-->

ผู้เขียน หัวข้อ: แจ๊ค คิโรแว็ค และ ผองเพื่อน : คดีฆาตกรรมที่มหา'ลัยโคลัมเบีย  (อ่าน 211 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

etatae333

  • Administrator
  • เทพเจ้าราตรี
  • *
  • กระทู้: 18150
  • Country: th
  • คะแนนจิตพิสัย +9/-0
  • เพศ: ชาย
    • ดูรายละเอียด
    • cmxseed

แจ๊ค คิโรแว็ค และ ผองเพื่อน : คดีฆาตกรรมที่มหา'ลัยโคลัมเบีย



เรื่องคดีเรื่องความในมหาลัยเรื่องนี้เกิดเมื่อ หลายสิบปีมาแล้ว รื้อฟื้นกลับมาพูดคุยกันใหม่ เพราะมีหนัง หนังสือ
อีกทั้ง ละครเวทีนำเสนอมาเป็นคลื่นลูกใหม่ ใหญ่กว่าเก่า หลายๆระลอกทีเดียว คงเพราะโลกเล็กลง
เทคโนโลยีสื่อสารก้าวหน้าหลากหลายขึ้น คลื่นกระทบฝั่งระลอกปัจจุบันมันจึงกระเซ็นซาบซ่ามาเข้าตา


สามหนุ่มนักศึกษามหาลัยโคลัมเบีย แจ๊ค คิโรแว็ค (Jack Kerouac), อัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsberg)
และ วิลเลียม  เอส. เบอร์โรว์ส (William S. Burroughs)
เป็นรูมเมทและเพื่อนเที่ยวเตร่ เรียนหนังสือ ดื่มกิน
อ่านเขียนกวี อยู่ในละแวก อัพเพอร์ เวสต์ ไซด์ (Upper West Side) ของเมืองนิวยอร์ค บริเวณนี้มีถนนบรอดเวย์
และ อัมสเตอร์ดัม ทอดคู่ขนานกันไปกับแม่น้ำฮัดสัน ด้านหนึ่งเป็นสวนสาธารณะติดแม่น้ำ เรียกชื่อเหมาะเหม็งว่า
ริเวอร์ไซด์ พาร์ค (Riverside Park)




ขณะนั้นพวกเขาเริ่มเป็นกวีและนักเขียน ยังไม่มีชื่อเสียง ยังไม่ได้เป็นบิดาหรือผู้นำวรรณกรรมแนวๆยุคเสาะแสวงหา
หนังสือของเขายังไม่พบในห้องเรียนวรรณกรรม หรือพกพาอยู่ในกระเป๋าและเป้คนหนุ่มคนสาว ผู้รักฝักใฝ่ในความงาม
ของอักษร และเส้นทางแห่งการค้นหาความหมายของชีวิต

หนุ่มคนที่สี่ ชื่อ ลูซีน คารร์ (Lucien Carr) เด็กใหม่ย้ายมาจากมหาลัยชิคาโกมาร่วมวงไพบูลย์ด้วย คนนี้ไปทางไหน
มีแต่คนเหลียวมอง ด้วยที่เป็นคนรูปหล่อเหลือเกิน แถมมีความรู้ฟูเฟื่องเรื่องศิลปและวรรณกรรม ใครๆก็รู้จักทั่วมหาลัย
ลูซีนชอบดนตรีของบรามห์ส เช่นเดียวกับอัลเลนก็เลยคุยกันถูกคอที่หอพัก เขาไปเจอะเจอกับแฟนสาวของ คิโรแว็ค
ที่ห้องเรียนจิตรกรรม ก็เหนี่ยวนำตามกันมาเข้ากลุ่ม พอเจอกับเบอร์โรว์สก็ดันกลายเป็นคนมาจากเมืองเดียวกันไปอีก
ครอบครัวผู้ดีมีตระกูลจากเซนต์หลุยส์ ความสัมพันธ์สี่หนุ่มเชื่อมโยงกันเหมือนโชคชะตาชักนำ ลูซีน คารร์ นั้นเป็นดาวเด่น
ของกลุ่มหนุ่มทั้งสี่




จนกระทั่งเกิดคดีฆาตกรรมในสวนข้างมหาลัย A murder in RiversidePark …เหตุเกิดในคืนวันที่ ๑๔ สิงหาคม
ปี ค.ศ. 1944 คดีที่พวกเขาพัวพัน ตกเป็นข่าวเกรียวกราวของเมืองใหญ่


ปัจจุบัน หนุ่มทั้งสี่ทยอยกันเสียชีวิตไปหมดสิ้นแล้ว คิโรแว็ค (เกิด 1922 – เสียชีวิต1969) กินสเบิร์ก (1926 – 1997)
เบอร์โรว์ส์ (1914 – 1997) และลูซีน คารร์ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1925 จากไปเป็นคนสุดท้ายในกลุ่ม เมื่อปี 2005
หากแต่ความสนใจเรื่องของพวกเขาทับทวี ปีที่แล้วสำนักพิมพ์ปล่อยของ The Sea Is My Brother หนังสือเล่มใหม่
ของ แจ็ค คิโรแว็ค แปลชื่อเรื่องให้พอเข้าใจว่า ทะเลเป็นพี่ชาย หรือหากใครจะว่า ทะเลเรียกว่าพี่ ก็น่าจะได้เหมือนกัน

เรื่องนี้เป็นนวนิยายเรื่องแรกของเขา เขียนไว้ตั้งแต่เมื่ออายุยี่สิบ ยังไม่เคยตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน ตามด้วยละครเวทีเรื่อง
“ฆาตกรรมและผองเพื่อนยุคกลุ่มชนคนแสวงหา” เปิดตัวในนิวยอร์ค แล้วก็มีหนังสือชื่อเล่มว่า The Voice Is All ออกมาอีก
เป็นชีวประวัติ แจ็ค คิโรแว็ค ฉบับชิดใกล้ เขียนโดย จอยซ์ จอห์นสัน (Joyce Johnson) หญิงผู้เคยมีความสัมพันธ์ฉันท์
คนรักกับคิโรแว็ค ไล่ๆกันก็มีข่าวคราวภาพยนตร์ On the Road “บนเส้นทาง” ที่สร้างจากหนังสือยอดนิยมของคิโรแว็ค
หนังลงโรงไปเมื่อปลายปี 2012



และเมื่อปี 2013 ในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์มี Kill Your Darlings มาเสนอฉายให้ฮือฮา ด้วยเป็นเรื่องอีกมุมของพวกเขา
ผองเพื่อนสี่หนุ่มจากโคลัมเบียกลุ่มนี้แหละ ที่พัวพันกับฆาตกรรมในสวนหลังมหาลัย “ฆ่าเธอสุดที่รัก” ยังนำแสดงโดย
แดเนียล แร็ดคลิฟฟ์ จาก แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ อันโด่งดัง ทำให้ยิ่งเป็นที่จับตามองขึ้นอีก อดีตพ่อมดมาสวมบทบาทเป็น
อัลเลน กินสเบิร์ก เพื่อนกวีคู่หูของ แจ็ค คิโรแว็ค ละทิ้งภาพลักษณ์เดิมไปอย่างสิ้นเชิง
         
เหตุแห่งฆาตกรรมครั้งนั้นโดยไม่เจตนา หรือ อุบัติเหตุ หรือ ป้องกันตนเอง ยังมีแง่มุมให้คิดวิพากย์วิจารณ์ เป็นเหตุการณ์
เนื่องจากรักที่ผิดหรือชีวิตที่บาป หากเหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้น เราจะมีวรรณกรรมรูปแบบอื่นของพวกเขามาให้ขบคิดแทนที่ไหม
พวกเขาเป็นผองเพื่อนที่ซับซ้อน ยากจะเข้าใจหรือไม่ฉันใด ลองมาทบทวนเหตุการณ์ดูกัน...

 
แจ๊ค คิโรแว็ค ลุกออกจากโต๊ะ เมื่อหลังเที่ยงคืนเล็กน้อย เขานั่งดื่มอยู่กับ ลูซีน คารร์ ที่บาร์เวสต์เอนด์แถวมหาลัยมาพักหนึ่งแล้ว
คิโรแว็คเจ้าของหุ่นกำยำอย่างนักกีฬา เดินจ้ำอ้าวก้าวข้ามถนนบรอดเวย์ เข้าประตูมหาลัย ย่ำขึ้นไปตามขั้นบันไดกว้างหน้าห้องสมุดโลว์
ผ่านทางเดินหน้าโบสถ์ในมหาลัยเพื่อทะลุไปถนนอัมสเตอร์ดัม จุดหมายจะไปยังอพาร์ทเมนต์ของแฟนสาว แล้วเขาก็เห็นร่างคุ้นเคย
เดินสวนมาในความมืด ชายตัวสูงหนวดครึ้มนาม เดวิด แคเมอร์เรอร์ (David Kammerer) นั่นเอง แคเมอร์เรอร์เอ่ยทักแล้วถามว่า
ลูซีนอยู่ไหน คิโรแว็ค บอกไปว่ายังนั่งดื่มอยู่ที่ เวสต์ เอนด์



               
ในนวนิยายเชิงชีวประวัติเล่มที่ชื่อ Vanity of Duluoz คิโรแว็คเขียนไว้ในต่อมาว่า “ผมมองเขาเร่งรีบเดินไปสู่ความตาย”

เดวิด แคเมอร์เรอร์ คนนี้ อายุ 33 แล้ว เพื่อนรุ่นพี่ของลูซีน คารร์ ที่ติดสอยห้อยตามหนุ่มน้อยมาจากเมืองเซนต์หลุยส์ เป็นครู
และโค้ชค่ายลูกเสือก่อน แล้วก็เป็นที่ปรึกษาเรื่องส่วนตัวต่างๆให้อีกด้วย คารร์ย้ายไปไหนเขาก็ติดตามไปเมืองนั้นด้วย ดูเหมือน
จะมีใจผูกพันสุดซึ้ง กับหนุ่มวัยสิบเก้า ผู้เพิ่งจะจบสิ้นการเรียนมหาลัยชั้นปีที่หนึ่งที่โคลัมเบีย กำลังจะขึ้นปีสอง

เรื่องของเรื่องก็คือเดวิด หลงรัก ลูซีน คารร์ หากแต่คารร์นั้นกำลังจีบหญิงสาวนักศึกษาคนหนึ่งอยู่ สถานการณ์ซ่อนเงื่อนไม่เบา

แคเมอร์เรอร์ ตามไปเจอ คารร์ ที่บาร์ ดื่มกันต่อจนถึงตีสอง แล้วพากันเดินลัดไปทางสวนริมน้ำ นิวยอร์คไทมส์รายงานว่า
คืนนั้นแคเมอร์เรอร์ ยื่นข้อเสนออันไม่เหมาะสมสุดที่จะรับได้ (Offensive proposal) แก่คารร์ ผู้ซึ่งก็ปฏิเสธไปอย่างขุ่นเคือง
(rejected it indignantly) และลงเอยด้วยการต่อสู้ปลุกปล้ำกันนัวเนีย ในชีวประวัติคิโรแว็คเขียนโดยจอยซ์ จอนห์สัน
ที่กล่าวถึงข้างต้น บอกเล่าถึงเหตุการณ์นี้ว่า

“ลูซีนคงไม่เคยนึกเกลียดชังแคเมอร์เรอร์มากมายอย่างนั้นมาก่อน ขณะที่ตนเองก็เกือบจะพ่ายแพ้กับการต่อสู้”

เขาดึงมีดพับสั้นที่พกติดตัวออกมาจ้วงแทงกระหน่ำเพื่อนวัยสูงจนถึงแก่ชีวิต แล้วจัดการลากร่างอดีตโค้ชลูกเสือผูกด้วยหิน
ถีบทิ้งลงแม่น้ำฮัดสัน จากนั้นคารร์ออกเดินกลับไปหาเพื่อนที่เขาไว้ใจที่สุด เบอร์โรว์สก่อน แล้วตามด้วย คิโรแว็ค



บรรยากาศคืนนั้นมืดทมึนลงไปทันใด เบอร์โรว์ช่วยกำจัดหลักฐานซองบุหรี่เปื้อนเลือด บอกเพื่อนว่าต้องรีบติดต่อทนาย
แล้วเข้ามอบตัวกับตำรวจ เด็กหนุ่มออกเดินไปทั่วเมืองกับคิโรแว็ค แวะไปสวนริมแม่น้ำสถานที่เกิดเหตุ ค้นหาแว่นตา
ของผู้ตายจนเจอแล้วช่วยกันฝังดิน อาวุธมีดพับก็นำไปโยนทิ้งที่ย่านฮาร์เล็ม เขาพากันเดินไปจนถึง ไทม์ส สแควร์
แวะพิพิธภัณฑ์ และโรงหนังที่ถนนหก


หลังจากสิบสองชั่วโมงผ่านไป คารร์ก็เดินเข้าสำนักงานอัยการ สารภาพความจริงอันไม่น่าเชื่อกับเจ้าหน้าที่
เด็กหนุ่มร่างเพรียว นักเรียนนักศึกษาจากมหาลัยใหญ่ นักอ่านกวีนิพนธ์ มีความประพฤติดีมิใช่อาชญากรจรจัด
มันเหมือนเรื่องแต่งในจินตนาการเพริดของเขามากกว่า ตามคำของผู้สื่อข่าวหลายสำนักในนิวยอร์ค คณบดี
ของโคลัมเบียคอลเลจสมัยนั้นก็มีความเห็นว่า ลูซีน คารร์ เป็นนักเรียนชั้นดีของมหาลัย

อย่างไรก็ดี ตำรวจได้กักตัวเขาไว้แต่ยังไม่ปักใจเรื่องที่เขามาสารภาพ และแล้ว...

หน้าแรกนิวยอร์คไทมส์ ฉบับวันที่ 17 สิงหาคม 1944 ก็จำต้องรายงานความจริง
“เรื่องฆาตกรรมเพ้อเจ้อของหนุ่มนักศึกษาปีสองจากโคลัมเบีย ฝันร้ายกลายเป็นความจริงอันเศร้าสลดจนได้
ทางการพบร่างเหยื่อที่จมอยู่กับแม่น้ำฮัดสันแล้ว”


ทั้งคิโรแว็คและเบอร์โรว์ส ถูกจับกุมในฐานสมรู้ร่วมคิด พ่อของเบอร์โรว์สเข้าประกันลูกชาย ขณะที่ครอบครัวของ
คิโรแว็คปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องด้วย แฟนสาวของเขาขณะนั้นวิ่งเต้นช่วยเหลือแทน ศาลยืนยันให้ทั้งสองต้อง
แต่งงานกันก่อนถึงจะยื่นประกันให้ได้ คิโรแว็คเข้าพิธีสมรสกับแฟนในวันที่ 22 สิงหานั้นเอง

เพื่อนอีกคนคือ กินสเบิร์ก รอดตัวจากการจับกุม แต่เขาก็โศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก กับชะตากรรมของลูซีน
ความรู้สึกที่ปรากฏในงานเขียนต่อๆมาของพวกเขา อาทิ หนังสือรวมบทกวีชื่อ Howl (หอน) ในตอนแรก
มีคำนิยมให้แด่ลูซีน คารร์ก่อนจะถูกเจ้าตัวขอให้ลบออก ส่วนนวนิยายเรื่องฮิปโปส์ (And the Hippos Were
Boiled in their Tanks) เป็นเรื่องเล่าสลับเสียงกันระหว่าง เบอร์โรว์ และ คิโรแว็ค



ต่อมาคิโรแว็คนำโครงเรื่องมาปรับปรุงใหม่เป็นเรื่อง Vanity of Duluoz สำนักพิมพ์อินดี้ชื่อ โกรฟ เพรส
(Grove Press) ตีพิมพ์ ฮิปโปส์เป็นครั้งแรก ในปี 2008 โดยสรุปคารร์ถูกตัดสินให้รับความผิดในข้อหาฆ่าคนตาย
โดยไม่ไตร่ตรองไว้ก่อน เขาถูกส่งตัวเข้าสถานกักกัน แม้ไม่ใช่คุกแต่ก็มีกรงแน่นหนา ให้ได้รับการดูแลรักษาจากจิตแพทย์
รายละเอียดคดี ที่บ่งบอกว่าเด็กหนุ่มจำต้องป้องกันตัวเอง ศาลลงความเห็นว่าหนุ่มนักศึกษามหาลัยชั้นนำผู้นี้ มีศักยภาพ
จะสามารถรับการบำบัดได้ ส่งผลให้การรับโทษผ่อนผันลงจากยี่สิบปีให้อยู่ในระดับเบาลง แต่ยามเมื่อเข้าต้องโทษ
คารร์ก็เรียนรู้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ดังที่เขาเองเขียนบอกเพื่อนว่า

“ลูซีนนั้นเปลี่ยนไปแล้ว จากสิ่งที่เขาประสบ” และ “เขาเริ่มมองเห็นชัดเจนขึ้นมาบ้าง บนหนทางสายค้นหาตนเอง”

อันที่จริงวันก่อนหน้าจะเกิดเหตุนั้น คิโรแว็ค กับ คารร์มีแผนการเดินทางไกล เขาสมัครไปเป็นนักเดินเรือสมุทรสายยุโรป
กะจะเดินทางข้ามแอ็ตแลนติคไปขึ้นเมืองที่ปารีส เพื่อร่วมฉลองงานสิ้นสงคราม

...แต่ทั้งสองไปถึงท่าเรือสาย เรือออกไปเสียก่อน สองหนุ่มก็เลยตกค้างเดินเรื่อยเปื่อย แล้วลงเอยมานั่งดื่มที่ร้านเวสต์เอนด์
เพียงแค่ไปขึ้นเรือไม่ทัน ชีวิตก็พลิกผันเหมือนตกเหว

หลังจากจบสิ้นการต้องโทษจำขังสองปี คารร์ถูกปล่อยตัวอย่างมีเงื่อนไข เขากลับมาอยู่นิวยอร์ค และระมัดระวังตนมาก
ในระหว่างทัณฑ์บน ไม่ได้ดื่มเฮฮากับเพื่อนๆอย่างเก่าก่อน คิโรแว็คนั้นไม่นานก็ออกจากมหาลัย ไม่ได้อยู่เรียนต่อจนจบ

ลูซีน คารร์ ยังได้งานเจ้าหน้าที่ทำข่าวสำนักพิมพ์ ยูพี (United Press) ซึ่งต่อมากลายเป็น ยูพีไอ. (United Press
International) เขามีอาชีพนักหนังสือพิมพ์ตลอดเวลายาวนานหกสิบปีของชีวิตหลังจากนั้น นั่งออฟฟิศที่อาคารเดลีนิวส์
ถนน 42 ตะวันออก สถานที่ที่คิโรแว็คและกินสเบิร์กเคยไปแวะเยี่ยมเยียน แม้ไม่ร่วมฝันขรึมซึมเซากับเพื่อนกวี เขาก็ยัง
พบเจอกันอยู่บ้าง เมื่อขึ้นเป็นบรรณาธิการข่าว คารร์ละอียดถี่ถ้วนมากในการตรวจสอบต้นฉบับข่าว เขาสอนให้นักข่าวในสังกัด
เขียนให้เข้าถึงอารมณ์คนอ่าน และเมื่อยูพีไอ ย้ายออฟฟิศไปวอชิงตันดีซี. คารร์ก็ย้ายตามสำนักไปด้วย


สี่หนุ่มโคลัมเบียแยกย้ายกันไปคนละเส้นทางจนได้ แต่พวกเขายังส่งข่าวคราวถึงกัน หลักฐานการติดต่อกันของพวกเขา
มีรวบรวมไว้ที่ ห้องเก็บเอกสารหายากของโคลัมเบีย (Columbia’s Rare Books and Manuscripts Library)
เขาเขียนพูดคุยกันในทุกเรื่อง ตั้งแต่การเมืองถึงเรื่องหนวดเครา จดหมายของกินสเบิร์กเขียนมาจากปารีสในปี 1957
ตอนหนึ่งวิจารณ์หนวดของคารร์ว่าเป็น



“การป้องกันตัวไม่ให้หน้าตาดีเตะตา เหมือนดังเช่นคนที่ทำฟันตัวเองให้หลอ หรือใส่แท่งทุ่นในรูจมูก
ตั้งใจทำตนเองน่าเกลียด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ถูกใจพรรคพวกที่สำนักงานข่าวยูพี และเข้ากลุ่มกับเขาได้อย่างน่าทุเรศ”


ลงท้ายลายเซ็นว่า “แจ็คกับผมเห็นตรงกันตามนี้”

ลูซีน คารร์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี ค.ศ. 2005 เพื่อนผู้สื่อข่าวที่ยูพีไอ เขียนคำไว้อาลัยลงในไทมส์ว่า
อดีตนักศึกษาเฟรชชี่จากโคลัมเบียผู้นี้เป็น “สิงโตที่ไม่เคยคำราม” (สิงโตเป็นสัญญลักษณ์ของมหาลัยโคลัมเบีย)

ภาพยนตร์ Kill Your Darlings ที่ แดเนียล แรดคลิฟฟ์ รับบท กินสเบิร์กกวีหนุ่มนั้น คำกล่าวแนะมีไว้ว่าเก็บจุดที่เป็น
บทชีวิตยุคพวกเขาเพิ่งเริ่มต้น เรื่องจริง อาชญากรรม มิตรภาพ และ จุดเริ่มต้นหนึ่งแห่งความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม
กลุ่มชนคนหนุ่มสาว แต่โปรดักชั่นออกจะฮือฮากับบทรักต้องห้ามของหนุ่มๆเขามากหน่อย จัดหนักสมเป็นหนังอินดี้
เขียนเล่ามานี้สำบัดสำนวนก็ชักตวัดไปทางซึมลึก คงจะเป็นอิทธิพลของบีท เจเนอเรชั่นที่ไปอ่านค้นคว้านี่หละกระมัง




อ้างอิง

The Last Beat. Columbia Magazine, Winter 2012-13.
Where Death Shaped the Beats. The New York Times, April 5, 2012.
etc.       
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 เมษายน 2019, 10:58:48 โดย etatae333 »
นวดกระปู๋ นวดกระปู๋เชียงใหม่ นวดกระษัย ไซด์ไลน์ Sideline นวดน้ำมัน นวดอโรมา นวดแผนโบราณ อาบอบนวด ออน การบ้าน เรื่องเสียว ลายแทง หนังโป๊ AV เชียงใหม่