-->

ผู้เขียน หัวข้อ: เสาเข็มการศึกษา  (อ่าน 858 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

don

  • บุคคลทั่วไป
เสาเข็มการศึกษา
« เมื่อ: 10 ธันวาคม 2008, 05:02:21 »

ในคอลัมน์คิดนอกกรอบที่ผมเขียนให้ ?บิสิเนสไทย? ฉบับอาทิตย์ที่แล้วทิ้งท้ายไว้ด้วยเรื่องของการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งผมเกริ่นไว้ว่าเขาไม่ได้มีนโยบายเป็นร้อยๆข้อเหมือนบ้านเรา แต่ใช้แค่กลไกหลักๆแค่ 3 ข้อเท่านั้นในการตอกเสาเข็มให้ระบบการศึกษาของเขา


ทั้ง 3 ข้อที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเกินความเข้าใจของเราเลย คือต้องมีกลยุทธ์ให้ครบทุกระยะ กับเน้นให้ทุกแผนงานต้องตอบสนองกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และข้อสุดท้ายคือการเริ่มต้นกับคนที่มีบทบาทกับการศึกษามากที่สุดคือ ?ครู?
 
ลองมาดูในรายละเอียดของแต่ละข้อกันนะครับ เริ่มจากการกำหนดกลยุทธ์ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพื่อให้มีแผนครอบคลุมการพัฒนาการตลอดโดยไม่ยึดติดกับการเมือง หรือผู้บริหารที่มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ
 
ที่สำคัญคือมุมมองต่อระบบการศึกษาที่ผู้บริหารต้องมองเห็นว่าทรัพยากรมนุษย์คือปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีที่สุด ก็คือระบบการศึกษา

ซึ่งมุมมองเพียงแค่นี้จะทำให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาเป็นอันดับแรก
 
ข้อต่อมาคือการคิดถึงการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันเป็นหลัก เพราะฟินแลนด์นั้นมีทรัพยากรธรรมชาติจำกัดมาก ในขณะที่ประชากรก็ยังมีน้อย การหันมาทุ่มเทกับการพัฒนาคนรุ่นใหม่ จึงเป็นการลงทุนที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศได้ดีที่สุด
 
ข้อสุดท้าย ต้องเอาจริงเอาจังกับการสร้างมาตรฐานให้กับครูก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเขาเล็งเห็นถึงบทบาทของครู อาจารย์ ที่สามารถดึงในนักเรียนและนักศึกษารุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยได้ เพราะการปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ ต้องได้ครูที่มีความรู้ความเข้าใจและทุ่มเทจริงๆ
 
ผลที่เราเห็นได้ชัดในทุกวันนี้ก็คือรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างจากบ้านเรามหาศาล เพราะครูในฟินแลนด์ไม่ได้ทำหน้าที่แค่สอนตามตำรา แต่กระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองให้มากที่สุด ในห้องเรียนครูจึงไม่มีคำตอบให้ กลับมีแต่คำถามเสียเอง
 
การสอนแบบนี้ จุดประกายให้นักเรียนต้องไปหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งคำตอบที่ได้ก็ย่อมมาจากการสนใจใฝ่รู้และขวนขวายหาข้อมูลต่างๆมาเอง โดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะ และให้ข้อมูลเสริมต่างๆเพื่อให้เด็กสรุปออกมาเป็นคำตอบได้
 
ที่น่าแปลกใจก็คือแรงจูงใจในการเป็นครูของเขานั้นไม่ได้ทำแค่การเพิ่มเงินเดือนครูให้สูงๆ ให้เท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ แต่หันมาสร้างความภาคภูมิใจในวิชาชีพครูเป็นหลัก จนมีเกียรติสูงไม่แพ้นายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว
 
ฟินแลนด์ยังสร้างความมีส่วนร่วมของครูและผู้ปกครอง โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการ รวม 7 คน ทำหน้าที่กำกับดูแล และวัดผลการศึกษา โดย 1 คน เป็นตัวแทนของครู 1 คนเป็นตัวแทนของพนักงานของโรงเรียน และอีก 5 คนมาจาก Community คือผู้ปกครอง ในทุกต้นเทอมการศึกษาจะมีการประชุมเปรียบเทียบกับเป้าหมาย วัดว่าตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
 
จะว่าไปแล้วความเข้มข้นของระบบการศึกษาของเขานั้นเริ่มกันตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกครู ที่ต้องเลือกเฟ้นเฉพาะผู้ที่มีอุดมการณ์และมีความตั้งใจที่จะเป็นครูจริงๆเท่านั้น และยังต้องพร้อมด้วยคุณวุฒิที่สูงมาก เช่นครูระดับมัธยมปลายต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโทเท่านั้น
 
ในขณะที่บ้านเราในรอบหลายปีที่ผ่านมานั้นถือได้ว่าวิชาชีพครูถูกทอดทิ้งมาโดยตลอด

ดูได้จากคะแนนสอบเข้าสถาบันการศึกษาในสาขาครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ เพราะมีผู้คนสนใจเรียนครูน้อยกว่าสาขาวิชาอื่นๆ หรือไม่ก็มาเรียนเพราะสอบเข้าสาขาวิชาที่ตัวเองชอบไม่ได้
 
ดูแล้วไม่น่าแปลกใจเลยที่จะพบว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ใช้งบประมาณด้านการศึกษาสูงที่สุดในโลก สำหรับเด็กนักเรียนระดับมัธยมต้นคือ 8,200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน ต่อปี และยังเป็นการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดอีกด้วย
 
เห็นได้ชัดจากการวัดผลของ OECD ในครั้งนี้ ที่ทำให้ได้เห็นว่าเด็กของเขาเหนือกว่าเด็กๆจากทุกประเทศทั่วโลก และดูจากการคะแนนทั้งหมดของนักเรียนแล้วจะเห็นว่ามีส่วนต่างกันไม่มากนัก เพราะฟินแลนด์เน้นที่การยกระดับให้นักเรียนทั้งหมดมีมาตรฐานใกล้เคียงกันทั้งหมด
 
ตรงกันข้ามกับหลายๆประเทศที่เน้นการพัฒนาเฉพาะเด็กเก่งที่มีพื้นฐานดี แต่ฟินแลนด์กลับพยายามเน้นที่เด็กธรรมดาๆให้เรียนดีเทียบเท่าเด็กเก่งๆ โดยมี 20% ของเด็กทั่วประเทศที่เรียนช้า ต้องใส่ใจเป็นพิเศษและต้องเรียนเพิ่ม โดยรัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนทั้งหมด
 
ความเปรียบต่างของนักเรียนในเมืองกับนอกเมืองของฟินแลนด์จึงต่างกันน้อยมาก ในขณะที่บ้านเราความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้นมากเสียจนทำให้มีเด็กนักเรียนที่ถูกทอดทิ้งมากเสียจนเกินความสามารถที่รัฐจะดูแลทั่วถึง
 
ถึงผมจะชื่นชมฟินแลนด์เป็นพิเศษ แต่ผมเองก็เหมือนนักธุรกิจ นักการตลาด นักบริหารและผู้อ่านบิซิเนสไทยที่รักประเทศไทยและอยากเห็นการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะการศึกษาคือพื้นฐานของสังคมและการพัฒนาประเทศชาติ ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่เรากำลังจะได้มาอีกไม่ช้านี้ ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายหลักด้านการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาของบ้านเราให้ทัดเทียมกับประเทศต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าคงไม่เกินความฝันของเรานัก หากเราตั้งใจจริง

 

kose

  • บุคคลทั่วไป
Re: เสาเข็มการศึกษา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 30 พฤษภาคม 2009, 15:49:41 »

ไม่ทราบว่าเอามาจากเวปไหนครับ อ้างอิงด้วยได้ไหมครับ

labk1200

  • บุคคลทั่วไป
Re: เสาเข็มการศึกษา
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 31 พฤษภาคม 2009, 06:43:10 »

เด็กไทยอีกนานแต่ถ้าเอาเด็กนอกมาเเข่งเด็กแว้นเมืองไทยเราเป็นที่ 1 โลก mnb