การออกแบบผลิตภัณฑ์ 2
ดร. จิรพรรณ เลี่ยงโรคาพาธ
สังคมในเมืองสมัยใหม่
สมัยนี้การใช้ชีวิตของคนในเมืองเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่อยู่เป็นครอบครัวเล็ก ในบ้านหรืออพาร์ทเมนท์เล็ก ๆ ที่มีเนื้อที่จำกัด และใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ไม่ค่อยมีเวลาทำอาหารทานเอง ส่วนใหญ่ใช้ซื้อกับข้าวสำเร็จรูป เพื่อความสะดวก แต่หุงข้าวทานเอง เพื่อให้ได้ข้าวสุกใหม่ที่ร้อน และน่ารับประทาน การออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็ต้องปรับปรุงให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อย่างหม้อหุงข้าวโตชิบา รุ่นใหม่ ?New Jelly Beans? เป็นหม้อหุงข้าวแบบดิจิตอล ที่ถูกออกแบบมาให้มีขนาดเล็ก กะทัดรัด โดยมีความจุเริ่มต้น เพียง 0.5 ลิตร หรือหุงข้าวได้เพียงพอสำหรับคน 3-4 คนเท่านั้น โดยรุ่นนี้ได้ออกแบบอย่างสวยงาม น่าใช้ มีเอกลักษณ์ของตนเอง เก๋ไก๋ มีหลายสีให้เลือก และใช้งานได้หลายอย่าง และมีแผ่นความร้อนที่ฝาด้านบนและด้านล่างของหม้อ ทำให้ข้าวสุกเร็วและระอุ และสามารถตั้งเวลาหุงเสร็จพร้อมรับประทานได้ โดยอาจตั้งเวลาไว้ตอนกลางคืนให้หุงเสร็จเวลา 6 โมงเช้า เพื่อจะได้ทานอาหารเช้าและออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรที่ติดขัดได้ หม้อหุงข้าวก็จะทำการหุงข้าวคำนวณเวลาเริ่มหุงข้าวเอง และเมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้ ข้าวก็จะสุกพร้อมรับประทานในตอนเช้า ทำให้ผู้บริโภคได้ทานข้าวร้อน ๆ หุงใหม่ ๆ และเริ่มต้นวันใหม่ที่ดีต่อไป หรือผู้บริโภคบางท่านก่อนออกจากบ้านไปทำงาน ก็ตั้งเวลาไว้ให้ข้าวสุกตอน 1 ทุ่ม พอเลิกงานเสร็จ ก็ซื้อกับข้าวกลับบ้าน พอเข้ามาถึงบ้าน ก็แกะห่อรับประทานกับข้าวร้อน ๆ ที่เพิ่งหุงสุกใหม่ ๆ ได้เลย ไม่ต้องรอ ชีวิตในเมืองก็จะเพิ่มความสะดวกและมีเวลาพักผ่อนเพิ่มขึ้น
การออกแบบเครื่องดูดฝุ่นก็เหมือนกัน ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ทำให้ย่อขนาดให้เล็กลง แต่มีประสิทธิภาพสูง มีการนำเอาชิพคอมพิวเตอร์ไปใส่ ทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเองโดยอิสระ เมื่อกดปุ่มตั้งเวลาเครื่องดูดฝุ่นจะเริ่มดูดฝุ่น และเคลื่อนที่ไปยังที่ต่าง ๆ เอง เมื่อมีสิ่งกีดขวางก็จะเปลี่ยนทิศทางได้เองโดยอัตโนมัติ ทำให้ชีวิตคนในเมืองมีเวลาเพิ่มขึ้น ในระหว่างที่รอเครื่องดูดฝุ่นทำงานเสร็จก็สามารถนั่งดูทีวี หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้พร้อมกัน เครื่องดูดฝุ่นแบบนี้ แสดงถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการความสะดวกสบายของคนในมือง โดยต้องมีขนาดเหมาะสม ทำงานได้เองอัตโนมัติ เป็นต้น
สินค้าอีกประเภทหนึ่งที่มีการออกแบบที่น่าสนใจ คือกล้องถ่ายรูปซึ่งปัจจุบัน นิยมใช้แบบดิจิตอลกันมากขึ้น เนื่องจากสะดวก ไม่ต้องเปลืองฟิล์ม สามารถปรับความเข้มของแสง และความคมชัดของภาพได้ สามารถเห็นภาพที่ถ่าย และดูได้ทันที ถ้าไม่ถูกใจก็ถ่ายใหม่ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การเก็บภาพ ทำได้ทั้งการอัดเป็นภาพถ่าย หรือเก็บในคอมพิวเตอร์ ซึ่งกล้องถ่ายภาพดิจิตอลนี้ ก็เป็นตัวอย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
ความสำคัญของการออกแบบผลิตภัณฑ์
การออกแบบผลิตภัณฑ์มีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจSME สู่ความเป็นสากล เนื่องจากจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และยังสามารถลดต้นทุนในการผลิตทำให้มีผลกำไรมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันทางด้านการตลาดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และบริษัทสู่การสร้างตราสินค้าของตนเองให้เป็นที่ยอมรับได้
ภาพลักษณ์สินค้าคือโฆษณาในตัวเอง
การออกแบบภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์คือ การสร้างเครื่องหมายภายนอกเพื่อสร้างรากฐานในจิตใจ การออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นการเพิ่มงบโฆษณาให้สินค้า เมื่อผู้บริโภคมาพบสินค้าบนชั้นวางหรือในอินเทอร์เน็ต คุณคิดว่าสินค้าของคุณแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้ชัดเจนมากพอหรือยัง เมื่อไม่มีการประกาศสรรพคุณประกอบ หรือไม่มีภาพบิลบอร์ดใหญ่ ๆ มาช่วยเสริมคุณงามความดีของมัน ภาพลักษณ์ภายนอกของตราสินค้าที่แสดงให้เห็นถึงบุคลิกของสินค้าได้อย่างชัดเจนนั้น คือการโฆษณาในตัวเองอยู่แล้ว
การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ให้ดีจะช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้า นักธุรกิจบางรายเชื่อว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์ถือเป็นเครื่องสำอางที่ตกแต่งให้สินค้าสวยงาม โดยต้องหาเอกลักษณ์ของสินค้าของตนให้เจอก่อนเป็นสิ่งที่ต้องทำอันดับแรก เพราะภาพลักษณ์ภายนอกของผลิตภัณฑ์สำคัญกับการอยู่รอดในตลาดมาก พอๆ กับคุณสมบัติภายในของสินค้าชนิดนั้น
ภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่มีการแสดงออกผ่านชื่อการค้า โลโก้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และสโลแกนของสินค้า รวมถึงการดีไซน์เว็บไซต์ สิ่งเหล่านี้ช่วยบ่งบอกถึงแนวทางของสินค้าอย่างชัดเจน นั่นหมายความว่า งบที่ใช้จ่ายไปกับการฝึกพนักงาน การจ้างที่ปรึกษาเงินเดือนสูง การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาจจะสูญเปล่า ถ้าหากสินค้าจริงๆเป็นไปในทางหนึ่ง แต่ภาพลักษณ์การแสดงออกและภาษาที่สื่อออกมา กลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นการออกแบบผลิตภัณฑ์จึงเป็นการแสดงออกถึงตัวสินค้าได้อย่างชัดเจน
การประมาณยอดขาย ต้นทุน กำไร
หลังจากที่ผู้ประกอบการได้วางแนวคิดของผลิตภัณฑ์ ออกแบบผลิตภัณฑ์และภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์แล้ว ผู้ประกอบการก็ต้องทำการประเมินความน่าสนใจของการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด โดยจะต้องนำมาประมาณยอดขาย ต้นทุน และกำไร และดูว่าสมควรที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปเพื่อจำหน่ายหรือไม่
? การประมาณยอดขาย
ผู้ประกอบการควรจะทราบว่ายอดขายเพียงพอที่จะทำให้เกิดผลกำไรที่น่าพึงพอใจหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ว่าเป็นแบบซื้อครั้งเดียวแล้วหมดกัน เช่น บ้าน ที่อยู่อาศัย หรือหลายครั้งแต่ไม่บ่อย เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือซื้อซ้ำบ่อย ๆ เช่นสินค้าอุปโภคบริโภค โดยการประมาณยอดขายมีดังนี้
- การประมาณการซื้อครั้งแรก
- การประมาณการซื้อเพื่อทดแทนของเดิม
- การการประมาณการซื้อซ้ำ
? การประมาณต้นทุนและกำไร
หลังจากที่ประมาณยอดขายแล้ว ก็ต้องมีการประมาณต้นทุนและกำไร ต้นทุนประมาณจากค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา การผลิต การทำการตลาด และการเงิน มีหลายบริษัทนิยมใช้ Break-even Analysis ในการประเมินทางการเงินของผลิตภัณฑ์ที่จะนำออกสู่ตลาด ซึ่งจะดูว่าบริษัทต้องขายสินค้ากี่หน่วยจึงจะคุ้มกับต้นทุนที่ลงทุนไป หรือบางบริษัทอาจใช้ การวิเคราะห์ความเสี่ยง โดยดูว่ากำไรจะเป็นอย่างไร ในกรณีที่แย่ที่สุด ปานกลาง หรือดีที่สุด
การนำเอาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่าย
เมื่อตัดสินใจที่จะนำเอาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่าย ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาถึงต้นทุนที่ใช้ โดยมีต้นทุนหลัก ๆ 2 ประเภทคือต้นทุนจากการผลิตสินค้าจำนวนมาก และต้นทุนการตลาด เพื่อจะแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาด นอกจากต้นทุนแล้ว เวลาที่จะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดก็สำคัญ เนื่องจากคู่แข่งอาจกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน และกำลังจะเสร็จสมบูรณ์ในเวลาใกล้เคียงกัน ผู้ประกอบการมีทางเลือก 3 ทาง คือ
1. First entry ปรกติแล้วบริษัทแรกที่นำเอาสินค้าเข้าสู่ตลาด จะได้รับผลประโยชน์จากการเป็นเจ้าแรกในตลาด สามารถผูกมัดผู้แทนจำหน่าย และลูกค้าก่อน และได้รับผลประโยชน์จากการเป็นผู้นำก่อน
2. Parallel entry การนำสินค้าเข้าสู่ตลาดพร้อม ๆ กับคู่แข่ง เมื่อคู่แข่งกำลังจะนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เราก็ทำเหมือนกัน การใช้วิธีนี้ ทั้งนี้จะช่วยประหยัดต้นทุนการนำสินค้าออกสู่ตลาด โดยทั้งบริษัทและคู่แข่งจะแบ่งต้นทุนการส่งเสริมการขายกัน
3. Late entry ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม ผู้ประกอบการอาจชะลอการนำสินค้าออกสู่ตลาด โดยให้คู่แข่งนำสินค้าออกสู่ตลาดก่อน คูแข่งก็จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและให้ความรู้กับผู้บริโภคก่อน บริษัทสามารถศึกษาตลาดและทำการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกว่าได้
นอกจากต้นทุนและเวลาที่เหมาะสมแล้ว การนำสินค้าออกสู่ตลาด ต้องคำนึงถึง สถานที่ที่จะจำหน่ายและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วย โดยต้องวางแผนว่าจะนำออกสู่ตลาดท้องถิ่น ตลาดในประเทศ หรือตลาดสากล และใครคือกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญอีกด้วย
ความหมายของทรัพย์สินทางปัญญา
การศึกษาเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ จำเป็นจะต้องทราบถึงความหมายของทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึงผลงานอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม เป็นความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรม
ในการประดิษฐ์คิดค้น การออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการ หรือเทคนิคในการผลิตที่ได้ปรับปรุง หรือคิดค้นขึ้นใหม่ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
? สิทธิบัตร หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด
- การประดิษฐ์ คือความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับ ลักษณะ องค์ประกอบ โครงสร้าง หรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การรักษาหรือปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์
- การออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการทำให้รูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์เกิดความสวยงาม และแตกต่างไปจากเดิม
- ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ (อนุสิทธิบัตร) จะมีลักษณะคล้ายกันกับการประดิษฐ์ แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก หรือเป็นการประดิษฐ์คิดค้นเพียงเล็กน้อย
? เครื่องหมายการค้า หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้า หรือบริการ ได้แก่
- เครื่องหมายสำหรับสินค้า คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าประเภท เครื่องอุปโภคและบริโภคทั่ว ๆ ไป
- เครื่องหมายบริการ คือ เครื่องหมายที่ใช้กับการบริการต่าง ๆ
- เครื่องหมายรับรอง คือ เครื่องหมายที่ใช้รับรองคุณภาพของสินค้าหรือบริการ
- เครื่องหมายร่วม คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าหรือบริการที่ผลิตจากกลุ่มบริษัทหรือบริษัทในเครือเดียวกัน
? ความลับทางการค้า หมายถึง ข้อมูลทางธุรกิจที่ยังไม่เปิดเผย
? ชื่อทางการค้า หมายถึง ชื่อยี่ห้อที่ใช้ในการประกอบกิจการ เช่น โกดัก ฟูจิ โซนี่ โตชิบา ขนมบ้านอัยการ ดอยคำ เป็นต้น
? ชื่อทางภูมิศาสตร์หรือแหล่งกำเนิดสินค้า หมายถึง ชื่อสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่ผลิตสินค้าหรือบริการ เช่น มีดอรัญญิก ส้มบางมด ผ้าไหมไทย เป็นต้น
2. ลิขสิทธิ์ หมายถึง งานหรือความคิดสร้างสรรค์ในสาขาวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม
งานภาพยนต์ หรืองานอื่น ๆ ใดในแผนกวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ลิขสิทธิ์ยังรวมถึง
? สิทธิข้างเคียงที่เกิดจากการนำงานด้านลิขสิทธิ์ ออกแสดง เช่น นักแสดง ผู้บันทึกเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ในการบันทึกหรือถ่ายทอดเสียงหรือภาพ)
? โปรแกรมคอมพิวเตอร์ คือชุดคำสั่งที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อกำหนดให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน
? งานฐานข้อมูล คือ ข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมขึ้นเพื่อประโยชน์ด้านต่าง ๆ
กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามี 3 ฉบับ คือ
1. พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
2. พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
3. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
กรณีศึกษา
กระถางประหยัดน้ำ ?น้ำเพชร?
คนไทยส่วนใหญ่ชอบที่จะปลูกต้นไม้ แม้ว่ามีสถานที่คับแคบก็พยายามหาที่วางต้นไม้อย่างน้อยต้นสองต้นก็ยังดี แต่เนื่องจากการทำงานล่วงเวลา ปัญหาการจราจร การไปพักผ่อนต่างจังหวัดหลายวัน ทำให้คนไม่ค่อยมีเวลาที่จะดูแลรดน้ำต้นไม้ได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ต้นไม้เหี่ยวเฉาตายได้ คุณเมธี จันทร์ส่งเสริม จึงคิดค้นการใช้ ?กระถางน้ำเพชร? ซึ่งเป็นกระถางแบบประหยัดน้ำ โดยใช้ระบบ ไอน้ำกลั่นตัว ภายในกระถางจะมีแผ่นตระแกรงวางเฉียง ก้นกระถางไม่เจาะรูเพื่อใส่น้ำ และใช้วิธีการเจาะรูด้านข้างแทนเพื่อเป็นช่องให้อากาศถ่ายเท ทำให้ดินเกิดความชุ่มชื้น สามารถยืดระยะเวลารดน้ำต้นไม้ได้เป็นเดือน
คุณเมธี เห็นปัญหาและโอกาสดังกล่าว จึงได้คิด ออกแบบผลิตภัณฑ์ออกมา โดยที่ดูแปลกแหวกแนว ไม่เหมือนใครอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองและยังแก้ปัญหาเรื่องต้นไม้เหี่ยวเฉาได้อีกด้วย
ศูนย์บริการแนะนำการออกแบบ
สำหรับ SME ที่ต้องการรับบริการออกแบบ และรับและคำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการออกแบบ สามารถติดด่อที่ ?ศูนย์บริการออกแบบ SME? ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SME ซึ่งต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมและที่คิดค้นขึ้นใหม่ ให้มีรูปแบบเป็นของตนเองและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งสามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดในประเทศและต่างประเทศได้ โดยศูนย์ออกแบบให้บริการการออกแบบครบวงจร ตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการในการออกแบบสรุปเป็นแนวคิดการออกแบบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการออกแบบ ไปจนถึงการจัดแบบเพื่อการผลิต และให้คำปรึกษาในขั้นตอนการผลิตเพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่า ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นไปตามรูปแบบที่สรุปไว้หรือไม่ ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจรับคำปรึกษา ติดต่อได้ที่ โทร.02 - 564-4000 ต่อ 3084