-->

ผู้เขียน หัวข้อ: การจัดทำบรรจุภัณฑ์ 2  (อ่าน 780 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

don

  • บุคคลทั่วไป
การจัดทำบรรจุภัณฑ์ 2
« เมื่อ: 09 มกราคม 2008, 23:16:59 »

การจัดทำบรรจุภัณฑ์  2

ดร. จิรพรรณ  เลี่ยงโรคาพาธ

ด่านแรกที่ผู้บริโภคพบเห็น ก็คือ บรรจุภัณฑ์

บรรจุภัณฑ์ ถือเป็นปราการด่านแรกที่ผู้บริโภคพบเห็น และเกิดความรู้สึกชอบไม่ชอบในตัวผลิตภัณฑ์ ก่อนที่ผู้บริโภคจะรับทราบถึงคุณภาพจริง ๆ ของสินค้าภายใน บรรจุภัณฑ์จะเป็นตัวที่ช่วยโฆษณาและส่งเริมการขายให้กับผลิตภัณฑ์ เป็นสื่อที่มีผลต่อความรู้สึกของผู้บริโภคถึงผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ภายใน มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค มีผลช่วยเร่งเร้าความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ช่วยเพิ่มคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ และมีผลต่อทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ ในบางครั้งบรรจุภัณฑ์อาจมีความสำคัญในการซื้อครั้งแรก มากกว่าคุณภาพของสินค้าภายใน หรือการโฆษณาส่งเสริมการขายด้วยวิธีอื่นใดก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่น น้ำหอม สิ่งแรกที่สะดุดตาผู้บริโภคก็คือ ขวดแก้วที่ถูกออกแบบและเจียรนัยมาอย่างสวยงาม มีรูปทรงกระทัดรัด น่าใช้ ดูหรูหรา ราคาแพง เมื่อเห็นขวดน้ำหอมแล้ว ก็เกิดความอยากได้ เข้ามาหยิบจับสินค้า ก่อนที่จะได้ลองทดสอบกลิ่นว่าชอบหรือไม่ และตัดสินใจซื้อต่อไป  ถ้าบรรจุภัณฑ์ถูกออกแบบมาไม่น่าสนใจ ลูกค้าก็จะไม่เข้ามาหยิบจับสินค้าดู โอกาสที่จะขายสินค้าได้ก็น้อยลง 

การออกแบบบรรจุภัณฑ์

การออกแบบบรรจุภัณฑ์แบ่งเป็น 2 แบบ คือ การพัฒนาโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ และการออกแบบกราฟิก

?   การพัฒนาโครงสร้างบรรจุภัณฑ์

การพัฒนาโครงสร้างบรรจุภัณฑ์จะเน้นการปกป้องอันตรายจากภายนอกที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง ได้แก่ อันตรายด้านกายภาพ อันตรายจากภูมิอากาศ อันตรายจากสภาวะทางด้านชีวภาพ และอันตรายจากการปนเปื้อน ซึ่งการแก้ไขบรรจุภัณฑ์ให้สามารถป้องกันอันตรายแก่ผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ภายใน ทำได้โดยการเลือกระบบการขนส่งและวัสดุกันกระแทกที่เหมาะสม และใช้ระบบการจัดการที่ดี

บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการขนส่งจะได้รับการพัฒนาโครงสร้างที่ดีกว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการบริโภค
การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สามารถทำได้ทุกขั้นตอนในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ในช่วงแนะนำผลิตภัณฑ์ จะใช้การออกแบบที่เน้นความแปลกใหม่ ในช่วงเติบโต ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้น จึงใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้น และพยายามที่จะสร้างความแตกต่างที่เหนือกว่าคู่แข่ง ในช่วงที่อิ่มตัว การพัฒนาบรรจุภัณฑ์จะมีบทบาทมากที่สุด เพื่อยืดช่วงเวลาที่อิ่มตัวให้นานออกไป ก่อนที่จะปล่อยสู่ช่วงตกต่ำ ซึ่งหยุดกิจกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนทั้งหมด ลดต้นทุน และค่อย ๆ ประคองตัวเพื่อความอยู่รอดต่อไป

ขั้นตอนในการพัฒนาโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ที่สำคัญ คือ ต้องเริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ในการพัฒนา โดยวัตถุประสงค์ต้องเฉพาะเจาะจงเป็นที่เข้าใจระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องวัดได้ และต้องสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้  ขั้นต่อไป คือขั้นตอนของการวางแผนงาน กำหนดเวลาและงบประมาณ โดยต้องกำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละกิจกรรมด้วย  หลังจากนั้นจึงเริ่มขั้นตอนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยต้องมีการผลิตบรรจุภัณฑ์ตามที่ได้ออกแบบไว้จำนวนหนึ่งเพื่อทำการปรเมินการยอมรับของกลุ่มเป้าหมาย และทดสอบความเข้ากันได้ระหว่างบรรจุภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ที่บรรจุ และท้ายสุดก็คือการทดสอบความเข้ากันได้ระหว่างบรรจุภัณฑ์ และเครื่องมือบรรจุ เมื่อได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้วจึงทำการผลิตและนำออกสู่ตลาดจริงต่อไป

บรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งได้รับการพัฒนาโครงสร้างมากกว่าบรรจุภัณฑ์สำหรับการบริโภค โดยขั้นตอนสุดท้ายในการบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่ง คือการปิดกล่องเพื่อขนย้าย การปิดกล่องที่นิยมใช้มีอยู่ 3 วิธี คือ การทากาว การเย็บด้วยลวด และการปิดด้วยเทป วิธีการปิดกล่องที่ดีด้วยการยึดให้ฝาด้านในของกล่องติดกับฝาด้านนอก จะมีผลต่อความสามารถในการรับแรงกดในแนวดิ่งของกล่องกระดาษลูกฟูกได้ การเก็บกล่องก่อนใช้งานต้องเก็บอย่างถูกต้อง ?ถึงก่อนมีสิทธิ์ก่อน? คือกล่องไหนผลิตก่อน ก็นำมาใช้ก่อน กล่องไหนผลิตทีหลัง ก็นำมาใช้ภายหลัง 

?   การออกแบบกราฟิก

การออกแบบกราฟิกเป็นส่วนที่สำคัญ แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนัก การออกแบบกราฟฟิกสำหรับงานบรรจุภัณฑ์จะเริ่มจากคำบรรยายสัญลักษณ์และภาพพจน์ โดยต้องออกแบบให้ดูง่าย สบายตา มีความสวยงาม ใช้งานง่าย สะดวก ต้นทุนต่ำ การออกแบบกราฟิกมักใช้เป็นกลยุทธ์ด้านการตลาด และช่วยเสริมในกิจกรรมต่าง ๆ ของส่วนผสมการตลาด ส่วนประกอบสำคัญบนบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ชื่อสินค้า ตราสินค้า สัญลักษณ์การค้า รายละเอียดของสินค้า รูปภาพ ส่วนประกอบของสินค้า ปริมาตรหรือปริมาณสินค้า ชื่อผู้ผลิต ผู้จำหน่าย วันผลิต และวันหมดอายุ การสร้างตราสินค้าจะมีบทบาทมาก แต่มักจะถูกละเลย การสร้างตราสินค้าที่ทันสมัย จะทำให้ลูกค้าจำตราสินค้าได้ และพัฒนาเป็นความซื่อสัตย์ต่อตราสินค้าต่อไป ดีกว่าการใช้ภาษสื่อ ซึ่งยุ่งยากและอาจจำได้ยากกว่า

ในช่องทางการจัดจำหน่ายสมัยใหม่โดยเฉพาะทางห้างสรรพสินค้าซึ่งมีสินค้าให้เลือกมากมาย การทำบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่นจะมีบทบาทอย่างมาก ในการสร้างความสนใจ และเพิ่มโอกาสที่ผู้ซื้อทำการซื้อสินค้า  นอกจากนี้การศึกษาความเคลื่อนไหวของลูกตาก็มีความสำคัญต่อการอกแบบกราฟิก เนื่องสายตาจะอ่านรายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์ และการสื่อสารข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์มาสู่ผู้บริโภค
เทคนิคการออกแบบกราฟิกที่เป็นที่นิยมอย่างหนึ่งก็คือ การใช้เทคโนโลยี Contour Packaging การออกแบบให้มีสีสันสะดุดตา การออกแบบเป็นชุด เรียงต่อกันเป็นภาพ  การใช้ศิลปะท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบในการออกแบบ โดยเทคนิคแต่ละอย่างก็มีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด แตกต่างกันไป โดยต้องนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม
 
การเลือกเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ต้องดูจากความเร็วในการผลิตหรือบรรจุเป็นเกณฑ์ ปัจจัยอื่นที่ใช้พิจารณาเลือกเครื่องจักร ก็มีตำแหน่งที่เครื่องตั้ง การควบคุมการทำงาน การบำรุงรักษา การบริการหลังการขาย และค่าใช้จ่ายรวมค่าเครื่องจักร โดยนอกจากเครื่องบรรจุแล้ว ยังมีเครื่องปิดปากภาชนะ เครื่องปิดฉลาก เครื่องบรรจุกล่อง เครื่องปิดกล่อง และเครื่องรัดกล่อง ก็จะต้องมีใช้ด้วย เมื่อเลือกเครื่องจักรที่เหมาะสมได้แล้ว ก็ต้องทำการตรวจสอบและรับมอบเครื่องจักร โดยต้องดูคุณสมบัติว่าตรงตามที่ระบุไว้หรือไม่ 

กฎหมายที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์

กฎหมายที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ผลิต เช่น พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พระราชบัญญัติอาหาร พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนพระราชบัญญัติมาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นกฎหมายที่ช่วยยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อควบคุมผู้ประกอบการแปรรูปอาการให้ผลิตอาหารที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าที่ระบุไว้

บาร์โค้ด

บาร์โค้ดมีความจำเป็นต้องใช้พิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี การติดบาร์โค้ดบนสินค้าตัวใดตัวหนึ่ง จะไม่มีสินค้าอื่น ๆ ในโลกที่มีหมายเลขซ้ำ เนื่องจากมีการจัดการเป็นระบบทั่วโลก การติดบาร์โค้ดกับสินค้าอุปโภคบริโภคช่วยทำให้ทราบข้อมูลการขายสินค้า และช่วยในการจัดการทางโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันสินค้าเกือบทุกชนิดมีการติดบาร์โค้ด โดยเฉพาะที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต มีเครื่องอ่านบาร์โค้ดมีช่วยให้สะดวกรวดเร็วในการชำระเงิน ตัดยอดสินค้าจากชั้นวางหรือคลังสินค้า ทำให้ทราบข้อมูลสำหรับบริหารสินค้าคงคลังได้ อย่างไรก็ตามการใช้บาร์โค้ดต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของการกรอกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ มิฉะนั้นอาจเกิดความผิดพลาดโดยไม่รู้ตัวได้ เช่นมีห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง นำฉลากบาร์โค้ดของน้ำปลา ไปติดฉลากที่เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ ปรากฏว่าพนักงานไม่ได้ใส่ใจกับรายละเอียด จึงไม่ทราบว่าบาร์โค้ดไม่ตรงกับสินค้าที่ลูกค้าซื้อ



นอกจากบรรจุภัณฑ์แล้ว ฉลากสินค้าก็สำคัญ

โดยทั่วไปผู้ขายมักมีการติดฉลากสินค้าบนบรรจุภัณฑ์ โดยฉลากควรจะเป็นการยึดติดกับผลิตภัณฑ์เลยหรือออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์ เช่น แชมพูสระผม โลชั่นทาผิว น้ำอัดลม เป็นต้น ฉลากบางฉลากจะบอกตราสินค้าอย่างเดียว แต่บางฉลากจะบอกข้อมูลทั้งหมดของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ  แล้วแต่ความต้องการหรือวัตถุประสงค์ของผู้ผลิต อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าผู้ผลิตจะต้องการให้ฉลากเรียบง่ายที่สุด แต่ตามกฎหมายก็ต้องมีการระบุข้อมูลบางอย่างเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจสำหรับผู้บริโภค

ฉลากมีหน้าที่หลายอย่าง ฉลากจะบอกถึงผลิตภัณฑ์หรือตราสินค้า  บางฉลากจะบอกระดับของสินค้า หรือบอกว่าใครคือผู้ผลิต จากประเทศอะไร ผลิตเมื่อไร ส่วนประกอบมีอะไรบ้าง ใช้อย่างไร และจะใช้ให้ปลอดภัยทำอย่างไร และสุดท้ายบนฉลากจะช่วยในการส่งเสริมการขายจากภาพที่สวยงามดึงดูดความสนใจบนฉลาก

ในบางครั้งฉลากจะดูล้าสมัย และต้องการการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนาดและรูปแบบของตัวหนังสือ หรือเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมดก็ได้

การสร้างความแตกต่างของฉลากสินค้า ในกรณีที่สินค้าประเภทเดียวกันถูกวางเรียง ๆ กันบนชั้นวางสินค้า  ก็มีส่วนช่วยในการทำให้ผู้บริโภคสังเกตได้ง่ายขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์นมข้นหวานตราหมี นอกจากจะใช้บรรจุภัณฑ์เป็นกระป๋องและมีฉลากเป็นกระดาษปิดทับเหมือนผลิตภัณฑ์นมข้นหวานยี่ห้ออื่นแล้ว นมข้นหวานตราหมียังมีกระดาษสีขาวนวลห่อหุ้มอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความแตกต่าง บรรจุภัณฑ์ดูมีราคากว่า สะอาดกว่า เป็นต้น

ฉลากรับอนุญาต

ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร ฉลากที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะต้องมีข้อมูลต่อไปนี้
1.   หมายเลขทะเบียนอนุญาตขอใช้ฉลากอาหาร พร้อมปีที่อนุญาต โดยต้องแสดงด้วยตัวอักษรขนาดเล็ก ไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิเมตรในกรอบพื้นสีขาว โดยให้สีของกรอบตัดกับพื้นฉลาก
2.   น้ำหนักสุทธิ หรือปริมาณสุทธิ หมายถึง น้ำหนักหรือปริมาตรของอาหารไม่รวมภาชนะบรรจุ  โดยต้องแสดงน้ำหนักเนื้ออาหาร ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นเนื้อหรือของแข็ง โดยได้กรองส่วนที่เป็นของเหลวออกไปแล้ว
3.   ชื่อภาษาไทย โดยต้องใช้ตัวอักษรสีเดียวกัน อาจมีชื่อ 2 ส่วน คือ ชื่อตามที่กฎหมายกำหนดให้เรียกผลิตภัณฑ์นั้น เช่น บะหมี่สำเร็จรูป และชื่อทางการค้า (Brand Name)
4.     ส่วนประกอบที่สำคัญโดยประมาณ โดยระบุเป็นร้อยละของน้ำหนัก และเรียงจากมากไปน้อย และต้องระบุสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
?   การระบุส่วนประกอบหรือวัสดุปรุงแต่งอาหาร ส่วนประกอบของอาหารบางประเภทที่เติมลงไป อาจเกิดอันตรายหรือก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น การใช้ผงชูรส การใช้วัสดุกันเสีย การเจือสี กี่แต่งรสแต่งกลิ่น เป็นต้น ควรที่จะแจ้งชนิดและปริมาณของส่วนประกอบดังกล่าว
?   การระบุวันที่ผลิตหรือวันหมดอายุ  โดยปรกติอาหารที่มีอายุการเก็บยาว เช่น อาหารกระป๋อง มักจะระบุวันที่ผลิต ส่วนอาหารที่มีอายุการเก็บสั้น เช่น ผลิตภัณฑ์นม มักจะระบุวันหมดอายุหรือวันที่ควรบริโภคก่อน
?   ชื่อผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้นำเข้า พร้อมระบุที่อยู่
?   คำแนะนำในการเก็บรักษา และในการปรุงอาหาร หรือการเตรียมเพื่อบริโภค เช่น อาหารบางชนิดต้องเก็บไว้ในตู้เย็น อาหารบางชนิดสามารถอุ่นได้ด้วยไมโครเวฟ
?   ข้อควรระวังหือคำเตือนและวิธีป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง เขียนคำเตือนไว้ว่า ?ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด โปรดอ่านคำเตือนบนฉลาก? เป็นต้น
?   สัญลักษณ์บาร์โค้ด
 
ทั้งนี้สินค้าจากต่างประเทศ ที่นำเข้ามาขายในเมืองไทย ต้องทำฉลากภาษาไทยที่มีความหมายตรงกันกับข้อความภาษาต่างประเทศ โดยระบุชื่อพร้อมสถานที่ของผู้ได้รับในอนุญาตนำเข้า และต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าตามประกาศที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากได้กำหนดไว้ในสินค้าแต่ละประเภท

หน่วยงานที่รับผิดชอบพระราชบัญญัติเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์

หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ มีดังนี้
?   สำนักงานกลางชั่งตวงวัด กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์
?   คณะกรรมการผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี
?   สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม
?   สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข

หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์

ภาครัฐ
?   ส่วนอุตสาหกรรมการเกษตร สำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
?   ส่วนบรรจุภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
?   ศูนย์บริการการออกแบบ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออก
?   ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
?   สถาบันค้นคว้าและวิจัยผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ภาคเอกชน
?   สมาคมบรรจุภัณฑ์ไทย
?   สถาบันอาหาร
?   สถาบันสัญลักษณ์รหัสแท่ง (บาร์โค้ด) ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย


กรณีศึกษา

บริษัท มิส ลิลลี่ จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจดอกไม้สด

ความเป็นมา

ธุรกิจดอกไม้เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมมอบดอกไม้ให้แก่กันเนื่องในโอกาสวันสำคัญ และในเทศกาลต่างๆ

มิสลิลลี่ (Miss Lily) เป็นธุรกิจการให้บริการจัดส่งดอกไม้ทั่วประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 มีการใช้เทคโนโลยีด้านฐานข้อมูล (Database Technology) มาช่วยในการเก็บข้อมูลลูกค้าและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อความสะดวกในการขนส่ง และส่งสินค้าได้อย่างถูกต้องและตรงเวลา

การปฏิบัติที่ดี

?   สร้างความแตกต่างด้านบริการ

การที่มิสลิลลี่ให้บริการจัดส่งดอกไม้ทั่วราชอาณาจักร ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า โดยลูกค้าสามารถโทรสั่งซื้อ หรือสั่งซื้อทางอินเตอร์เนตผ่านเว็บไซด์ www.MissLily.com ได้ตลอดเวลา ซึ่งทางบริษัทมีพนักงานไว้คอยดูแลในเรื่องสินค้าและจัดส่ง และให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ทำให้ลูกค้าจึงเกิดความประทับใจ และสามารถจดจำตราสินค้ามิสลิลลี่ได้เป็นอย่างดี

?   ใช้กลยุทธ์ลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM

ทางบริษัทได้นำหลักกลยุทธ์ลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM (Customer Relationship Management) มาใช้ ในการสร้างตราสินค้า โดยทำสำรวจความต้องการของลูกค้า แล้วนำข้อมูลมาพัฒนารูปแบบของการจัดดอกไม้ให้มีความหลากหลาย เน้นที่การออกแบบรูปทรง และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย เพื่อความสวยงาม และสะดวกในการขนส่ง

?   ปรับตัวขยายกิจการสู่การทำอุตสาหกรรมดอกไม้ครบวงจร

เมื่อจำนวนลูกค้าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการสั่งซื้อซ้ำในโอกาสต่างๆ ทำให้ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น บริษัทฯ จึงมีการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขัน และให้เหมาะสมกับภาวะการณ์ โดยจากเดิมทางบริษัท ฯ ใช้วิธีการซื้อสินค้าผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยมีพันธมิตรกว่า 135 ราย แต่เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่มีมากขึ้น ทางบริษัท ฯ จึงปรับกลยุทธ์การจัดซื้อสินค้าจากพ่อค้าคนกลาง มาเป็นการเลือกซื้อสินค้าจากผู้ผลิตเอง และมีการลงทุนสร้างลิลลี่ฟาร์ม เพื่อเป็นฐานการผลิตสินค้า ทั้งดอกไม้สด และดอกไม้แห้งอีกด้วย ทั้งนี้เป็นการขยายกิจการสู่การทำอุตสาหกรรมดอกไม้ครบวงจร ทำให้บริษัท ฯ สามารถควบคุมคุณภาพสินค้า และทำการขนส่งสินค้าไปยังที่หมายที่ลูกค้าสั่งได้สะดวกรวดเร็ว และทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจมากขึ้น

?   การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย

ในปัจจุบัน สำหรับพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร มิสลิลลี่ มีจุดกระจายสินค้าโดยลิลลี่ฟาร์มอยู่ด้วยกัน 3 แห่งได้แก่ พระโขนง ธนบุรี และ สีลม ส่วนในต่างจังหวัด ทางบริษัทยังคงใช้วิธีการกระจายสินค้าผ่านพันธมิตร นอกจากนี้แล้ว ในต้นปี 2546 ทางบริษัทเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ในรูปแบบของตู้โชว์ และนำไปวางไว้ในร้านอาหารกึ่งผับ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง และขยายเข้าสู่ร้านประเภทร้านค้าสะดวกซื้ออีกด้วย
 
ปัจจัยความสำเร็จ

สร้างความแตกต่างด้านบริการและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย สามารถรักษาความสดใหม่ของสินค้าได้นาน และป้องกันการกระแทกจากการขนส่ง เป็นปัจจัยความสำเร็จของบริษัท ฯ ทำให้ลูกค้าสามารถจดจำตราสินค้าได้เป็นอย่างดี และเกิดความประทับใจกับการให้บริการจัดส่งดอกไม้ทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง



ข้อสรุปทางวิชาการ

บริษัทได้ใช้กลยุทธ์การสร้างความแตกต่างในสินค้าหรือบริการเป็นตัวทำให้บริษัท ฯ ประสบความสำเร็จ โดยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง 3 ด้านหลัก ๆ คือ
1.   การสร้างความแตกต่างในตัวสินค้า เช่นคุณภาพ รูปทรง สีสัน การออกแบบ
2.   การสร้างความแตกต่างทางด้านบริการที่ให้กับลูกค้า เช่น บริการ 24 ชั่วโมง บริการส่งตรงถึงที่
3.   การสร้างความแตกต่างที่บรรจุภัณฑ์ ราคา การส่งเสริมการตลาด

นอกจากนี้การนำกลยุทธ์ CRM มาช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ทำให้บริษัท ฯ มีการพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้น ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยวิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าที่บริษัท ฯ ใช้ ได้แก่ การติดต่อลูกค้าเพื่อสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อสสินค้าอย่างสม่ำเสมอ การให้ประโยชน์หรือสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า เช่น มอบบัตรส่วนลด การ์ดอวยพร การทำบัตรสมาชิกให้กับลูกค้าที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ หรือลูกค้าประจำ การมีระบบให้ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และการรับฟังข้อคิดเห็นลูกค้าตลอดเวลา และ การจัดกิจการให้ลูกค้ามีส่วนร่วม เป็นต้น  ซึ่งกลยุทธ์ที่กล่าวมานี้ SME สามารถนำไปดัดแปลงใช้เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจของตนได้