิดการประหยัดการ พลังงานและวัตถุดิบ ด้วยกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง
ด้านคุณภาพสินค้า การลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดทำให้คุณภาพกระบวนการผลิตดีขึ้น อีกทั้งการใส่ใจต่อการคัดเลือกรูปแบบผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ และกระบวนการ ส่งผลให้คุณภาพสินค้าดี

ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จในการทำเทคโนโลยีสะอาด
ความมุ่งมั่นของผู้บริหาร ความมั่นคงในนโยบาย การได้รับการฝึกอบรมในทุกระดับ การปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนในองค์กรมีศรัทธา และเห็นคุณค่าของเทคโนโลยีสะอาดอย่างแท้จริง การสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม การมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ การมีแหล่งข้อมูลสารสนเทศที่ทันสมัย การมีทีมงานที่มีประสิทธิภาพ และการทำเทคโนโลยีสะอาดอย่างต่อเนื่อง ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ

ปัญหาอุปสรรคของการนำเทคโนโลยีสะอาดไปใช้
ปัญหาและอุปสรรคเองก็มีหลายๆ ด้าน เช่น การไม่เข้าใจแนวความคิดเทคโนโลยีสะอาด การไม่มีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์กร การไม่มีข้อมูล การขาดเทคโนโลยี การไม่พัฒนาความรู้ของบุคลากร และการไม่พัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย. คู่มือเทคโนโลยีสะอาดสำหรับประชาชน เล่ม 1, 2
คุณาวุฒิ เทียมทอง. ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีภูมิภาค ภาคเหนือ
ชุมพล ยวงใย วารสารประสิทธิภาพพลังงาน ฉบับที่ 56

กรณีศึกษา

โรงพยาบาลเลิดสิน

โรงพยาบาลเลิดสิน เป็นโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขนาด 485 เตียง ได้นำ CT มาใช้ในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนในโรงพยาบาล โดยมีที่มาจากในช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการให้หน่วยงานในสังกัดลดการใช้พลังงานลง ทำให้นายแพทย์พงศ์ศักดิ์ วัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน คิดหาวิธีการและแนวทางมาปฏิบัติเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยได้รับคำแนะนำจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยให้นำ CT เข้ามาใช้ในกิจกรรมของโรงพยาบาล และในเดือนเมษายน 2542 โรงพยาบาลเลิดสิน จึงได้ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจัดทำ "โครงการการให้บริการด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสะอาดสำหรับโรงพยาบาลเลิดสิน" ควบคู่ไปกับการจัดทำระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐาน ISO 14001 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมแนวคิด การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ให้เกิดขึ้นในกิจกรรมการทำงานของโรงพยาบาลโดยใช้ข้อมูลพื้นฐานและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการตรวจประเมินเทคโนโลยีสะอาด  แนวทางในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลเลิดสินที่ได้มีการตรวจประเมินเทคโนโลยีสะอาดเบื้องต้นโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยนั้น ครอบคลุม 4 เรื่อง ได้แก่
(1) การใช้ไอน้ำและการเกิดก๊าซไอเสีย
(2) การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียจากยาและสารเคมี
(3) การใช้ไฟฟ้า
(4) การใช้น้ำและการเกิดน้ำเสีย
ลักษณะของการจัดทำโครงการ เป็นการดำเนินงานแบบต่อเนื่อง และมีการจัดทำสถิติข้อมูล โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ดำเนินการในส่วนของการทำระบบหม้อไอน้ำ (Boiler) และระบบท่อส่งไอน้ำ โดยใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์
ระยะที่ 2 ดำเนินการเรื่องการจัดการขยะ โดยนำร่องด้วยการจัดทำศูนย์ขยะรีไซเคิล (Recycle)
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างผลลัพธ์ของโครงการระยะที่ 1 ซึ่งสำหรับกิจกรรมการใช้ไอน้ำภายในโรงพยาบาลนั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลทั้งหน่วยงานโดยตรง และส่วนสนับสนุน ซึ่งจากการดำเนินกิจกรรมการใช้ไอน้ำในโรงพยาบาลพบว่าปัญหาที่เกิด ได้แก่ การเกิดเขม่าควันก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจน จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ภายในหม้อไอน้ำ การสูญเสียความร้อนที่หม้อไอน้ำ และการรั่วไหลของไอน้ำที่ท่อส่งไอน้ำโดยเฉพาะบริเวณข้องอ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้แก้ไขปัญหาโดยการนำน้ำคอนเดนเสทกลับมาใช้เป็นน้ำป้อนหม้อไอน้ำ ซึ่งจะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงของหม้อไอน้ำได้ประมาณ 12-15% และช่วยลดปริมาณน้ำประปาที่ใช้ป้อนหม้อไอน้ำด้วย ประกอบกับการที่น้ำคอนเดนเสทมีความบริสุทธิ์กว่าน้ำประปา จึงช่วยลดการสูญเสียความร้อน เนื่องจากช่วยลดอัตราการเกิดตะกรันภายในท่อไอน้ำด้านในให้น้อยลง การดำเนินการปรับปรุงทางเทคโนโลยีสะอาด โดยการนำน้ำคอนเดนเสทกลับมาใช้ใหม่นี้ สามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันเตาได้ 14,965 ลิตร/ปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 97,272 บาท (ลดลง 5.2%) และลดปริมาณน้ำประปาซึ่งป้อนเข้าหม้อไอน้ำได้ 1,971 ลูกบาศก์เมตร/ปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ 19,710 บาท/ปี (การดำเนินการปรับปรุงทางเทคโนโลยีสะอาด โดยการนำน้ำคอนเดนเสทกลับมาใช้ใหม่นี้ สามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันเตาได้ 14,965 ลิตร/ปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 97,272 บาท (ลดลง 5.2%) และลดปริมาณน้ำประปาซึ่งป้อนเข้าหม้อไอน้ำได้ 1,971 ลูกบาศก์เมตร/ปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ 19,710 บาท/ปี (67.5%) โดยรวมเป็นค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ทั้งสิ้น 116,982 บาท/ปี ระยะเวลาในการคืนทุนเท่ากับ 2.82 ปี ผลประโยชน์ที่ได้รับ คือ ลดปริมาณการใช้ทรัพยากร ทั้งที่เป็นน้ำมันเตาและน้ำใช้ลง รวมทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลงอีกด้วย

(ข้อมูลจาก สำนักงานสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลเลิดสิน)