cmxseed สังคมราตรี

หมวดหมู่ทั่วไป => สัพเพเหระ => ข้อความที่เริ่มโดย: etatae333 ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2018, 17:11:47

หัวข้อ: อาละดินกับตะเกียงวิเศษ ปัญหาระหว่างชนชั้น และการปฏิวัติด้วยความรัก
เริ่มหัวข้อโดย: etatae333 ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2018, 17:11:47
อาละดินกับตะเกียงวิเศษ ปัญหาระหว่างชนชั้น และการปฏิวัติด้วยความรัก
cr.ทีมงานนักเขียนเด็กดี

(http://www.cmxseed.com/cmx_files/server/php/files/1519443199-3595.jpeg)
 
ต้นตำรับของเทพนิยายเรื่องนี้ มาจากตำนานที่ชื่อว่า พันหนึ่งอาหรับราตรี (เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง)
โดยอาละดินกับตะเกียงวิเศษ เป็นหนึ่งในเรื่องย่อยๆ ของเรื่องพันหนึ่งอาหรับราตรี ซึ่งเนื้อหาหลักของพันหนึ่งอาหรับราตรี
สรุปเรื่องย่อๆมันเริ่มมาจาก พระราชาองค์หนึ่งเคยถูกมเหสีหลอกลวงคบชู้ ทำให้หมดความไว้วางใจในสตรี หลังจากนั้น
ทุกคืนหลังมีความสัมพันธ์กับสาวพรหมจารี พระองค์ก็จะสังหารสาวผู้โชคร้ายเสีย จนกระทั่งมาถึง สตรีคนสุดท้าย
ผู้ใช้วิธีเล่านิทานซ้อนนิทานให้กับพระราชาฟัง และมักจะหยุดอยู่ตรงจุดสำคัญเสมอๆ เมื่อเวลาใกล้รุ่งสาง
ทำให้พระราชาตัดสินใจไม่ประหารนาง เพื่อรอฟังต่อว่านิทานจะเป็นอย่างไรต่อไป
 
 
ต้นฉบับอาละดินมาจากฝรั่งเศส

(http://www.cmxseed.com/cmx_files/server/php/files/1519443199-517.jpeg)

อย่างที่บอกไปแล้วว่า อาละดินกับตะเกียงวิเศษ เป็นหนึ่งในเรื่องย่อยๆ เหล่านั้น เรื่องราวของเด็กหนุ่มผู้ยากจน
แต่โชคดีได้รับการว่าจ้างจากพ่อมดให้ไปหยิบตะเกียงวิเศษมา อาละดินเกิดรู้ความลับเรื่องยักษ์ในตะเกียงเข้า
ก็แย่งชิงเอาตะเกียงไปครอบครอง และต่อมาได้แต่งงานกับเจ้าหญิง (ในดิสนี่ย์ เจ้าหญิงจะมีชื่อว่าจัสมิน)
แต่ว่าพ่อมดไม่ยอมปล่อยเด็กหนุ่มไปง่ายๆ และกลับมาแก้แค้น อย่างไรก็ตาม สุดท้าย อาละดินก็เอาชนะพ่อมดได้
และได้ใช้ชีวิตอยู่กับเจ้าหญิงอย่างมีความสุข รวมถึงได้ครอบครองอาณาจักรด้วย

 
หลายคนเชื่อว่าพันหนึ่งอาหรับราตรีนั้น น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากฝั่งตะวันออกกลางหรือยุโรป แต่ในความเป็นจริงแล้ว
ต้นตอของเทพนิยายเรื่องนี้ มาจากฝรั่งเศส และต้นฉบับก็เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ไม่ใช่อารบิกอย่างที่ใครๆ เข้าใจ
ผู้เผยแพร่นิทานเรื่องนี้เป็นคนแรกคือ อองตวน กัลแลนด์ (Antoine Galland) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส

(http://www.cmxseed.com/cmx_files/server/php/files/1519443199-5234.jpeg)

ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาเคยโด่งดังกับเรื่องซินแบดผจญภัยมาแล้ว กัลแลนด์ชื่นชอบเทพนิยายมาก โดยเฉพาะ
โฉมงามกับเจ้าชายอสูร, ราพันเซล, ซินเดอเรลล่า และเจ้าหญิงนิทรา งานหลักๆ ที่เขาชอบอ่านคืองานของ
ชาร์ลส์ แปร์โรลต์ นักเขียนเทพนิยายชื่อดังของฝรั่งเศส และตัวเขาใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนมีชื่อแบบแปร์โรลต์บ้าง
ซึ่งผลงานพันหนึ่งอาหรับราตรีก็ไปได้สวย ได้ตีพิมพ์ซ้ำถึง 12 ครั้ง และถูกนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ

จากนั้นก็แพร่หลายในยุโรป อาจจะเพราะเสน่ห์แบบตะวันออก ทำให้เทพนิยายเรื่องนี้กลายเป็นที่รู้จักและได้รับ
ความนิยมอย่างรวดเร็ว ภายหลังเมื่อถูกถามว่า ได้ยินเรื่องราวเหล่านี้มาจากไหน กัลแลนด์ระบุว่า ได้ฟังมาจาก
พระรูปหนึ่งจากเมืองอะเล็ปโป (เมืองที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีเรีย เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ)
และตัวเขาไม่ได้เขียนเรื่องนี้ทันทีที่ฟังจบ แต่ว่ารอจนพล็อตตกตะกอนเกือบสองปี และเขาก็ได้เพิ่มเรื่องราว
ส่วนตัวเข้าไปด้วย
 
(http://www.cmxseed.com/cmx_files/server/php/files/1519443199-5155.jpeg)

แต่ว่าฉากในเรื่องอาละดินจริงๆ แล้ว อยู่ในประเทศจีน

ความจริงที่ควรรู้อีกเรื่องก็คือ พันหนึ่งอาหรับราตรีตีพิมพ์ในฝรั่งเศส และเนื้อหาไม่ได้อยู่ในประเทศซีเรียหรืออินเดีย
อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ แต่เป็นประเทศที่เราคาดไม่ถึงอย่างประเทศจีน ความจริงแล้ว ตัวเรื่องอาละดินเอง อาจเป็น
ตำนานจากตะวันออกกลางก็เป็นได้ แต่ว่าถูกเล่าผ่านบักบวชชาวอะเล็ปโป และได้รับการเติมแต่งโดยกัลแลนด์ ชาวฝรั่งเศส
จึงกลายเป็นเรื่องแบบผสมผสาน และแสดงถึงชนชั้นทางสังคมในแบบของฝรั่งเศสเสริมเข้าไปด้วย

เนื้อเรื่องในบางส่วนยังออกจะคล้ายซินเดอเรลล่าในแง่ของการเล่าถึง “ชนชั้นทางสังคม” เราจะเห็นว่าซินเดอเรลล่า
เป็นเรื่องของเด็กสาวผู้ยากจนและได้แต่งงานกับเจ้าชาย ส่วนอาละดิน เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มผู้ยากจนและได้แต่งงาน
กับเจ้าหญิง มันเหมือนเป็นการก้าวข้ามชนชั้นของตัวเอง เพื่อไปสู่ชนชั้นที่สูงกว่า โดยใช้วิธีการแต่งงานเป็นเครื่องมือ
 
อาละดินในเวอร์ชั่นหลังๆ ถูกนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย เบอร์ตัน และ แอนดรูว์ แลงก์ ซึ่งแลงก์มองว่า
เวอร์ชั่นของเบอร์ตันนั้น ค่อนไปทางโป๊เปลือย และมีเรื่องเพศมากไปสักนิด จนดูไม่เหมือนเทพนิยาย แลงก์เชื่อว่า
เบอร์ตันบิดเบือนเรื่องจริง และไม่ยอมรับเนื้อหาเวอร์ชั่นนี้ อย่างไรก็ตาม อาละดินเวอร์ชั่นของเบอร์ตัน กลับกลายเป็น
ที่ถูกพูดถึงและแพร่หลายมากที่สุด แลงก์ได้วิจารณ์ไว้ว่า

“อาละดินเวอร์ชั่นของเบอร์ตันเต็มไปด้วยเรื่องเพศ มีแต่เรื่องดื่มเรื่องกินกอดจูบและแสดงความสุขทางกาย”

(http://www.cmxseed.com/cmx_files/server/php/files/1519443199-4752.jpeg)

ทว่าถึงจะวิจารณ์การแปลของเบอร์ตัน ตัวแลงก์เอง ก็ไม่ได้ถ่ายทอดได้อย่างตรงไปตรงมาสักเท่าไหร่ ตัวเขาเอง
ก็ปรับต้นฉบับเช่นเดียวกัน สิ่งที่ชัดเจนคือ แลงก์ไม่ใส่ใจเรื่องตัวละครมาจากประเทศจีน แต่ปรับเป็นให้พ่อมดตัวร้าย
ของเรื่องมาจากอัฟริกา แทนที่จะเป็นพวกมัวร์ อย่างที่กัลแลนด์ใช้ในต้นฉบับ นอกจากนี้ แลงก์ยังตัดรายละเอียด
หลายส่วนทิ้งไป และเพิกเฉยต่อประเด็นเรื่องทางชนชั้นอย่างที่กัลแลนด์พยายามบรรยายไว้

ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว เราก็พบว่าแลงก์อาจไม่มีความรู้ในเรื่องประเทศจีนดีสักเท่าไหร่ เพราะเป็นประเทศที่ห่างไกล
จากยุโรปมาก ทว่าตัวละครอย่างมุสลิม ยิว เปอร์เซียน ตะวันออกกลาง หรือคริสเตียน เป็นอะไรที่ใกล้ตัวเขามากกว่า
เขาจึงเลือกเขียนเรื่องราวไปในทางนั้น
 
เมื่อมองดูแล้ว เพียงแค่ต้นฉบับของกัลแลนด์กับแลงก์ ก็บอกถึงความแตกต่างทางชนชั้นได้แล้ว ในขณะที่กัลแลนด์
เล่าเรื่องจากปากของพระชาวอะเล็ปโป ตัวแลงก์เองกลับเล่าเรื่องในแบบของเขา และมองข้ามชาวจีนไป ประเด็นนี้
นักวิจารณ์มากมายได้พูดถึงว่า... อาละดินเวอร์ชั่นของแลงก์ คือการแบ่งชนชั้นระหว่างยุโรปกับจีนอย่างเห็นได้ชัด
และมันคือความจริงที่ปรากฏผ่านตัวละครในเทพนิยายของเขา

(http://www.cmxseed.com/cmx_files/server/php/files/1519443199-4354.jpeg)
 
 
อาละดินเป็นเทพนิยายที่พูดถึงปัญหาระหว่างชนชั้น

สำหรับตัวเรื่องอาละดินกับตะเกียงวิเศษเองนั้น ไม่ได้พูดถึงแค่ความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มยาจกกับเจ้าหญิงแสนสวยเท่านั้น
แต่ยังพูดเรื่องของการเมืองและอำนาจทางสังคมด้วย เปิดเรื่องมา เราเห็นเลยว่าอาละดินยากจนมาก และแม่ของเขาก็ต้อง
ทำงานมากมาย โชคดีเป็นของอาละดินที่ได้ตะเกียงวิเศษมาครอบครอง และมียักษ์จีนี่คอยช่วยเหลือ (ในต้นฉบับเรียกว่า Marid)
ก่อนหน้าที่จะมีจีนี่ อาละดินและแม่คือชนชั้นล่างที่ยากจน แต่เมื่อได้จีนี่มาช่วย สถานะทางสังคมของพวกเขาก็เปลี่ยนไป
กลายเป็นร่ำรวย 

 
แต่เรื่องไม่ได้จบง่ายๆ แม้จะมีเงินทอง แต่ด้วยฐานะที่ยากจน เมื่ออาละดินกับแม่นำจานชามทองคำที่จีนี่มอบให้ไปขาย
ก็ถูกดูถูกและกดราคาข้าวของ คงเพราะยากจนและอดอยากมามาก ทำให้ไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะรวยได้เร็วถึงขนาดนี้

(http://www.cmxseed.com/cmx_files/server/php/files/1519443199-4526.jpeg)
 
ทว่าสิ่งที่เปลี่ยนอาละดินก็คือ ความรัก เขาตกหลุมรักเจ้าหญิงผู้มีนามว่า Badr al-Budur (หรือเจ้าหญิงจัสมินในฉบับดิสนี่ย์)
และความรักกลายเป็นแรงผลักให้เขาไม่เชื่อเรื่องสถานะที่แตกต่างอีกต่อไป แต่ถ้าหากจะรักกับเจ้าหญิง อาละดินก็ต้องมีฐานะ
ต้องมีเงินทอง และ ณ จุดนี้เอง ที่อาละดินยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง และใช้จีนี่ในทางที่ผิด นั่นคือดลบันดาลให้เขาได้เพชรพลอย
เงินทองของมีค่ามากมาย ทว่า แม้อาละดินจะร่ำรวย แต่สุลต่านมองว่าสถานะทางสังคมของเขาก็ยังต้อยต่ำ มีดีแค่เงิน
เพราะงั้นพระองค์จึงอยากให้เจ้าหญิงสมรสกับคนที่เท่าเทียมกันมากกว่า

อย่างไรก็ตาม สุลต่านกลับไม่ปฏิเสธข้าวของแพงๆ ที่ได้จากอาละดิน พระองค์ทรงตระบัดสัตย์ได้อย่างหน้าตาเฉย
และไม่แคร์คำสัญญา อาละดินก็เลยต้องเลือกลักพาตัวเจ้าหญิงในคืนวันอภิเษกสมรสของนาง ด้วยพรมวิเศษที่เรารู้จักกันดี
แล้วอาละดินก็พาเจ้าหญิงไปยังวังที่จีนี่เนรมิตไว้ให้ แม้พ่อมดจะตามมาแก้แค้น แต่ในเมื่ออาละดินเป็นพระเอก
ก็ต้องชนะไปตามระเบียบ
 
จากที่ฟังเรื่องย่อแล้ว สิ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือ สถานะทางสังคมกลายเป็นเรื่องสำคัญมาก อาละดินมีสถานที่ไม่ดี
ทำให้แม้จะมีเงินทอง แต่ก็ไม่ได้รับความเคารพ บางที เขาอาจจะคล้ายๆ กับปรากฏการณ์เศรษฐีใหม่ อย่างที่เคย
ปรากฏในประเทศไทย (ส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนที่มาตั้งรกรากในไทยและทำธุรกิจจนร่ำรวย) ไม่ใช่เชื้อสายเจ้านาย
อย่างที่เคยเป็นช่วงแรกๆ เทพนิยายเรื่องนี้แสดงถึงการปะทะกันระหว่างชนชั้นได้อย่างชัดเจน

(http://www.cmxseed.com/cmx_files/server/php/files/1519443199-4897.jpeg)

และทำให้เราต้องมาหวนคิดว่า... แท้จริงแล้ว สถานะทางสังคมมันคืออะไรกันแน่ และถูกกำหนดได้อย่างไร
ตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครเป็นคนระบุว่า... คนนี้ดีกว่า คนนั้นดีกว่า อะไรกันคือตัวกำหนด อาละดินนั้น ไม่แตกต่าง
จากเศรษฐีใหม่ที่อยากแต่งงานกับเชื้อสายของราชวงศ์ และนั่นกลายเป็นปัญหาของเขา ทำให้เขามีปัญหา
ความจริงแล้ว เราก็เห็นตัวอย่างเทพนิยายแบบอาละดินได้จากนิยายแบบไทยๆ หลายๆ เรื่อง ที่แสดงถึงความ
แตกต่างของตัวละคร การพูดถึงชนชั้นสูงที่เหยียดหยามชนชั้นล่าง และมองว่าอีกฝ่ายต่ำกว่าตัว และชนชั้นล่าง
อย่างอาละดิน ก็จะถูกกดหัวอยู่เรื่อยไป แม้ว่าจะมีเงินทองหรือมีฐานะแล้วก็ตาม     
 
บางที อาละดิน อาจเป็นเทพนิยายแห่งการปฏิวัติและการลุกขึ้นสู้ของชนชั้นล่างก็เป็นได้ และเขาก็ปฏิวัติสำเร็จ
และได้แต่งงานกับเจ้าหญิงเสียด้วย ก็ไม่เลวนะคะ การปฏิวัติที่ใช้ความรักเป็นเครื่องนำทาง...

 
(http://www.cmxseed.com/cmx_files/server/php/files/1519443199-4907.jpeg)

 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
https://americanliterature.com/author/arabian-nights/short-story/the-story-of-aladdin-or-the-wonderful-lamp
http://arabiannights.wikia.com/wiki/Aladdin_and_the_Wonderful_Lamp
http://www.gradesaver.com/the-arabian-nights-one-thousand-and-one-nights/study-guide/summary-aladdins-lamp
https://www.tor.com/2016/01/21/fairy-tale-and-the-other-realm-as-social-commentary-aladdin-and-the-wonderful-lamp/
http://etc.usf.edu/lit2go/141/the-blue-fairy-book/3132/aladdin-and-the-wonderful-lamp/
https://en.wikipedia.org/wiki/Aladdin